Skip to main content

 

เขาตื่นแต่เช้าตรู่...

คงเป็นเพราะเสียงนกป่าร้อง เสียงไก่ขัน หรือเสียงเท้าของเจ้าข้าวก่ำกับปีโป้ ที่วิ่งเล่นไปมาบนระเบียงไม้ไผ่ ก่อนกระโจนเข้าไปในบ้าน ผ่านกระโจม ทำให้เขาตื่น ทั้งที่เมื่อคืนกว่าเขาจะเข้านอนก็ปาตีสาม


หรืออาจเป็นเพราะเสียงเพรียกจากข้างใน
ปลุกเขาให้มุดออกมาดูแสงเช้า ชีวิตเช้า...

ตื่นเถิด,อุทัยเจิดจ้าเล้า                    รัตยา ผยองเฮย    
ดาวเจิ่ง, เวิ้งสวรรค์ลา                     ลิบแล้ว
พรานบูรพ์,ทอดบ่วงถา                    โถมคร่อม คล้องแฮ
ปราสาท,ซุลต่านแพร้ว                    พรื่อสร้าน ฉานแสง

ผมยินเขาพึมพำๆ บทกวีของ
โอมาร์ คัยยาม ขณะยืนอยู่หน้าระเบียง ก่อนจัดแจงอุปกรณ์ ลงมือเขียนรูปสีน้ำทันทีที่ตะวันเริ่มฉายแสงโผล่พ้นดอยผาแดงเบื้องหน้า

ผมปล่อยเขาอยู่เงียบๆ เดินไปทำภารกิจประจำวันข้างล่าง ปล่อยหมาแมววิ่งไล่กันในสวน ผมโปรยข้าวไก่ ลากสายยางรดน้ำต้นไม้ดอกไม้รอบๆ บ้าน ก่อนกลับมาก่อไฟในเตาหลังบ้าน ชงกาแฟ หุงข้าว ทำกับข้าวมื้อเช้าอย่างง่ายๆ

แกงส้มหัวปลีใส่ปลากระป๋องใส่ยอดชะอม น้ำพริกป่าและผักสดๆ เก็บจากหลังบ้าน มีทั้งมะแว้ง ยอดผักเชียงดา ฟักทอง ดอกแค ผักกาด ฯลฯ เอามานึ่งเคียงกับน้ำพริก

สายแล้ว เรานั่งทานข้าวกันริมหน้าต่าง เขาถามหาสูตรแกงส้มหัวปลี เผื่อไปลองทำในกระท่อมดินทุ่งดาวบ้าง ผมบอกเขา สูตรนี้ได้มาจาก
หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง นักเขียนสารคดีมาเยี่ยมหุบผาแดงอยู่บ่อย แกชอบทำกับข้าว เลยสาธิต แนะนำสูตรให้ จนผมชอบแหย่เล่น นี่ละ อาหารนักเขียน...

รสชาติจึงอร่อย ไม่ธรรมดา

แกงส้มหัวปลีใส่ปลากระป๋องใส่ยอดชะอม... เพียงคุณก่อไฟ ตั้งหม้อ เติมน้ำ ทิ้งไว้ คุณเดินลัดสวนไปในดงกล้วย ตัดปลีเอามาหัวหนึ่ง (ถ้าคุณมีหมาแบบเจ้าข้าวก่ำ คุณให้มันคาบหัวปลีกลับมาส่งให้คุณถึงเตาไฟ)ขากลับแวะเก็บยอดชะอมมาหนึ่งกำมือ จัดแจงแกะเปลือกปลีแก่ๆ ออก ก่อนใช้สากทุบๆ หัวปลีให้น่วม โยนลงไปในหม้อน้ำเดือดพล่าน ปิดฝา รอสักพัก เปิดดู จะเห็นหัวปลีแตกนุ่มออกเป็นริ้วๆ เส้นๆ เหมือนเนื้อไก่ คุณโยน หอมแดง กระเทียม พริก กะปิ มะเขือเทศ มะขามเปียก พร้อมกับปลากระป๋องลงไป ตามด้วยยอดชะอม เพียงแค่นี้ก็ได้แกงส้มหัวปลีใส่ปลากระป๋องใส่ยอดชะอม ให้กินแบบอาหารบ้านป่าขนานแท้ และเจ้าของสูตรเป็นคนใต้ เขาแนะนำไว้ว่า หากเพิ่มกะทิลงไปอีกหน่อย ก็กลายเป็นอาหารแนวปักษ์ใต้ๆ ไปเลย

วิถีคนสวนกับคนเขียนหนังสือ จำเป็นต้องกินอยู่อย่างเรียบง่ายอย่างนี้แหละ
ผมบอกตัวเอง
ประมาณว่า เพียงแค่คุณวิ่งวนรอบบ้าน วิ่งเก็บผักไม้ไซร้เครือหนึ่งรอบ ก็ได้หนึ่งหม้อแกงแล้ว
ซึ่งต่างกับคนทำงานประจำและมีเงินเดือน อาจไม่เคยรับรู้หรือสัมผัสแบบนี้ เพราะจำเป็นต้องวางชีวิตวิ่งไปบนสายพานของความรีบเร่ง

แต่ก็นั่นแหละ วิถีคนสวนกับคนเขียนหนังสือนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะมากต่อมากที่ทุกคนต้องเจอกับความยากลำบากและความหิว
คงเหมือนกับที่เขาเปรยไว้...
นี่คือการเผชิญหน้าระหว่างความฝันและความจริงในสนามชีวิต...

แน่ละ ผมเข้าใจและรู้รสชาตินั้นดี ยิ่งในยามที่เรากำลังเผชิญกับความจน และความแล้งแห้งแห่งฤดูกาลในชีวิตขณะนี้ นั่นทำให้ผมต้องใช้พลัง ใช้ความอดทนเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว และระหว่างเฝ้ารอความชุ่มชื้นมาสู่ชีวิต จำต้องคิด วางแผน สะสมเมล็ดพันธุ์เอาไว้ให้เยอะ เพื่อจะหว่านและเพาะปลูกในหน้าฝนที่จะมาเยือนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

นั่นรวมไปถึงการสะสมเมล็ดพันธุ์ความฝันนั้นด้วย...
ผมบอกกับตัวเองว่า จะพยายามกอบเก็บ รักษา และขยายเมล็ดพันธุ์เอาไว้ให้นานที่สุด

เขากลับไปแล้ว ออกเดินทางไปเพียงลำพัง

ในขณะที่ผมก็หันกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสวนเพียงลำพัง,เช่นกัน
ในวันที่ผมอยู่เงียบๆ ไหวว้างและเปล่าดาย
ผมชอบหยิบบางถ้อยคำที่เจ้าชายโรแมนติกได้บันทึกถึงผมมาอ่านแล้วครุ่นคิด
ในยามที่ห้วงชีวิตหนึ่งนั้นรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งกำลังคว้าง บางอย่างกำลังหาย...

 

 

*จงแสวงหาร่มเงาใต้ก้อนเมฆ ขณะพวกนั้นวิ่งเตลิดไปสู่เกวียนและเพิงของตน จงอย่าปล่อยให้การดำเนินชีวิตเป็นการค้าของเจ้า, แต่จงให้เป็นกีฬาของเจ้า, จงให้ความชื่นชมยินดีในผืนแผ่นดิน แต่อย่าเป็นเจ้าของมัน ด้วยต้องการในกิจการงานและศรัทธา มนุษย์ได้มาอยู่ตรงที่ๆ เขาอยู่, ซื้อและขาย, และใช้ชีวิตของตนเยี่ยงทาสติดที่ดิน,

...ผมปลอบโยนให้กำลังใจเขา ตามหน้าที่นักเพาะหว่านความฝันที่ผมเป็นราชันย์อาณาจักรอยู่ แน่นอนผมเป็นได้แค่นั้น เฉกสายลมที่หอบพาเมล็ดพันธุ์ไปเป็นป่า ส่วนการเจริญเติบโตงอกงามนั้น ขึ้นอยู่กับดิน ฟ้า อากาศ น้ำและตัวเมล็ดพันธุ์เอง

ในความคำนึงนาทีนี้ กวี นักเขียน ชาวไร่ ต่างกันตรงไหนล่ะ ระหว่างดอกเบี้ยกับดอกเหงื่อนั้น ต้องการความมุ่งมั่น ความขยันหมั่นเพียร ความรักความเอาใจใส่ไม่แพ้กัน


จากประสบการณ์ของความล้มเหลวของตัวเอง ผมพบว่า คนเรามักฝันหวาน และขยันเหลือเชื่อเมื่อท้องหิว

*วอลเดน เฮนรี่ เดวิด ธอโร เขียน สุริยฉัตร ชัยมงคล แปล.
บางตอน
ร่มเงาใต้ก้อนเมฆ คอลัมน์การเดินทางของจักรยานสีแดง,พิบูลศักดิ์ ละครพล
กุลสตรี ปักษ์หลังกุมภาพันธ์ 2553

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ผมกลับมานั่งในบ้านปีกไม้ในหุบผาแดง นิ่งมองภาพเก่าๆ ของพ้อเลป่า สลับกับภาพครั้งสุดท้ายของเขาก่อนจะละสังขารไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
ภู เชียงดาว
เดาะ บื่อ แหว่ ควา สี่ จื้อ เนอ มู้ โข่ ลอ ปก้อ เฉาะ ถ่อ เจอพี่น้องประสานนิ้วมือฟ้าถล่มช่วยกันค้ำไว้ โถ่ ศรี ซี้ เล้อ แหม่จอ ป่า ซี้ ด่า แคนกยูงตายเพราะขนหางขุนนางตายเพราะเชื่อคนยุยง
ภู เชียงดาว
  ที่มาภาพ : www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=308.105เมื่อเราพูดถึงเรื่อง การพัฒนาและความเจริญ ที่คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งไปทางนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา และมันกำลังรุกคืบคลานเข้ามาในวิถีบนบ้านป่าบ้านดอยอย่างต่อเนื่อง
ภู เชียงดาว
ผมหยิบงานที่ผมเขียนถึง ‘พ้อเลป่า' ปราชญ์ปกากะญอขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หลังทราบข่าวจาก ‘หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง' ว่า ‘พ้อเลป่า' เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา... ก่อนที่ผมและเพื่อนกำลังออกเดินทางไปบนทางสายเก่า สายนั้น...
ภู เชียงดาว
                          (๑) หอมกลิ่นภูเขาล่องลอยโชยมาในห้วงยามเย็นฉันยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านปล่อยให้สายแดดสีทองส่องสาดกายมองไปเบื้องล่าง- -ท้องทุ่งแห่งชีวิตยังเคลื่อนไหวไปมา ไม่หยุดนิ่งในความหม่นมัว ในความบดเบลอฉันมองเห็นภาพซ้อนแจ่มชัด แล้วเลือนราง
ภู เชียงดาว
ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตในเมืองนั้นคงเหน็ดหน่ายและเหนื่อยหนักจากการงาน ชีวิตหลายชีวิตอาจถูกทับถมด้วยภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ยังไม่นับนานาปัญหาที่เข้ารุมสุมแน่นหนาอีกหลายชั้น จนดูเหมือนว่าชั่วชีวิตนี้คงยากจะสลัดให้หลุดพ้นไปได้ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะครั้งหนึ่งตัวผมเองเคยเอาชีวิตไปวางไว้อยู่ในเมืองนานหลายปี แน่นอน ใครหลายคนในสังคมเมืองจึงชอบเอา ‘การเดินทาง' เป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นออกจากกงล้อแห่งการงานนั้นได้ และมักเอาช่วงสิ้นปีหรือวันปีใหม่ เป็นวันแห่งการปลดปล่อย ในขณะที่ตัวผมนั้น กลับไม่ได้เดินทางไปไหนเลย ยังมีชีวิตแบบวันต่อวัน อยู่กับปัจจุบันขณะ ในหุบเขาผาแดงแห่งนี้
ภู เชียงดาว
ผมไม่รู้ว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา จะมีสักกี่คนสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้กี่ครั้งกี่หนกันแน่นอน ความฝันใครบางคนอาจเกลื่อนกล่น ความฝันใครหลายคนอาจหล่นหาย ใครหลายใครอาจมองว่าความฝันคือความเพ้อฝัน ไกลจากความจริง แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คน ไม่เคยละทิ้งความฝันพยายามฟูมฟักความฝัน กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู แม้บ่อยครั้งอาจอาจเหนื่อยหนัก เหน็ดหน่าย กว่าจะทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริงได้...เหมือนชายคนนี้...ที่ทำให้ฝันหนึ่งนั้นกลายเป็น ความงาม และความจริง... ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือน เวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งผมเคยบันทึกไว้ว่า เป็นดินแดนหุบเขาที่มีชีวิต…
ภู เชียงดาว
ผมรู้แล้วว่า วิถีคนสวนกับคนเขียนกวีนั้นไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ต้องฝึก ทดลอง เรียนรู้ ลงมือทำ ทุกวัน ทุกวัน และแน่นอนว่า เมื่อลงมือทำแล้ว เราจำเป็นต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย เติมความรักความเอาใจใส่ลงไปอย่างต่อเนื่อง (ถ้าไม่อย่างนั้น พันธ์พืชที่เราหว่านลงไปอาจเฉาเหี่ยวแห้งไป หรือไม่ผืนดินอันอุดมก็อาจแข็งด้านดินดานไปหมด) หลังจากนั้น เรายังต้องอดทนและรอคอยให้มันออกดอกออกผล กระทั่งเราสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตที่งอกเงยในบั้นปลายได้ ทุกวันนี้ ผมยังถือว่าตนเองเป็นเพียงคนสวนมือใหม่ และเป็นคนฝึกเขียนบทกวีอยู่เสมอ ทุกวัน หลังจากพักงานสวน ผมจะลงมือเขียนบทกวี โดยเฉพาะในยามนี้…