Skip to main content

ฝนที่โปรยลงมาในคืนก่อนเร่งรัดให้ใบไม้ที่เหลืออยู่ร่วงพรมบนลานและทางเดิน บรรดาคนงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายสูงวัยต่างช่วยกันเก็บกวาดอย่างแข็งขัน ช่วงนี้ผมนอนดึกเป็นพิเศษเพราะต้องเร่งบทความวิจัยให้เสร็จสองเรื่อง

เรื่องแรกผมเตรียมบทความสำหรับการบรรยายพิเศษเรื่อง “Thai-style Judicialization and the Problem of Parliamentary Supremacy” ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะในวันที่ 24 พฤศจิกายน ตามคำเชิญชวนของน้องนักศึกษาปริญญาเอกโครงการเอเชียแปซิฟิคศึกษา (Graduate School of Asia and Pacific Studies: GSAPS) โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์เออิจิ มุราซิมามาร่วมฟังบรรยายด้วย ก่อนหน้านี้ผมได้บรรยายเรื่องนี้ไปแล้วที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมของเอเชียและอาฟริกา ณ มหาวิทยาลัยโตเกียวศึกษาต่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ทำให้มีเวลาปรับแก้เอกสารและประเด็นใหม่ และปรับปรุงเพื่อเสนอต่อการประชุมสัมมนาวิชาการไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ตามคำเชิญของ ศ. โยชิฟูมิ ทามาดะ หลังการประชุมวิชาการใหญ่หนึ่งซึ่งผมต้องการเข้าร่วมอยู่แล้ว

ในเดือนธันวาคมจะมีประชุมวิชาการใหญ่ Southeast Asia Studies in Asia (SEASIA) ที่เกียวโตทำให้ผมตื่นเต้นมาก เพราะจะได้เจอนักวิชาการคนสำคัญหลายๆ ในการประชุมที่เกียวโต รวมทั้ง อาจารย์ Barbara Watson Andaya อดีตนายกสมาคม American Association for Asian Studies (2005) ท่านเป็นครูคนหนึ่งของผมและมีอิทธิพลต่อการทำงานของผมอย่างมาก ในวิถีที่ท่านชื่นชมงานของนักศึกษาทุกคนได้และช่างมีมุมมองกว้างขวางยิ่ง ผมจึงดีใจมากที่จะได้เจออาจารย์และนักวิชาการที่สนใจเรื่องไทยศึกษาและอุษาคเนย์ในฐานะอาณาบริเวณศึกษา

หลังจากนั้นก็จะเป็นการสัมมนา Democratization and Judicialization of Politics in Thailand จัดโดย Graduate School of Asia and African Area Studies ซึ่งมีอาจารย์ทามาดะ (หรืออาจารย์ธรรมดา ของลูกศิษย์และมิตรสหาย) เป็นหัวเรือใหญ่ และผมก็จะนำเสนอบทความนี้เป็นภาษาไทย ขณะที่สองครั้งแรกจะนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งผมต้องเร่งทำบทความภาษาอังกฤษก่อน

ขณเดียวกันผมยังต้องนำเสนอบทความวิจัยครั้งสุดท้ายที่ ILCAA เรื่อง The Politics of Aesthetics and Modernity in Contemporary Thai Arts ซึ่งเป็นโครงการวิจัยหลักที่เสนอต่อสถาบันวิจัยแห่งนี้ ประกอบกับต้องเสนอบทความเป็นภาษาไทยผ่านการ Skype ในการประชุมกับ ศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการที่ไปจัดกันไกลถึงเชียงใหม่

ความที่ผมเร่งรัดทำงานเลยลืมใส่ใจสุขภาพ ผมมีอาการไข้หวัดเล็กน้อยเพราะอากาศเปลี่ยน ในคืนที่นำเสนองานที่วาเซดะยังได้ดื่มกินพอสมควร แม้จะเตรียมรับมือโดยการขอยาแก้หวัดจากมิตรสหายถึงผมต้องรีบกลับไปหอพักและเตรียมเดินทางไปโตโฮกุ หรืออคิตะในวันพรุ่งนี้เช้า แต่ก็ลืมเวลาไปหมด ทั้งนี้ ผมไปอคิตะเพื่อพบกับเพื่อนนักวิชาการและหารือเรื่องงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยนานาชาติอคิตะ (Akita International University) ซึ่งต้องนั่งชินคันเซ็นไปหลายชั่วโมง การพักผ่อนน้อยและลืมใส่ใจตัวเอง ทำให้ผมป่วยหนักในทั้งสองคืน คืนแรกผมพักบ้านพักของมหาวิทยาลัยซี่งมีกาต้มน้ำร้อน จึงซื้อขิงสดมาแพ็คใหญ่เพื่อต้มน้ำขิงแก้อาการเจ็บคอและคิดว่าจะหายได้โดยวิธีบำบัดธรรมชาติที่ผมใช้วิธีดื่มน้ำขิงสดร้อนๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมๆ กับกินส้มราวสองกิโลกรัม ในที่สุดอาการไข้ลดลง แต่ยังมีเสลดอยู่ ผมพยายามทำให้ร่างกายอบอุ่นและหายโดยเร็ว แต่ธรรมชาติของการป่วยไข้ก็ทำให้รู้ว่ามนุษย์มีขอบเขตที่ต้องรู้จักตัวเองว่าทำอะไรได้ขนาดไหน

มหาวิทยาลัยนานาชาติอคิตะอยู่ห่างจากเมืองราวสิบนาที สิ่งที่ผมพบเห็นระหว่างการเดินทางจากโตเกียวโดยชินคันเซ็นจะผ่านเมืองต่างๆ ขึ้นไปทางตอนเหนือฝั่งตะวันตกที่เรียกว่าสายโตโฮกุ จากเมืองก็กลายเป็นทุ่งกว้าง ในช่วงหนึ่งผ่านเข้าเขตฟุกุชิมะ จากนั้นก็ผ่านเทือกเขาสูงที่มักเรียกกันว่า Japanese Alps ที่เริ่มเห็นหิมะปกคลุม เมื่อถึงอคิตะผมจึงรู้สึกได้ถึงความแตกต่างเพราะมีการวางผังเมืองไปในแนวราบเหมือนกับเมืองเล็กๆ ในอเมริกา จึงดูแปลกตามากๆ ใกล้ทางรถไฟช่วงหนึ่งมีบริเวณที่เป็นบ้านชั่วคราว ผมมารู้ทีหลังว่าเป็นที่กำบังสำหรับผู้ประสบภัย

รุ่งขึ้นผมมีไข้เล็กน้อย ขณะที่ยาหมดแล้ว จึงทำอะไรได้ไม่มาก เสียดายที่ความป่วยไข้จำกัดกิจกรรมของผมเอาไว้ แต่ยังดีที่ได้เดินเล่นในเขตมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนที่ดีที่สุดก็คือห้องสมุด ซึ่งเป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง เนื่องจากทำด้วยโครงสร้างไม้ขนาดใหญ่และเปิดโล่ง คล้ายกับนั่งอยู่ภายใต้ก้านร่มขนาดยักษ์ แต่มองไปจะเห็นพื้นยกระดับที่มีชั้นหนังสือเรียงราย โดยมีโต๊ะทำงานอยู่ใกล้ๆ ให้วางพักหนังสือ หรือนั่งค้นคว้าได้ ข้างๆ ห้องสมุดหลักจะมีห้องโสตทัศนศึกษาที่ใช้ได้จริงเป็นห้องปฏิบัติการภาษาต่างๆ เนื่องจากนักศึกษามหาวิทยาลัยอคิตะทุกคนจะต้องไปแลกเปลี่ยนเป็นเวลาหนึ่งปี จึงมีนักศึกษาต่างชาติมากมายรวมทั้งนักศึกษาไทยด้วย ผมเองยังได้พบกับนักศึกษาไทยสองคนจากคณะบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียดายที่ไม่มีเวลาพูดคุยกันมาก เพราะผมต้องไปห้องบรรยาย แต่เข้าใจว่านักศึกษาคงมีความสุขดีที่นี่

ผมรอเวลาจนกระทั่งถึงเวลาที่จะต้องทำการบรรยายพิเศษเรื่องพื้นที่ทางการเมืองก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ในหมู่ผู้ฟังมีนักศึกษาจากเมียนมาร์หนึ่งคน เธอเป็นหลานของนักโทษการเมืองมาก่อน เธอจึงรู้ดีถึงพิษของเผด็จการ และสนใจเรื่องที่ผมบรรยายไม่น้อย ในตอนท้ายมีคำถามจากผู้ฟังที่น่าสนใจ ทำให้ผมได้ประโยชน์มากมาย

หลังการบรรยายเพื่อนผมพาไปทานอาหารพื้นเมืองในย่านร้านอาหารของเมืองที่เสิร์ฟอาหารขึ้นชื่อของเมืองนี้คือต้มซุปผักใส่ข้าวปั้นปิ้ง มีนามาฮาเก (Namahage) ออกมาล้อเล่นกับลูกค้า และไปฟังเพลงในบาร์สาเกแห่งหนึ่ง แม้ฝนจะตกพรำๆ แต่ก็ยากจะปฏิเสธความหวังดีของเพื่อนๆ เราสนทนากันมากมายและพวกเขารู้ดีว่าผมป่วย การสนทนาจึงยุติแค่ร้านที่สองเท่านั้น

ผลจากการขบคิดถึงความป่วยไข้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการใช้ความคิดและร่างกายอย่างไม่เมตตากับตัวเอง อีกส่วนมาจากการชะล่าใจในสุขภาพของตัวเองเกินไป ทั้งๆ ที่ผมบอกตัวเองเสมอว่าอย่าได้เจ็บป่วยเพราะการงานอีก

รถไฟออกจากอคิตะในยามสาย ผมเดินทางถึงโตเกียวด้วยอาการเหนื่อยล้าไป อาการป่วยยังตกค้างและใช้เวลาหลายวันกว่าจะฟื้นตัวเป็นปกติ

คืนนี้ยากจะข่มตานอน มีหลายเรื่องเวียนวนในความคิดจนผล็อยหลับไป

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ตรุษจีนปีนี้ผมไม่ได้กลับบ้าน คงอยู่เงียบๆ เหมือนเคย แต่บรรยากาศของตรุษจีนของชาวจีนโพ้นทะเลไม่ว่าที่ไหนๆ ก็จะต้องมีเสียงของเติ้งน้อยเป็นเพลงประกอบราวกับเพลงบังคับของเทศกาล อดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึงความเก่าความหลังที่ชีวิตวกวนพาไปเดินเล่นไกลถึงนิวยอร์ค
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมเคยเขียนงานชุด จริยธรรมของการพบพาน (The Ethics of Encounter) เอาไว้เมื่อหลายปีก่อน เพื่อนำเสนอสิ่งที่เป็นไปได้ในสถานการณ์ของการเชิญหน้า ว่าในการปะทะสังสรรค์กันของมนุษย์กับคนแปลกหน้าย่อมเกิดภาวะพิเศษ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามหรือสันติภาพก็ได้ หลายปีมานี้ผมพบว่าปัญหาหนึ่งของสังคมไทยก็คือการปะทะกั
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
v\:* {behavior:url(#default#VML);} o\:* {behavior:url(#default#VML);} w\:* {behavior:url(#default#VML);} .shape {behavior:url(#default#VML);}
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมได้รับชวนจากมิตรสหายท่านหนึ่งให้เข้ามาเขียนบล็อกที่นี่ หลังจากไปโพสต์ต่อท้ายข่าวซุปเปอร์แมนลาออกจากเดลี่เทเลกราฟไปเขียนบล็อก ผมบ่นไปทำนองว่า อยากออกไปทำงานอย่างอื่นบ้าง มิตรสหายท่านนั้นเลยยื่นข้อเสนอที่ยากปฏิเสธ เพราะผมอ่านข่าวในประชาไทอยู่นานแล้ว ก็อยากมีส่วนร่วมด้วย ประการหนึ่ง