Skip to main content

Bruce Springsteen Magic

Magic เป็นชื่ออัลบั้มล่าสุดของ Bruce Springsteen (หรือที่เรียกกันว่า The Boss*) ในอัลบั้มนี้เขากลับมาร่วมงานกับวงแบ็คอัพที่ชื่อ E Street band อีกครั้ง ทำให้ทิศทางของอัลบั้มนี้เน้นไปที่แนวทางของร็อคอีกครั้ง หลังจากอัลบั้มที่แล้วคือ Devils and Dust ออกเป็นงานแนวโฟล์คมากกว่า

แต่ไม่ว่าจะเป็น Bruce Springsteen ในแบบของโฟล์คหรือ Bruce Springsteen ในแบบของร็อค ผมก็รู้สึกว่าดนตรีของ The Boss ผู้นี้ก็ช่างเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นอเมริกันอยู่เสมอมา

ซึ่งดนตรีในอัลบั้ม Magic นี้ไม่เพียงแค่กลิ่นของความเป็นอเมริกันที่ยังคงมีอยู่ถ้วนทั่วอย่างเดียวเท่านั้น แต่ละเพลงที่ถ่ายทอดออกมาจาก The Boss กับวง E Street Band นี้ ยังคงอวลไปด้วยซาวน์แบบเก่า ๆ ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก

ทีแรกผมคิดว่าการคงทีไม่เดินไปไหนต่อแบบนี้มันน่าเอามาด่าในคอลัมน์นี้อยู่เหมือนกัน แต่ฉันทาคติในตัวผมเองมันได้ครอบครองพื้นที่ความคิดของผมไปสิ้นแล้ว (จะว่าไป...การยึดถือความคิดที่ว่าดนตรีต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็เป็นความ "ยึดติด" อย่างหนึ่งได้เหมือนกัน)

ฉันทาคติมันมาจากความปลาบปลื้มในดนตรี ...โดยจริง ๆ แล้ว อัลบั้ม Magic แม้ยังจะคงความเก่า แต่มนต์ขลังในดนตรีนั้นก็เจือจางลง จนอาจชวนตั้งคำถามว่า มันเป็นที่ตัวของ Springsteen เอง หรือตัวผมเองกันแน่ ที่เปลี่ยนไป

แม้มนต์ขลังจะเจือจางลง แต่อัลบั้มนี้ก็ทำให้ได้รู้ว่า The Boss คนนี้ก็ยังคงเป็น The Boss คนเดิม คนเดียวกับที่ทำร็อคทรงพลังอย่าง Born to run ที่เนื้อหาเกี่ยวกับการชวนกันออกหนีเที่ยวของคู่รักที่เป็นระดับล่างในสังคม The Boss คนเดียวกับที่ทำเพลงโหยเศร้า ด้วยเสียงฮาร์โมนิก้า อย่าง The River เพลงนี้ผมมีโอกาสได้ฟังจากเทปรวมฮิตตั้งแต่สมัยวัยกระเตาะ และหลงเสน่ห์มนต์ขลังของมันเข้า จนถึงขั้นพยายามแปลเนื้อเพลงทั้งหมดทั้งที่ภาษาอังกฤษยังเสน็ค ๆ ฟิชช์ ๆ (งู ๆ ปลา ๆ)

เรื่องราวในเนื้อเพลงของ The River พูดถึงหนุ่มสาวที่รักกันมาตั้งแต่สมัย high school แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในสมัยนั้น (ซึ่งตรงกับสมัยของ ปธน. โรนัลด์ เรแกน) และสถานะที่ยากจน ทำให้ทั้งคู่ไม่มีเงินสำหรับการแต่งงาน ที่ซึ่งเปรียบเสมือนสถานวิวาห์ของทั้งคู่ จึงกลายเป็น "แม่น้ำ" ที่พวกเขาเคยลงไปใช้เล่น และใช้เวลาร่วมกัน

"...No wedding day smiles, no walk down the aisle
No flowers, no wedding dress

That night we'd go down to the river
And into the river we'd drive
Oh down to the river we did ride"

- The River

แม้ Springsteen จะแอบกัดเรื่องเศรษฐกิจยุครัฐบาลเรแกนไว้ แต่เรแกนก็เคยชมว่า The Boss นี้ช่างเต็มไปด้วยความรักชาติ (Patriotic) เพราะเข้าใจผิดว่าเพลง Born in the U.S.A จากอัลบั้มชื่อเดียวกันนั้นเป็นเพลงเชิดชูความเป็นอเมริกัน แต่จริง ๆ แล้วเพลงนี้เขาได้แต่งให้กับเพื่อนทหารผ่านศึก ที่ไปรบในสงครามเวียดนาม แล้วต้องกลับมาพบเจอกับความยากลำบากหลังกลับมาจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์แย่ ๆ ที่ติดตัวมา ภาวะการว่างงาน หรือ ความรู้สึกแปลกแยก

"Down in the shadow of the penitentiary
Out by the gas fires of the refinery
I'm ten years burning down the road
Nowhere to run ain't got nowhere to go"

- Born in the U.S.A

ผมไม่รู้ว่า Bruce Springsteen นั้น Patriotic ขนาดไหน แต่ผมเชื่อว่าชายผู้นี้คือคนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดอุดมคติแบบอเมริกัน (American Ideal) และอุดมคติแบบอเมริกันนี้ได้แฝงฝังอยู่ในเนื้อหาเขาอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเพลงสะท้อนชีวิตคนสามัญทั่วไป เพลงเชิงสังคมการเมือง หรือแม้กระทั่งเพลงรัก

Bruce in the USA

แต่เนื้อหาในอัลบั้ม Magic นี้ ฟังดูแล้วราวกับว่า Bruce กำลังพยายามสื่อถึงความผิดหวัง อเมริกาในทุกวันนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอย่างอุดมคติวาดไว้


การเชิดชูและตอบแทนคนทำงานหนัก ถูกเอามาปั้นให้เป็นอเมริกันดรีมส์ล่อหลอกผู้คน
การยึดมั่นในเสรีภาพ ก็พบแต่เสรีภาพลวงตา ในระดับตื้น ๆ
ความรักชาติและความหวาดกลัวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำสงคราม แย่งชิงทรัพยากร

แต่ใช่ว่าอเมริกาสมัยก่อนจะเต็มไปด้วยความดีงาม ไม่ว่าจะในยุคสมัยใด อุดมคติแบบอเมริกันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองความต้องการไม่รู้จบของคนบางกลุ่มเพียงเท่านั้น เหล่าผู้ที่เชื่อในอุดมคติดีงามเหล่านั้นจริง ๆ ถ้าไม่ได้ถูกหลอกใช้ ก็จะรู้สึกสับสนในสิ่งที่ตนเชื่อ เพราะ "นักมายากล" ทั้งหลายช่างบิดเบือนพลังทางนามธรรมให้กลายเป็นอาวุธของตนเองได้เก่งกาจ ราวเสกเหรียญให้หายไป เสกกระต่ายให้ออกมาจากหมวก

"I got a coin in your palm
I can make it disappear
I got a card up my sleeve
Name it and I'll pull it out your ear
I got a rabbit in the hat
If you wanna come and see
...
And the freedom that you sought
Driftin' like a ghost amongst the trees
This is what will be
This is what will be (This is what will be)"

- Magic

ในเนื้อเพลง Long Walk Home มีฉากที่พ่อพูดกับลูก ถึงความสวยงามของประเทศที่ธงโบกสะบัดเป็นดาวเท่าจำนวนรัฐ "พ่อ" ในเพลงนี้คงเป็นคนยุคก่อนที่ความเชื่อในอุดมคติแบบอเมริกันยังไม่เลือนหาย ขณะที่ "ลูก" ผู้เป็นเด็กหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันคงยากที่จะกลับไปเชื่ออะไรแบบนั้นได้อีก เพราะโลกนอกประตูบ้านที่เขาพบเจอ มันช่างไม่อะไรที่ตรงกับอุดมคติเหล่านั้นอยู่เลย และเส้นทางที่จะย้อนกลับบ้าน ย้อนกลับไปสู่อุดมคติในจุดนั้น มันช่างแสนยาวไกล

"My father said ‘Son, we're lucky in this town,
It's a beautiful place to be born.
It just wraps its arms around you,
Nobody crowds you and nobody goes it alone'

‘Your flag flyin' over the courthouse
Means certain things are set in stone.
Who we are, what we'll do and what we won't' "

- Long Walk Home

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ผมมีต่ออัลบั้มนี้คือ ในช่วงครึ่งแรกของอัลบั้มเพลงของ Springsteen ยังคงมีความสดใสในแบบของตัวเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงถึงประธานาธิบดีบุชอย่าง You'll be comin' down  เพลงที่พูดถึงสถานการณ์สงครามอ้อม ๆ อย่าง Your Own Worst Enemy เพลงชื่อน่ารัก ๆ ที่มีเมโลดี้ไพเราะน่ารักไม่แพ้กันอย่าง I'll Work for Your Love เพลงที่พูดถึงความรู้สึกแปลกแยกกับยุคสมัยแบบหยิกแกมหยอกด้วยจังหวะสนุก ๆ อย่าง Girls in Their Summer Clothes  ขณะที่ Livin' in the Future เพลงกลื่น Soul ที่มีจังหวะสนุกไม่แพ้กัน แม้เนื้อหามันจะชวนหลบลี้จากโลกปัจจุบัน เฝ้าฝันถึงอนาคตที่เปี่ยมด้วยอุดมคติ แต่ก็ยังคงท่วงถ้อยแบบประชดประชัน ไม่เชื่อถือตัวเองอยู่ในที

"Woke up election day
Sky's gunpowder and shades of grey
Beneath the dirty sun
I whistle my time away
Then just about sun down
You come walkin' through town
Your boot heels clickin' like
The barrel of a pistol spinnin' round"

- Livin' in the Future

มาจนถึงช่วงหลังของอัลบั้มความสดใสก็หดหายไป ความซีเรียสจริงจังเข้ามาแทนที่ ไม่ว่าจะกับเพลง Last to die ที่เอามาจากคำพูดของ John Kerry วิจารณ์ทั้งสงครามเวียดนามและสงครามอิรัก เพลงช้าหม่น ๆ อย่าง Devil's Arcade ก็ยังไม่วายพูดเรื่องบรรยากาศของสงคราม จากมุมมองของทหาร เช่นเดียวกับ Devils and Dust จากอัลบั้มที่แล้ว

"The cool desert morning
And nothing to say
Just metal and plastic
Where your body caved"

- Devil's Arcade

แม้ The Boss จะเป็นเหมือนเช่นนักอุดมคติผู้เคว้งคว้างหลงทาง เพราะความคิดที่ตนยึดกุมอยู่นั้นได้ถูกสั่นคลอนครั้งแล้วครั้งเล่า จนพอรู้ตัวโลกที่มองเห็นก็กลายเป็นอื่น เสียงที่ดังเข้ามาในหู ก็ไม่ใช่เสียงอันคุ้นเคยที่อยากได้ยิน เราควรจะโทษยุคสมัย? โทษความแปลกแยกของตัวเอง? โทษอุดมคติที่แม้ว่าเราจะเต็มใจเดินตามมันเสมอมา?

การบิดเบือนของอุดมคติ เป็นเรื่องห้ามไม่ได้ในโลกที่สิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็น ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่านักอุดมคติ ที่จริงจังและจริงใจในความคิดของตัวเองก็ยังคงมีอยู่ และเขาคงไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการที่ใครจะเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น พวกเขาเปรียบเสมือนคลื่นวิทยุในโลกที่ไม่มีใครรู้จัก คอยกระจายเสียงเรียกหาผู้ร่วมเส้นทางความคิด This is Radio Nowhere , is there anybody alive out there (ที่นี่คือสถานีไร้ถิ่นฐาน มีใครยังอยู่แถวนี้บ้าง) หรือหากไม่มีใครจริง ๆ อย่างน้อยก็ขอเสียงจังหวะปลุกเร้าพลังชีวิตให้กลับมาก็ยังดี!

"I want a thousand guitars
I want the pounding drums
I want a million different voices speaking in tongues
....
I just wanna hear some rhythm
I just wanna hear some rhythm
I just wanna hear some rhythm
I just wanna hear your rhythm"

- Radio Nowhere

เมื่อได้ฟังอัลบั้มนี้แล้ว ยังไงผมก็ยังคงยืนยันว่า Bruce Springsteen คือชาวอเมริกัน ผู้ที่มีความคิดอุดมคติแบบอเมริกัน ทำเพลงขายคนอเมริกันเดินถนนทั่วไป และด้วยแนวเพลงร็อคในแบบอเมริกันแต่กระนั้น ก็ไม่อยากให้ลืมว่า

เขาก็คืออเมริกัน ในแบบของตัวเขาเอง 

(*The Boss ฟังดูเป็นฉายาขาใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วฉายานี้ได้มาตั้งแต่ยังตระเวนเล่นตามผับกับวง เพราะ Bruce Springsteen มีหน้าที่เป็นคนรับเงินแล้วนำมาเฉลี่ยให้คนในวง จึงได้มีคนเรียกว่า The Boss ... แล้วก็เรียกกันจนทุกวันนี้)

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…