Skip to main content

ชื่อบทความเดิม

28 ตุลาคม วันกำเนิด “ภาษาอินโดนีเซีย” (Bahasa Indonesia) [1] จาก “คำสาบานของเยาวชน”  [2] (Sumpah Pemuda)

ผู้เข้าร่วมประชุมสภาเยาวชนอินโดนีเซียครั้งที่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1928 ภาพจาก http://sidiqtriw.blog.com/2011/10/28/sumpah-pemuda-28-oktober-1928-kongres-pemuda/

วันที่ 28 ตุลาคม ถือเป็นวันกำเนิด “ภาษาอินโดนีเซีย” (ภาษาที่พัฒนามาจากภาษามลายูที่มีคนพูดมากกว่า 250 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) จากการที่สโมสรนักเรียนอินโดนีเซีย มีชื่อว่า “เปอร์ฮิมปุนนัน เปอร์ลาจาร์ เปอร์ลาจาร์ อินโดนีเซีย” (Perhimpunan Pelajar-pelajar Indonesia - PPPI) ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1926 ได้จัดการประชุมสภาเยาวชนอินโดนีเซียครั้งที่สองขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ปี 1928 ในที่ประชุมสภาเยาวชนซึ่งประกอบไปด้วยเยาวชนจากพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและนอกเกาะชวา ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-28 ตุลาคม ปี 1928 ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นนั่นคือ ประธานของสโมสรนักเรียนอินโดนีเซียได้ประกาศสิ่งที่เรียกว่า “คำสาบานของเยาวชน” (ซึ่งมีใจความสำคัญว่า ต่อไปนี้ดินแดนที่เป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ที่เคยถูกเรียกว่าเนเธอร์แลนด์อินดีสหรือหมู่เกาะอินดีสตะวันออก จะรวมกันเป็นดินแดนเดียว, ชาติเดียว และภาษาเดียว คือชาติและภาษาอินโดนีเซีย [3]

ดังนั้นในวันดังกล่าวนอกจากจะถือเป็นการกำเนิดของภาษาอินโดนีเซียแล้ว ยังถือเป็นการกำเนิดของ “ชาติอินโดนีเซีย” อีกด้วย และนอกจากจะประกาศ “คำสาบานของเยาวชน” แล้ว สโมสรนักเรียนอินโดนีเซียยังได้ประกาศให้ใช้ธงขาวแดง, เพลง Indonesia Raya เป็นสัญลักษณ์ของชาติอินโดนีเซียอีกด้วย เหตุการณ์สำคัญในวันดังกล่าวนี้เกิดก่อนการประกาศเอกราชของอินโดนีเซียถึง 17 ปี

เนื้อและโน้ตเพลง Indonesia Raya ภาพจาก http://sidiqtriw.blog.com/2011/10/28/sumpah-pemuda-28-oktober-1928-kongres-pemuda/

ภาษาอินโดนีเซียมีที่มาจากอะไร? จากภาษามลายูสู่ภาษาอินโดนีเซีย
มีการพบหลักฐานประเภทจารึกภาษามลายูสมัยอาณาจักรศรีวิชัย[4] ที่ยันยันว่าในพื้นที่ที่กลายมาเป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันมีการใช้ภาษามลายูก่อนการเข้ามาของตะวันตก นอกจากนั้นยังพบหลักฐานที่แสดงว่าในบริเวณเกาะสุมาตรามีการใช้ภาษามลายูอย่างน้อยตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรมะละกาก็ทำให้ภาษามลายูมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น ภาษามลายูถูกใช้อย่างแพร่หลาย อย่างน้อยที่สุดในทางการค้า จากปาไซถึงชายฝั่งสุมาตรา และคาบสมุทรมลายูถึงชายฝั่งกาลิมันตันและสุลาเวสี

เมื่อฮอลันดามาถึงหมู่เกาะอินโดนีเซีย[5] จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรับเอาภาษามลายูเป็นภาษากลางในทางการค้าและภาษาในระบบราชการในการปกครองดินแดนอาณานิคมดัชต์อีสอินดิส แต่อย่างไรก็ตามเมื่ออาณาจักรมะละกาล่มสลายจากการยึดครองของมหาอำนาจตะวันตก ทำให้ไม่มีศูนย์กลางที่จะทำให้เกิดภาษามลายู มาตรฐาน ทำให้ภาษามลายูมีความแตกต่างหลากหลายในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่ออำนาจของชาติตะวันตกเดินทางมาถึงบริเวณคาบสมุทร ภาษามลายูเป็นภาษาที่ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน มีการพูดและเขียนในหลายรูปแบบผสมปนเปกับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ที่มาพร้อมกับการปกครองของอาณานิคมเช่น การพิมพ์, การไปรษณีย์, หนังสือพิมพ์, การศึกษา, วิทยุ, และระบบการขนส่งสมัยใหม่ ยิ่งทำให้ภาษามลายูแพร่หลาย และถูกใช้มากขึ้น รวมถึงเกิดการทำให้เกิดระบบมาตรฐานของภาษามลายูมากยิ่งขึ้น การเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกิดการพัฒนาสองอย่างซึ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวและเปลี่ยนภาษามลายูแบบภูมิภาคให้เป็นภาษามลายูสมัยใหม่หรือภาษาอินโดนีเซียในที่สุด นั่นก็คือ “the Malay press” และ “การศึกษาสมัยใหม่”

นอกจากการทำให้ภาษามลายูเป็นมาตรฐานแล้ว มันยังเป็นภาษาทางการเมืองด้วย พวกนักการเมืองในองค์กรทางการเมืองและสังคมแบบใหม่ก็ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารกับมวลชน เช่น นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองในองค์กร เช่น Budi Utomo, Sarekat Islam, Communist Party แม้กระทั่ง “สภาประชาชน” (Volksraad) ที่ดัตช์ก่อตั้งขึ้นในปี 1918 ก็ใช้ภาษามลายูในการประชุม

จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยว่าเพราะเหตุใดกลุ่มสโมสรนักเรียนอินโดนีเซียจึงเลือกที่จะประกาศว่าจะใช้ภาษาอินโดนีเซียร่วมกัน ภาษาที่มีต้นกำเนิดมาจากภาษามลายูและไม่ใช่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่และมีอำนาจทางการเมืองมากที่สุดเช่นภาษาชวา ก็เนื่องจากภาษาอินโดนีเซียหรือภาษามลายูได้กลายเป็นศูนย์กลางของพวกเขาและเป็นเครื่องมือที่ร้อยรัดให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ภาษาอินโดนีเซียทำให้คนอาเจะห์ที่อยู่ในเกาะสุมาตราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนปาปัวที่อยู่อีกซีกของประเทศบนเกาะปาปัวได้ ซึ่งถ้าหากไม่มีภาษากลางที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานผู้คนเข้าไว้ด้วยกันก็ไม่แน่ว่าการสร้างชาติอินโดนีเซียจะสำเร็จมาจนถึงวันนี้ได้

Selamat Hari Sumpah Pemuda Indonesia!

 

เชิงอรรถ

[1] คำว่า “ภาษาอินโดนีเซีย” นั้น ออกเสียงในภาษาอินโดนีเซียว่า “บาฮาซา อินโดนีเซีย” คนไทยจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดคิดว่าคำว่า “บาฮาซา” นั้นคือหมายถึงภาษาอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย แต่จริงๆ แล้วคำว่า “บาฮาซา” มีหมายความว่า “ภาษา” แค่นั้นเอง

[2[ คำนี้มีผู้ถอดความไว้หลายแบบตั้งแต่ “การสาบานของคนหนุ่ม” “ปฏิญญาของเยาวชน” ดิฉันเองเคยใช้ “การสาบานของคนหนุ่ม (คนสาว)” แต่คิดว่า “คำสาบานของเยาวชน” น่าจะเหมาะสมกว่า

[3[ Pertama
Kami poetera dan poeteri Indonesia, mengakoe bertoempah darah jang satoe, tanah Indonesia.

Kedoewa
Kami poetera dan poeteri Indonesia, mengakoe berbangsa jang satoe, bangsa Indonesia.

Ketiga
Kami poetera dan poeteri Indonesia, mendjoendjoeng bahasa persatoean, bahasa Indonesia.
 

[4] อาณาจักรศรีวิชัยโดดเด่นในด้านการค้าและพุทธศาสนา ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

[5] ชื่ออินโดนีเซียเป็นการเรียกแบบสมัยใหม่ ก่อนหน้าที่ดัชต์จะเข้ามา ยังไม่เกิดคำว่า “อินโดนีเซีย” ขึ้น
 


 

บล็อกของ onanong

onanong
คำในภาษาไทยหลายๆ คำที่คล้ายกับคำในภาษามลายู, อินโดนีเซีย และ ชวา มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตอยู่ไม่น้อย
onanong
ชื่อบล็อก “Selamat Datang”  (อ่านว่า เซอลามัต ดาตัง) นั้นแปลว่า “ยินดีต้อนรับ” ซึ่งใช้กันทั้งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไปจนถึงบรูไน, สิงคโปร์ และปาตานี หากคุณพูดภาษามลายูได้ก็หมายความว่าคุณจะพูดกับคนได้เกือบๆ 250 ล้านคน