Skip to main content

2_07_01

ลุ่มน้ำแม่ป๋าม’ ถือว่าเป็นลุ่มน้ำสาขาหลักที่สำคัญของแม่น้ำปิงอีกสายหนึ่งของอำเภอเชียงดาว ที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย

เมื่อย้อนทวนขึ้นไปบนความสลับซับซ้อนของต้นกำเนิดน้ำแม่ป๋าม หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ตาน้ำ จะพบว่าอยู่บริเวณชุมชนบ้านแม่ปาคี ต.สันทราย ของ อ.พร้าว ก่อนจะลัดเลาะไหลอ้อมตีนดอยผาแดง ลงสู่หุบห้วยบริเวณบ้านป่าตึงงาม โดยมีสายน้ำย่อยอีกสายหนึ่ง คือน้ำแม่ป๋อย ได้ไหลมารวมกับน้ำแม่ป๋ามตรงสบน้ำบ้านออน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว

นอกจากนั้นยังมีลำน้ำแม่มาดอีกสายหนึ่ง ซึ่งมีขุนน้ำอยู่บริเวณป่าเชิงดอยบ้านปางโม่ ก็ได้ไหลมาสมทบกับน้ำแม่ป๋าม แล้วค่อยไหลผ่านหมู่บ้านแม่ป๋าม ก่อนไหลรวมลงไปบรรจบกับแม่น้ำปิงที่อ้อมผ่านบ้านปิงโค้ง

ว่ากันว่า อนุภาคของลุ่มน้ำแม่ป๋ามนี้ได้ครอบคลุมพื้นที่หลายหมู่บ้านในตำบลปิงโค้ง และเนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ป๋ามเป็นพื้นที่ที่มีฐานทรัพยากรความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนแถบนี้จึงมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ป๋ามมาโดยตลอด

แน่นอน ลุ่มน้ำแม่ป๋าม จึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนพื้นเมืองหลายชนเผ่าโดยคนในลุ่มน้ำได้ร่วมรักษาป่า ดูแลสายน้ำ มีการจัดการทรัพยากรมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดการป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชน การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝาย และการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมไปถึงการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่ธรรมชาติกันมานานเนิ่นหลายชั่วอายุคน

2_07_02

และเมื่อผมพลิกดูประวัติชุมชนบ้านเกิดของผมอีกครั้ง ยิ่งทำให้คุณค่าความหมายของคำว่า‘บ้านเกิด’ ของผมนั้นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

บ้านแม่ป๋าม’ ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกราวปี พ.. 2491 ชื่อของหมู่บ้านนี้ถูกตั้งขึ้นตามชื่อของลำน้ำป๋ามที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ประชากรที่อพยพเข้ามาอยู่เป็นกลุ่มแรกในหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นคนงานลูกจ้างของบริษัทบอมเบย์ค้าไม้ จำกัด ว่ากันว่าบริษัทนี้ เจ้าน้อยชมพู ณ เชียงใหม่ เป็นผู้จัดการและได้รับสัมปทานป่าผืนนี้

ใช่ ผืนป่าบริเวณนี้เป็นป่าสักทองผืนใหญ่ที่สมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยก็ว่าได้ แต่เมื่อมีนายทุนเข้ามาตัดโค่นอย่างถูกกฎหมาย โดยรัฐบาลยุคนั้นอนุมัติการันตีให้ ว่าเป็นการดำเนินการที่บริสุทธิ์ถูกต้องผ่านสัญญาสัมปทาน สักทองขนาดใหญ่หลายคนโอบ จึงถูกตัดโค่นและชักลากออกจากป่าโดยคนและช้าง วันแล้ววันเล่า ปล่อยลงแม่น้ำป๋าม ไหลลงแม่น้ำปิง ผ่านตัวเมืองเชียงดาว เข้าสู่เมืองเชียงใหม่ ไปสู่ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง กระทั่งลอยคอในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแพขนาดยักษ์มหึมา ก่อนลงสู่ทะเล

เมื่อพูดถึงเรื่องการเดินทางของไม้สัก ทำให้นึกถึงคำบอกเล่าของอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ที่บอกเล่าให้ผมฟังอย่างออกรส

รู้มั้ยไม้สักแถบนี้เดินทางล่องข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลถึงยุโรปโน่น...”

ต่อมา เมื่อสัญญาสัมปทานป่าผืนนี้หมดลง บริษัทดังกล่าวก็ได้ย้ายไปสัมปทานป่าในพื้นที่แห่งใหม่ ทว่าคนงานรับจ้างกลุ่มนี้ เห็นทำเลที่ตั้งแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์ จึงยุติบทบาทการเป็นลูกจ้าง ไม่ได้ติดตามไป ต่างพากันลาออกจากบริษัทดังกล่าวและได้ช่วยกันหักร้างถางพงผืนดินผืนป่าบริเวณนี้ พร้อมทั้งสร้างกระต๊อบ ลงหลักปักฐาน ตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ ชื่อว่า ‘บ้านแม่ป๋าม’ นับแต่ตั้งนั้นมา

ในประวัติศาสตร์ชุมชน ยังบอกอีกว่า จากนั้นไม่นาน ได้มีราษฎรจากอำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า ที่ถูกผลกระทบจากน้ำท่วมเนื่องจากการสร้างเขื่อนภูมิพล ที่จังหวัดตาก ทำให้น้ำได้เอ่อท้นขึ้นเหนือเข้าท่วมหมู่บ้าน เรือกสวนไร่นา ราษฎรเหล่านี้จึงได้พากันอพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านแม่ป๋ามแห่งนี้ นอกจากนั้น ยังมีคนพื้นเมืองอีกหลายกลุ่ม อาทิ จากอำเภอพร้าว ฝาง แม่แตง สะเมิง แม่ริม ฯลฯ พอทราบข่าวจากญาติพี่น้องก็ได้อพยพโยกย้ายมาอยู่รวมกัน จนกระทั่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 60 ครัวเรือน ในขณะนั้น

ต่อมาในปี พ.. 2491 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ก็ได้ประกาศให้ บ้านแม่ป๋ามเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้เป็นหมู่ที่ 10 ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาปกครองลูกบ้านเป็นคนแรกคือ นายอ้น จันทร์ตา (ขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ ) โดยมีหมู่บ้านบริวารในการปกครองคือ บ้านปางมะเยา บ้านออน และบ้านแม่มะกู้

จนผ่านมาถึงปี พ.. 2520 กรมการปกครองมหาดไทยได้แบ่งเขตการการปกครองใหม่ โดยให้หมู่บ้านแม่ป๋าม เปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 3 ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน

2_07_03
พ่ออ้น จันทร์ตา
ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านแม่ป๋าม

...ผมนิ่งอ่านประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเกิด แล้วทำให้รู้และเข้าใจชัดขึ้นว่า ในแต่ละลุ่มน้ำนั้นมีประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์นั้นมีผู้คน และในแต่ละชุมชนนั้นมีที่มาที่ไป ซึ่งเกี่ยวโยงกับธรรมชาติมาโดยตลอด มีทั้งการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและการฝืนธรรมชาติ

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้ผมมองเห็นร่องรอยของอดีต ทั้งการรุกคืบ แก่งแย่ง ทำลายวิถีธรรมชาติดั้งเดิมของรัฐและนายทุนที่เข้าไปสัมปทานป่าไม้ป่าสักจนหมดเกลี้ยงภายในชั่วอายุคน มองเห็นภาพพี่น้องจากฮอด ดอยเต่า ที่หนีน้ำท่วมจากผลกระทบที่ได้รับจากการสร้างเขื่อนภูมิพล พาครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานกันใหม่ที่นี่ ภาพของการฟื้นฟูและบุกเบิกสร้างชุมชนใหม่ มีการขุดสร้างเหมืองฝาย ขุดลอกลำเหมืองไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ภาพการขุดนาเบิกนา จนกลายเป็นท้องทุ่งในหุบเขาอันงดงามที่ทำให้เราได้เห็นในปัจจุบันนี้

จริงสิ, เมื่อนับดูจาก พ..ที่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านเกิดของผมกำลังย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว และยังคงสภาพความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติกันอย่างปกติสุข

แหละนี่คือบางฉาก บางเรื่องราวของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ป๋าม ฉายให้เห็นถึงวิถีการดำรงของผู้คนที่อยู่ร่วมกับลำน้ำสายนี้มาเนิ่นนาน

แต่ครั้นพอผมพลิกไปค้นหาความหมายของคำว่า ‘ลุ่มน้ำ’ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน นั้นได้ระบุว่า ลุ่มน้ำ: บริเวณที่ลุ่ม ซึ่งมีแม่น้ำสำคัญ และสาขาไหลผ่าน เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ‘ลุ่มน้ำ’ ในความหมายของราชบัณฑิตยสถาน หรือในความหมายของรัฐนั้น จะมองเพียงแค่พื้นที่ราบลุ่มที่มีแม่น้ำไหลผ่านเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้มองในมิติเชื่อมโยงของผู้คนและชุมชนที่อาศัยอยู่ในแถบลุ่มน้ำเหล่านั้นเลย

ก็คงเหมือนกับที่ชาวบ้านกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ จู่ๆ ก็มีข่าวมาว่ากรมทรัพยากรน้ำกำลังจัดการผันน้ำกกมาลงแม่น้ำป๋าม ลงแม่น้ำปิง ก็อาจเป็นเพราะว่าพวกเขามองเพียงแค่ ‘ลุ่มน้ำ’ ที่ต้องจัดการ แต่ไม่ได้มองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนลุ่มน้ำจะเปลี่ยนไปหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อพวกเขายังไงในอนาคต

หรือว่า ลุ่มน้ำก็คือบริเวณที่ลุ่ม ซึ่งมีแม่น้ำสำคัญ และสาขาไหลผ่าน เท่านั้นเอง!?

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
                                                                            
ภู เชียงดาว
  1. 
ภู เชียงดาว
สี่ปีที่ผ่านทำให้เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น หลายสิ่งวิปริต หลายอย่างผิดแปลก รัฐประหารกลายเป็นความหอมหวานคลั่งไคล้ ช่อดอกไม้ยื่นให้ทหารถืออาวุธ สาวเปลื้องผ้าเต้นระบำหน้ารถถัง พลัดหลง งงงวย เหมือนโดนของหนักพลัดตกลงมาจากที่สูงฟาดหัว ตื่นขึ้นมา ประชาธิปไตยง่อยเปลี้ยขาลีบ ชนชั้นถูกถ่างขา สามัญชนถูกฉีกทึ้ง คนจนกับความจริงถูกมัดมือ ข่มขืน อนุสาวรีย์ความลวงผุดขึ้นที่โน่นที่นั่น-หัวใจทาสค้อมกราบ หากหัวใจเสรี อึดอัด อุกอั่ง คลั่งแค้น เข้าสู่ยุคดินแดนแห่งการไม่ไว้วางใจฯ- สี่ปีที่ผ่านทำให้เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น หลายสิ่งวิปริต หลายอย่างผิดแปลก รัฐประหารกลายเป็นความหอมหวานคลั่งไคล้…
ภู เชียงดาว
 
ภู เชียงดาว
   ‘ชุมพล เอกสมญา’ ลูกชายคนโตของ จ่าสมเพียร เอกสมญา ที่บอกเล่าความรู้สึกผ่านเพลง ผ่านสื่อ นั้นสะท้อนอะไรบางสิ่ง เต็มด้วยความจริงบางอย่าง ทำให้ผมอยากขออนุญาตนำมาเรียบเรียงเป็น บทกวีแคนโต้ ที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการสานต่อความคิดและรำลึกถึงคุณพ่อสมเพียร เอกสมญญา ที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านั้นว่า... “...แต่ผมจะไม่ตาย เพราะงานยังไม่จบ ตายไม่ได้!!”  
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ : www.bangkokbiznews.com 1. ผมหยิบซีดีเพลงชุด Demo-Seed ของ พล ไวด์ซี้ด (ชุมพล เอกสมญา) ที่ให้ผมไว้ออกมาเปิดฟังอีกครั้ง หลังยินข่าวร้าย พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา พ่อผู้กล้าของเขาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา บทเพลง ‘บันนังสตา’ ถูกผมนำมาเปิดฟังวนๆ ซ้ำๆ พร้อมคิดครุ่นไปต่างๆ นานา   ในขณะสายตาผมจ้องมองภาพของพ่อฉายซ้ำผ่านจอโทรทัศน์ ทั้งภาพเมื่อครั้งยังมีชีวิตและไร้วิญญาณ...นั้นทำให้หัวใจผมรู้สึกแปลบปวดและเศร้า... ฉันรู้ว่าวันเวลาเป็นสิ่งหนึ่ง ฉันรู้ว่าวันเวลา... ฉันรู้ว่าวันเวลาเป็นสิ่งหนึ่ง ที่รีไซเคิลไม่ได้ มองโลกตามที่มันเป็นจริง มองโลกตามที่มันเป็นไป… …
ภู เชียงดาว
  เขาตื่นแต่เช้าตรู่... คงเป็นเพราะเสียงนกป่าร้อง เสียงไก่ขัน หรือเสียงเท้าของเจ้าข้าวก่ำกับปีโป้ ที่วิ่งเล่นไปมาบนระเบียงไม้ไผ่ ก่อนกระโจนเข้าไปในบ้าน ผ่านกระโจม ทำให้เขาตื่น ทั้งที่เมื่อคืนกว่าเขาจะเข้านอนก็ปาตีสาม