Skip to main content
Bralee
 บ้างเห็นดวงตะวันบ้างเห็นควันโขมงบ้างยินปืนลั่นโป้ง
Bralee
ตัวฉัน/สีสันแห่งชีวิตตัวฉัน...
Music
ภฤศ ปฐมทัศน์ ผมได้ยินข่าวเรื่อง "จังหวะแผ่นดิน World Musiq & World Bar B Q" วันเดียวก่อนวันงานนั่นเอง ได้ยินคุณทอดด์ ทองดี พูดผ่านวิทยุว่าจะมีศิลปินจากหลายประเทศทั่วโลกมาเข้าร่วม และมีการแสดงร่วมกันของเพื่อแสดงให้เห็นว่าดนตรีมันไร้พรมแดน ผมเองเข้าใจความรู้สึกของคนที่พูดอะไรที่เป็นอุดมคติครับ และรู้สึกที่สิ่งที่คุณทอดด์แกพูดแกไม่ได้ตอแหล (แบบพวกอ้างศีลธรรม) ผมรู้สึกได้จากน้ำเสียงและการไหว้วอนขอให้ภาครัฐและกระทรวงวัฒนธรรมหันมาสนใจ ทำให้รู้สึกว่าแกมีความตั้งใจตรงนี้จริง ๆ แต่ว่าอุดมคติที่สวยงามบางทีมันเป็นแค่สิ่งที่ฉาบเคลือบอะไรที่ยังแหว่งโหว่อยู่ภายใน ซึ่งมันยากที่จะชี้ตัวว่าความแหว่งโหว่นี้เป็นความผิดของใคร เรื่องนี้ผมจะพูดในภายหลัง ในตอนนี้ผมกำลังรู้สึกสนุกกับสิ่งที่ได้เห็นอยู่บนเวที ที่ลานของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล งานจำพวกศิลปินกับลานเบียร์นี้มีให้เห็นกันทั่วไป แต่สิ่งที่โดดเด่นในงานนี้คือวงดนตรีที่เข้าร่วม แน่นอนว่าผมไม่เคยได้ยินเพลงจากวงดนตรีของทวีปแอฟริกามาก่อน ถึงผมจะพอเดาทางได้จากอิทธิพลของดนตรีซึ่งส่งผ่านไปยังดนตรีของคนผิวสีแบบอื่น ๆ เช่น เร้กเก้, แจ็ซซ์ , ฟังค์ หรืออิเล็กโทรนิกบางจำพวก เนื่องจากดนตรีของชาวแอฟริกันโดดเด่นมากในส่วนของการให้จังหวะ (Rhythm Section) และวง Yunasi วงจากประเทศเคนย่าที่มาเล่นในงานนี้ก็ทำได้น่าประทับใจ พวกเขาแสดงสดได้เยี่ยมและเอนเตอร์เทนคนดูได้อยู่หมัด ราวกับเคยผ่านเวทีประมาณนี้มานักต่อนักแล้ว ดนตรีของวง Yunasi ไม่เชิงเป็นแนวแอฟริกันดั้งเดิมเสียทีเดียว เพราะมันคือการผสมผสานกันของดนตรีสมัยใหม่โดยยังคงความเป็นแอฟริกันไว้ในส่วนของจังหวะเท่านั้นเอง ผมเคยลองฟัง Yunasi จากแหล่งอื่นครั้งหนึ่งก็พบว่าเสียงกีต้าร์ในเพลงนั้นสุดละม้ายคล้ายของเพลงเซิ้งภาคอิสานบ้านเราเหลือเกิน ขณะที่เสียงขลุ่ย (ซึ่งจริง ๆ มาจากเสียงคีย์บอร์ด) ในงานนี้ก็ไม่วายชวนให้นึกถึงเพลงพื้นบ้านของบ้านเราอยู่ดี ตัวนักร้องของวง Yunasi บอกว่าดนตรีในบ้านเขามีไว้เฉลิมฉลอง เพลงของพวกจึงเต็มไปด้วยจังหวะเต้นรำสนุก ๆ วง Yunasi อาจเป็นแค่อีกวงหนึ่งที่นำเสนอความเป็นเคนย่าในแบบร่วมสมัย เพราะเคนย่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางดนตรีสูงมากแห่งหนึ่ง   การแสดงของวงต่อมาเป็นวงดนตรีจากชนเผ่าของไต้หวัน ผมไม่ทันได้ฟังเพลงแรก ๆ เพราะมัวไปดูการแจมกลองและเครื่องให้จังหวะในอีกมุมหนึ่ง จนเริ่มเมาจากเครื่องดนตรีเน้นจังหวะทั้งหลายแล้วจึงวกกลับมาดูเวที ประเทศไต้หวันก่อนหน้าการเข้ามาของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ มีชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่หลายสิบกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเชื้อสายออสโตรเนเชี่ยน คือเชื้อสายของหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้อย่างชาวอินโดนีเซีย หรือ ฟิลิปปินส์ พวกเขาต้องต่อสู้ขับเคี่ยวเพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ในแง่ของดนตรีแล้ว ชาวพื้นเมืองของไต้หวันมีบทบาทในวงการดนตรีป็อบของไต้หวันอย่างมาก แต่ก็ในแง่ของดนตรีป็อบแบบเต็ม ๆ ล่ะครับ เช่น นักร้องสาวที่ชื่อ A-mei ที่ร้องเพลงด้วยภาษาจีนกลาง ส่วนดนตรีของชนเผ่าไต้หวันที่นำมาแสดงในงานนี้ พอผมได้ฟังเมโลดี้จากเสียงร้องของเขาแล้วก็พาลนึกถึงดนตรีพื้นบ้านของชนเผ่าที่ราบสูงทางภาคเหนือ (ซึ่งผมมีโอกาสได้ฟังสดหลายครั้งมาก ส่วนใหญ่ในงานที่จัดเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเรื่องพม่า) ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ แน่ละว่าดนตรีพื้นบ้านหลายพื้นที่ในโลกอาจมีลักษณะบางอย่างร่วมกันอยู่ เนื่องจากมนุษย์แม้จะอยู่ในต่างวัฒนธรรมกันแต่ก็ล้วนมีความรู้สึกบางอย่างในแบบของมนุษย์ทั่วไปที่แสดงออกผ่านศิลปะที่เรียกว่าดนตรี แต่ลึก ๆ แล้วผมเชื่อว่ามันต้องมีจุดต่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละวัฒนธรรมอยู่ เวลาเราพูดถึงดนตรีที่เป็นพื้นฐานของโลกแล้ว มักจะมีแต่คนพูดถึงดนตรีคลาสสิก เนื่องจากประวัติศาสตร์ของดนตรีทางตะวันตกถูกรวบรวมมาสอนกันแบบนี้ (และผมเองก็ยอมรับว่าเรียนรู้ทฤษฎีอะไรหลายอย่างจากดนตรีคลาสสิกเหมือนกัน) อาจมีนักวิชาการบางสายที่เน้นไปศึกษาเรื่องดนตรีของชนเผ่าพวก Ethnic music อยู่บ้าง และมีบางคนที่เน้นพูดถึงชนชาวแอฟริกันในแง่ของความเป็นต้นธารอารยธรรมทางดนตรีที่แท้จริง (บางคนเสนอว่าจังหวะร็อคไม่ได้เพิ่งจะมีในศตวรรษที่ผ่านมา แต่มีมาตั้งแต่ชนชาวแอฟริกันรู้จักเคาะจังหวะกันแล้ว) โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบคำว่า World music หรือ Ethnic music เท่าไหร่ คำว่า World music (ที่แปลตรงตัวว่าดนตรีโลก) มันเหมือนเป็นคำที่วงการป็อบตะวันตกคิดมาเพื่อใช้เรียกดนตรีอะไรสักอย่างที่พวกเขาไม่เคยรู้จัก และส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีพื้นบ้าน ไม่ก็ป็อบที่มีอิทธิพลจากดนตรีพื้นบ้าน ขณะที่คำว่า โฟล์ค (Folk) กลับถูกใช้เรียกดนตรีพื้นบ้านยุโรปเสียมากกว่า แต่ผมเชื่อว่าดนตรีมันไม่ได้มาจากที่ใดอื่นไกลนอกจากอะไรพื้น ๆ รอบตัวมนุษย์ ดนตรีป็อบหลายแขนงซึ่งปัจจุบันมีชื่อเรียกเป็นร้อยเป็นพัน มีพื้นฐานมาจากดนตรีพื้นบ้านทั้งนั้น และการเรียกว่า World music พูดตรง ๆ คือมันเหมือนการบรรจุหีบห่อแบบเอ็กโซติก (Exotic) เข้าไปแบบเหมารวม แล้วไม่ได้ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์เฉพาะของมันจริง ๆ (...เอาง่าย ๆ มันเหมือนกับเวลาที่ชาวต่างชาติบอกว่าไอ่พวกคนจีน คนญี่ปุ่น คนพม่า นี้หน้าตาเหมือนกันไปหมด เรียกว่าเป็น World Faces ซะดีไหม) ดนตรีบลูส์ (Blues) มันก็คือดนตรีพื้นบ้านของทาสผิวดำพลัดถิ่นที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นดนตรีที่ไม่ได้เล่นแต่กับในหมู่คนผิวดำอีกต่อไป ทั้งยังกลายเป็นพื้นฐานของดนตรีแนวอื่น ๆ ส่วนดนตรีพวกเรกเก้ และสกา ก็พัฒนามาจากดนตรีพื้นบ้านของจาไมก้าที่เรียกว่าเมนโต (Mento) ขณะที่คำว่า Ethnic music อาจใช้อธิบายดนตรีของชนกลุ่มน้อยได้ แต่ในระยะยาวมันจะกลายเป็นการแบ่งดนตรีพื้นเมืองของพวกเขาออกจากดนตรีพื้นเมืองของ 'ชนกลุ่มใหญ่' เสียเปล่า ๆ ผมอาจคิดแบบโหดร้ายต่อผู้นิยมรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมไปเสียหน่อยว่า ในความเป้นจริงแล้วดนตรีพวกนี้ควรถูกทำให้ป็อบหรือปรับเข้ากับดนตรีร่วมสมัยให้ได้ ผมก็เป็นคนที่ไม่ได้คิดว่า เราควรรักษาความเป็นพื้นบ้านอะไรเอาไว้แบบแช่แข็ง อย่างที่ผมเปรยไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าคนผิวสียังคงแช่แข็งบลูส์เอาไว้ ป่านนี้เราคงไม่มีแจ็ซซ์ให้ฟัง และแม้ดนตรีป็อบตะวันตก อย่างพวกร็อค หรือแดนซ์ จะมีอิทธิพลอย่างมากทั่วโลก แต่ผมเชื่อว่าตัวดนตรีป็อบในแต่ละประเทศเองก็มีคาแรกเตอร์ของมันอยู่ และตรงจุดนี้แหละคือความไร้พรมแดนที่แท้จริง (...จุดนี้ขออภัยด้วยที่ผู้เขียนยังหาคำอธิบายเป็นทฤษฎี หรือเป็นคำพูดไม่ได้ว่ามันมีลักษณะเฉพาะยังไง แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งมันมาจากความเป็นโฟล์คในตัวของทุกคนนั่นแหละครับ) ผู้ขึ้นเวทีรายต่อไปคือหลวงไก่ นักร้องลูกทุ่งจากภาคใต้ เป็นตัวแทนของประเทศไทยในวันนี้ อาจเป็นเพราะช่วงเวทีของเขาเป็นช่วงเวลาที่ดึกไปหน่อย และพบเจอกับวัฒนธรรมคนดูที่แตกต่าง ทำให้หลวงไก่ดูตื่นเวทีไปนิด ความพยายามแสดงให้เห็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างเพลงหนังตะลุง ก็ดูไม่สามารถสื่อสารกับผู้ชมได้มากนัก และโดยส่วนตัวผมคิดว่า การจะแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทย ไม่จำเป็นต้องใช้เพลงพื้นบ้านขนาดนั้นก็ได้ แต่ต่อมาหลวงไก่ก็กลับมากับดนตรีลูกทุ่งร่วมสมัยแบบไทย ๆ ในเพลงดังที่ชื่อ "ขวัญใจพี่หลวง" ซึ่งผมว่านี่แหละคือความเป็นไทยในระดับของวัฒนธรรมมวลชนจริง ๆ และเรื่องการแสดงดนตรีสดแง่มุมทางวัฒนธรรมของมันไม่ได้มีแต่เรื่องดนตรีอย่างเดียว การสื่อสาร ทักทาย หรือเอนเตอร์เทนคนดู ก็เป็นส่วนหนึ่ง หลวงไก่และวงพยายามเอนเตอร์เทนคนดูด้วยการทักทายและปล่อยมุขกันแบบตลกคาเฟ่ แต่ในงานที่ครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติและกลุ่มคนดูที่เป็นชนชั้นกลางในเมือง เสียงตอบรับจึงเป็นความเงียบ ตรงนี้ผมแอบคิดเองเออเองว่าไม่ใช่ว่ามุขเขาไม่ขำ แต่คงเป็นเรื่องของกลุ่มคนดูเองที่ไม่ได้แสดงปฏิสัมพันธ์กับเวที ตรงนี้หลวงไก่แกถึงขั้นแสดงความน้อยใจ เปรย ๆ ว่าได้มาแสดงเวทีแบบนี้เป็นครั้งแรก ทุกครั้งเคยแต่ไปแสดงในงานวัดให้คนที่กินเหล้าขาว ไม่เคยมาแสดงในลานเบียร์แบบนี้ แต่ชีวิตคือ เดอะ โชว์ มัสโก ออน แกยังคงไม่เลิกปล่อยมุขแม้จะไม่มีปฏิกิริยาตอบรับมากนัก (ผมเห็นมีวัยรุ่นบางกลุ่มดูเชียร์ ๆ แกอยู่) และต่อด้วยการคัฟเวอร์เพลงของเสือ ธนพล ซึ่งคนที่ผ่าน "18 ฝน" มาแล้วคงคุ้นเคยดี จบงานในคืนนี้แม้ว่าดนตรีต่างชาติ ต่างภาษา จะสามารถข้ามผ่านพรมแดนของผู้ฟังในคนละซีกโลกได้ ผมอาจจะยินดีกับการที่ผู้จัดสนใจศิลปินเป็น Mass อย่างหลวงไก่ นำมาขึ้นเวทีเดียวกับศิลปินหลากหลายชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีพรมแดนบางอย่างในระดับของกลุ่มผู้ฟังที่ท้าทายให้ก้าวข้าม พรมแดนทางรสนิยมยังคงบดบังให้ผู้ฟังดนตรีคลาสสิคหลายคนดูถูกดนตรีป็อบ ผู้ฟังดนตรีป็อบกระแสหลักทับถมดนตรีป็อบกระแสรอง เหล่าผู้ฟังกระแสรองก็เดียจฉันท์กระแสหลักเป็นการตอบโต้ ผมออกจากลานที่เต็มไปด้วยการสังสรรค์ของแสงสีที่หลากหลาย มานั่งครุ่นคิดถึงโลกความจริง ...คลอด้วยเสียงเพลงโฆษณาในรถไฟฟ้า ที่ให้ความรู้สึกต่างจากจังหวะกลองแอฟริกันโดยสิ้นเชิง สุดท้ายนี้ก็ขอเก็บบรรยากาศงานวันแรกมาฝากกันหน่อย ต้องขออภัยด้วยที่คุณภาพไม่ดีเท่าไหร่ทั้งจากคุณภาพกล้องและฝีมือคนถ่ายเอง (...ช่วงท้าย ปลาย ๆ นาทีที่ 2 มีเซอร์ไพรซ์ ...This is it!!)  
Music
  ช่วงที่ผ่านมามีข่าวคราวเกี่ยวกับคอนเสิร์ตแนวอนุรักษ์ธรรมชาติอะไรพวกนี้ออกมาหลากหลายมากมายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะคอนเสิร์ตต้านโลกร้อนที่เข้าใจเกาะกระแสเรื่องที่คนทั่วโลกสนใจ (แต่ไม่รู้ว่าเข้าใจลึกไปในระดับไหน) มาสร้างเวทีคอนเสิร์ตให้สนุกสุดเหวี่ยง เวลามีคนมาถามความเห็นผมเรื่องนี้ ผมมักจะหัวเราะ หะ ๆ แล้วตอบว่ารู้สึกเฉย ๆ ถ้ามันจะดีมันก็ดีในแง่ที่มีคอนเสิร์ตมาให้สนุกกัน ส่วนศิลปินก็ได้หน้าได้ตากันไป เพราะโดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าศิลปินจะรู้ลึกรู้จริงรู้จังอะไรกันเรื่องนี้มากมาย ไม่ต้องกระไรมาก ผมจะยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงเรื่องหนึ่ง คือเมื่อหลายปีก่อน ผมได้รู้เรื่องที่มีคนอยากจะจัดคอนเสิร์ตรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในทีแรกผมก็รู้สึกสนใจว่ามีคนเล่นดนตรีที่เข้าใจประวัติศาสตร์ตรงนี้ด้วยหรือ (ขออภัยผมไม่ได้จงใจดูถูกสติปัญญาของนักดนตรี แต่เท่าที่ผมเจอมาเป็นแบบนี้จริง ๆ) แต่พอผมได้รู้จักเขา ก็ดูท่าว่าเขาจะไม่ได้รู้ประวัติศาสตร์ของวันวันนี้ลึกไปกว่าว่ามันมีคนตายเลย (เผลอ ๆ ที่ลุงหมักพูดว่าตายหนึ่งศพยังจะฟังดูน่าเชื่อถือกว่าให้ไอ่หมอนี่พูดถึงเสียอีก) นั่นทำให้เวลามีคนจัดคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็น Live Aid ที่มีภาพของการช่วยเหลือประเทศโลกที่สาม หรือพวก Earth day/Live Earth ที่เป็นแนวอนุรักษ์ธรรมชาติก็ตาม ผมมักจะไม่รู้สึกถึงประเด็นที่พวกนี้พ่วงมากับการจัดคอนเสิร์ตด้วยสักเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่ศิลปินพวกนี้พูดบนเวทีมันก็เป็นสิ่งที่พูดกันมาแต่ไหนแต่ไร อยู่แล้ว ไม่พักต้องชวนให้เข้าใจว่าประเด็นพ่วงมาพวกนี้มันทำให้งานคอนเสิร์ตทั้งหลายดูดีขึ้นกว่าการเป็นแค่ความบันเทิงธรรมดา ทั้งที่จะให้มันเป็นความบันเทิงโดด ๆ ไปเลยก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรนี่นา โดยส่วนตัวผมจึงสนใจ “เนื้อหา” กับ “รูปแบบ” ทางดนตรีที่ศิลปินสื่อออกมามากกว่าประเด็นพ่วงที่ชวนให้รู้สึกว่ามันเบาหวิวลอยลม แต่คราวนี้ มันไม่ใช่แค่ไลฟ์คอนเสิร์ทน่ะสิ ประเด็นสีเขียวมันถูกโยงใยมาสู่เรื่องขั้นตอนของการผลิตงานด้วย แล้วถ้ามีใครมาถามความรู้สึกผมในเรื่องนี้ผมก็จะหัวเราะ หะ ๆ แล้วตอบว่ารู้สึกเฉย ๆ อยู่ดี ไม่ก็เลี่ยงไปพูดเรื่องตัวผลงานเลยว่ามันดีมันแย่ยังไง มันเจ๋งกว่าอัลบั้มที่ไม่ได้ใช้พลังเขียวในการผลิตด้วยเหรอ? แต่ในคอลัมน์นี้ ยังไงผมก็ขอพูดถึงมันเสียหน่อย ว่าจริง ๆ แล้วอัลบั้ม Sleeping Through The Static ของ Jack Johnson ที่มีคนเชียร์นักหนาในเรื่องของการบันทึกเสียงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (ถึงขั้นโยงไปถึงเรื่องโลกร้อน) มันมีคนเคยทำมาก่อนแล้ว คือ วงร็อคที่ชื่อ Wolfmother ไม่พักต้องบอกต่ออีกว่า เจ้า Andrew Stockdale นี้มันแสดงตัวตนว่า ‘เขียว’ เอาการ ไม่นับแค่ขั้นตอนการอัดเพลง ไอ่หมอนี่ยังรณรงค์ใช้จักรยาน การใช้ไบโอดีเซล (ซึ่งแลกมาด้วยการไปเบียดเบียนการกินอยู่ของคนจน) การใช้พลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์ จนล่าสุดหมอนี่มันจริงจังถึงขั้นจะค้นหาโน้ตที่ให้เสียงแบบเขียว ๆ สำหรับการบันทึกลงอัลบั้มต่อไปเลยทีเดียว ผมนับถือเจ้า Stockdale ในแง่ของการที่มันจริงใจกับความคิดตัวเอง แต่ถ้ามีคนมาถามเรื่องนี้ ผมก็คงจะบอกว่า เฉย ๆ กับประเด็นพ่วงและพฤติกรรมแบบเขียว ๆ ของเขาอยู่ดี และจะบอกต่อด้วยว่า อัลบั้มที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมสาขาการแสดงแบบฮาร์ดร็อคในปี 2006 นั้น ยังขาด ๆ เกิน ๆ ไม่เร้าใจพอ ถ้าอัลบั้มหน้าจะทำให้เต็มที่กว่านี้ก็คงดี แล้วไอ่โน็ตเขียว ๆ อะไรนั่น ผมก็อยากรู้อยากเห็นอยู่เหมือนกันว่ามันจะให้เสียงออกมายังไง อย่างไรก็ดี อัลบั้มต่างประเทศที่ผมคิดว่ามันปลุกอารมณ์เขียวได้มาก ๆ โดยไม่ต้องหาประเด็นพ่วงมาเป็นจุดขายคือ Harvest Moon ของ Neil Young จริง ๆ หลายเพลงจากอัลบั้มอื่น ๆ ของ นีล ยังค์ มันก็มีเรื่องราวแนวอนุรักษ์แบบติดกลิ่นฮิปปี้หน่อย ๆ แต่ในอัลบั้มนี้ ตัวดนตรีมันสร้างจินตภาพแบบโรแมนติกของท้องทุ่งอเมริกันได้ ดีเยี่ยม (ดีจนน่ากลัวก็ว่าได้) ไตเติ้ลแทรกที่ชื่อ Harvest Moon (ดวงจันทร์แห่งการเก็บเกี่ยว-หมายถึง ดวงจันทรฺ์ที่ขึ้นในช่วงหัวค่ำของฤดูใบไม้ผลิ ช่วยชาวไร่ชาวนาในการเก็บผลผลิต) แม้ว่าเนื้อเพลงมันจะเป็นเพลงรักที่หวานแบบเรียบ ๆ แต่แบคกราวน์ของดนตรีมันช่างชวนให้นึกถึงพลังแบบเขียว ๆ ที่แฝงอยู่เบื้องหลัง ดนตรีของ Jack Johnson ในอัลบั้มก่อนหน้านี้ ก็มีพลังแบบเดียวกันอยู่ครับ แต่เปลี่ยนฉากจากท้องทุ่งเป็นหาดทรายที่มีกลิ่นอายของแดดฤดูร้อน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะ Jack Johnson เกิดและเติบโตมากับริมฝั่งชายหาดของฮาวาย ได้คลุกคลีกับวัฒนธรรมของนักเล่นกระดานโต้คลื่น จนบางครั้งมีคนแปะป้ายให้ดนตรีป็อบร็อคนุ่ม ๆ ของเขารวมไปกับแนว Surf ในฐานะที่เป็นทั้งนักเซิร์ฟและคนท้องถิ่น ตัว Jack Johnson เองจึงมีแนวคิดเชิงอนุรักษ์ติดตัวมาด้วยเป็นธรรมดา เพราะปัญหาธรรมชาติบางอย่างมันส่งผลกระทบต่อคลื่นทะเลนักโต้คลื่นส่วนหนึ่ง จึงเกิดความคิดแบบนักอนุรักษ์ บางที่ถึงขั้นมีเป็นแนวท้องถิ่นนิยมแบบสุดโต่ง มีการปักเขตแดนชัดเจน กีดกันไม่ยอมให้นักท่องเที่ยวหรือคนต่างถิ่นเข้ามาเล่นโต้คลื่นเลยทีเดียว     เพลงของ Jack Johnson ในอัลบั้มที่ผ่าน ๆ มา (ไม่นับ Curious George ที่ผมไม่ได้ฟัง แต่คาดว่าคงไม่ต่างจากอัลบั้มอื่นก่อนหน้า) บ่งบอกตัวตนอย่างหนึ่งของเขา คือ ความเรียบง่ายสบาย ๆ เพราะไม่ว่าเขาจะทำดนตรีออกมาแบบไหน มันก็ฟังดูนุ่มละมุนหูไปหมด พูดแบบภาษาวัยรุ่น (ด้วยคำที่ตกเทรนไปแล้ว) ว่าเพลงพี่แกชิลชิลมาก แม้ว่าเนื้อหาจะกำลังวิพากษ์วิจารณ์อะไรอยู่   “Where’d all the good people go? I’ve been changing channels I don’t see them On the T.V. shows”   - Good People   พอพูดถึงความชิลชิล ในดนตรีของ Jack แล้ว เนื้อหาของพี่แกเองก็ชิลชิล แม้ในเนื้อหาของเพลงจะวิจารณ์ความเป็นไปในสังคม มันก็ยังสะท้อนวิธีคิดแบบบริสุทธิ์ (ใกล้ ๆ กับคำว่าไร้เดียงสา เพียงเปลี่ยนขั้วประจุบวกกับลบ) จากตัวแกเองออกมาอยู่ดี โดยส่วนตัวผมชอบเนื้อเพลงแกอยู่เหมือนกัน แต่ผมให้ค่ามันในแง่ของการผ่อนคลายมากกว่าการเก็บมาคิดด่อ เนื้อหาอื่น ๆ ส่วนใหญ่ของ Jack ถ้าไม่ใช่เรื่องเรียบง่ายสบาย ๆ ของชีวิตประจำวันอย่าง Banana Pancake ก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์แบบหวาน ๆ อย่าง Do You Remember , Better Together ฯลฯ แต่นั่นแหละ เพลงของ Jack Johnson มันช่างชวนให้ฝันหวานกลางแสงอาทิตย์ จนมาถึงอัลบั้มล่าสุดคือ Sleep Through the Static ที่ดูเหมือนว่าเขาใช้แสงอาทิตย์เป็นพลังงานในการบันทึกเสียง แต่กลับไม่ได้ปล่อยให้มันสาดส่องเข้ามาในดนตรีเขาด้วย ตั้งแต่เพลงแรกถึงเพลงสุดท้าย มันชวนให้รู้สึกได้เลยว่า แสงอาทิตย์ละมุนละไมในดนตรีของเขาหายไป ไม่เพียงวิธีบันทึกเสียงเท่านั้นที่ใช้วิธีในเชิงอนุรักษ์ เพลงหนึ่งของอัลบั้มนี้คือ All at Once ก็บอกว่าเป็นเพลงที่เขียนถึงเรื่องโลกร้อน แต่ดูเนื้อหาแล้วมันก็มีอยู่ท่อนเดียวจริง ๆ ที่ (แค่) เฉียด ๆ ให้คิดถึงเรื่องโลกร้อน “Around the sun some say, it’s gonna be the new hell some say it’s still too early to tell, some say it really ain’t no myth at all.”   - All at Once หรือเพลง Sleep Through the Static เอง ที่วิจารณ์นโยบายของบุช แต่เนื้อเพลงมันไม่ชวนให้รู้สึกอะไร ว่าก็ว่า ดนตรีมันชิลชิลเกินกว่าจะชวนให้นึกอะไรตามเนื้อ ยิ่งถ้าฟังแต่ดนตรีอย่างเดียวไม่ได้อ่านเนื้อตามคงไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อ้อ ! ลุงแจ็คเองก็หันมาพูดเรื่องนี้อีกคนเหรอ ! (หลังจากที่มีคนแห่แหนกันมาพูดถึงจนเงียบเสียงกันไปหมดแล้ว) สิ่งที่พอจะทำให้ผมชอบอยู่บ้างในอัลบั้มนี้ คือเสียงคีย์บอร์ดในเพลง Enemy หรือกับเพลง If I had eyes ที่ใส่ความคึกคักขึ้นมาหน่อย และแน่นอนว่าอัลบั้มนี้ก็ไม่ขาดเพลงรักเนื้อหาหวาน ๆ อย่างใน Angel กับ Same Girl ที่บางทีก็กลัว ๆ ว่าแกจะมัวแต่วนเวียนกับลูกเมียแกจนความหวานจะเริ่มกลายเป็นความเลี่ยน เว้นแต่เพลง Go On ที่เขียนถึงลูกชายแกที่กำลังโต พูดถึงการยอมให้อิสระกับเขาได้ลองผิดลองถูก เสียดายที่ดนตรีซ้ำ ๆ โทนเดียวของแจ็คมันไม่ช่วยให้รู้สึกตามเพลงนี้เท่าไหร่ เป็นการให้อิสระที่ฟังดูไม่มีชีวิตชีวาเอาเสียเลย อัลบั้ม Sleep Through the Static ไม่มีเพลงไหนที่ดนตรีโดดเด่นออกมา แม้เพลง They do They Don’t ที่พยายามจะซีเรียส แต่ไม่เป็นผล ลุงแจ็คแกชิลชิลเกินกว่าจะพูดถึงอะไรซีเรียส ๆ จริง ๆ อันนี้ต้องยอมรับ แน่นอนว่าอัลบั้มนี้จึงกลายเป็นการติดอยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างความผ่อนคลายที่อับแสงจนไม่ชวนให้สดใส ขณะเดียวกัน สิ่งที่เขาพยายามจะสื่อก็ถูกดนตรีที่มีพื้นสีเดียวกลบจนมิด แยกไม่ออกว่าเพลงไหนแกพูดเรื่องซีเรียส เพลงไหนแกพูดเรื่องทั่ว ๆ ไป (ถ้าไม่ได้อ่านเนื้อ) ในสื่ออย่าง BBC บอกว่านั่นเป็นเพราะแจ็คแกใช้หัวใจมากกว่าใช้สมอง แต่ผมก็อยากจะบอกว่า มีคนที่ใช้หัวใจสื่อออกมาได้ยอดเยี่ยมกว่าในประเด็นเดียวกันคือ Bruce Springsteen ผมถึงรู้สึกตามเพลงของ Springsteen ได้ขณะที่แทบไม่รู้สึกอะไรเลยกับ Jack Johnson อัลบั้มนี้ ผมเชื่อที่เว็บโมโจวิจารณ์ไว้มากกว่าว่า โลกที่ยังคงมีความยากจน มีสงคราม และความไม่แน่นอนนี้ มันต้องได้รับการเผชิญหน้า และมันก็เกินกำลังกว่าที่ความสามารถทางการแสดงออกของ Jack Johnson จะไปถึงได้ ยังไม่นับว่าการที่มีแต่คนแห่แหนพูดถึงมิติใหม่ของการบันทึกเสียงโดยใช้ พลังงานแสงอาทิตย์ มันจะช่วยอะไรเรื่องพลังงานได้มากขึ้นจริง ๆ น่ะหรือ หลายคนคงรู้กันว่าความหวังดีนี้อาจกลายเป็นแค่การเพิ่มจุดขายอย่างหนึ่งเท่านั้น แล้วตัวผู้ซื้อเองคงจะแค่รู้สึกว่า “โอ้ ! เราได้ทำดีกับโลกแล้ว เรามีความสุขแล้ว” จึงคิดว่าทำแค่นี้พอแล้ว ง่ายดี ไม่ได้คิดจะทำอะไรต่อไปไกลกว่านั้น เรื่องของพลังงานมันจึงไม่ใช่อะไรชิลชิล ที่แค่ใช้ของบางอย่างหรือละเว้นบางอย่างแล้วมันจะจบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ถ้าอยากแก้ปัญหาจริง ๆ มันก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการรณรงค์ทางการเมืองอย่างจริงจัง แล้วต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น ๆ ด้วย เช่นเรื่องผลกระทบต่อคนจนที่เข้าถึงทรัพยากรได้ยากกว่าอยู่แล้ว และแน่นอน ถ้าใครมาถามผมถึงเรื่องการบันทึกเสียงแบบอนุรักษ์พลังงานของ ลุงแจ็คในอัลบั้มนี้ ผมก็ยังจะหัวเราะ หะ ๆ แล้วตอบว่ารู้สึกเฉย ๆ เผลอจะชอบอัลบั้มก่อน ๆ มากกว่า ต่อให้มันบันทึกเสียงด้วยพลังงานนิวเคลียร์ก็ตาม 
new media watch
"น่าสนใจตรงที่ว่า เนื้อหาของเพลงที่ปรากฎใน fluxblog หลากหลายกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคลหรืออารมณ์-ความรู้สึก แต่กินลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างที่มันยิ่งใหญ่กว่าเครือข่ายมนุษย์ ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในสังคมเดิมๆ" 000อุตสาหกรรมเพลงกระแสหลัก ฝั่งอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น หรือว่ายุโรป ฯลฯ ล้วนแข่งกันเติบโต ‘ทางกว้าง' มาสักพักใหญ่ๆ แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้าที่มันตื่นเต้นเร้าใจใน ‘เชิงลึก' มากนัก โปรดิวเซอร์ดนตรีที่เก่งๆ ส่วนใหญ่ก็รับหน้าที่ดูแลศิลปินมากมายจนกลิ่นอายทางดนตรีมันฟังซ้ำๆ ย่ำอยู่กับที่ ไม่ค่อยอิ่มรูหูนักฟังเพลงสักเท่าไหร่ แต่แล้วบล็อกโดนใจอย่าง fluxblog.org ก็บังเกิด! นิตยสารนิวยอร์กไทมส์ จัดอันดับให้ fluxblog ติด 1 ใน 5 บล็อกสุดเจ๋งในปีนี้ เพราะชื่นชมในการเปิดพื้นที่ให้นักร้อง-นักดนตรีทั่วโลกได้เผยแพร่ผลงานเพลงของตัวเองโดยไม่ต้องรอข้อเสนอ (ที่มาพร้อมเงื่อนไข) ของบรรดาค่ายเทปต่างๆ พลเมืองโลกไซเบอร์ที่รักเสียงดนตรี รู้วิธีโพสต์เพลงขึ้นเว็บ และที่สำคัญ มีความสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จะมีช่องทางระบายผลงานเพลงของตัวเองมากขึ้นอีกหนึ่งแห่ง โดยไม่จำเป็นต้องหน้าตาดี หุ่นเซ็กซี่ หรือเป็น ‘เอนเตอร์เทนเนอร์' ขอเพียงรู้วิธีสร้างสรรค์เสียงเพลงและเสียงดนตรีก็พอแล้วเพลงหลายเพลงที่โพสต์ลง fluxblog สามารถฟังได้จนจบเพลง (แต่ดาวน์โหลดไม่ได้) โดยคนโพสต์สามารถเขียนคำอธิบายเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเพลง เพื่อปูทางให้คนฟังเข้าใจในเนื้อหาของเพลงได้ด้วย แล้วคนที่เข้ามาฟังจะชอบ-ไม่ชอบ หรือมีคำแนะนำอย่างไร ก็จะโพสต์ข้อความเอาไว้เป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนทางตรงน่าสนใจตรงที่ว่า เนื้อหาของเพลงที่ปรากฎใน fluxblog หลากหลายกว่าเรื่องของปัจเจกบุคคลหรืออารมณ์-ความรู้สึก แต่กินลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างที่มันยิ่งใหญ่กว่าเครือข่ายมนุษย์ ซึ่งเวียนว่ายอยู่ในสังคมเดิมๆน่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้วงการเพลงมีแนวโน้มจะหลุดพ้นจากการครอบงำของวัฒนธรรมMTVได้ในเร็ววันhttp://fluxblog.org/
แสงดาว ศรัทธามั่น
ดูกร... ภราดา ...  ภราดร ...  โปรดอย่าได้  ฉงนฉงายค ว า ม ห ม า ย ชี วี  เพลานี้ณ  ที่ซึ่ง  มนุษยชาติ  โ อ บ ก อ ด ป ฐ พีณ ที่ซึ่ง เวลานี้  เ ธ อ มี รั ก ป ร ะ จั ก ษ์ ใ จรั ก มิ ต้อง ฝัน ... รั ก  นั้นคือ รั ก จ ริ ง !“ ค ว า ม รั ก นั้ น ยิ่ ง ใ ห ญ่ ”เริงรำร้อง  เที่ยวท่องไปสู่จุดหมายปลายทางแห่ง   เ พ ล ง รั ก นิ รั น ด ร์ณ ที่นี่ ... ที่นั่น ... ที่โน่น! นั้นมี  รัก!เราผ่อนพักชีวา  รั ก รั ง ส ร ร ค์เ มื่ อ  วิ ญ ญ า ณ  แห่ง  รั ก  โ อ บ ก อ ด กันโ ล ก = น ร ก – ส ว ร ร ค์  เป็นฉันใด  มิ รู้ แ ล้ ว!วสันตฤดู ,  1 สิงหาคม 2550“สุดสะแนน” ,ล้านนาอิสรา , เชียงใหม่รจนา  ในวันเกิดของ “ม้า” ... นักดนตรีบรรเลงที่ “สุดสะแนน”** จากบทเพลง “รักติดปีก” ของ “จ๊อบ – บรรจบ พลอิน”พี่น้องชนเผ่า ปว่าเกอญอ(กะเหรี่ยง) ร่วมแจมบรรเลงดนตรี ณ ราตรีแห่งท้องสนามหลวง สนามราษฎร์สหายมด .. วนิดา ตันติวิทยาพิทักษณ์  คนเดือนตุลาฯผู้คงมั่น กับ “บารมี ชัยรัตน์” ซึ่งทั้งสองเป็นที่ปรึกษาของสมัชชาคนจน  ร่วมกับพี่น้องยืนบนเวที ณ ท้องสนามหลวงยามราตรี  จุดเทียนแห่งชัยให้กำลังใจพี่น้องสมัชชาคนจนพ่อแก่ – แม่แก่  และลูก หลาน แห่งสมัชชาคนจน  เดินขบวน ณ ท้องสนามหลวง – สนามราษฎร์  มาทวงหนี้จากรัฐทุกรัฐที่รุกรานรากเหง้าวิถีชีวิตของพี่น้อง –ของโลกสังคม!ประกายโชนฉานแห่งโลก เอกภพ จักรวาล
ชนกลุ่มน้อย
ผมพบเขาครั้งแรกในหน้าหนาวเมื่อหลายปีก่อน  หมู่บ้านเล็กๆ  ใจกลางเทือกถนนธงชัย  เขาไม่ค่อยมองสบตาในช่วงแรกๆ  เงียบเหมือนหิน  ยิ้มยาก  เคร่งขรึมอบอวลอยู่ภายใน  ผมนึกว่าคนจากพื้นล่าง  ขึ้นมารอซื้อของป่า  หรือพูดง่ายๆว่าอาจเป็นพ่อค้าซื้อของป่าสักอย่าง  ซึ่งมักปิดปากเงียบ  ไม่อยากให้รายละเอียดใครต่อใคร  ถึงจุดหมายที่มาของตัวเองต่อคนแปลกหน้าด้วยกัน  และของป่าที่จะซื้อก็ใช่ว่ามันจะเถรตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย  หรือจะพูดอีกอย่างว่า  ได้มาง่าย  ได้มาถูกๆ  ได้ของมาโดยไม่เหมือนคนอื่น  ก็ถือเป็นกำไรของการดั้นด้นมาตามหาของป่าไกลลึกผมบอกอย่างนี้  เพราะผมเคยพบหน้ากับคนค้าของป่านานาชนิด  ทั้งวัวควาย  แพะ  เห็ด  ผลไม้เมืองหนาว  สัตว์ป่า  เอื้องป่า  ยาสมุนไพร  สารพัดที่จะลงไปสู่พื้นราบแล้วแปลงร่างเป็นเงินงามๆออกมาได้กระทั่งเจ้าของบ้านบอก  เป็นกะเหรี่ยงจากพม่า  ผมโพล่งภาษาอังกฤษ(แบบงูๆปลาๆ)ออกไปทักทาย   ผมมานึกอีกทีหนึ่ง  ผมไม่น่าเริ่มต้นอย่างนั้นเลย  แค่ต่าบรึ โอมูโชเปอ  ทักทายตามธรรมเนียม ก็น่าจะเพียงพอกล่าวคำทักทายแต่เขาตอบกลับมาเป็นภาษาไทยชัดคำ  ชัดเจน  ใบหน้าผมเจื่อน  หดสั้นลงเหลือนิ้วเดียว  และเป็นนิ้วเดียวที่ยับๆย่นๆยู่ยี่ดูไม่ได้เลยผมแนะนำตัวเอง  เขาบอกชื่อ เหล่อวา  อันแปลว่าหินขาว(ผมเชื่อเหลือเกินว่า  มีคนรู้จักเขาอีกมาก  แต่ผมผ่านพบเขาแค่ลมวูบเดียวจริงๆ)เขาบอกเรื่องตัวเองให้ผมรู้น้อยมาก  กระทั่งถึงเช้าอีกวัน..   เพลงของ จอร์น เดนเวอร์ แว่วมาแต่เช้า  มันเป็นน้ำเสียงไม่ธรรมดา  เป็นน้ำเสียงของการฝึกฝนมายาวนาน  เสียงสวย  นุ่มนวล  เพราะมาก  ตามด้วยเพลงของ พอล ไซม่อลและอาร์ต  การ์ฟังเกล  ตามมาอีก เป็นเพลงในภาษาของเขาไม่นาน  เราพบในห้องบันทึกเสียงกลางเมืองเชียงใหม่  เขากำลังทำงานเพลงบอกเล่าเรื่องของเขาผมชวนมาเขามาเที่ยวที่บ้าน  บ้านที่ผมพักเช่าอยู่เขาพกรูปถ่ายมาด้วย  ผมเห็นใบหน้าตรากตรำสะพายปืนอาก้า   ผูกเปลนอนกันกลางป่า  ครอบครัวของเขา  ลูกของเขา  เพื่อนของเขาที่อยู่ในเขตสู้รบ   ภาพพักแรมตามป่าในเขตพม่า เขาร้องเพลงให้ผมฟังแล้วเขานัดผมว่า  อีกไม่กี่วันข้างหน้า  เอาจะเอาเพลงที่เขาเคยบันทึกแจกจ่ายกันตามตะเข็บชายแดนเมื่อหลายปีก่อนมาให้ผมไปรับเทปเพลงที่กลางเมือง  ราวกับยื่นรับสิ่งของผิดกฎหมายคราวหน้า  ผมจะเอาเพลงของเขา  มาขึ้นจอให้ดู ... + + + + + + + +หมายเหตุ   หน่วยสืบรู้คงตามหาตัวเขาไม่ได้แล้ว ผมไม่ได้พบหน้าเขาอีกเลย  เขาไปเป็นพลเมืองดีของอเมริกันชน  ผมรู้ความจริงแค่นั้น  เส้นทางนักรบเขียนเพลงของเขา  ยังเดินทางต่อหรือไม่  ไม่รู้... 
แพ็ท โรเจ้อร์
I HAVE NOTHING (Whitney Houston) Share my life, Take me for what I am. 'Cause I'll never change All my colors for you. Take my love, I'll never ask for too much, Just all that you are And everything that you do. I don't really need to look Very much further/farther, I don't wanna have to go Where you don't follow. I will hold it back again, This passion inside. Can't run from myself, There's nowhere to hide. (Your love I'll remember forever.) Chorus: Don't make me close one more door, I don't wanna hurt anymore. Stay in my arms if you dare, Or must I imagine you there. Don't walk away from me. (No, don't walk away from me. Don't you dare walk away from me.) I have nothing, nothing, nothing If I don't have you, you (you, you, you./If I don't have you, oh, oo.) You see through, Right to the heart of me. You break down my walls With the strength of your love. I never knew Love like I've known it with you. Will a memory survive, One I can hold on to? I don't really need to look Very much further/farther, I don't wanna have to go Where you don't follow. I will hold it back again, This passion inside. Can't run from myself, There's nowhere to hide. (Your love I'll remember forever.) (เนื้อเพลง http://www.romantic-lyrics.com/li107.shtml และมิวสิควิดีโอ http://www.youtube.com/watch?v=oMvsg0Ny5OY&mode=related&search=)หลายวันก่อนผู้เขียนกับคนสนิทไปทานข้าวกัน เรานั่งทานข้าวแล้วก็คอยฟังเพลงกัน นักร้องร้องดีมาก และนักดนตรีก็เล่นได้ดี ไม่เสียดายค่าอาหารเลยแม้จะแพง เพราะสถานที่นั้นมีเพลงสมัยที่ผู้เขียนในวัยที่มีกำลัง แต่คนสนิทเพิ่งเกิดได้ไม่นานรวมทั้งยังไม่ได้เกิดเลยด้วยถือว่าได้ฟังเพลงที่มีคุณภาพ เอาเป็นว่ามีความสุขพอสมควรเพลงหนึ่งที่นักร้องร้องคือเพลงที่ผู้เขียนเอามาเกริ่นข้างต้น ร้องได้ดีมากแล้วก็ทำให้ผู้เขียนระลึกได้ถึงสมัยคราวที่ยังเรียนอยู่ต่างประเทศในช่วงต้นของ 1990's คราวนั้นในใจไม่ได้คิดอะไรมาก ฟังเพลงอะไรก็ไม่สนุก ไม่ไพเราะ เพราะใจมัวแต่ฝักไฝ่กับการเรียนที่หนักหนาสาหัส ความบันเทิงในชีวิตขาดหายไปมากพอสมควร และทำให้มองความบันเทิงเป็นเรื่องน่าขยะแขยงและไม่น่านิยมแต่อย่างใดตอนนั้นคิดอยู่อย่างเดียวว่าต้องเรียนให้มากที่สุด เก็บเกี่ยวความรู้ให้มากที่สุด ซึ่งก็ดีใจที่ได้ทำดังนั้น แล้วก็ทำให้มองว่าความบันเทิงเป็นอาวุธสำคัญในการหลอกล่อให้คนติดกับดักไม่ให้เจริญทางปัญญาเท่าไรนัก แต่มีประโยชน์ตรงที่ว่ามีไว้เพื่อหลีกลี้หนีหายจากความจริงที่ไม่สวยสดนักในโลกความจริง แต่ก็เหมือนยาเสพติด เพราะเมื่อติดแล้วก็ถอนตัวได้ยาก ดังนั้นชนชั้นปกครองจึงนิยมใช้มาปรนเปรอชาวบ้านร้านถิ่น โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดคือ แถวอเมริกาใต้เอง เพราะตอนนั้นอยู่ใกล้ตรงนั้น และเห็นคนภูมิภาคนั้นหลงใหลมัวเมาแต่เรื่องเปลือกๆหนังเรื่องบอดี้การ์ดเข้าฉายตอนนั้น เป็นช่วงที่เรียนหนักอย่างที่สุด มีรุ่นน้องเอาเพลงมาฟัง มีมิวสิควิดีโอบนเคเบิ้ลทีวี เห็นวิทนี่ย์ร้องเพลงอื่นๆของหนัง แล้วมีปากสั่นๆ จนน่าตลกและตลกไทยก็เอามาล้อต่อมาในสังคมไทย ผู้เขียนไม่ได้ชื่นชมกับความบันเทิงแบบนี้ แต่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อนๆคนไทยที่เรียนด้วยอินไปกับความบันเทิงแบบนี้ ผู้เขียนก็ไม่ขัด แต่ผู้เขียนไม่สนุกด้วย ตอนนั้นฟังเพลงอื่นๆบ้างเท่านั้น เพราะเมืองนอกมีวิทยุคลื่นช่องที่มีแต่เพลงร่วมสมัยอย่างเดียว เปิดตลอดวันและคืน ซึ่งเดี๋ยวนี้เมืองไทยมีแล้ว สมัยก่อนไม่มี มีการซื้อซีดีบ้าง แต่ไม่เรียกว่าเยอะเพราะแพง แล้วก็ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพวกร้านค้าซีดี ที่จะซื้อได้ทางเมล์ออร์เดอร์ราคาถูก สมัยนี้ทันสมัยกว่าเดิมแยะ ดาวน์โหลดกันง่ายดายเพราะว่าไม่ได้ใส่ใจนักกับความบันเทิง เหมือนว่าตนเองมัวแต่เดินเพื่อให้ถึงจุดหมายจนลืมว่าข้างทางก็พอมีอะไรน่าสนใจอยู่บ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเสียใจ การทำงานไม่ได้ทำให้เราเลวร้าย แต่ยิ่งจะทำให้เราแกร่งขึ้น เสียดายที่ความคิดแบบนี้ไม่เกิดในสังคมไทยเท่าไรนัก หลายคนนึกว่าตนเองมีคุณภาพและความเพียรในการทำงาน แต่ที่แท้ไม่ได้มี หลายคนทำงานสำเร็จแค่ชิ้นเดียวก็กลายเป็นพระเอกนางเอก ความเพียรไม่มี ไม่ได้โชว์อย่างแท้จริง หลายคนมีตัวช่วยแยะเหลือเกิน หลายคนก็มีผลงานไม่ติดต่อกัน เพลงที่ได้ฟังวันนั้น สอนผู้เขียนได้หลายแง่ ไม่ว่าเรื่องการมองย้อนกลับไปในวันนั้นในอดีต แล้วกลับมามองในวันนี้ของปัจจุบัน เนื้อเพลงให้ความรู้สึกว่าในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องพึ่งพาความรู้สึกของคนอื่นด้วย หากเราต้องการความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น เนื้อเพลงนี้อาจจะเน่าไปสักหน่อย แต่ความจริงของชีวิตก็มีในนั้น ในฐานะที่เป็นปุถุชนธรรมดา เราอยู่คนเดียวไม่ได้ในโลกนี้ ยิ่งแก่ตัวยิ่งเข้าใจว่าทำไม สมัยหนุ่มๆสาวๆ มีแรงมาก ทำให้ไม่ง้อใครนัก เมื่อแก่ตัวลง แรงถอย เมื่อนั้นการคำนึงถึงคนรอบข้างมีความจำเป็นและสำคัญมากคนสนิทของผู้เขียนได้กระตุกความคิดของผู้เขียนหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของค่านิยมของสังคมไทยที่ได้บรรจุในคนรุ่นใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ส่วนมากสรรหาความสบายมากจนไม่ยอมรับความกดดันได้ หลายครั้งที่บุคคลเหล่านี้ขาดการมองที่ครบด้าน และปฏิเสธที่จะมองเพราะพอใจกับวันนี้จุดนี้เท่านั้น อันนี้แหละที่น่ากลัว ความใจดีของสังคมไทยแบบฉาบฉวยทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนกลายเป็นคนสุขนิยมไปเสียมากแต่ลักษณะดังกล่าวนี้คงเปลี่ยนไปอีก ความเป็นพลวัตของสังคมไทยคงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นต่อๆไป กว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดต่อไป ผู้เขียนก็คงไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว อันนี้คนรุ่นใหม่คงได้เจออะไรที่ตนเองได้ทำขึ้นส่วนหนึ่ง ในวันนี้ ความคิดคำนึงของผู้เขียนค่อยๆเปลี่ยนไป ไม่ได้บันเทิงมากขึ้น แต่หันมาให้ความเข้าใจกับคนรอบตัวมากขึ้น ส่วนคุณภาพการทำงานที่เคยมีคับแก้วนั้นไม่ได้ลด แต่รู้วิธีที่ถนอมแรง ยกคนที่ควรยก ข่มคนที่ควรข่ม เรียนรู้ที่จะเข้าใจคนในสังคมนี้มากขึ้น เพราะยิ่งอยู่นานเหมือนรู้จักน้อยลง เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งที่เหมือนว่าเรารู้จักสังคมนี้มากขึ้น แต่อยู่ๆไปก็เห็นว่าสังคมนี้น่าค้นหาและไม่รีบด่วนที่จะสรุปอย่างชัดเจนมากนัก ทิ้งปริศนาให้มองต่อไปได้อีกเวลาเท่านั้นจะเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always Somewhere, You and I, Holiday หรือแม้กระทั่ง Still Loving Youแต่ด้วยอะไรรอบตัวในตอนนี้ เพลงที่ผมนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ กลับเป็นเพลงเศร้าๆ อย่าง Send me an Angel, Under the same sun และ White Dove จะว่าเศร้า หดหู่ จนไร้ความหวังก็ไม่ใช่ จะว่ามีความหวังก็ไม่เชิงนัก แต่สิ่งที่บทเพลงเหล่านี้ขับขานออกมาได้เป็นอย่างดีคืออารมณ์ความรู้สึกร่วมทุกข์แบบที่ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ และจริงอยู่ความเห็นใจอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหา แต่บทเพลงเหล่านี้ โดยเฉพาะเพลง White Dove ก็ได้เปรียบเหมือนตัวแทนบอกความรู้สึกของคนที่ได้แต่มองสถานการณ์อยู่ห่างๆ เช่นเดียวกับพวกเขา …เช่นเดียวกับผม“And now you’re telling meYou’ve seen it all beforeI know that’s right but stillIt breaks my heartWell, the golden lamb we’ve sentMakes us feel better nowBut you know it’s just a dropIn a sea of tears”“และตอนนี้คุณก็บอกฉันว่าคุณได้เห็นมันมาหมดแล้วฉันรู้คุณพูดถูกแต่ว่ามันยังคงทำให้ฉันเจ็บปวดอยู่ดีแกะทองคำที่เราส่งไปทำให้เรารู้สึกดีขึ้นในตอนนี้แต่คุณก็รู้สุดท้ายมันเป็นได้เพียงแค่หยดหนึ่งในทะเลแห่งน้ำตา”- White Dove -ท่อนนี้ของเพลง White Dove (พิราบขาว) สะเทือนใจผมมาตั้งแต่ตอนที่ผมยังอยู่ในสมัยเรียนมัธยม ในตอนนั้นจะยังคงไม่อาจตีความอะไรจากเพลงนี้ได้ เพราะผมยังเป็นเด็กโง่ ยังไม่รู้ว่าการต่อสู้ของประชาชนเพื่อเสรีภาพในหลายๆ ประเทศมันมีราคามากกว่าการเสี่ยงชีวิตจากกระสุนปืนของทรราชย์ มันทำให้เกิดผู้ลี้ภัย เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง การขอความช่วยเหลือที่ยากจะมาถึง ฯลฯ และแกะทองคำ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ความสงบสุขกลับมาได้จริงๆKlaus Meine เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตัวเขาเองก็อยากจะทำเพลง ให้คนที่ได้ฟังเพลงของเขามีความหวัง เด็กหนุ่มสาวในประเทศที่ยังคงมีสงครามกลางเมืองบอกว่า พวกเขาที่มีไฟฟ้าใช้แค่วันละชั่วโมง ได้มีโอกาสฟังเพลงของ Scorpions แล้วรู้สึกมีกำลังใจจึงไม่แปลก ที่หลายเพลงของวง Scorpions จึงกล่าวถึงเด็กและคนรุ่นต่อไปอย่างเปี่ยมไปด้วยความหวัง แม้บางเพลงอย่าง Moment of Glory จะดูเป็นความหวังที่ดูยิ่งใหญ่เกินไปก็ตามในอัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I นี้ก็มี Desmond Child หนึ่งในโปรดิวเซอร์มาช่วยคิดคอนเซปต์ให้ ซึ่งดูเหมือนว่ากาลเวลาที่ผันผ่านคงเริ่มทำให้พวกเขาสิ้นศรัทธาในอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นเพราะว่าบทเพลงที่พวกเขาทำออกมา ให้กำลังใจแก่ผู้คนได้ก็จริง แต่ผู้คนในมุมต่างๆ ของโลกยังคงต้องประสบกับความเลวร้ายเดิมๆ ไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าไหร่เลย ในอัลบั้มนี้ พวกเขาจึงเริ่มหันมาพูดถึง “การล่มสลายของมนุษย์ชาติ”เปิดมาด้วยเพลงที่ค่อนข้างหนักแน่นดุดันอย่าง Hour I ที่เนื้อหาพูดถึงการที่เครื่องจักรหันกลับมาทำลายมนุษย์ ซึ่งฟังดูออกจะเป็นเนื้อหาแนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่ Cliche ไปหน่อย ในตัวเพลงนี้ก็ได้พูดถึงเด็กเอาไว้เหมือนกัน แต่ในคราวนี้ Scorpions ไม่ได้พูดถึงเด็กในมุมมองเดิมของพวกเขา พวกเขาไม่ได้ให้กำลังใจ ปลอบขวัญ หรือตั้งความหวังกับเด็กๆ อีกแล้ว แต่ Hour I บอกให้เด็ก ๆ ทั้งหลาย … รีบๆ หาที่ซุกหัวเอาตัวรอดซะ !!“So here we areIt’s hour oneAnd it’s a nightmareThere’s nothing leftAnd yet it’s good to be aliveThere’s no use cryingCause the universe is not fairThe wicked and the innocentAre fighting to survive”- Hour I -จริง ๆ แล้วเพลงนี้อาจจะตีความไปได้หลายแง่นอกจากจะอิงคอนเซปต์เดิมของเพลง ฉะนั้น The Wicked (ผู้ร้าย) ในที่นี้อาจจะไม่ได้หมายถึงหุ่นแอนดรอยด์เพียงอย่างเดียว แต่เราอาจจะตีความมันเป็น ‘นายพลเหลิงอำนาจผู้เหี้ยมโหด’ บางคนก็ได้เพลงของ Scorpions โดยเฉพาะในอัลบั้มนี้ ไม่ได้มีแต่ Hour I เท่านั้นที่สามารถตีความไปได้หลายแง่เพลงหลายเพลงมันอาจจะฟังดูเป็นเพลงรักก็ได้ หรือเป็นเพลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในแบบอื่นก็ได้ You และ I ในแต่ละเพลงจึงอาจจะเป็นมิตรสหาย เพื่อนร่วมชาติ หรือแม้แต่เพื่อนร่วมโลกและแน่นอนว่า มีบ้างที่ “ฉันและเธอ” ในบางเพลงได้แสดงความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน และไม่ว่าความขัดแย้งนั้นมันลึกล้ำฝังรากมาขนาดไหนก็ตาม หากเรายังคงยึดติดอยู่ในสิ่งที่ตนเชื่อโดยไม่ยอมทำความเข้าใจกับสิ่งอื่นที่ (เราเชื่อว่า) เป็นฝ่ายตรงข้ามกับเราเลยนั้น เราก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือประหัตประหารคนด้วยกัน เช่นเดียวเหตุการณ์บางอย่างในอดีต แม้มันจะถูกอะไรบางอย่างแอบบิดเบือนไปในทางประวัติศาสตร์ แต่ภาพความโหดร้ายนั่น มันไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ “มนุษย์” กระทำต่อกันเลย“You were once a friend to meNow you are my enemyPassion turns to hate and you makeHate worth fighting forI will re-write historyAnd you will not exist to meOn the day you crossed the lineI found out love is war”- Love is War -เมโลดี้ของ Scorpions ในอัลบั้มนี้หวานหอมน้อยลง เนื้อเพลงบางเพลงยังคงอารมณ์หวานซึ้งอยู่บ้าง เพียงแต่ผมคิดไปเองหรือเปล่าว่า เหมือนพวกเขาพูดถึงมันได้ไม่เต็มปาก เพลงอย่าง Love will keep us alive (ซึ่งเหมือนของวง Eagles แค่ชื่อ) ฟังดูเฉยๆ ชาๆ The Future never dies หรือ We were born to fly อาจฟังดูมีพลังขึ้นมาหน่อย แต่มันก็ไม่อาจทำให้รู้สึกตามสิ่งที่มันสื่อได้มากนักขณะที่ เพลงอย่าง Love is War , Your Last Song และ The Cross ซึ่งพูดถึงความขัดแย้ง ฟังดูหนักแน่นในอารมณ์มากกว่า อาจจะเป็นเพราะตัวดนตรี ที่ทางวง Scorpions เองยังสรรอารมณ์ของทั้งอัลบั้มได้ยังไม่ลงตัวนัก หรืออาจจะเป็นเพราะโลกในตอนนี้ก็ได้ ที่ผลักให้บรรยากาศของเพลงมันเป็นไปตามสิ่งที่พวกเขาเชื่อ ในสิ่งที่พวกเขารู้สึกจริงๆ“How dare you use my shameTo play your wicked gamesWith the mask you’re wearingAnd now you gotta make amendsFor the demons in my headI’ll nail you to the crossThe cross I’m bearing”- The Cross -แม้จะไม่ใช่อัลบั้มที่สมบูรณ์หมดจด แต่ Humanity - Hour I ก็ทำให้ขาร็อคแฟนเพลงวง “แมงป่องผยองเดช” ยุคก่อนๆ ออกมาชูฮกว่าแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้งจริงๆ แล้วในขณะเดียวกัน สำหรับบางคน (รวมถึงผมเอง) แล้ว อาจรู้สึกได้ว่า Scorpions ในบางด้านได้จืดจางหายไxเป็นไปได้ว่า…เพราะยังคงคิดถึงเพลงที่พูดถึงแสงสว่างในดินแดนที่มืดมนเพราะยังคงมีความถวิลหา “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” ครั้งเก่าก่อน แม้สายลมนั้นจะไม่ได้ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทุกคนฝันกันไว้จริงๆ ก็ตามหรือเพราะ…ยังคงปรารถนาที่จะได้เห็น (หรือได้ยิน) ว่า “พิราบขาว” สัญลักษณ์ของสันติและเสรี จะบินพาดผ่านนำความหวังกลับมาซึ่งมันคงเป็นไปไม่ได้…ที่จะหา “พิราบขาว” พบใน Humanity - Hour I“Run and hide there’s fire in the skyStay insideThe water’s gonna rise and pull you underIn your eyes I’m staring at the end of timeNothing can change usNo one can save us from ourselves”- Humanity -เพราะแม้แต่ในเพลงสุดท้ายคือ Humanity ที่เป็นเหมือนบทสรุปของเนื้อหาทั้งหมด ก็ยังคงไม่วายพูดถึงความพินาศย่อยยับ และย้ำเตือนว่า ถ้าหากมนุษย์ยังไม่ได้เปลี่ยนตัวเองจากข้างใน อะไรก็คงมาเปลี่ยนไม่ได้ช่างเป็นบทสรุปที่ฟังดูสิ้นหวังเหลือเกิน
ชนกลุ่มน้อย
ขณะผมนั่งเขียนต้นฉบับ พระสงฆ์ในพม่าออกมาเดินบนท้องถนนเป็นวันที่แปด คนออกมาร่วมเดินไปตามถนนด้วยนับแสนคน ถนนกลางกรุงร่างกุ้งเชิญชวนให้คนออกมาเดิน ดูท่าคนจะเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆผมเห็นทิวแถวพระสงฆ์เหมือนแม่น้ำใหญ่สาละวินหน้าฝน พร้อมถั่งโถมใส่สิ่งกีดขวางทุกอย่าง หอบลงอันดามันสายตานักรบมองจ้องนักบวช ราวกับจะกินเลือดกินเนื้อ สะท้อนถึงเรื่องใด รัฐบาลเผด็จการทหารจะใช้วิธีสลายผู้ชุมนุมด้วยกระสุนปืนอีกหรือไม่ ล้วนเป็นที่จับตามองจากชาวโลกเย็นนี นักศึกษาพม่ากำลังขมักเขม้นทำเพลง ว่าด้วยโศกนาฏกรรมฆ่าประชาชนกลางกรุงร่างกุ้งเมื่อปี 1988 เกือบยี่สิบปีก่อน เขาเลือกเอาเชียงใหม่เป็นสถานที่ทำเพลง ผมสวนกับเขาตรงประตูห้องบันทึกเสียงหลายครั้งสีหน้าแววตาเขาเป็นบทกวี ผสานกับแววตาขบถ ผมถามถึงความหมายของเพลง เขาบอกยังไม่เสร็จ… เสรีภาพยังต้องพูดถึงกันต่อไป หากเพลงเขาเสร็จ เขาคงมั่นใจว่า เขากำลังจะบอกอะไรให้เพื่อนร่วมชาติของเขารับฟัง ผมรู้มาว่าเพลงหนึ่ง ว่าด้วยแจ๊ซแห่งอิระวดี วันแม่น้ำไหลเป็นเลือด ในคืนจันทร์ส่องแสง เต้นรำบนสายน้ำตาและโลหิตประชาชนเย็นนี เรา--เหล่าคนเดินสวนทางกับเขา พูดถึงชื่อเขาในนาม เย็นนี้ ..วันดีคืนดี วีดีโอลึกลับมาถึงบ้านผม แทบไม่เชื่อในสายตา ว่าริมขอบชายแดนจะมีการกระทำย่ำยีต่อกันมากมายถึงเพียงนั้น ระเบิดบอมส์หมู่บ้าน เด็กหนุ่มในเปลซึ่งแข้งขาเหลือแต่กระดูก ตัดกันสดๆ เพื่อรักษาชีวิตมีข้อความไล่ตามภาพ "..ประมาณ 530,000 หมู่บ้าน โดนกระทำโดยทหารพม่า .. we never know how many days we will have to be on the run. we can only take enough food for one or two days…"ภาพหมู่บ้านโดนเผา ไหม้ไฟ ควันโขมง ศพคนนอนตายเรียงรายคนหลายร้อยคน เดินตามหลังไปตามป่า ข้ามน้ำ ไปแออัดจับกลุ่มเหมือนมดหนีน้ำ".. we ate rice and salt. we can't sleep at night, …everything is wet so our children can't sleep, but when they cry, we get angry and we tell them to shut up…"เพลงของ เย็นนี อาจได้เริ่มต้นความหวังใหม่ บนแผ่นดินพม่านับจากนี้เป็นต้นไป แรงต่อต้านที่ลุกขึ้นนำโดยพระสงฆ์ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ปากกระบอกปืน จะจ่อยิงร่างผู้นำทางจิตวิญญาณกันง่ายๆ หากเพลงสังหารดังขึ้น เลือดคงท่วมนองแผ่นดินเลือดพระสงฆ์สาวกพระศาสดาพระพุทธเจ้า ..เพลงของเย็นนี เร่งวันเร่งคืน เพื่อจะข้ามน้ำสาละวิน ไปกู่ตะโกนตามหัวเมืองต่างๆ มุ่งไปปลดปล่อยเสรีภาพให้ผู้คนทุกกลุ่ม