รูปนี้ก็ต้องจับกล้องนิ่ง ๆ เพราะถ่ายท้องฟ้าตอนเย็น
มีกล้องแล้ว ฝึกให้มือนิ่ง ๆ ได้แล้ว สำหรับมือใหม่หัดถ่ายก็อาจใช้โหมด Auto ไปก่อนได้ แต่พอใช้โหมดนี้ไปสักพัก เริ่มเรียนรู้ความสำคัญของความไวชัตเตอร์ และรูรับแสงที่สัมพันธ์กันแล้ว ก็อาจเปลี่ยนมาใช้โหมด Av หรือ Tv ก็ได้ ช่างภาพมักเรียกค่ารูรับแสงว่า f เอฟ
โหมด Av ก็คือ เราตั้งค่ารูปรับแสงไว้คงที่ แล้วกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้สมดุลโดยอัตโนมัติตามสภาพของแสง
โหมด Tv ก็คือ เราตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ไว้คงที่ แล้วกล้องจะปรับเอฟ หรือรูรับแสงเพิ่มลดให้อัตโนมัติตามสภาพของแสง
สำหรับเราชอบใช้ Av ชอบตั้งค่ารูรับแสงต่ำ ๆ ค่ารูรับแสงต่ำ แปลว่าเปิดกว้าง แต่ถ้าค่ารูรับแสงสูงแปลว่าเปิดแคบ ใช้ตอนแดดจัดแสงเยอะเปิดรูรับแสงแคบ ๆ แสงน้อยเปิดรูรับแสงกว้าง ๆ แสงจะได้เข้ามาได้มากพอ และเป็นเทคนิคง่าย ๆ สำหรับการถ่ายภาพแบบให้หน้าชัดหลังเบลอ นั่นก็คือ เปิดเอฟกว้างที่สุด (เอฟกว้างตัวเลขน้อย) ส่วนความเร็วก็แล้วแต่กล้อง
รูปนี้มีเหมือนไม่มีคอมโพส
หลักการถ่ายภาพว่าไปแล้วก็เหมือนการใช้ชีวิตแหละ ต้องสมดุล ถ้าแสงน้อยภาพก็มืด แสงมากภาพก็โอเวอร์ อยากได้ภาพดีก็ต้องอยู่นิ่ง ๆ มีสติ จับกล้องนิ่ง ๆ มองให้เห็นแสงเงา และตั้งค่าสมดุลของแสงในตัวกล้องให้พอดี กล้องเป็นเครื่องมือในการนำสิ่งที่เราเห็นออกมา และการจะนำออกมาให้สวยได้อย่างไรนั้น มีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะฝึกไว้ นั่นคือการจัดองค์ประกอบให้กับภาพ องค์ประกอบหรือคอมโพสสิชั่น หรือบางคนเรียกคอมโพส
คอมโพสก็ใช้หลักการสมดุลเหมือนกัน อย่างง่ายที่สุดก็คือเอาไว้ตรงกลาง สองข้างเท่ากัน อย่างภาพบุคคล นอกจากสองข้างเท่ากันแล้ว ก็น่าจะต้องให้ที่ว่างกับด้านบนด้วย ในกรณีที่วัตถุอยู่ด้านล่าง ถ่ายไปมาก ๆ เข้า ความสมดุลอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงกลางเสมอไป น้ำหนักวัตถุอาจโยกมาไว้ซ้าย แล้วหาอะไรมาถ่วงดุลทางขวาให้ภาพ แล้วแต่กรณีไป
ภาพแบบนี้มีคนบอกว่าไม่มีคอมโพส แต่เราไม่สน
สำหรับเราบางครั้งก็แหกกฎคอมโพสเหมือนกัน เช่นเวลาถ่ายท้องฟ้า บางภาพเราให้พื้นที่วัตถุบนดินนิดเดียว แต่ให้พื้นที่ท้องฟ้ากว้างมาก น้องที่เรียนถ่ายภาพในห้องเรียนมาบอกว่า รูปนี้คอมโพสไม่ได้ แต่เรายืนยันที่จะใช้คอมโพสแบบของเรา ก็ชอบอ่ะ ใครจะทำไม
เคยเห็นภาพคนหัวขาดไหม นั่นแหละคือขาดคอมโพส เวลาเรามองในกล้อง เราต้องจัดภาพไปในตัว ต้องทำให้เป็นอัตโนมัติ
รูปนี้โฟกัสที่รอยยิ้มของแมวหลับ
พูดไปพูดมาก็เหมือนชีวิตอีกนั่นแหละ ทั้งการปรับสมดุลเรื่องแสงเงา และองค์ประกอบ ถ้าปล่อยปะละเลย ภาพชีวิตก็อาจออกมามืดบ้าง สว่างบ้าง แย่หน่อยก็เป็นชีวิตหัวขาด...
ถ่ายเยอะ ๆ ค่ะ ฝึกไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็ดีเอง
ส่วนภาพนี้มีช่องว่างระหว่างแมวตัวขวา ซึ่งเป็นระยะบังเอิญที่นายโด้เดินเข้ามาพอดี ถ้ากดชัตเตอร์ช้ากว่านี้ก็จะไม่ได้รูปนี้ ถ่ายรูปสัตว์ต้องตั้งความเร็วสูง ๆ เพราะมันเคลื่อนไหวตลอดเวลา ยกเว้นแมวหลับ