เมื่อมีโอกาสมองเข้าไปในการรับรู้ของผู้คน ในภาวะหรือในประเด็นของความขัดแย้งทั้งหลาย ดูเหมือนว่าโดยธรรมชาติ เราทั้งหลายถูกครอบงำจากวัฒนธรรมของตัวเองบางส่วน มันคล้ายเป็นความทรงจำของชนชาติ ว่าก็น่าจะประมาณนั้น นั่นคือว่า เรามีแนวโน้มที่เกลียดชังบางชนชาติที่ต่างไปจากเรา โดยว่าอันที่จริง เมื่อแรกที่เราเริ่มรู้สึกเกลียดนั้น เราก็อาจจะยังไม่ได้รู้จักกับผู้คนในชนชาตินั้นๆ เลยด้วยซ้ำไป มันมีแต่เพียงข้อมูลที่เราไม่รู้แน่ชัด เป็นแต่เพียงการได้ยินได้ฟังมาเท่านั้นเอง และนั่นเอง เราก็ปักใจ เชื่อ และมันก็กลายเป็นความเชื่อที่ฝังแน่นเหลือเกิน จนเมื่อเติบโตขึ้น เราก็พบว่า ความรู้สึกนั้นมันแน่นหนา จนยากจะคลี่คลาย หรือบางครั้งมันก็เป็นปราการที่ทำให้เราไม่อาจเข้าไปเรียนรู้วัฒนธรรมของชนชาติที่เราเกลียดชังนั้น แม้ว่าเราจะมีโอกาสอยู่ก็ตาม
นอกจากความขัดแย้ง หรือความเกลียดชังนั้นแล้ว มันก็ยังมีความเชื่อที่ติดแน่นมาแต่เยาว์วัยว่า บางชนชาตินั้นต่ำต้อยกว่าเรา เช่นนั้นความรู้สึกที่พัฒนาขึ้นก็จะเป็นไปในทางสองทาง คือ การดูถูก หรือไม่ถ้าเป็นไปในทางบวกขึ้นอีกนิด ก็จะเป็นว่า เราเห็นอกเห็นใจ อย่างไรก็ตาม ในสองทางนี้ เราก็กระทำต่อพวกเขาเหล่านั้นแบบเดียวกัน คือยกตัวเองไว้สูงกว่าพวกเขาเหล่านั้น อาจจะทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม และในทางตรงกันข้าม เราก็พร้อมที่จะสยบยอม หรือเอาอกเอาใจกลุ่มคนที่เราเชื่อว่าเขาสูงส่งกว่าเรา
นั่นก็คือ การตัดสินโดยที่เราไม่ได้ตัดสินจากการศึกษาเรียนรู้ของเราเอง หากแต่ว่า มันเป็นการตัดสินที่มีมานาน และเราก็รับเอาการตัดสินนั้นมา แล้วก็เชื่อว่านั่นเป็นความชอบธรรมอย่างยิ่ง
ตัวอย่างหนึ่งที่เราจะพบเห็นโดยทั่วไปก็คือ คนไทยเกลียดพม่า เพราะในบทเรียนประวัติศาสตร์เมื่อยังเด็กสอนเรามาอย่างนั้นว่า พม่ารุกรานเรามาอย่างไร หนัง ละคร หรือหนังสือนิยายทั้งหลายที่กล่าวถึงเนื้อหาเหล่านี้ ก็ทำให้เห็นว่าพม่าไปในทางเลวร้าย แม้ว่านั่นจะเป็นเทคนิคในการเขียนบทละคร นิยาย เพื่อให้คนไทยที่เป็นฝ่ายเราปรากฏตัวอย่างงดงาม หรือในหนังสือเรียนอีกเหมือนกันที่บอกว่า ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา อาศัยอยู่ในป่า ทำไร่เลื่อนลอย และเป็นผู้ทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ในเรื่องนี้แม้ในหนัง ละคร พวกเขาอาจจะไม่ได้ดูเลวร้ายนัก แต่ก็ถูกยกมาเป็นเรื่องตลก ล้อเลียนไป แล้วผู้คนส่วนใหญ่ก็เชื่อเสียสนิทใจว่า ชาวเขาทำลายป่า โดยไม่ได้ศึกษา และรับรู้อย่างแท้จริง
นั่นเอง โดยธรรมชาติของการปกป้องตัวเองของมนุษย์ เราจึงมีแนวโน้มที่จะดูถูก และเกลียดชังคนอื่น ชนชาติอื่น ด้วยเราได้ฟังเรื่องราวของพวกเขาในทางที่เลวร้ายมานานนั่นเอง มากไปกว่านั้น เราต่างมีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าตัวเองนั้นดีกว่าคนอื่น เข้าข่ายที่ว่าใครฝันคนนั้นก็เป็นพระเอก หรือนางเอก ประมาณนั้น พร้อมกันนั้นสิ่งที่ควบคู่มากับอคติเหล่านี้คือความคิดเหมารวม เช่น เมื่อเราฟังข่าวว่า ชาวเขาค้ายาเสพติด เมื่อเราพบเห็นชาวเขา เราก็มีแนวโน้มที่จะคิดอย่างนั้น หรืออย่างน้อยก็คิดอย่างนั้นไว้ก่อน หรือเราฟังข่าวว่ามุสลิมก่อการร้าย เมื่อเราเจอมุสลิมเราก็มีแนวโน้มที่จะคิดอย่างนั้นไว้ก่อน เป็นต้น
เช่นนั้นแล้ว หากเราจะพัฒนาตัวเองไปสู่ความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะไปให้พ้นอคติ หรือแนวโน้มที่จะเป็นไปเหล่านี้ นั่นก็อาจไม่ใช่เพื่อพวกเขาเหล่านั้น แต่ก็อาจเพื่อความงดงามในหัวใจของเรานั่นเอง