Skip to main content

 

1

 

เมื่อนั่งอยู่ในความเงียบ ในสวนบนเนินเขายามเช้าตรู่ เพ่งดูหมอกขาวคลี่คลุมดงดอยอยู่เบื้องหน้า ทุ่งนาเบื้องล่างลิบๆ นั้นเริ่มแปรเปลี่ยนสี จากทุ่งข้าวสีเขียวสดกลายเป็นสีเหลืองทองรอการเก็บเกี่ยว ใช่, ใครต่อใครเมื่อเห็นภาพเหล่านี้ คงรู้สึกชื่นชมภาพอันสดชื่นรื่นรมย์กันแบบนี้ทุกคน

ทว่าจริงๆ แล้ว พอค้นให้ลึกลงไป ก็จะพบว่า ในความงามนั้นมีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่ให้รับรู้สึก เมื่อนึกถึงภาพเก่าๆ ของหมู่บ้าน ผ่านไปไม่กี่สิบปี  จะมองเห็นได้เลยว่าหมู่บ้านเกิดของผมมีความแปลกเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง อย่างไม่น่าเชื่อ

“ตอนนี้ อะหยังๆ มันก่อเปลี่ยนไปหมดแล้ว...” เสียงใครคนหนึ่งบ่นเหมือนรำพึง

จริงสิ, อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว บทเพลงชาวนาชาวสวนที่เคยขับร้อง จึงไม่เพราะเหมือนแต่ก่อน...    
เมื่อความแปลกเปลี่ยนกำลังไหลเลื่อนเคลื่อนคลุมหมู่บ้าน ปกคลุมหัวใจของผู้คนทุกลมหายใจเข้าออก

คิดแล้ว  น่าใจหาย

เมื่อมองเห็นภาพชาวบ้าน ญาติพี่น้องของผมแบกกระเป๋าเดินทยอยออกจากหมู่บ้านไปทำงานต่างแดนกันอย่างต่อเนื่อง

2

“ตอนนี้ ถ้านับจำนวนทั้งคนหนุ่ม คนเฒ่าคนแก่ที่ออกไปยะก๋านข้างนอก คงเกือบสองร้อยคนแล้วมั่ง...” เสียงพี่สาวบอกเล่าให้ฟัง

เป็นการเดินออกไปทำงานรับจ้างต่างบ้านต่างเมือง ในขณะที่รัฐบาลโหมโฆษณาผ่านเสียงตามสาย ผ่านโทรทัศน์ เน้นย้ำอยู่อย่างนั้น...พอเพียง พอเพียง ซึ่งมันช่างสวนกระแสและรู้สึกขมขื่นเสียจริงๆ
ทำไม...ทำไม ผู้คนถึงต้องออกจากหมู่บ้าน...หลายคนคงแอบตั้งคำถามกันแบบนี้ แต่กระนั้น คงมีอีกหลายคนที่รู้สึกเฉยชา และปล่อยให้มันเป็นไป ปล่อยให้ชะตากรรมเป็นฝ่ายตัดสิน

ใครหลายคนบ่นว่า ต้องโทษ ธกส.ต้องโทษนักการเมือง รัฐบาลเก่าที่สร้างหนี้ให้ชาวบ้าน ในขณะที่หลายคนก็บอกว่า ต้องโทษตัวเราเอง ที่ไปเอาเงินมาใช้ แต่ไม่มีปัญญาใช้คืน

แน่นอน พวกเขาถึงละทิ้งผืนแผ่นดินเกิด ปล่อยให้นาข้าวไร้คนเกี่ยว สวนเปลี่ยว ไร่รกร้าง แบกกระเป๋าเข้าเมือง เพียงเพื่อมุ่งหาเงิน เร่งหามาใช้หนี้ เพื่อปลดทุกข์และความเครียดที่รุมเร้า

ทำให้นึกไปถึงถ้อยคำของหลานชาย ที่บอกเล่าความรู้สึก ในวันที่ต้องไปเที่ยวหาคนงานที่เป็นชนเผ่าจากหมู่บ้านใกล้เคียงมารับจ้าง รับเหมาเกี่ยวข้าวภายในทุ่งนาของตน
“...ท้องทุ่งในวันนี้ช่างเงียบเหงา ถึงแม้จะมีผู้คนมาช่วยผมเกี่ยวข้าว แต่เป็นคนที่ไม่รู้จักเลยซักคน เสียงต่างๆที่คุ้นเคย ก็เงียบขาดหายไป เพราะอะไร ?...”

3

4

ฟ้าครึ้ม พายุพัดพาเมฆฝนหล่นโปรยลงมาในสวนบนเนินเขาอีกครั้ง...ผมหยิบหนังสือ “จากห้วงลึก” ของ “พจนา จันทรสันติ” ออกมาอ่านอยู่เงียบๆ ลำพัง...

“...ความเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตแบบบุพกาล มาสู่วิถีชีวิตแบบโลกสมัยใหม่ อาจกินเวลาเพียงลัดนิ้วมือเดียว เมื่อเทียบกับการสั่งสมอารยธรรมทางจิตวิญญาณ ซึ่งต้องกินเวลานานนับพันๆ ปี จากการหยั่งเห็นของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า สืบทอดจากครูคนแล้วคนเล่า สั่งสมขึ้นเป็นประสบการณ์ภายในอันล้ำลึกซึ่งความรอบรู้และบทบาทหน้าที่ของมนุษย์ได้รับการตอบรับยืนยันจากสรรพสิ่งในจักรวาล กว่าที่มนุษย์จะเงี่ยโสตสดับฟัง จนได้ยินกระแสเสียงของพระผู้สร้าง หรือต้นกำเนิดของตน กว่าที่มนุษย์จะขัดเกลาตนเองให้ละเอียด จนถึงขั้นที่สามารถรับคลื่นสัญญาณความหมายต่างๆ ของธรรมชาติ ช่างแตกต่างกันไกลจากเสียงของวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งง่าย ทว่าผิวเผินกว่ามากนัก และมนุษย์อาจใช้เวลาไม่มากเลย ที่จะได้ยินกระแสเสียงของเงินและเทคโนโลยี ซึ่งได้กลายมาเป็นพระเจ้า กลายเป็นศาสนาในยุคใหม่ของตนด้วย

และเสียงของพระเจ้าองค์ใหม่นี้ ย่อมดังกึกก้องกว่า ชัดเจนกว่า และง่ายที่จะได้ยินด้วย ทว่าผู้คนที่เดินติดตามไป ก็คงจะได้ค้นพบด้วยตนเองในไม่ช้าว่า ตนได้มีความสุขแท้จริงละหรือ จะค้นพบว่าอะไรคือสวรรค์และคือนรก และพบว่าอะไรจริงอะไรเท็จ และตรงปลายทางสายนั้นคือมรรคผลอันไพบูลย์เต็มเปี่ยม หรือว่าคือหายนะของทั้งหมด...”

“จากห้วงลึก”
“พจนา จันทรสันติ” เขียน

 

ผมนิ่งอ่านแล้วครุ่นคิดไปต่างๆ นานา...จริงสิ, ไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ผู้คนต่างล้วนเอาชีวิตไปวางอยู่กับเงิน เอาเงินเป็นตัวตั้ง ในขณะที่สังคมนับวันยิ่งซับซ้อน ยุ่งเหยิง หมักหมมและเลวร้ายขึ้นทุกวัน และก็อดนึกถึงผู้คนพี่น้องของผมที่ละทิ้งบ้านเกิดไปไม่ได้ว่า ป่านนี้พวกเขาออกไปเผชิญชีวิตในเมืองใหญ่ ในต่างจังหวัด ในเกาะแก่งทะเล ทางภาคใต้ในขณะนี้ ไม่รู้ว่าพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไรบ้าง และจะเอาตัวรอดกลับคืนมาสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองได้หรือไม่...

ความรู้สึกของผมในยามนี้ เหมือนกับที่ “ถนอม ไชยวงษ์แก้ว”เขียนบันทึกไว้ในคอลัมน์ใน www.prachatai.com ตอนหนึ่งที่บอกว่า...

Life is short
The world is rough
If you want to live save
You have to be tough

ชีวิตนี้สั้น
โลกนี้เลวร้าย
หากคุณต้องการจะอยู่อย่างปลอดภัย
คุณต้องแข็งแกร่งพอ.

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบโดย “ดอกเสี้ยวขาว” http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jintanakarn82&month=10-2007&date=09&group=11&gblog=3

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
        ผมมองเห็นพลังในตัวผู้ชายคนนี้ ตั้งแต่เขาเปิดประตูลงจากรถ หลังจากเรายืนทักทายกัน เขาเอื้อมไปหยิบกล้องถ่ายรูปขนาดกะทัดรัดที่วางบนเบาะหน้ารถ มากดเก็บภาพหลายมุมรอบๆ สวนและบ้านปีกไม้ ในขณะที่ผมกำลังถือไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดใบสักแห้งหล่นกองเต็มลานดินรอบโคนต้น ผมหอบใส่ตะกร้าไม้ไผ่ยัดๆ ไปเทไว้หลังบ้าน ตั้งใจไว้ว่าเมื่อเก็บเศษใบไม้ใบหญ้าได้มากพอ จะทำปุ๋ยหมักเก็บไว้ พอหันไปมองเขาอีกที ผมเห็นเขาจัดแจงลงมือทำในสิ่งที่รักและชอบเรียบร้อยแล้ว เขานั่งหลบมุมอยู่ระหว่างโรงรถกับต้นตะขบที่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา ข้างกายเขามีอุปกรณ์เขียนรูป กระดาษ กระดาน จาน สีน้ำ พู่กัน น้ำ…
ภู เชียงดาว
    เมื่อเอ่ยชื่อ...คนมากมายต่างรู้จักเขา… จริงสิ, ใครต่อใครบอกไว้ว่า เขากลายเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาว ของความรัก ความหวัง และความฝันของใครหลายคน กระทั่งมีคนให้สมญานามแด่เขา ‘เจ้าชายโรแมนติก’
ภู เชียงดาว
  กี่ครั้งที่เราทุกข์ กี่ครั้งที่เราล้ม กี่ครั้งที่เราจม อยู่ในท้องทะเลน้ำตา…
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ : www.oknation.net/blog/fontree/2008/08/20/     อีกคืนค่ำ,ผมถวิลหาคำปลอบโยนของอา “เป็นไงบ้าง อยู่ได้ไหม...ชีวิต” นั่นคือถ้อยคำของอาเคยไถ่ถาม น้ำเสียงยังกังวานหากอุ่นอ่อนโยน อาเหมือนดอกไม้กลางป่าอวลกลิ่นหอม อาคงรับรู้ว่างานข่าว งานเขียน มันยากหนักเพียงใด “ที่ถามเพราะอาเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน...” ผมได้แต่พยักหน้าบอกไป “อยู่ได้ครับอา...” ในขณะหัวใจผมตื้นตันในถ้อยคำห่วงใยนั้น
ภู เชียงดาว
ใกล้สิ้นปีทีไร เชื่อว่าหลายคนคงแอบบ่นกับตัวเองอยู่เงียบๆ ลำพัง “ชีวิตเราเดินทางมาไกลจังเลย” “ทำไมมันถึงหนักหนาสาหัสอย่างนี้” “แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป...” “สิ่งไหนเล่าที่เราต้องการ...” “แล้วอะไรคือความสุขที่แท้จริง...”
ภู เชียงดาว
เหน็บหนาวใช่ไหมหัวใจเจ้า             โศกเศร้าใช่ไหมหัวใจหวัง ยามสายลมเลาะภูรับรู้-ดัง               แว่วฟังเหมือนดั่งเพลงร้าวราน ใครบางคนสับสน บ่นถึงเจ้า   ไยวิถีจึงเหน็บหนาวแตกร้าวฉาน ไม่มีแล้วหรือ...จิตวิญญาณ                                        …
ภู เชียงดาว
        ที่มาภาพ : โอ ไม้จัตวา http://blogazine.prachatai.com/user/omaijattava/post/2171
ภู เชียงดาว
ยามหมอกขาวห่มคลุมดอย และลมหนาวพัดมาเยือนเมืองเหนือคราใด ทำให้ผมอดครุ่นคำนึงถึงวิถีเก่าๆ เมื่อครั้งเที่ยวท่องไปตามภูเขา ทุ่งไร่ สายน้ำ และชุมชนของพี่น้องชนเผ่านั้นไม่ได้ แน่ละ ในเส้นทางที่ย่ำไปนั้น มักเจอทั้งเรื่องราวมากมายให้เรียนรู้ พานพบ และหยุดทบทวนดูภาพผ่านในบางสิ่ง และละทิ้งภาพผ่านในบางอย่าง แต่โดยรวมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทุกข์สุข สดชื่นรื่นรมย์ หรือปวดปร่าในห้วงลึก เราไม่อาจเกลี่ยทิ้งไปได้ เพราะนั่นล้วนคือวิถีแห่งความจริงทั้งสิ้น...