Skip to main content

2_07_01

ลุ่มน้ำแม่ป๋าม’ ถือว่าเป็นลุ่มน้ำสาขาหลักที่สำคัญของแม่น้ำปิงอีกสายหนึ่งของอำเภอเชียงดาว ที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย

เมื่อย้อนทวนขึ้นไปบนความสลับซับซ้อนของต้นกำเนิดน้ำแม่ป๋าม หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ตาน้ำ จะพบว่าอยู่บริเวณชุมชนบ้านแม่ปาคี ต.สันทราย ของ อ.พร้าว ก่อนจะลัดเลาะไหลอ้อมตีนดอยผาแดง ลงสู่หุบห้วยบริเวณบ้านป่าตึงงาม โดยมีสายน้ำย่อยอีกสายหนึ่ง คือน้ำแม่ป๋อย ได้ไหลมารวมกับน้ำแม่ป๋ามตรงสบน้ำบ้านออน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว

นอกจากนั้นยังมีลำน้ำแม่มาดอีกสายหนึ่ง ซึ่งมีขุนน้ำอยู่บริเวณป่าเชิงดอยบ้านปางโม่ ก็ได้ไหลมาสมทบกับน้ำแม่ป๋าม แล้วค่อยไหลผ่านหมู่บ้านแม่ป๋าม ก่อนไหลรวมลงไปบรรจบกับแม่น้ำปิงที่อ้อมผ่านบ้านปิงโค้ง

ว่ากันว่า อนุภาคของลุ่มน้ำแม่ป๋ามนี้ได้ครอบคลุมพื้นที่หลายหมู่บ้านในตำบลปิงโค้ง และเนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ป๋ามเป็นพื้นที่ที่มีฐานทรัพยากรความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนแถบนี้จึงมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ป๋ามมาโดยตลอด

แน่นอน ลุ่มน้ำแม่ป๋าม จึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนพื้นเมืองหลายชนเผ่าโดยคนในลุ่มน้ำได้ร่วมรักษาป่า ดูแลสายน้ำ มีการจัดการทรัพยากรมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดการป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชน การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝาย และการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมไปถึงการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่ธรรมชาติกันมานานเนิ่นหลายชั่วอายุคน

2_07_02

และเมื่อผมพลิกดูประวัติชุมชนบ้านเกิดของผมอีกครั้ง ยิ่งทำให้คุณค่าความหมายของคำว่า‘บ้านเกิด’ ของผมนั้นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

บ้านแม่ป๋าม’ ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกราวปี พ.. 2491 ชื่อของหมู่บ้านนี้ถูกตั้งขึ้นตามชื่อของลำน้ำป๋ามที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ประชากรที่อพยพเข้ามาอยู่เป็นกลุ่มแรกในหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นคนงานลูกจ้างของบริษัทบอมเบย์ค้าไม้ จำกัด ว่ากันว่าบริษัทนี้ เจ้าน้อยชมพู ณ เชียงใหม่ เป็นผู้จัดการและได้รับสัมปทานป่าผืนนี้

ใช่ ผืนป่าบริเวณนี้เป็นป่าสักทองผืนใหญ่ที่สมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยก็ว่าได้ แต่เมื่อมีนายทุนเข้ามาตัดโค่นอย่างถูกกฎหมาย โดยรัฐบาลยุคนั้นอนุมัติการันตีให้ ว่าเป็นการดำเนินการที่บริสุทธิ์ถูกต้องผ่านสัญญาสัมปทาน สักทองขนาดใหญ่หลายคนโอบ จึงถูกตัดโค่นและชักลากออกจากป่าโดยคนและช้าง วันแล้ววันเล่า ปล่อยลงแม่น้ำป๋าม ไหลลงแม่น้ำปิง ผ่านตัวเมืองเชียงดาว เข้าสู่เมืองเชียงใหม่ ไปสู่ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง กระทั่งลอยคอในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแพขนาดยักษ์มหึมา ก่อนลงสู่ทะเล

เมื่อพูดถึงเรื่องการเดินทางของไม้สัก ทำให้นึกถึงคำบอกเล่าของอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ที่บอกเล่าให้ผมฟังอย่างออกรส

รู้มั้ยไม้สักแถบนี้เดินทางล่องข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลถึงยุโรปโน่น...”

ต่อมา เมื่อสัญญาสัมปทานป่าผืนนี้หมดลง บริษัทดังกล่าวก็ได้ย้ายไปสัมปทานป่าในพื้นที่แห่งใหม่ ทว่าคนงานรับจ้างกลุ่มนี้ เห็นทำเลที่ตั้งแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์ จึงยุติบทบาทการเป็นลูกจ้าง ไม่ได้ติดตามไป ต่างพากันลาออกจากบริษัทดังกล่าวและได้ช่วยกันหักร้างถางพงผืนดินผืนป่าบริเวณนี้ พร้อมทั้งสร้างกระต๊อบ ลงหลักปักฐาน ตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ ชื่อว่า ‘บ้านแม่ป๋าม’ นับแต่ตั้งนั้นมา

ในประวัติศาสตร์ชุมชน ยังบอกอีกว่า จากนั้นไม่นาน ได้มีราษฎรจากอำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า ที่ถูกผลกระทบจากน้ำท่วมเนื่องจากการสร้างเขื่อนภูมิพล ที่จังหวัดตาก ทำให้น้ำได้เอ่อท้นขึ้นเหนือเข้าท่วมหมู่บ้าน เรือกสวนไร่นา ราษฎรเหล่านี้จึงได้พากันอพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านแม่ป๋ามแห่งนี้ นอกจากนั้น ยังมีคนพื้นเมืองอีกหลายกลุ่ม อาทิ จากอำเภอพร้าว ฝาง แม่แตง สะเมิง แม่ริม ฯลฯ พอทราบข่าวจากญาติพี่น้องก็ได้อพยพโยกย้ายมาอยู่รวมกัน จนกระทั่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 60 ครัวเรือน ในขณะนั้น

ต่อมาในปี พ.. 2491 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ก็ได้ประกาศให้ บ้านแม่ป๋ามเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้เป็นหมู่ที่ 10 ตำบลเมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาปกครองลูกบ้านเป็นคนแรกคือ นายอ้น จันทร์ตา (ขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ ) โดยมีหมู่บ้านบริวารในการปกครองคือ บ้านปางมะเยา บ้านออน และบ้านแม่มะกู้

จนผ่านมาถึงปี พ.. 2520 กรมการปกครองมหาดไทยได้แบ่งเขตการการปกครองใหม่ โดยให้หมู่บ้านแม่ป๋าม เปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 3 ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน

2_07_03
พ่ออ้น จันทร์ตา
ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านแม่ป๋าม

...ผมนิ่งอ่านประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเกิด แล้วทำให้รู้และเข้าใจชัดขึ้นว่า ในแต่ละลุ่มน้ำนั้นมีประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์นั้นมีผู้คน และในแต่ละชุมชนนั้นมีที่มาที่ไป ซึ่งเกี่ยวโยงกับธรรมชาติมาโดยตลอด มีทั้งการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและการฝืนธรรมชาติ

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้ผมมองเห็นร่องรอยของอดีต ทั้งการรุกคืบ แก่งแย่ง ทำลายวิถีธรรมชาติดั้งเดิมของรัฐและนายทุนที่เข้าไปสัมปทานป่าไม้ป่าสักจนหมดเกลี้ยงภายในชั่วอายุคน มองเห็นภาพพี่น้องจากฮอด ดอยเต่า ที่หนีน้ำท่วมจากผลกระทบที่ได้รับจากการสร้างเขื่อนภูมิพล พาครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานกันใหม่ที่นี่ ภาพของการฟื้นฟูและบุกเบิกสร้างชุมชนใหม่ มีการขุดสร้างเหมืองฝาย ขุดลอกลำเหมืองไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ภาพการขุดนาเบิกนา จนกลายเป็นท้องทุ่งในหุบเขาอันงดงามที่ทำให้เราได้เห็นในปัจจุบันนี้

จริงสิ, เมื่อนับดูจาก พ..ที่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านเกิดของผมกำลังย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว และยังคงสภาพความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติกันอย่างปกติสุข

แหละนี่คือบางฉาก บางเรื่องราวของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ป๋าม ฉายให้เห็นถึงวิถีการดำรงของผู้คนที่อยู่ร่วมกับลำน้ำสายนี้มาเนิ่นนาน

แต่ครั้นพอผมพลิกไปค้นหาความหมายของคำว่า ‘ลุ่มน้ำ’ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน นั้นได้ระบุว่า ลุ่มน้ำ: บริเวณที่ลุ่ม ซึ่งมีแม่น้ำสำคัญ และสาขาไหลผ่าน เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ‘ลุ่มน้ำ’ ในความหมายของราชบัณฑิตยสถาน หรือในความหมายของรัฐนั้น จะมองเพียงแค่พื้นที่ราบลุ่มที่มีแม่น้ำไหลผ่านเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้มองในมิติเชื่อมโยงของผู้คนและชุมชนที่อาศัยอยู่ในแถบลุ่มน้ำเหล่านั้นเลย

ก็คงเหมือนกับที่ชาวบ้านกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ จู่ๆ ก็มีข่าวมาว่ากรมทรัพยากรน้ำกำลังจัดการผันน้ำกกมาลงแม่น้ำป๋าม ลงแม่น้ำปิง ก็อาจเป็นเพราะว่าพวกเขามองเพียงแค่ ‘ลุ่มน้ำ’ ที่ต้องจัดการ แต่ไม่ได้มองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนลุ่มน้ำจะเปลี่ยนไปหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อพวกเขายังไงในอนาคต

หรือว่า ลุ่มน้ำก็คือบริเวณที่ลุ่ม ซึ่งมีแม่น้ำสำคัญ และสาขาไหลผ่าน เท่านั้นเอง!?

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
  เมื่อนั่งอยู่ในความเงียบ ในสวนบนเนินเขายามเช้าตรู่ เพ่งดูหมอกขาวคลี่คลุมดงดอยอยู่เบื้องหน้า ทุ่งนาเบื้องล่างลิบๆ นั้นเริ่มแปรเปลี่ยนสี จากทุ่งข้าวสีเขียวสดกลายเป็นสีเหลืองทองรอการเก็บเกี่ยว ใช่, ใครต่อใครเมื่อเห็นภาพเหล่านี้ คงรู้สึกชื่นชมภาพอันสดชื่นรื่นรมย์กันแบบนี้ทุกคนทว่าจริงๆ แล้ว พอค้นให้ลึกลงไป ก็จะพบว่า ในความงามนั้นมีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่ให้รับรู้สึก เมื่อนึกถึงภาพเก่าๆ ของหมู่บ้าน ผ่านไปไม่กี่สิบปี  จะมองเห็นได้เลยว่าหมู่บ้านเกิดของผมมีความแปลกเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง อย่างไม่น่าเชื่อ“ตอนนี้ อะหยังๆ มันก่อเปลี่ยนไปหมดแล้ว...” เสียงใครคนหนึ่งบ่นเหมือนรำพึงจริงสิ,…
ภู เชียงดาว
ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับเมือง หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มานานหลายปี ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้- -อาจเป็นเพราะระยะหลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแปลกและป่วย บางครั้งคล้ายยินเสียงจากข้างในกำลังบอกอะไรบางอย่าง ราวกับจะบอกว่า... ‘ที่สุดแล้ว,ชีวิตต้องกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา’ แหละนั่น ทำให้ผมเริ่มวางแผนกลับไปใช้ชีวิตในสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากที่ปล่อยให้สวนรกร้างว่างเปล่ามานานเต็มทีจริงสิ, ผมปล่อยให้ต้นไม้ในสวนรกเรื้อและโตขึ้นตามลำพัง ไร้การดูแลเอาใจใส่ ไม่มีเวลารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย คงเหมือนกับชีวิตตัวเองกระมัง ที่ต้องมาอยู่กับเมือง มัวแต่ไขว่คว้าบางสิ่ง…
ภู เชียงดาว
สิ่งดี ๆ ในชีวิต พ่อค้าแวะมาหาคนสวนที่เขากำลังพักผ่อนอยู่ตรงหน้ากระท่อม “สวัสดีครับคนสวน” พ่อค้าทักทาย “ผมมีข้อเสนอดีๆ มาให้ คุณคงสนใจเป็นแน่” และเมื่อเห็นทีท่าเฉยเมยของคนสวน พ่อค้าก็เริ่มพูดธุระที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งคนสวนจะต้องขยายพื้นที่ปลูกกุหลาบเพิ่มขึ้นและพ่อค้าจะเป็นคนเอาไปขายในเมือง “คนสวน ด้วยความชำนาญของคุณ กุหลาบของเราจะสวยงามที่สุดในเมือง” พ่อค้าสรุปด้วยท่าทีกระหยิ่มยิ้มย่อง “ขอบคุณแต่เราไม่สนใจ” คนสวนตอบพร้อมยิ้มอย่างเคย “แต่คุณจะได้เงินเยอะ...” พ่อค้าว่า ท่าทางแปลกใจ “ผมไม่สนใจเงินทองหรอก” “ใครๆ ก็อยากได้เงินกันทั้งนั้น...” “แต่ไม่ใช่ผม…
ภู เชียงดาว
ความเรียบง่ายมีแรงดึงดูดที่ลี้ลับเพราะมันจะฉุดเราไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางที่คนส่วนใหญ่ในโลกไปกันไปจากการทำตัวให้เด่น ไปจากการสะสมไปจากการทะนงหลงตนและจากการเป็นเป้าสายตาของสาธารณะไปสู่ชีวิตสงบ อ่อนน้อมถ่อมตน กระจ่างใสยิ่งกว่าสิ่งใดๆที่วัฒนธรรมบริโภคอย่างฉาบฉวยรู้จักกัน.                                                        …
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ  www.salweennews.orgที่มาภาพ www.sarakadee.comที่มาภาพ www.salweennews.orgกอดกับความเย็นเยียบอยู่อย่างนั้น, กลางป่าเปลี่ยวอ้อมอกอันบอบบางของเธอมิเคยอบอุ่นอยู่กับความมืดดำในความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึง, ชีวิตความตายเหมือนมิเคยแยกจางห่างกันเลยโอ. เด็กๆ  ตามแนวชายแดนยามใดหนาวฤดูลมแล้งแห้งโหมพัดเข้ามาสู่,หัวใจเธอนั้นเหมือนจักรับรู้รสสัมผัสชีวิตวิถีที่จำต้องระเหเร่ร่อนนั่น,คือสัญญาณความขัดแย้งอันเลวร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบเขารอการอุบัติเสียงแม่กระซิบบอกพวกเธอเบาๆเร็วเข้า,…
ภู เชียงดาว
  “การถอยออกไปจากสนามรบของชีวิตทำงานเงียบๆ ด้วยเป้าหมายที่สร้างสรรค์คือคำตอบหนึ่งต่อคำถามที่ว่าจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำลังพังทลาย”จากหนังสือ “ความเงียบ”จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปลผมไม่รู้ว่า สวนของผมนั้นกลายเป็นสวนผสมผสานตั้งแต่เมื่อไหร่...แต่ผมรู้ว่า พักหลังมานี่ เมื่อเดินทางกลับบ้านไปสวนทีไร ผมมักติดกล้าไม้เข้าไปในสวนเกือบทุกครั้ง ไม่อย่างก็สองอย่าง แวะซื้อมาจากกาดคำเที่ยง บ้างได้มาจากเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มอบให้มา พอไปถึง ก็ลงมือขุดหลุม เอาเศษฟางเศษหญ้าลงคลุกกับเนื้อดิน หย่อนต้นไม้ต้นเล็กลงไป กลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม หรือรอให้น้ำฟ้าหล่นรดให้ฉ่ำชื้นเอง…
ภู เชียงดาว
    “...เมื่อมนุษย์จมอยู่กับฝูงชนที่ขาดความเป็นมนุษย์ ถูกผลักไปมาอย่างอัตโนมัติไปตามแรงเหวี่ยง บุคคลนั้นก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ที่แท้ สูญเสียคุณธรรม หมดความสามารถที่จะรัก และศักยภาพที่จะกำหนดตนเอง เมื่อสังคมประกอบด้วยผู้คนที่ไม่รู้จักความวิเวกภายใน สังคมนั้นก็ไม่อาจรวมกันได้ด้วยความรัก แต่อยู่ได้ด้วยอำนาจครอบงำและความรุนแรง...” ถ้อยคำของ “โทมัส เมอร์ตัน” คัดมาจากหนังสือ “ความเงียบ” จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล สวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดของผม ตั้งอยู่ในเนื้อที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างและยาวราวสี่ห้าไร่…