Skip to main content

 

Sleeping Through The Static

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวคราวเกี่ยวกับคอนเสิร์ตแนวอนุรักษ์ธรรมชาติอะไรพวกนี้ออกมาหลากหลายมากมายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะคอนเสิร์ตต้านโลกร้อนที่เข้าใจเกาะกระแสเรื่องที่คนทั่วโลกสนใจ (แต่ไม่รู้ว่าเข้าใจลึกไปในระดับไหน) มาสร้างเวทีคอนเสิร์ตให้สนุกสุดเหวี่ยง เวลามีคนมาถามความเห็นผมเรื่องนี้ ผมมักจะหัวเราะ หะ ๆ แล้วตอบว่ารู้สึกเฉย ๆ ถ้ามันจะดีมันก็ดีในแง่ที่มีคอนเสิร์ตมาให้สนุกกัน ส่วนศิลปินก็ได้หน้าได้ตากันไป เพราะโดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าศิลปินจะรู้ลึกรู้จริงรู้จังอะไรกันเรื่องนี้มากมาย

ไม่ต้องกระไรมาก ผมจะยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงเรื่องหนึ่ง คือเมื่อหลายปีก่อน ผมได้รู้เรื่องที่มีคนอยากจะจัดคอนเสิร์ตรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในทีแรกผมก็รู้สึกสนใจว่ามีคนเล่นดนตรีที่เข้าใจประวัติศาสตร์ตรงนี้ด้วยหรือ (ขออภัยผมไม่ได้จงใจดูถูกสติปัญญาของนักดนตรี แต่เท่าที่ผมเจอมาเป็นแบบนี้จริง ๆ) แต่พอผมได้รู้จักเขา ก็ดูท่าว่าเขาจะไม่ได้รู้ประวัติศาสตร์ของวันวันนี้ลึกไปกว่าว่ามันมีคนตายเลย (เผลอ ๆ ที่ลุงหมักพูดว่าตายหนึ่งศพยังจะฟังดูน่าเชื่อถือกว่าให้ไอ่หมอนี่พูดถึงเสียอีก)

นั่นทำให้เวลามีคนจัดคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็น Live Aid ที่มีภาพของการช่วยเหลือประเทศโลกที่สาม หรือพวก Earth day/Live Earth ที่เป็นแนวอนุรักษ์ธรรมชาติก็ตาม ผมมักจะไม่รู้สึกถึงประเด็นที่พวกนี้พ่วงมากับการจัดคอนเสิร์ตด้วยสักเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่ศิลปินพวกนี้พูดบนเวทีมันก็เป็นสิ่งที่พูดกันมาแต่ไหนแต่ไร อยู่แล้ว ไม่พักต้องชวนให้เข้าใจว่าประเด็นพ่วงมาพวกนี้มันทำให้งานคอนเสิร์ตทั้งหลายดูดีขึ้นกว่าการเป็นแค่ความบันเทิงธรรมดา ทั้งที่จะให้มันเป็นความบันเทิงโดด ๆ ไปเลยก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรนี่นา

โดยส่วนตัวผมจึงสนใจ เนื้อหากับ รูปแบบทางดนตรีที่ศิลปินสื่อออกมามากกว่าประเด็นพ่วงที่ชวนให้รู้สึกว่ามันเบาหวิวลอยลม

แต่คราวนี้ มันไม่ใช่แค่ไลฟ์คอนเสิร์ทน่ะสิ ประเด็นสีเขียวมันถูกโยงใยมาสู่เรื่องขั้นตอนของการผลิตงานด้วย แล้วถ้ามีใครมาถามความรู้สึกผมในเรื่องนี้ผมก็จะหัวเราะ หะ ๆ แล้วตอบว่ารู้สึกเฉย ๆ อยู่ดี ไม่ก็เลี่ยงไปพูดเรื่องตัวผลงานเลยว่ามันดีมันแย่ยังไง มันเจ๋งกว่าอัลบั้มที่ไม่ได้ใช้พลังเขียวในการผลิตด้วยเหรอ?

แต่ในคอลัมน์นี้ ยังไงผมก็ขอพูดถึงมันเสียหน่อย ว่าจริง ๆ แล้วอัลบั้ม Sleeping Through The Static ของ Jack Johnson ที่มีคนเชียร์นักหนาในเรื่องของการบันทึกเสียงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (ถึงขั้นโยงไปถึงเรื่องโลกร้อน) มันมีคนเคยทำมาก่อนแล้ว คือ วงร็อคที่ชื่อ Wolfmother ไม่พักต้องบอกต่ออีกว่า เจ้า Andrew Stockdale นี้มันแสดงตัวตนว่า เขียวเอาการ ไม่นับแค่ขั้นตอนการอัดเพลง ไอ่หมอนี่ยังรณรงค์ใช้จักรยาน การใช้ไบโอดีเซล (ซึ่งแลกมาด้วยการไปเบียดเบียนการกินอยู่ของคนจน) การใช้พลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์ จนล่าสุดหมอนี่มันจริงจังถึงขั้นจะค้นหาโน้ตที่ให้เสียงแบบเขียว ๆ สำหรับการบันทึกลงอัลบั้มต่อไปเลยทีเดียว

ผมนับถือเจ้า Stockdale ในแง่ของการที่มันจริงใจกับความคิดตัวเอง แต่ถ้ามีคนมาถามเรื่องนี้ ผมก็คงจะบอกว่า เฉย ๆ กับประเด็นพ่วงและพฤติกรรมแบบเขียว ๆ ของเขาอยู่ดี และจะบอกต่อด้วยว่า อัลบั้มที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมสาขาการแสดงแบบฮาร์ดร็อคในปี 2006 นั้น ยังขาด ๆ เกิน ๆ ไม่เร้าใจพอ ถ้าอัลบั้มหน้าจะทำให้เต็มที่กว่านี้ก็คงดี แล้วไอ่โน็ตเขียว ๆ อะไรนั่น ผมก็อยากรู้อยากเห็นอยู่เหมือนกันว่ามันจะให้เสียงออกมายังไง

อย่างไรก็ดี อัลบั้มต่างประเทศที่ผมคิดว่ามันปลุกอารมณ์เขียวได้มาก ๆ โดยไม่ต้องหาประเด็นพ่วงมาเป็นจุดขายคือ Harvest Moon ของ Neil Young จริง ๆ หลายเพลงจากอัลบั้มอื่น ๆ ของ นีล ยังค์ มันก็มีเรื่องราวแนวอนุรักษ์แบบติดกลิ่นฮิปปี้หน่อย ๆ แต่ในอัลบั้มนี้ ตัวดนตรีมันสร้างจินตภาพแบบโรแมนติกของท้องทุ่งอเมริกันได้ ดีเยี่ยม (ดีจนน่ากลัวก็ว่าได้) ไตเติ้ลแทรกที่ชื่อ Harvest Moon (ดวงจันทร์แห่งการเก็บเกี่ยว-หมายถึง ดวงจันทรฺ์ที่ขึ้นในช่วงหัวค่ำของฤดูใบไม้ผลิ ช่วยชาวไร่ชาวนาในการเก็บผลผลิต) แม้ว่าเนื้อเพลงมันจะเป็นเพลงรักที่หวานแบบเรียบ ๆ แต่แบคกราวน์ของดนตรีมันช่างชวนให้นึกถึงพลังแบบเขียว ๆ ที่แฝงอยู่เบื้องหลัง

ดนตรีของ Jack Johnson ในอัลบั้มก่อนหน้านี้ ก็มีพลังแบบเดียวกันอยู่ครับ แต่เปลี่ยนฉากจากท้องทุ่งเป็นหาดทรายที่มีกลิ่นอายของแดดฤดูร้อน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะ Jack Johnson เกิดและเติบโตมากับริมฝั่งชายหาดของฮาวาย ได้คลุกคลีกับวัฒนธรรมของนักเล่นกระดานโต้คลื่น จนบางครั้งมีคนแปะป้ายให้ดนตรีป็อบร็อคนุ่ม ๆ ของเขารวมไปกับแนว Surf

ในฐานะที่เป็นทั้งนักเซิร์ฟและคนท้องถิ่น ตัว Jack Johnson เองจึงมีแนวคิดเชิงอนุรักษ์ติดตัวมาด้วยเป็นธรรมดา เพราะปัญหาธรรมชาติบางอย่างมันส่งผลกระทบต่อคลื่นทะเลนักโต้คลื่นส่วนหนึ่ง จึงเกิดความคิดแบบนักอนุรักษ์ บางที่ถึงขั้นมีเป็นแนวท้องถิ่นนิยมแบบสุดโต่ง มีการปักเขตแดนชัดเจน กีดกันไม่ยอมให้นักท่องเที่ยวหรือคนต่างถิ่นเข้ามาเล่นโต้คลื่นเลยทีเดียว

 

Jack Johnson

 

เพลงของ Jack Johnson ในอัลบั้มที่ผ่าน ๆ มา (ไม่นับ Curious George ที่ผมไม่ได้ฟัง แต่คาดว่าคงไม่ต่างจากอัลบั้มอื่นก่อนหน้า) บ่งบอกตัวตนอย่างหนึ่งของเขา คือ ความเรียบง่ายสบาย ๆ เพราะไม่ว่าเขาจะทำดนตรีออกมาแบบไหน มันก็ฟังดูนุ่มละมุนหูไปหมด พูดแบบภาษาวัยรุ่น (ด้วยคำที่ตกเทรนไปแล้ว) ว่าเพลงพี่แกชิลชิลมาก แม้ว่าเนื้อหาจะกำลังวิพากษ์วิจารณ์อะไรอยู่

 

“Where’d all the good people go?

I’ve been changing channels

I don’t see them

On the T.V. shows”

 

- Good People

 

พอพูดถึงความชิลชิล ในดนตรีของ Jack แล้ว เนื้อหาของพี่แกเองก็ชิลชิล แม้ในเนื้อหาของเพลงจะวิจารณ์ความเป็นไปในสังคม มันก็ยังสะท้อนวิธีคิดแบบบริสุทธิ์ (ใกล้ ๆ กับคำว่าไร้เดียงสา เพียงเปลี่ยนขั้วประจุบวกกับลบ) จากตัวแกเองออกมาอยู่ดี

โดยส่วนตัวผมชอบเนื้อเพลงแกอยู่เหมือนกัน แต่ผมให้ค่ามันในแง่ของการผ่อนคลายมากกว่าการเก็บมาคิดด่อ เนื้อหาอื่น ๆ ส่วนใหญ่ของ Jack ถ้าไม่ใช่เรื่องเรียบง่ายสบาย ๆ ของชีวิตประจำวันอย่าง Banana Pancake ก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์แบบหวาน ๆ อย่าง Do You Remember , Better Together ฯลฯ

แต่นั่นแหละ เพลงของ Jack Johnson มันช่างชวนให้ฝันหวานกลางแสงอาทิตย์

จนมาถึงอัลบั้มล่าสุดคือ Sleep Through the Static ที่ดูเหมือนว่าเขาใช้แสงอาทิตย์เป็นพลังงานในการบันทึกเสียง แต่กลับไม่ได้ปล่อยให้มันสาดส่องเข้ามาในดนตรีเขาด้วย ตั้งแต่เพลงแรกถึงเพลงสุดท้าย มันชวนให้รู้สึกได้เลยว่า แสงอาทิตย์ละมุนละไมในดนตรีของเขาหายไป

ไม่เพียงวิธีบันทึกเสียงเท่านั้นที่ใช้วิธีในเชิงอนุรักษ์ เพลงหนึ่งของอัลบั้มนี้คือ All at Once ก็บอกว่าเป็นเพลงที่เขียนถึงเรื่องโลกร้อน แต่ดูเนื้อหาแล้วมันก็มีอยู่ท่อนเดียวจริง ๆ ที่ (แค่) เฉียด ๆ ให้คิดถึงเรื่องโลกร้อน

“Around the sun some say,

it’s gonna be the new hell some say

it’s still too early to tell, some say

it really ain’t no myth at all.”

 

- All at Once


หรือเพลง Sleep Through the Static เอง ที่วิจารณ์นโยบายของบุช แต่เนื้อเพลงมันไม่ชวนให้รู้สึกอะไร ว่าก็ว่า ดนตรีมันชิลชิลเกินกว่าจะชวนให้นึกอะไรตามเนื้อ ยิ่งถ้าฟังแต่ดนตรีอย่างเดียวไม่ได้อ่านเนื้อตามคงไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อ้อ ! ลุงแจ็คเองก็หันมาพูดเรื่องนี้อีกคนเหรอ ! (หลังจากที่มีคนแห่แหนกันมาพูดถึงจนเงียบเสียงกันไปหมดแล้ว)

สิ่งที่พอจะทำให้ผมชอบอยู่บ้างในอัลบั้มนี้ คือเสียงคีย์บอร์ดในเพลง Enemy หรือกับเพลง If I had eyes ที่ใส่ความคึกคักขึ้นมาหน่อย และแน่นอนว่าอัลบั้มนี้ก็ไม่ขาดเพลงรักเนื้อหาหวาน ๆ อย่างใน Angel กับ Same Girl ที่บางทีก็กลัว ๆ ว่าแกจะมัวแต่วนเวียนกับลูกเมียแกจนความหวานจะเริ่มกลายเป็นความเลี่ยน เว้นแต่เพลง Go On ที่เขียนถึงลูกชายแกที่กำลังโต พูดถึงการยอมให้อิสระกับเขาได้ลองผิดลองถูก เสียดายที่ดนตรีซ้ำ ๆ โทนเดียวของแจ็คมันไม่ช่วยให้รู้สึกตามเพลงนี้เท่าไหร่ เป็นการให้อิสระที่ฟังดูไม่มีชีวิตชีวาเอาเสียเลย

อัลบั้ม Sleep Through the Static ไม่มีเพลงไหนที่ดนตรีโดดเด่นออกมา แม้เพลง They do They Don’t ที่พยายามจะซีเรียส แต่ไม่เป็นผล ลุงแจ็คแกชิลชิลเกินกว่าจะพูดถึงอะไรซีเรียส ๆ จริง ๆ อันนี้ต้องยอมรับ

แน่นอนว่าอัลบั้มนี้จึงกลายเป็นการติดอยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างความผ่อนคลายที่อับแสงจนไม่ชวนให้สดใส ขณะเดียวกัน สิ่งที่เขาพยายามจะสื่อก็ถูกดนตรีที่มีพื้นสีเดียวกลบจนมิด แยกไม่ออกว่าเพลงไหนแกพูดเรื่องซีเรียส เพลงไหนแกพูดเรื่องทั่ว ๆ ไป (ถ้าไม่ได้อ่านเนื้อ) ในสื่ออย่าง BBC บอกว่านั่นเป็นเพราะแจ็คแกใช้หัวใจมากกว่าใช้สมอง แต่ผมก็อยากจะบอกว่า มีคนที่ใช้หัวใจสื่อออกมาได้ยอดเยี่ยมกว่าในประเด็นเดียวกันคือ Bruce Springsteen ผมถึงรู้สึกตามเพลงของ Springsteen ได้ขณะที่แทบไม่รู้สึกอะไรเลยกับ Jack Johnson อัลบั้มนี้

ผมเชื่อที่เว็บโมโจวิจารณ์ไว้มากกว่าว่า โลกที่ยังคงมีความยากจน มีสงคราม และความไม่แน่นอนนี้ มันต้องได้รับการเผชิญหน้า และมันก็เกินกำลังกว่าที่ความสามารถทางการแสดงออกของ Jack Johnson จะไปถึงได้

ยังไม่นับว่าการที่มีแต่คนแห่แหนพูดถึงมิติใหม่ของการบันทึกเสียงโดยใช้ พลังงานแสงอาทิตย์ มันจะช่วยอะไรเรื่องพลังงานได้มากขึ้นจริง ๆ น่ะหรือ หลายคนคงรู้กันว่าความหวังดีนี้อาจกลายเป็นแค่การเพิ่มจุดขายอย่างหนึ่งเท่านั้น แล้วตัวผู้ซื้อเองคงจะแค่รู้สึกว่า โอ้ ! เราได้ทำดีกับโลกแล้ว เรามีความสุขแล้วจึงคิดว่าทำแค่นี้พอแล้ว ง่ายดี ไม่ได้คิดจะทำอะไรต่อไปไกลกว่านั้น

เรื่องของพลังงานมันจึงไม่ใช่อะไรชิลชิล ที่แค่ใช้ของบางอย่างหรือละเว้นบางอย่างแล้วมันจะจบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ถ้าอยากแก้ปัญหาจริง ๆ มันก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการรณรงค์ทางการเมืองอย่างจริงจัง แล้วต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ด้วย เช่นเรื่องผลกระทบต่อคนจนที่เข้าถึงทรัพยากรได้ยากกว่าอยู่แล้ว

และแน่นอน ถ้าใครมาถามผมถึงเรื่องการบันทึกเสียงแบบอนุรักษ์พลังงานของ ลุงแจ็คในอัลบั้มนี้ ผมก็ยังจะหัวเราะ หะ ๆ แล้วตอบว่ารู้สึกเฉย ๆ เผลอจะชอบอัลบั้มก่อน ๆ มากกว่า ต่อให้มันบันทึกเสียงด้วยพลังงานนิวเคลียร์ก็ตาม

 

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…