“...เมื่อมนุษย์จมอยู่กับฝูงชนที่ขาดความเป็นมนุษย์ ถูกผลักไปมาอย่างอัตโนมัติไปตามแรงเหวี่ยง บุคคลนั้นก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ที่แท้ สูญเสียคุณธรรม หมดความสามารถที่จะรัก และศักยภาพที่จะกำหนดตนเอง เมื่อสังคมประกอบด้วยผู้คนที่ไม่รู้จักความวิเวกภายใน สังคมนั้นก็ไม่อาจรวมกันได้ด้วยความรัก แต่อยู่ได้ด้วยอำนาจครอบงำและความรุนแรง...” ถ้อยคำของ “โทมัส เมอร์ตัน” คัดมาจากหนังสือ “ความเงียบ” จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล |
สวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดของผม ตั้งอยู่ในเนื้อที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างและยาวราวสี่ห้าไร่
ก่อนหน้านั้นส่วนหนึ่งด้านล่างเป็นสวนลำไยประมาณสามไร่ของเพื่อนบ้าน ก่อนเขาจะถามขายให้ในราคาไม่กี่หมื่นบาทเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากนั้น ผมค่อยขยับขยายหักร้างถางพงป่าไผ่ที่ทอดทมึนขึ้นไปบนเนินเขา จนกลายเป็นเนื้อที่เดียวกัน
ครับ, เป็นสวนแห่งความหวัง สวนแห่งชีวิตและความอยู่รอดของผม ที่ต้องการอาศัยอยู่ในยุคสังคมที่เร็วและเร่งเช่นนี้
ครั้งหนึ่ง...อาปุ๊ “ ’รงค์ วงษ์สวรรค์” ศิลปินแห่งชาติ ผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ผมเคารพนับถือ...ที่พาชีวิตครอบครัวไปพำนักอยู่ในสวนทูนอิน ในเขต ต.โป่งแยง อ.แม่ริม เอ่ยถามผมว่า สวนที่บ้านมีเนื้อที่เท่าไร ผมบอกว่า ประมาณสี่ห้าไร่
“เฮ้ย...สี่ห้าไร่ไม่ใช่น้อยๆ นะ ถ้าเรารู้จักตกแต่งสวน ตกแต่งป่า...” นั่นคือถ้อยคำบอกเล่าของพญาอินทรีแห่งวรรณกรรมบอกย้ำในค่ำคืนนั้น
จริงสินะ, หะแรกผมเคยคิดว่ามันดูเหมือนกีดแคบ ยังไม่พอ แต่พอนานเข้าจึงรู้ใช่, ว่ามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่มากไม่น้อย สำหรับคนๆ คนหนึ่งกับวันเวลาช่วงหนึ่งในชีวิตที่มาอาศัยอยู่ในโลกใบนี้
และคนทำสวนทำไร่จะรู้ว่ามันกว้างใหญ่ก็ในช่วงฤดูฝนนี่แหละ เมื่อฝนหล่นพรำ เนื้อดินชุ่มฉ่ำ แดดฟาด หญ้าก็แทรกแตกหน่อ ม้วนคลี่ ผลิบาน ชูช่อใบ เหยียดร่างชะลูดสูง ขึ้นรกเรื้อปกคลุมไปทั่ว จนต้องแผ้วถางกันไม่หวาดไม่ไหว
มาถึงตอนนี้ ทำให้พลอยนึกไปถึงวิธีแก้ปัญหาหญ้ารกปกคลุมสวนของคนขี้เกียจอย่างผม...
จำได้ว่าตอนเป็นครูดอย ผมเคยขอเมล็ดถั่วพันธุ์พื้นเมืองของพี่น้องชนเผ่าลีซูจากบ้านฟ้าสวย หลังดอยหลวงเชียงดาว มาหนึ่งถุงใหญ่ เป็นเมล็ดถั่วตระกูลคล้ายๆ ถั่วแปบบ้านเรา แต่ที่น่าสนใจของถั่วพันธุ์นี้ก็คือ วิธีเพาะปลูกถั่วชนิดนี้ ง่ายและไม่ต้องลงแรงอะไรมากเลย เพียงแค่กำเมล็ดโปรยหว่านไปทั่วผืนดินผืนนั้น หลังจากน้ำฟ้าหล่นโปรยลงมาอย่างต่อเนื่อง จนเนื้อดินนุ่มชุ่มพื้น หว่านไปรอบๆ โคนต้นลำไย มะม่วงที่ปลูกเสริมเป็นแนวยาวจากทิศตะวันออกจรดรั้วทางทิศตะวันตก
เพียงเท่านั้น เพียงข้ามวันผ่านคืนไปไม่นาน เมล็ดถั่วก็งอกติดดิน ก่อนแตกใบ ทอดยาวเลื้อยคลุมผืนดินจนดูเขียวสดไปทั่ว แน่นอนว่า นอกจากจะได้เมล็ดถั่วเอาไว้เป็นเชื้อเป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไปแล้ว ต้นถั่วที่ขึ้นเลื้อยปกคลุมไปทั่วผืนดินแปลงนี้ ก็ช่วยคลุมหน้าดินไม่ให้มีหญ้า วัชพืชอื่นได้มีโอกาสขึ้นรกปกคลุมเหมือนแต่ก่อนอีกเลย
ครั้นเมื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์แล้ว ผมก็ปล่อยให้ต้นถั่วเหล่านั้นแห้งตายกลายเป็นปุ๋ยทับถมพื้นดินในสวนนั้น เมื่อฝนแรกของฤดูกาลใหม่มาเยือน
แต่นั่นมันก็นานมาแล้ว, หลังจากที่ผมพาตัวเองลงจากดอย มาทำงานในเมืองใหญ่ สวนในชีวิตของผมก็ดูเหมือนรกร้าง ไร้คนเอาใจใส่ มะม่วง ลำไย ที่ปลูกเอาไว้ก็โตขึ้นโดยลำพัง นานและนานเหลือเกิน ที่ผมปล่อยให้มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่เคยนึกถึงและเอาใจใส่ คอยใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดินเหมือนแต่ก่อน
เหมือนกับชีวิตตัวเอง...
จากที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมาตลอดเวลา แต่ต้องมาอยู่กับเมือง เทคโนโลยี การงานที่เร็วและเร่งอย่างนี้ ทำให้ชีวิตผมดูเหมือนกำลังถูกผูกติดกับอะไรบางอย่าง
บางครั้งเหมือนกับมีสิ่งดึงดูด บางครั้งดูเหมือนมีบางอย่างกระชากให้เหวี่ยงไปตามถนนของความต้องการ กระทั่งคล้ายกับว่า ตัวเราไม่แตกต่างกับเครื่องจักรกล ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไปตามฟันเฟืองของสังคมแห่งทุนและเทคโนโลยี
จึงไม่แปลกเลยว่า หลังจากผมพาตัวเองมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเพียงไม่กี่ปี ผมรู้สึกได้เลยว่า “ชีวิตชำรุด” ถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลซ่อมร่างกายหลายต่อหลายครั้ง
จึงไม่แปลกเลย ที่ “จอห์น เลน” บอกเล่าเอาไว้ในหนังสือ “ความเงียบ” ว่า...
“...คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ผู้แสวงหาชีวิตที่เร่งเร็ว ชอบที่จะอยู่ในเมืองใหญ่ พวกเขาไม่ชอบการคิดใคร่ครวญ สนองความสุขทางผัสสะอย่างเท่าที่จะทำได้ วินัยในตน ความสุขุมรอบคอบ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสำรวมถูกทำให้สลบไสลไปหมดแล้ว พวกเขาชอบดนตรีอึกทึกมากว่าความเงียบ ชอบความรุนแรงมากกว่าความสงบ…”
“...ความสำเร็จในชีวิต ไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาทรัพย์สิน แต่อยู่ที่การมีสุขภาพดี ชีวิตเป็นอิสระ สามารถใช้ผัสสะและจินตนาการได้อย่างเสรี...”
อาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้ผมโหยหาและอยากกลับคืนไปสู่ความเงียบ ใน “สวนแห่งชีวิต” บ่อยครั้ง.
หมายเหตุ : งานเขียนชุดนี้เคยตีพิมพ์ใน “พลเมืองเหนือรายสัปดาห์” ผู้เขียนขออนุญาตนำมาลงในประชาไท,อีกครั้ง.