Skip to main content

 

         เวลาสั้นๆ ในสาธารณรัฐเช็คผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ผมก็ได้เห็นอะไรมากมาย เมื่อเราเดินทางออกจากปรากไปเยอรมันด้วยรถยนต์ ผ่านเส้นทางที่เป็นหุบเขาคดเคี้ยวเล็กน้อย แต่เมื่อรถผ่านเข้าเขตเยอรมันนีถนนก็กลายเป็นถนนที่มีขนาดมาตรฐานเป็นเส้นตรง เมืองที่แวะผ่านคือเมือง Dresden เป็นเมืองหลวงของรัฐ Sexony ซึ่งใจกลางเมืองถูกถล่มถึง 7 ครั้ง รวมระเบิดมีน้ำหนักกว่าสองพันกว่าตัน จนศูนย์กลางของเมืองราบเป็นหน้ากลองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ราคาของสงครามแพงลิบลิ่วเมื่อแลกด้วยชีวิตคนอย่างน้อยสองหมื่นห้าพันคนจากการสำรวจของคณะกรรมการประวัติศาสตร์ของเดรสเดน แต่ตัวเลขของฝ่ายขวาจัดยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตกว่าห้าแสนคน 

         ฝ่ายสัมพันธมิตรจะยืนยันว่าการทิ้งระเบิดถล่มเมืองเดรสเดนก็เพื่อทำลายโรงงานอุตสาหกรรมและที่มั่นทางทหารของพวกนาซี เมืองถูกถล่มราบไปกว่าร้อยละ 90 ทีเดียว ภายหลังแม้กระทั่งวินสตัน เชอร์ชิลยังไม่ยอมรับว่ามีส่วนในการตัดสินใจถล่มเดรสเดน

         เมื่อสงครามสิ้นสุด เดรสเดน “ถูกปลดปล่อย” โดยทหารรัสเซีย จึงทำให้เดรสเดนอยู่ในซีกของเยอรมันตะวันออก เดรสเดนกลายเป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมจนกระทั่งมีการลุกฮือเพื่อล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2532 และผนวกรวมกับเยอรมันตะวันตกอีกครั้งหนึ่ง 

         ระหว่างที่เป็นระบอบสังคมนิยมได้มีการบูรณะเดรสเดนอยู่บ้าง แต่ส่วนที่สำคัญถูกบูรณะหลังจากการรวมประเทศเช่น โบสถ์ Dresden Frauenkirche (หรือวิหารแห่งพระแม่) ซ่อมเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2548 ก่อนจะครบรอบ 800 ปีของเมืองเดรสเดนเพียงปีเดียว กางเขนทองคำเหนือโบสถ์คือของขวัญจากเมืองเอดินเบอเรอะ (Edinburgh) โครงการซ่อมสร้างเมืองริมฝั่งแม่น้ำ Elbe ดำเนินไปอย่างแข็งขัน และที่น่าทึ่งที่สุดก็คืออาคาร สำคัญๆ ต่างๆ มีรายงานบันทึกแบบพิมพ์เขียวเอาไว้จนทำให้การซ่อมสร้างเหมือนของเดิมมากที่สุด จึงกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งมห้ศจรรย์สิ่งหนึ่ง 

         ในปี พ.ศ. 2547 องค์การ UNESCO ประกาศให้หุบเขาเดรสเดนเอลเบ (Dresden Elbe Valley) ให้เป็นพื้นที่มรดกโลกเพราะความสำคัญทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ด้วยสภาพการจราจรที่ติดขัด เมืองเดรสเดนจึงได้สร้างสะพานเชื่อมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเข้าด้วยกัน สถาปัตยกรรมใหม่นี้ทำให้ UNESCO เห็นว่าคุกคามการเป็นมรดกโลกจึงประกาศให้อยู่ในกลุ่มอันตรายที่จะเสียความเป็นมรดกโลก (endangered World Heritage Sites) เมื่อ พ.ศ. 2549 และเมื่อสะพานแล้วเสร็จมีผลให้ภูมิทัศน์ของพื้นที่มรดกโลกเปลี่ยนแปลง องค์การ UNESCO จึงถอดออกจากการเป็นพื้นที่มรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2552 นับว่าเป็นมรดกโลกแห่งที่สองที่ถูกถอดสถานะจากมรดกโลก

          เมื่อออกจากเดรสเดนรถมาถึงเบอร์ลิน (Berlin) ตอนบ่ายแก่ๆ ที่น่าสังเกตุคือ หากอยู่ฝั่งเยอรมันตะวันตกยังเห็นร่องรอยของระบอบสังคมนิยม ไม่ว่าจะเป็นอาคารเก่าๆ ที่เน้นการใช้งานแบบอุตสาหกรรม การพ่นระบายสี Graffiti และความหม่นเศร้าของสีสันอาคาร ส่วนของกำแพงเบอร์ลินที่แบ่งเยอรมันออกเป็นสองประเทศนั้นคงเหลือเฉพาะส่วนที่เรียกว่า Eastside Gallery เป็นแนวกำแพงส่วนที่เหลือเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ของกำแพงเบอร์ลิน ทุกวันนี้ยังมีคนไปแวะชมเพื่อรำลึกความหลัง ส่วนจุดตรวจชาลี (Checkpoint Charlie) ที่เป็นป้อมตรวจการณ์ ณ เส้นพรมแดนระหว่างเยอรมันทั้งสองฝ่าย ปัจจุบันเหลือเพียงป้อมตรวจการณ์ที่มีกระสอบบังเกอร์และคนแต่งตัวเป็นทหารให้ถ่ายรูปที่ระลึกกับเส้นแบ่งเขตซึ่งเดิมเป็นแนวกำแพงปรากฏให้เห็นเป็นเครื่องเตือนใจว่าครั้งหนึ่งคนในชาติเคยแบ่งเป็นสองเสี่ยงด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง

          นอกจากนี้ ผมยังมีโอกาสไป Jewish Museum ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิก Daniel Libeskind ก่อนเข้าจะต้องมีการตรวจตราวัตถุแปลกปลอมเพราะเป็นสถานที่ที่น่าจะมีโอกาสเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายของกลุ่มหัวรุนแรง เมื่อเข้าไปแล้วจึงค่อยๆ เดินชมทีละชั้น ที่นี่ต่างไปจาก Jewish Museum แห่งอื่น เพราะเป็นการบอกเล่าที่มาของชาวยิว ชาวยิวในประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของศาสนายูดาย หนังสือสวดมนต์ ชีวิตประจำวันของชาวยิว ชาวยิวที่มีชื่อเสียง ส่วนสำคัญคือแสดงให้เห็นถึงอคติที่มีต่อชาวยิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำในทางอยุติธรรมต่อชาวยิวจนในที่สุดเกิดความเกลียดชัง แต่ในทางหนึ่ง Jewish Museum แห่งนี้ไม่ได้แสดงภาพโหดร้ายของการกระทำของนาซีอย่างชัดแจ้ง แต่เน้นย้ำความเป็นมนุษย์คนหนึ่งโดยแสดงการเลือกปฏิบัติและการกีดกัน จนกระทั่งลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ลง อันเป็นที่มาของการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ (holocaust) 

          ในเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันนี้ นักคิดของไทยคนหนึ่งคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนเอาไว้ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในบทความชื่อ “มนุษยภาพ” มีความตอนหนึ่งว่า 

"การโกหกตอแหล การหลอกลวงได้ก่อกำเนิดจากคณะรัฐบาลและหมู่คนชั้นสูง ดังตัวอย่างที่ได้ 

ยกมากล่าวไว้ข้างต้น และเมื่อคิดถึงว่าอำนาจเปนสิ่งที่บรรดาลความนิยม และอำนาจในทุกวันนี้เราหมายกันถึงเงินกับชั้นสูง ฉะนั้น เราจะไม่เตรียมตัวไว้ตกใจกันบ้างหรือว่าวิทยาศาสตร์ของการโกหกตอแหลจะแพร่หลายและนิยมกันทั่วไปในบ้านเรา...ข้าพเจ้าว่าอำนาจบรรดาลความนิยมและอำนาจคือเงินกับชั้นสูงนั้นเปนการแน่แท้ ด้วยอะไรที่คนชั้นสูงหรืออำนาจกระทำ เราถือกันว่าเปนการถูกต้องควรนิยมทุกอย่าง จนถึงมีศัพท์บ้าๆ อะไรเกิดขึ้นคำหนึ่งว่า ปาปมุติ คือผู้ไม่รู้จักมีบาป ผู้ทำอะไรไม่มีผิด หรือมีผู้อื่นยอมให้ว่าเปนถูก นั่นมันเป็นการติต่างหลอกลวงอย่างน่าชัง สิ่งใดผิดถูกชอบที่จะว่ากันให้ขาวเพื่อประโยชน์เฉพาะชั้นสูงที่เราพากันเชื่อถือ ความงมงายเช่นนี้แสดงว่าเราไม่สู้หน้ากับความเป็นจริง ไม่เห็นปรากฏมีใครในโลกที่ทำอะไรไม่มีผิดเลย ถึงท่านเจ้าของลัทธิหรือศาสนาทั้งหลาย อันมีผู้เคารพสักการะทั่วโลกก็ยังปรากฏว่าได้เคยคิดหรือทำอะไรผิดมาเหมือนกัน"

 

 

         คำอธิบายชุดนี้สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันอันมีชาติกำเนิดและการถือทรัพย์สิน เป็นบ่อเกิดของความไม่เท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์

         กล่าวได้ว่าบริบทของสยาม (ขณะนั้น) ต่างไปจากเยอรมันนาซีที่พยายามปลุกปั่นลัทธิคลั่งเชื้อชาติอารยันว่าเหนือกว่า สูงส่งกว่า โดยเฉพาะชาวยิวที่ครอบครองปัจจัยทางเศรษฐกิจและสำเร็จในทางเศรษฐกิจ (ดังในยุคหนึ่ง สยามก็เคยกล่าวว่าชาวจีนเป็นยิวแห่งบูรพทิศ) 

         อาจกล่าวได้ว่าการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ในที่สุดนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การหยุดนิ่งสมยอมต่ออำนาจให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็เป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่พึงเรียนรู้

การเดินในอาคาร Jewish Museum สร้างความบีบคั้นแก่ผู้ชมไม่น้อย แม้จะไม่ได้เห็นภาพโหดร้ายทารุณ แต่เสียงแว่วที่ได้ยินคือ “เราก็เป็นมนุษย์ผู้หนึ่ง” กลับส่งสะท้อน ทางเดินชมนิทรรศการที่ต้องแทรกตัวผ่านห้องและบอร์ดนิทรรศการต่างๆ ชุดจัดวางทางเดินที่ไม่สมมาตร เป็นการจงใจสร้างของสถาปัตยกรรมแห่งนี้

........

         เวลาในเบอร์ลินผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ยังโชคดีที่ได้แวะชมอาคาร Reichstag จากภายนอก ซึ่งอาคารนี้ซ่อมสร้างหลังจากการรวมตัวกันของเยอรมันนีในปี ค.ศ. 1994 โดยสถาปนิกชาวอังกฤษ ลอร์ดนอร์แมน ฟอสเตอร์ (Lord Norman Foster) ที่ออกแบบให้มีโดมแก้วบนยอดอาคาร และผู้เยี่ยมชม หรือประชาชนสามารถสองดูการทำงานของสมาชิกรัฐสภาข้างล่าง เป็นสัญลักษณ์สำคัญว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและอยู่ภายใต้การเฝ้ามองประชาชน อาคารแห่งนี้จัดว่าเป็นอาคารรัฐสภาที่มีผู้เข้าเยี่ยมชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะความโดดเด่นทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม

          กล่าวได้ว่าในวันนี้เยอรมันนีกลายเป็นประเทศที่ได้เปรียบมากในสหภาพยุโรปทั้งในแง่ของการเป็นศูนย์กลางของการผลิตและขนส่ง logistics ซึ่งเยอรมันนีต้องใช้เวลานับสิบปีหลังการรวมประเทศเพื่อปรับระบบภายใน แต่วันนี้เยอรมันนีกลายมาเป็นชาติมหาอำนาจอีกครั้ง ด้วยความระมัดระวังในการจัดการอดีตของตนและการวางความทรงจำอันเลวร้ายช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในที่ทางที่เหมาะสม

          แม้จะยังมีปัญหาเรื่องกลุ่มหัวรุนแรงบ้าง แต่เยอรมันนีเป็นตัวอย่างของประเทศที่ยึดถือบทเรียนจากอดีตอย่างเคร่งครัดจนสามารถฟื้นกลับคืนความเข้มแข็ง

       

          เสียดายที่บางแห่งไม่สามารถเรียนรู้จากอดีต จึงได้แต่ล้มลุกคลุกคลานซ้ำซาก

         

          วันเวลาในเยอรมันนีช่างสั้นนัก ผมหวังว่าสักวันจะได้กลับไปเรียนรู้จากเยอรมันนีอีกครั้งหนึ่ง

 

 

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ตรุษจีนปีนี้ผมไม่ได้กลับบ้าน คงอยู่เงียบๆ เหมือนเคย แต่บรรยากาศของตรุษจีนของชาวจีนโพ้นทะเลไม่ว่าที่ไหนๆ ก็จะต้องมีเสียงของเติ้งน้อยเป็นเพลงประกอบราวกับเพลงบังคับของเทศกาล อดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึงความเก่าความหลังที่ชีวิตวกวนพาไปเดินเล่นไกลถึงนิวยอร์ค
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมเคยเขียนงานชุด จริยธรรมของการพบพาน (The Ethics of Encounter) เอาไว้เมื่อหลายปีก่อน เพื่อนำเสนอสิ่งที่เป็นไปได้ในสถานการณ์ของการเชิญหน้า ว่าในการปะทะสังสรรค์กันของมนุษย์กับคนแปลกหน้าย่อมเกิดภาวะพิเศษ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามหรือสันติภาพก็ได้ หลายปีมานี้ผมพบว่าปัญหาหนึ่งของสังคมไทยก็คือการปะทะกั
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
v\:* {behavior:url(#default#VML);} o\:* {behavior:url(#default#VML);} w\:* {behavior:url(#default#VML);} .shape {behavior:url(#default#VML);}
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมได้รับชวนจากมิตรสหายท่านหนึ่งให้เข้ามาเขียนบล็อกที่นี่ หลังจากไปโพสต์ต่อท้ายข่าวซุปเปอร์แมนลาออกจากเดลี่เทเลกราฟไปเขียนบล็อก ผมบ่นไปทำนองว่า อยากออกไปทำงานอย่างอื่นบ้าง มิตรสหายท่านนั้นเลยยื่นข้อเสนอที่ยากปฏิเสธ เพราะผมอ่านข่าวในประชาไทอยู่นานแล้ว ก็อยากมีส่วนร่วมด้วย ประการหนึ่ง