Skip to main content

 

บ้างเห็นดวงตะวัน

บ้างเห็นควันโขมง

บ้างยินปืนลั่นโป้ง

บ้างโก่งคันธนู

 

เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games: Catching Fire (2013) ภาคก่อนหน้า Mockingjay อันโด่งดังทั้งในโรงฉายและสังคมเครือข่ายไทยในฐานะ “ปลุกกระแสต่อต้านเผด็จการ/อำนาจกดขี่”  ได้ส่ง “สาร” ที่ทรงพลังมากพอๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องการใช้ “พลัง” ต่อสู้กับสิ่งที่อยู่เหนือกว่าตนเอง  ต่อไปนี้จึงจะเป็นการเขียนถึงในเชิงวิชาการน้อยที่สุดเท่าที่ผู้อ่านเคยอ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าแรงบันดาลใจของผู้เขียนเริ่มต้นจากบทเพลง ไม่ว่ามันจะเชื่อมโยงกับสาระอื่นอย่างมีนัยสำคัญและเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม

ก่อนอื่นขอชื่นชมผลงานล่าสุดของ Coldplay อัลบั้ม “Ghost Stories” ซึ่งเน้นเนื้อดนตรีอิเล็กโทรนิกา ที่คริส มาร์ติน ได้นำ " A Sky Full of Stars " ไปร้องได้อย่างน่าประทับใจในการเปิดงาน BBC Music Award 2014 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกและเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนธันวาคม  ส่วน “Atlas” ก็นับเป็นครั้งแรกที่ Coldplay แต่งให้นำไปประกอบภาพยนตร์ ซึ่งมีสิ่งที่น่าชื่นชมหลายประการ  ทั้งการันตีด้วยรางวัลแกรมมีสาขา Best Song Written for Visual Media และเนื้อหาเข้มข้นที่มาจากรากฐานความสัมพันธ์ของตัวละครเอกกับสหายรัก และความหวังในการต่อสู้กับอำนาจกดขี่ แม้ต้องเผชิญกับสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม

แม้ไม่ได้เป็นแฟนคลับของฝ่ายใด แต่ผู้เขียนก็ติดตามสถานการณ์การเมือง “ใกล้ตัว” ที่นอกจากจะไม่ได้พาเราเดินหน้าไปไหนแล้ว หลายครั้งยังฉุดรั้งความรื่นรมย์ ดังนั้นเพลงหนึ่งๆ จึงสามารถฟังได้ซ้ำๆ ไม่รู้เบื่อ เพราะถือเป็นความสุขเดียวที่พอจะมีอยู่ในมือ  โดยครั้งนี้จึงนำเสนอเนื้อหาของ “Atlas” ผ่านการถอดความง่ายๆ —ไม่มีเหตุผลใดมากไปกว่าความประทับใจต่อเสียงเปียโนบัลลาดและกราฟิกดีไซน์อันตระการตาของมิวสิควิดีโอเป็นหลัก

 

Some saw the sun

Some saw the smoke

Some heard the gun

Some bent the bow


Sometimes the wire must tense for the note

Caught in the fire, say oh

We’re about to explode

 

ใน Catching Fire อันเป็นตอนที่ Katniss ตัวเอกของเรื่องกับสหายคือ Peeta กลับมายังเขต 12 หลังแคตนิสชนะการสู้แบบ “ถึงตาย” กับผู้เข้าแข่งขันเขตอื่นๆ  ซึ่งยิ่งทำให้ผู้นำของ Capitol ศูนย์กลางการปกครองของ Panem มองว่าแคตนิสนั้นอันตราย ...พูดง่ายๆ “ผู้ชนะ” มักจะคู่กับ “หายนะ” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จากจุดนี้ทำให้ความรู้สึกระแคะระคายในกระแสต่อต้านกันและกันระหว่างฝ่ายแคตนิสและประธานาธิบดีสโนว์ สั่งสมใกล้ถึงขีดสุด 

ทว่า “ภาระ” ที่แคตนิสต้องแบกรับมิได้มีแค่ Capitol เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเขต 13 ของผู้นำหญิงที่มีขุมพลังงานนิวเคลียร์ ฐานทัพ และความจัดเจนในการใช้สื่อชักจูงผู้คน ไม่ต่างจากโลกจริงๆ นอกภาพยนตร์ที่ท่วมท้นด้วยการช่วงชิงอำนาจด้วยสื่อ และเทคโนโลยี แคตนิสจึงมีพันธกิจต่อ District 12 และ 13 รวมทั้งภาพลักษณ์ความสัมพันธ์ส่วนตัว ความเชื่อมั่นในฐานะผู้นำเขตเพื่อต่อรอง/ต่อสู้ กับแรงกดดันทั้งภายนอกและภายใน(เขต) โดยเฉพาะการกดขี่จากผู้มีอำนาจและเล่ห์กลทางการเมืองที่จะใช้บ่อนเซาะชีวิตจิตใจของฝ่ายต่างๆ ได้โดยที่ผู้เป็นเครื่องมือรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ไม่ต่างจากการรับการลงโทษ แบกสรวงสวรรค์ของยักษ์แอตลาส

 

ตามปกรณัมกรีกอย่างย่นย่อ “แอตลาส” (Atlas) คือ “ยักษ์ลูกครึ่ง” ที่จำต้องรับภาระแบก “โลก” หรือจริงๆ คือแบก “สวรรค์” ไว้บนบ่า (รวมทั้งศีรษะและกล้ามเนื้อไหล่ อันเป็นที่มาของชื่อ “กระดูกแอตลาส” บริเวณไขสันหลัง) ทั้งนี้ รูปภาพมากมายที่แสดงให้เห็นแอตลาสกำลังรับน้ำหนักของโลกไว้นั้นเป็นเวอร์ชั่นหนึ่งของตำนานแอตลาสที่ขึ้นอยู่กับกวีผู้ประพันธ์ในแต่ละสมัยว่าจะกำหนดให้ใครรบกับใคร ใครชนะ ใครแพ้ และ “ภาระ” ของแอตลาสคืออะไรภายหลังการแพ้ศึกเหล่าไททัน ... 

แอตลาสมีกำเนิดจาก “Iapetus” เทพแห่งการสงคราม และ “Clymene” ธิดาแห่งมหาสมุทร (บ้างเรียก “Asia” ) ซึ่งอยู่ในวงศ์ตระกูลยักษ์อสูร “Titans” ซึ่งเป็นตระกูลยักษ์เก่าแก่ ทรงอำนาจ ด้วยสืบสาแหรกมาจากเทพ “Ouranos” กับพระนาง “Gaia” จึงหมายถึงเหล่าไททันส์เป็นโอรส-ธิดาแห่ง “สวรรค์” และ “พิภพ”  และเนื่องจากตระกูลยักษ์ไททันก็มีเหตุให้ต้องผลัดกันรบพุ่งระหว่างทีมโอรสองค์โตกับทีมเทพบิดาของตน เพราะแต่ละยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและโอรสผู้ชนะได้ขึ้นครองบัลลังก์  ในเวลาต่อมาตนก็ต้องสัประยุทธ์กับฝ่ายลูกหลานเรื่อยไป  และสุดท้ายเมื่อ “Zeus” โค่นเทพบิดา “Cronos” ของตนลง จึงมีสิทธิ์ลงโทษฝ่ายแพ้ที่มีแอตลาสมาร่วมเสริมทัพให้โครโนสนั่นเอง

และการลงโทษของเทพซูสคือแอตลาสต้อง “แบก” หรือ “ค้ำ” เพดานสวรรค์และโลกเอาไว้ชั่วกัลป์ นัยว่าอูรานอสจะไม่มีวันได้เสพสมกับไกอาจนมีลูกครึ่งยักษ์ออกมาล้างผลาญตนได้อีก

คำว่า atlaô (บ้างว่า durus) หรือ “endurance” จึงอธิบายลักษณะความอดทน “ความอึด” ที่จะแบกภาระอันหนักอึ้ง ซึ่งสอดคล้องกับชื่อของยักษ์ “แอตลาส” ได้เป็นอย่างดี

 

แบกรับโลกของท่าน

ข้าจักแบกรับโลกของท่าน

ข้าจักแบกรับโลกของท่าน

และความเจ็บปวดทั้งมวล

 

มิติการวิเคราะห์ตีความและภาพสะท้อนของ The Hunger Games Trilogy เองก็ถือว่าหลากหลาย ซับซ้อน และ “ถูกใช้เป็นเครื่องมือ” ในฐานะสื่อสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน (มิพักต้องเอ่ยว่าเป็น propaganda หรือไม่) โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจโลกเสรีกับความเหลื่อมล้ำของอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทั้งในและนอกประเทศของตน หรือในสังคมอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในดินแดน Panem ก็ย่อมต้องเผชิญกับความอิหลักอิเหลื่อกับ “ภาระ-กิจ” หนักที่ต้องแบกรับทั้งนั้น

หรือหากจะมีใครที่เผลอไป “แบก” ภาพลักษณ์ ความคาดหวัง อำนาจต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเองหรือคนอื่นเอามาโยนให้ก็คงต้องรับมือหนักกว่าเพื่อน   

และไม่ว่าจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ หรือ ปุถุชน ต่างฝ่ายก็มี “ภาระ” ต้องแบกรับและ/หรือ “ภารกิจ” ต้องบรรลุทั้งสิ้น และย่อมมีจุดหนึ่งระหว่างการเดินทางไกลนั้น ที่ต้องง้างศรหรือขึ้นสายดนตรีจนตึงเพื่อรองรับตัวโน้ตเสียงสูงๆ อย่างที่กล่าวในเพลงว่า “บางคราเครื่องสาย ต้องขึงตึงตามตัวโน้ต” มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถเล่นเป็นทำนองได้สมบูรณ์

ภาระ-กิจใดก็ตามที่ต้องแบก อุ้มชูไว้เป็นเวลานาน น้ำหนักนั้นย่อมกดทับตัวผู้แบกที่ไม่ยอมปล่อย หรือวางมันลงไป เราๆ มนุษย์ปุถุชนมิใช่แอตลาสที่ถูกประกาศิตสวรรค์ บังคับให้ต้องแบกโลกหรือสวรรค์อันยิ่งใหญ่ไว้ตามลำพัง จึงคงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะ “วางของหนัก” ลงก่อนที่มันจะบดร่างเล็กๆ ของเราจนแหลกลาญ

 

บ้างอยู่ไกลโพ้น

บ้างออกค้นหาทองคำ

บ้างต้องกำจัดมังกร

สรวงสวรรค์ที่หวังอยู่บนหนทางนี้

ขอพระองค์โปรดชี้ เพราะข้า

ข้ากำลังจะ ปะทุคุโชน

บล็อกของ Bralee

Bralee
ในยุคที่ความรักและความเกลียดชังของมนุษย์ดำเนินมาพร้อมกับวิทยาการต่างๆ รูปแบบทั้งสองชนิดนี้แม้ไม่จำเป็นต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามหรือเป็นสาเหตุของกันและกัน ก็ได้ปรากฏและแปลงโฉมมาอย่างซับซ้อน หลากหลาย จะมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นจะใช้อะไร วิธีการไหน เป็นเ
Bralee
หลังจากเคยเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งกับความหมายของเพลงทรงพลังอย่าง Oblivion ของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อคอังกฤษ และบัลลาดกินใจอย่าง Af
Bralee
สัปดาห์ที่ได้ชม Life Itself ผ่านไปนานแล้วแต่คำๆ หนึ่งที่ยังคงอยู่ในความคิดตั้งแต่นั้นมาคือคำว่า “spirit” หรือ “สปิริต” ที่หมายถึง “จิตวิญญาณ” หรือ “น้ำจิตน้ำใจ”
Bralee
INT. San Francisco City Hall – DAYKris and Sandy stand in front of Attorney General Kamala Harris,exchanging wedding vows
Bralee
 บ้างเห็นดวงตะวันบ้างเห็นควันโขมงบ้างยินปืนลั่นโป้ง
Bralee
           หลายปีผ่านไปกับการศึกษาแพงลิ่ว           ท้า
Bralee
ตัวฉัน/สีสันแห่งชีวิตตัวฉัน...
Bralee
ขึ้นชื่อว่า “โจทย์” ย่อมหมายถึงการต้องหาคำตอบบางอย่าง
Bralee
What seemed to be a heavenly day for me, after I’d randomly donated my Thai bahts, turned out quite the opposite as I caug
Bralee
วัยหนุ่มสาวนั้นแสนพิสุทธิ์สดชื่น เสมือน "sweet bird of youth" แต่ก็แสนสั้น เปราะบาง เมื่อถึงเวลาก็โผบินลับหายไป หรืออาจถูกพรากไปอย่างง่ายดายด้วยกระสุนปืนไม่กี่นัด หรือภายในไม่กี่ชั่วขณะแห่งความสิ้นหวัง ผู้เขียนเป็นเยาวชนคนหนึ่งจึงขอนำเหตุการณ์สะเทือนใจช่วงต้นปี 2012