Skip to main content

ตามสัญญานะคะ คราวนี้จะเป็นการสอนภาษาอินโดนีเซียเบื้องต้นง่ายๆ สำหรับผู้สนใจเรียนภาษาอินโดนีเซียที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน วันนี้ขอเริ่มด้วยการออกเสียงพยัญชนะ และสระนะคะ สำหรับผู้ที่ต้องการให้สอนภาษาอินโดนีเซียในระดับที่ยากขึ้นไป อดใจรอหน่อยนะคะ จะค่อยๆ เพิ่มระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะการออกเสียงพยัญชนะในภาษาอินโดนีเซียจะแตกต่างจากภาษาอังกฤษบางคำแม้ว่าจะใช้ตัว A B C D เหมือนกัน ดังนี้ค่ะ

A* = อา ตัวนี้เป็นสระ เมื่อไม่มีตัวสะกดจะออกเสียงยาว “อา” แต่ถ้ามีตัวสะกดจะเป็นเสียงสั้น “อะ”
เช่นคำว่า makan อ่านว่า มา-กัน แปลว่า กิน, รับประทาน

B = เบ ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “บ” เช่นคำว่า baca อ่านว่า บา-จา แปลว่า อ่าน

C = เซ ตัวนี้พิเศษค่ะ เมื่อเป็นพยัญชนะเราท่องว่า เซ หรือ เจ ก็ได้ แต่เมื่อประสมเป็นคำ ออกเสียงเหมือนตัว “จ” เช่นคำว่า baca อ่านว่า บา-จา แปลว่า อ่าน

D = เด ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ด” เช่นคำว่า dari อ่านว่า ดา-รี แปลว่า จาก

E* = เอ  ตัวนี้เป็นสระ และพิเศษค่ะ เพราะมีถึงสามเสียงได้เสียง “เอ”, “เออ”, และ “แอ”
เช่นคำว่า perak อ่านว่า เป-รัก แปลว่า เงิน (แร่ธาตุ)
  embun อ่านว่า เอิม-บุน แปลว่า น้ำค้าง
  enak อ่านว่า แอ-นัก แปลว่า อร่อย

F = เอฟฺ ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ฟ” เช่นคำว่า fakta อ่านว่า ฟัก-ตา แปลว่า ข้อเท็จจริง และเมื่ออยู่ท้ายคำต้องออกเสียงด้วยเช่นกัน เช่นคำว่า huruf อ่านว่า ฮู-รุฟฺ แปลว่า ตัวอักษร

G = เกฺ ตัวนี้ออกเสียง “ก” แต่เป็น “ก” แบบหนักๆ เมื่อออกเสียงตัวนี้ ถ้าเอามือจับที่ลำคอจะพบว่าการเกิดสั่นในลำคอ เช่นคำว่า gigi อ่านว่า กี-กี แปลว่า ฟัน

H = ฮา ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ฮ” เช่นคำว่า hari อ่านว่า ฮา-รี แปลว่า วัน และเมื่ออยู่ท้ายคำต้องออกเสียงด้วยเช่นกัน เสียงจะคล้ายๆ กับเวลาติ๊นาร้องเพลงน่ะค่ะ เหมือนเสียงหอบๆ เช่นคำว่า mudah อ่านว่า มู-ดะฮฺ แปลว่า ง่าย

I* = อี ตัวนี้เป็นสระ ออกเป็นเสียง “อี” เช่นคำว่า dari อ่านว่า ดา-รี แปลว่า จาก

J = เจฺ ตัวนี้คนไทยจะออกเสียงสับสนกับตัว C หรือตัว เซ ค่ะ เพราะเมื่อประสมเป็นคำมันออกเสียงเป็น จ เหมือนกัน ตัวนี้จะออกเป็น “จ” แบบหนักสั่นในลำคอ เช่นคำว่า jari อ่านว่า จฺา-รี แปลว่า นิ้ว

K = กา ตัวนี้คนไทยจะออกเสียงสับสนกับตัว G หรือตัว เกฺ ค่ะ เพราะเมื่อประสมเป็นคำมันออกเสียงเป็น “ก” เหมือนกัน ตัวนี้จะออกเป็น ก แบบไม่หนักไม่สั่นในลำคอ เช่นคำว่า kaki อ่านว่า กา-กี แปลว่า ขา, เท้า

L = แอลฺ ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ล” เช่นคำว่า lari อ่านว่า ลา-รี แปลว่า วิ่ง และเมื่ออยู่ท้ายคำต้องออกเสียงด้วยเช่นกัน เช่นคำว่า mahal อ่านว่า มา-ฮัลฺ แปลว่า แพง

M = เอ็ม ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ม” เช่นคำว่า minta อ่านว่า มิน-ตา แปลว่า ขอ

N = เอ็น ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “น” เช่นคำว่า nama อ่านว่า นา-มา แปลว่า ชื่อ

O* = โอ ตัวนี้เป็นสระค่ะ และเป็นตัวพิเศษเพราะมีสองเสียงได้เสียง “ออ” และ “โอ”
เช่นคำว่า orang อ่านว่า ออ-รัง แปลว่า คน
  bodoh อ่านว่า โบ-โดะฮ์ แปลว่า โง่

P = เป ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ป” เช่นคำว่า เป-รัก แปลว่า เงิน (แร่ธาตุ)

Q = คี ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ค” พบไม่มากนัก มันจะใช้กับคำที่มาจากภาษาอาหรับ เช่นคำว่า Quran อ่านว่า คูรฺ-อ่าน แปลว่า คัมภีร์อัลกุลอาน

R = แอรฺ ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ร” ตัวนี้จะเป็นตัวที่คนไทยมีปัญหาในการออกเสียงมากที่สุด ทั้งๆ ที่ภาษาไทยเรามีตัว “ร” ถ้าเป็นพยัญชนะต้น ดิฉันเข้าใจว่าคนไทยส่วนใหญ่ออกเสียงได้ ถ้าบังคับลิ้นตัวเอง เช่นคำว่า dari อ่านว่า ดา-รี แปลว่า จาก   แต่ในภาษาอินโดนีเซียมันมีคำที่ตัว “ร” ไปอยู่ข้างหลัง ซึ่งต้องทำลิ้นรัวท้ายคำ เช่นคำว่า lapar อ่านว่า ลา-ปารฺ แปลว่า หิว

S = เอ็สฺ ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ซ” เช่นคำว่า susu อ่านว่า ซู-ซู แปลว่า นม (เครื่องดื่ม) และเมื่ออยู่ท้ายคำต้องออกเสียงด้วยเช่นกัน เช่นคำว่า putus อ่านว่า ปู-ตุซฺ แปลว่า ตัด, ขาด

T = เต ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ต” เช่นคำว่า teman อ่านว่า เตอ-มัน แปลว่า เพื่อน

U* = อู ตัวนี้เป็นสระ เมื่อไม่มีตัวสะกดจะออกเสียงยาว “อู” เช่นคำว่า utara อ่านว่า อู-ตา-รา แปลว่า ทิศเหนือ แต่ถ้ามีตัวสะกดจะเป็นเสียงสั้น “อุ” เช่นคำว่า putus อ่านว่า ปู-ตุสฺ แปลว่า ตัด, ขาด

V = เฟฺ ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ฟ” เช่นคำว่า visa อ่านว่า ฟี-ซ่า แปลว่า วีซ่า

W = เว ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ว” เช่นคำว่า wanita อ่านว่า วา-นี-ตา แปลว่า ผู้หญิง

X = เอ็กซฺ ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ซ” เวลาออกเสียงตัวนี้จะสั่นในลำคอ ตัวนี้พบไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะพบในคำที่ใช้ทับศัพท์จากภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เช่น คำว่า xenon อ่านว่า เซ-น็อน แปลว่า ธาตุซีนอน

Y = เย ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “ย” เช่นคำว่า yang อ่านว่า ยัง แปลว่า ที่, ซึ่ง, อัน

Z = แซฺด ตัวนี้ออกเสียงเหมือนตัว “z” ในภาษาอังกฤษ เช่นคำว่า zaman อ่านว่า ซฺา-มัน แปลว่า ยุค, สมัย

สำหรับคราวหน้าจะต่อเรื่องพยัญชนะและสระประสมนะคะ และคำที่ออกเสียงคล้ายๆ กันแต่ความหมายไกลกับลิบโลก เช่นคำว่า muda (มูดา) แปลว่า อ่อน, เยาว์วัย กับคำว่า mudah (มูดะฮฺ) ที่แปลว่า ง่าย
 

บล็อกของ onanong

onanong
คำในภาษาไทยหลายๆ คำที่คล้ายกับคำในภาษามลายู, อินโดนีเซีย และ ชวา มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตอยู่ไม่น้อย
onanong
ชื่อบล็อก “Selamat Datang”  (อ่านว่า เซอลามัต ดาตัง) นั้นแปลว่า “ยินดีต้อนรับ” ซึ่งใช้กันทั้งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไปจนถึงบรูไน, สิงคโปร์ และปาตานี หากคุณพูดภาษามลายูได้ก็หมายความว่าคุณจะพูดกับคนได้เกือบๆ 250 ล้านคน