Skip to main content

เกือบสามเดือนแล้วที่ผมพาตัวเองกลับมาอยู่ในหุบเขาบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่จึงขลุกอยู่แต่ในสวน ไม่ค่อยได้เดินทางไปไหนไกล แต่ผมกลับไม่รู้สึกว่าเหงาหรือห่างไกลกับผู้คนเลย เพราะในแต่ละเดือนมักมีมิ่งมิตรเดินทางมาเยี่ยมเยือนหากันตลอด

 

และทำให้ผมรู้อีกอย่างหนึ่งว่า...บางทีการอยู่นิ่งก็หมายถึงการเดินทาง

ใช่ ผมหมายถึงว่า ในขณะที่ผมอยู่ในสวน หากยังมีผู้คนเดินทางแวะเวียนมาหา

และที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ผมยังมองเห็นเมล็ดพันธุ์เดินทางมายังสวนอย่างต่อเนื่อง

 

ผมเอาเมล็ดพันธุ์มาฝาก...” นักเดินทางคนหนึ่งเดินทางไกลมาจากสงขลา ล้วงเอาเมล็ดพันธุ์ที่ใส่ไว้ในกล่องฟิล์มยื่นให้ ขณะผมกำลังง่วนทำงานอยู่ในสวน

ในนั้น, นอกจากมีเมล็ดถั่วเม็ดเล็กๆ รวมกันราวยี่สิบเมล็ดแล้ว ยังมีเมล็ดอะไรไม่รู้สีเหลืองนวลปนมาด้วย เขาบอกว่า นี่คือเมล็ดของดอกไม้จีน เป็นพืชล้มลุก มีดอกสีเหลือง

 

เขาสาธยายถึงคุณค่าของดอกไม้จีนนานหลายนาน ว่ากันว่าเป็นอาหารที่คนจีนนิยมนำมาใส่แกงจืด ไก่นึ่งดอกไม้จีนใส่เห็ดหูหนู หรือเนื้อตุ๋นใส่ดอกไม้จีน นอกจากนั้น เขายังบอกย้ำอีกว่า มันเป็นพืชสมุนไพร หากทานดอกไม้จีนแล้วจะดูสดใส เพราะเกสรของดอกไม้จีนนี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงประสาท บำรุงเลือดและเพิ่มการคัดหลั่งของฮอร์โมน ทำให้ร่างกายของเรา กระปรี้กระเปร่า

 

แค่ฟังเขาบอกเล่า ก็พลอยทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นเหมือนได้รู้จักเพื่อนใหม่ จนต้องสืบค้นข้อมูลด้วยตนเองต่อว่า ในดอกไม้จีนนั้น มีสารที่พบได้แก่พวกแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก โพแทสเซียมและวิตามินต่างๆ อีกมาก

 

ผมเพิ่งลงมือนำเมล็ดดอกไม้จีนลงในถุงชำ

และเฝ้าทำความคุ้นเคยสมาชิกใหม่ในสวนชีวิตแห่งนี้อยู่เงียบๆ

 

ทำให้ผมนึกไปถึงอีกเมล็ดพันธุ์หนึ่งที่เดินทางไกลมาจากกระบี่ ผ่านกล่องพัสดุไปรษณีย์ฯ มาถึงหุบเขาผาแดง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

 

ในกล่องมีลายมือถ้อยคำของนักเขียนหนุ่มแห่งสำนักนิตยสารสารคดี บอกเล่าถึงตัวตนของห้าสิบเมล็ดพันธุ์ที่นอนนิ่งอยู่ในนั้น

 

...แถวพังงา-ภูเก็ต เขาเรียกว่า ‘กาหยี’ กระบี่-ตรัง เรียก‘ยาโห้ย’ สงขลา-นครศรีฯ เรียกว่า‘หัวครก’ แต่อย่างไรไม่รู้ ทางกรุงเทพฯ กลับเรียกว่า ‘มะม่วงหิมพานต์’…”

 

เขาย้ำบอกว่า มีประโยชน์มากและปลูกง่าย

 

เขาแนะนำอีกว่าให้เอาเมล็ดที่ให้มานี้ ลงในแปลงเพาะก่อน กลบดินบางๆ รดน้ำให้ชุ่มน้ำตลอดเวลา ระหว่างนั้นก็เอาดินใส่ถุงเพาะชำเตรียมไว้ พอหน่ออ่อนแตกใบแท้ 2-4 ใบ หลังจากนั้นก็แยกใส่ต้นละถุง เลี้ยงในถุงเพาะชำให้โตพอควร จึงนำลงหลุมปลูกในช่วงฤดูฝน แล้วปล่อยไว้อย่างนั้นแหละ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย รดน้ำ พ่นยา

 

พี่จะไปเที่ยวที่ไหนกี่ปีก็ไป สี่ห้าปีกลับมา พี่จะเห็นลูกแดงๆ แขวนอยู่เต็มพุ่มไม้ในช่วงเดือน ก..-เม..สอยกินได้ชื่นใจ...พี่เพาะช่วงนี้พอฝนลงก็ได้ปลูก ผมไปเยี่ยมคงได้เก็บยอดกิน ปลูกต้นไม้ พัฒนาด้วยใจ และอาจเป็นวัตถุดิบสำหรับงานเขียนได้” เขาบอกเล่าทิ้งท้าย

 

ทุกย่ำเย็น ในยามแดดอ่อน ลมโชย ผมชอบเดินละเลียดไปในสวนหลังบ้าน เดินไปทักทายต้นมะม่วงหิมพานต์ที่กำลังแตกช่อผลิใบเขียวสดให้เห็น ให้ชื่นใจ

 

จริงสิ เมื่อพูดถึงเมล็ดพันธุ์ ทำให้ผมอดนึกไปถึง ‘ห่อวอเนอมู’ของพี่น้องปวาเก่อญอที่ผมเคยขอมาจากแม่เฒ่าบนดอยสูงไม่ได้

 

ห่อวอเนอมู’ คือพันธุ์พืชพันธุ์หนึ่งซึ่งอยู่ในตระกูลเครื่องเทศ เครื่องปรุงของชาวปวาเก่อญอ ที่ขึ้นแซมในไร่ข้าว บ้างอยู่ร่วมกับต้นหญ้าจนกลายเป็นพวกเดียวกันไปเลย

 

หลายครั้งที่มีการเปรียบ ห่อวอเนอมู เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของคนปวาเก่อญอ

 

คนในเมืองอาจมองว่า ห่อวอเนอมู เป็นเพียงหญ้าป่า เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ใครๆ เขาไม่ต้องการ เป็นวัชพืชที่ดูด้อยค่า ต้องตัดมันให้ขาด ต้องถางมันให้สิ้น แต่เขาอาจไม่เคยรับรู้เลยว่า แท้จริงแล้ว ห่อวอเนอมู เป็นพืชพันธุ์ที่มีคุณค่าสำหรับคนบนภูเขา

 

ใช่ มาถึงตรงนี้แล้ว ผมอยากจะบอกว่า ผมชอบการเดินทางของเมล็ดพันธุ์ ที่ล้วนต่างเดินทางมาไกลและไกล สุดท้ายมาเติบใหญ่อยู่ในสวนของผมแห่งนี้ ซึ่งผมถือว่าช่างเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง

 

และบ่อยครั้งที่ผมครุ่นคิดไปว่า…บางที ชีวิตคนเราก็เหมือนกับเมล็ดพันธุ์หนึ่ง ที่ปลิวเร่คว้างไปยังดินแดนแปลกใหม่ไม่คุ้นเคย แล้วแต่ลมชะตากรรมจะพัดพาเราไป

 

เพียงแต่เราไม่รู้ล่วงหน้าว่า เมื่อไรมันพร้อมจะหล่นลงในผืนดินใดเพื่องอกและงาม

หรือไม่ก็เป็นได้เพียงแค่เมล็ดพันธุ์ที่ถูกมด มอดแมลงกัดกินเท่านั้นเอง.

 

งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ ‘คนคือการเดินทาง’...เสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 ..2551

 





บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
                                                                            
ภู เชียงดาว
  1. 
ภู เชียงดาว
สี่ปีที่ผ่านทำให้เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น หลายสิ่งวิปริต หลายอย่างผิดแปลก รัฐประหารกลายเป็นความหอมหวานคลั่งไคล้ ช่อดอกไม้ยื่นให้ทหารถืออาวุธ สาวเปลื้องผ้าเต้นระบำหน้ารถถัง พลัดหลง งงงวย เหมือนโดนของหนักพลัดตกลงมาจากที่สูงฟาดหัว ตื่นขึ้นมา ประชาธิปไตยง่อยเปลี้ยขาลีบ ชนชั้นถูกถ่างขา สามัญชนถูกฉีกทึ้ง คนจนกับความจริงถูกมัดมือ ข่มขืน อนุสาวรีย์ความลวงผุดขึ้นที่โน่นที่นั่น-หัวใจทาสค้อมกราบ หากหัวใจเสรี อึดอัด อุกอั่ง คลั่งแค้น เข้าสู่ยุคดินแดนแห่งการไม่ไว้วางใจฯ- สี่ปีที่ผ่านทำให้เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น หลายสิ่งวิปริต หลายอย่างผิดแปลก รัฐประหารกลายเป็นความหอมหวานคลั่งไคล้…
ภู เชียงดาว
 
ภู เชียงดาว
   ‘ชุมพล เอกสมญา’ ลูกชายคนโตของ จ่าสมเพียร เอกสมญา ที่บอกเล่าความรู้สึกผ่านเพลง ผ่านสื่อ นั้นสะท้อนอะไรบางสิ่ง เต็มด้วยความจริงบางอย่าง ทำให้ผมอยากขออนุญาตนำมาเรียบเรียงเป็น บทกวีแคนโต้ ที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการสานต่อความคิดและรำลึกถึงคุณพ่อสมเพียร เอกสมญญา ที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านั้นว่า... “...แต่ผมจะไม่ตาย เพราะงานยังไม่จบ ตายไม่ได้!!”  
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ : www.bangkokbiznews.com 1. ผมหยิบซีดีเพลงชุด Demo-Seed ของ พล ไวด์ซี้ด (ชุมพล เอกสมญา) ที่ให้ผมไว้ออกมาเปิดฟังอีกครั้ง หลังยินข่าวร้าย พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา พ่อผู้กล้าของเขาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา บทเพลง ‘บันนังสตา’ ถูกผมนำมาเปิดฟังวนๆ ซ้ำๆ พร้อมคิดครุ่นไปต่างๆ นานา   ในขณะสายตาผมจ้องมองภาพของพ่อฉายซ้ำผ่านจอโทรทัศน์ ทั้งภาพเมื่อครั้งยังมีชีวิตและไร้วิญญาณ...นั้นทำให้หัวใจผมรู้สึกแปลบปวดและเศร้า... ฉันรู้ว่าวันเวลาเป็นสิ่งหนึ่ง ฉันรู้ว่าวันเวลา... ฉันรู้ว่าวันเวลาเป็นสิ่งหนึ่ง ที่รีไซเคิลไม่ได้ มองโลกตามที่มันเป็นจริง มองโลกตามที่มันเป็นไป… …
ภู เชียงดาว
  เขาตื่นแต่เช้าตรู่... คงเป็นเพราะเสียงนกป่าร้อง เสียงไก่ขัน หรือเสียงเท้าของเจ้าข้าวก่ำกับปีโป้ ที่วิ่งเล่นไปมาบนระเบียงไม้ไผ่ ก่อนกระโจนเข้าไปในบ้าน ผ่านกระโจม ทำให้เขาตื่น ทั้งที่เมื่อคืนกว่าเขาจะเข้านอนก็ปาตีสาม