และแล้ว หนังสือหนังสือเล่มแรกของผมก็เกิดขึ้นจนได้
หลังจากเขียนงานร่วมกับนักเขียนคนอื่นมานาน หลายเล่มด้วยกัน...จนหลายคนบอกว่า เขียนหนังสือมาเป็นสิบปี ยังไม่เล่มของตัวเอง และผมต้องบอกไปแบบขำๆ ว่า ผ่านไปอีกสักยี่สิบปี ผมอาจกลายเป็นนักเขียนที่เขียนหนังสือรวมเล่มกับนักเขียนคนอื่นมากที่สุดในประเทศก็เป็นได้ ฮา...
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นอีกความฝันของผมครับ
งานสารคดีชุด 'เด็กชายกับนกเงือก'
เป็นงานเขียนที่เคยตีพิมพ์ในหลายพื้นที่ อาทิ คอลัมน์ เผ่าชนคนเดินทาง,คนคือการเดินทาง,รอยเท้านักเดินทาง ในเสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ, ในนิตยสารขวัญเรือน,หญิงไทย,สาละวินโพสต์,ผู้ไถ่,ปฏิปทา ฯลฯ เป็นสารคดีว่าด้วย ความงาม ความหวัง รากเหง้าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของเผ่าชน กระทั่งมาจนถึงยุคสมัยนี้- -ยุคของความเปลี่ยน ยุคของโลกทุนนิยม
แน่นอน ความคืบคลานของงูใหญ่ ได้เลื้อยเข้าไปถึงชุมชนพี่น้องบนดอยสูง กระทั่งถูกฉก ฉุด กระชาก ลากลงมาตามกระแสธารของอำนาจ ความโลภ อย่างเร็วและแรง!!
แน่ละ นับแต่นี้ วิถีชนคงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป...
- -แหละนี่คือบทบรรณาธิการ ของ 'สุวิชานนท์ รัตนภิมล' ที่พูดถึงหนังสือเล่มนี้...
************************************
เมื่อต้นฉบับความหวังออกเดินทาง
ต้นฉบับงานเขียนทั้งขบวน เดินทางมารอผมในกล่องไปรษณีย์อากาศ รอให้เปิดตู้ไปดูอยู่สองสามวัน ผมไม่รู้เลยว่า เรื่องทั้งหมดที่ผู้เขียนวางใจส่งเรื่องมาให้ดูนั้น จะเป็นไปในทิศทางใด ท่วงทำนองใด เผ่าไหน ที่ไหน เมื่อไหร่อย่างไร
กระทั่งเครื่องปริ้นส์ค่อยๆคายกระดาษเอ4 ออกทีละแผ่นๆ อัศจรรย์พันลึกของการคายถ้อยคำออกมาให้เหมือนต้นฉบับทุกอย่าง ซึ่งเครื่องมืออื่นไม่อาจกระทำการได้ ผมมองเจ้าเครื่องสี่เหลี่ยมด้วยความรู้สึกรอคอย เรื่องหนึ่งผ่านมา อีกเรื่องหนึ่งก็ตามมา
นานหลายนาทีกว่าต้นฉบับทั้งหมดจะถึงมือผม
ผมคิดถึงคนปั้นคำ คนสร้างคำสร้างประโยคออกมา ต้องใช้เวลานานเพียงใด กว่าต้นฉบับหนาปึกจะแล้วเสร็จ
สำคัญยิ่งกว่า เห็นจะเป็นความสนใจของผู้เขียน กว่าจะรู้ว่าสนใจชอบในเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วเริ่มต้นออกตามหาเรื่องราวนั้น ยิ่งต้องใช้เวลา และเสียงเรียกร้องจากภายในอีกมหาศาล เช่นนี้แล้ว ต้นฉบับที่อยู่ในมือผม จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นมาง่ายๆ
งานเขียนของ ภู เชียงดาว ผ่านหน้าผมอยู่บ่อยๆ ทั้งตามหน้าแม็กกาซีน หน้าหนังสือพิมพ์ หรือเว็บไซค์สื่อออนไลน์ต่างๆ เรื่องที่ ภู เชียงดาว สนใจ และเขียนถึงมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือเรื่องของชนเผ่าต่างๆ บนภูเขา และเรื่องราวชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดน
ความสนใจใคร่รู้ในเรื่องเหล่านี้ เผอิญว่าผมมีต้นทุนสัมผัสกับเรื่องราวเหล่านี้มาก่อน การจะออกเดินไปรู้จักมุมมองอื่นๆ ผ่านสายตา ภู เชียงดาว ก็ยิ่งได้เพิ่มพูนเนื้อหาที่ผ่านพบให้กว้างออกไปยิ่งขึ้น
ตอนแรกผมเห็นชื่อเรื่อง เผ่าชนคนเดินทาง รู้ด้วยความคุ้นเคยได้ทันที ว่าเป็นเรื่องของกลุ่มชนเผ่าที่เขาเฝ้าติดตามเขียนถึงมาตลอด แต่ ภู เชียงดาว มีอื่นใดจะบอกมากกว่าที่ผมรู้มาบ้างนั่นหรือ
ผมไล่เปิดจากหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย เรื่องของคนเผ่าปกาเกอะญอ คนคะฉิ่น คนลีซู คนดาระอั้ง คนเย้า คนลาหู่ คนลัวะ คนอาข่า คนไทใหญ่ ผมพบว่าตัวละครที่เขาหยิบมาเขียนถึงนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นตัวละครไร้ชื่อ มีตัวตนที่ดูเหมือนแทบไม่มีตัวตนใดๆให้น่าจดจำมากไปกว่า ไปรับรู้ในชะตากรรมเพื่อนมนุษย์
แต่ละคน แต่ละกลุ่มคนที่ผู้เขียนนำมาเขียนถึง ล้วนแล้วแต่หลบซ่อนตัวอยู่หลังฉากใหญ่ทิวเทือกเขาทั้งนั้น พูดง่ายๆ ว่า ถ้าผู้เขียนไม่หยิบยกมาเขียนถึง เรื่องเหล่านั้นก็ไม่ต่างไปจากเศษหญ้าในสายลม ปลิวคว้างหายไปต่อหน้าต่อตา โดยไม่มีใครอยากใส่ใจตามมองด้วยซ้ำ
ยิ่งเรื่องที่อ่อนไหวต่อการทวงถาม ทวงสิทธิโอกาส ในฐานะมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ ลมหายใจ ที่ยืนอยู่จริงบนผืนดินโลกนี้ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวนำพาสารทุกข์เหล่านี้ ออกไปตีแผ่อยู่กลางอกกลางใจใครให้สะเทือนใจตามได้ง่ายๆ
ผู้เขียนพยายามจัดวาง แกนกลางการตั้งอยู่ของเผ่าคนบนพื้นฐานของพิธีกรรม จารีตวัฒนธรรม ความเชื่อ เอกลักษณ์เครื่องแต่งกาย ภาษา ฯลฯ อันแสดงออกให้เห็นถึงคุณค่าความหมาย ที่ประกอบส่วนให้เกิดเผ่าพันธุ์หนึ่งขึ้นมา อีกทั้งสถานการณ์ยืนอยู่บนโลกได้โดยไม่ถูกทำร้าย
และยากยิ่งกว่านั้นก็คือ สถานการณ์ชีวิตที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลง สลัดสิ่งดั้งเดิมออกไปจากตัว แล้วออกเดินไปในกระแสความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นเสมือนพายุอารยธรรมจากถิ่นอื่น มาโยกคลอนความคิดเก่าๆอย่างชนิดถอนรากถอนโคน
รวมถึงการดำเนินชีวิตอย่างปัจเจก ที่ต้องมาเผชิญชะตากรรมกับความขัดแย้งนานาอันเกี่ยวข้องกับความต่างความเหมือนในกลุ่มเผ่าพันธุ์ตัวเอง นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมที่ไม่เห็นแนวทางแก้ไขได้ง่ายเลย
ที่สำคัญความขัดแย้งในเรื่องดินแดน การแย่งชิงทรัพยากร การคุกคามชีวิต นำมาซึ่งความแตกสลายนานา ให้ปรากฏผ่านตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในเรื่องราวอย่างน่าเห็นใจ
ผู้เขียนเลือกหยิบแง่มุมที่อ่อนไหวออกมาเขียนถึง ซ้ำลงไปบนรอยแผลเก่าเดิมๆ ที่ยากจะเยียวยาให้หายเป็นปลิดทิ้ง
เช่นนี้แล้ว การเดินทางของต้นฉบับ ที่ผู้เขียนมอบส่งผ่านมือผมมาให้พิจารณาเรื่องจากต้นจนจบเรื่องสุดท้าย จึงไม่อาจเลี่ยงพ้นจากเส้นทางชะตากรรมทั้งมวล ความจริงทั้งมวล ความงามทั้งมวล ที่ออกไปปรากฏผ่านหน้าผู้อ่าน ด้วยท่วงทำนองภาษาเขียนอันละเมียดละไม
ต้นฉบับงานเขียนชิ้นนี้ ไม่ได้มีมากเพียงปริมาณในเผ่าชน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแถบภาคเหนือของไทยบนตะเข็บรอยต่อพรมแดน แต่คุณค่าความหมายจากการออกไปทำความเข้าใจ สืบค้นคว้าข้อมูลมาเขียนถึง กลายเป็นต้นทุนความรู้ผสมความจริง ร้อยความงามออกมาให้ปรากฏ ทำให้งานชิ้นนี้เป็นเสมือนประตูอีกบาน ที่มองไปเห็นความกว้าง-ความลึกในเผ่าชนบนพรมแดน
นับจากนี้เป็นต้นไป ผมก็ส่งมอบต้นฉบับทั้งหลายเหล่านี้ สู่สายตาผู้อ่าน ได้ซึมซับเรื่องราว ตัวละคร ฉากชีวิต เหตุการณ์ ... และความคิดฝันของผู้เขียนในฐานะนักเขียนต่อไป
ขอให้คำชื่นชม นำพาไปสู่สะพานของความเข้าอกเข้าใจ ในความหลากหลายต่างเผ่าบนแผ่นดินนี้
ให้การอ่านนำพาโลกการเขียน ผ่านมือผู้เขียน สู่สายตาผู้อ่านร่วมกันครับ
สุวิชานนท์ รัตนภิมล
**************************************
ตอนนี้หนังสือออกจากโรงพิมพ์แล้วครับ...
-เชียงใหม่ หาซื้อได้ที่,ร้านเล่า..นิมมานฯ,ร้านร่ำเปิงกาแฟ, ร้านสุดสะแนน,และร้านหนังสือสามัญชน คาร์ฟู หางดง
-กรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่น กำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับทางร้านหนังสืออยู่ครับ
หรืออีเมล witeechonbooks@gmail.com
และ
phuchiangdao@gmail.com