INT. San Francisco City Hall – DAY
Kris and Sandy stand in front of Attorney General Kamala Harris,
exchanging wedding vows
ATTORNEY KAMALA
Today, we witness not only the joining of Kris and Sandy
but the realization of their dream: marriage.
Do you, Kris, take Sandy to be your lawfully wedded wife,
to love and cherish from this day forward?
KRIS
I do.
ATTORNEY KAMALA
And do you, Sandy, take Kris
to be your lawfully wedded wife,
to love and cherish from this day forward?
SANDY
I do.
บนสังเวียนการต่อสู้เพื่อขอแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญศาลสูงแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ค.ศ.2008 มีฝ่ายหนึ่งนำทีมโดยนักกฎหมายมือเก๋าและโจทก์คู่รักสองคู่ ผู้เป็นตัวแทนผู้ต้องการยกเลิก Proposition 8 กับอีกฝ่ายคือทีมของผู้คัดค้านการยกเลิกญัตตินี้ ด้วยข้อบังคับตัวบทฯ ที่ว่าการจดทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นจำกัดไว้เฉพาะคู่รักชาย-หญิง กฎหมายนี้จึงไม่สามารถให้อำนาจ (legalize) การสมรสกลับคืนมาได้
แม้คำตัดสินของศาลสูงแคลิฟอร์เนียก่อนหน้านั้นจะทำให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตามการลงประชามติเสียงข้างมากของประชาชนในรัฐ ทว่าการลงคะแนนเสียงครั้งหลังในปีเดียวกันก็ทำให้ Proposition 8 กลับมามีผลบังคับใช้ดังเดิม ซึ่งทำให้การสมรสตามกฎหมายของเกย์/เลสเบี้ยนหลายคู่ในแคลิฟอร์เนียกลายเป็นโมฆะ
The Case Against 8 ภาพยนตร์เชิงสารคดีโดย Ben Cotner และ Ryan White จึงนำเสนอกระบวนการการต่อสู้ทางกฎหมายครั้งนั้นเพื่อเรียกร้องความเสมอภาคทางกฎหมายให้คู่สมรสเพศเดียวกันได้รับสิทธิเสรีภาพในการสมรสตามกฎหมาย โดยโฟกัสอย่างรวบรัดไปยังมุมมองของฝ่ายโจทก์ กระบวนการ และแนวคิดเบื้องหลังของ “แคมเปญระดมพล” โดยทีมกฎหมายและกลุ่มสนับสนุน LGBTQ ในระยะเวลากว่าสี่ปี
ความน่าสนใจของ The Case Against 8 ในการทำหน้าที่เป็น “แคมเปญ” ต่อ “ผู้ชมนอกศาล” ที่ไม่เน้นขาย “เลิฟซีน” ระหว่างคู่รักเพศเดียวกันเหมือนงานภาพยนตร์อื่นๆ คือการถ่ายทอด “ความจริง” ของชาวเกย์/เลสเบี้ยนผ่าน “เคมี” ของตัวละครหลักซึ่งเป็นบุคคลจริง ได้แก่ สองนักกฎหมาย Theodore B. “Ted” Olson และ David Boies ที่ร่วมทีมกับ American Foundation for Equal Rights (AFER) ในการยกเลิกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้ โดยเลือกคู่รักสองคู่ Kristin Perry กับ Sandra Stier และ Jeffrey Zarrillo กับ Paul Katami
นอกจากลูกล่อลูกชนของทีมกฎหมายทั้งสองฝั่งและการใช้สื่อต่างๆ ในประเด็นดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ต่อคำแถลงของฝ่ายตน ภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทว่าเป็นสาระสำคัญอันสะท้อนความเป็นปุถุชนของคู่รักทั้งสองคู่ขนานกันไป สลับกับอารมณ์ขันที่วางไว้อย่างพอดีให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้มีเสน่ห์ยิ่งขึ้น
โดยในบ้านของคริสกับแซนดี้ที่มีลูกติดฝ่ายละสองคน โดยพี่ชายน้องชายทั้งสี่คนต่างปรับตัวเข้าหากันได้ดี ต่างได้เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของชีวิต นั่นคือได้เข้าพิธีจบการศึกษาระดับมัธยมและเป็นสักขีพยานในการแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายของผู้ปกครองของตน ไม่ต่างจาก “ชีวิตสามัญ” ของครอบครัว ใน The Kids Are All Right (2010) ที่สะท้อนความสัมพันธ์ของลูกชาย-ลูกสาวกับแม่สองคน
ส่วนเจฟฟ์และพอล ภาพยนตร์เลือกนำเสนอการยอมรับความสัมพันธ์ของทั้งคู่จากครอบครัวฝั่งของเจฟฟ์เป็นหลัก เมื่อพ่อแม่ของเขาปลื้มและมั่นใจในความสุขของลูกชายกับคนรัก กล่าวอีกแง่ทั้งสองเป็นคู่รักเพศเดียวกันที่ได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างและมีวิถีชีวิตปกติที่ไม่ต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม
คู่รักทั้งสองคู่จึงเป็นตัวแทนของหน่วยครอบครัวที่มีความเข้มแข็ง เปิดกว้าง เห็นอกเห็นใจกันและกัน รวมทั้งความคาดหวังในชีวิตที่ไม่ต่างจากครอบครัวพ่อแม่ลูกทั่วไป
อาจถือเป็นความสำเร็จของ The Case ในการเข้าถึงผู้ชมที่ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน สนับสนุนใครหรือแม้แต่ผู้ชม lgbt เอง ผ่านการสื่อความหมายว่า “พวกเราก็สามารถสร้างรากฐานครอบครัวที่เข้มแข็งได้ไม่ต่างจากพวกคุณ”
ที่นอกจากจะนำ “ผู้ชมนอกศาล” ไปสัมผัสกับโลกของคู่รักอย่างใกล้ชิดแล้ว The Case ยังพาผู้ชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการ “ชั่งน้ำหนัก” ต่อหน้าศาล (libra) โดยมี “วัตถุพยาน” คือความรัก-ความสัมพันธ์ ใช้ต่อรองเพื่อขจัดข้อจำกัดและอคติทางกฎหมายที่กีดกันสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน
รวมไปถึงการลิดรอน/ละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเลือกปฏิบัติในหลายๆ ระดับของสังคม
แล้วหันมาเชิดชูความเสมอภาคและอนาคตที่เป็นไปได้ของความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงทางสังคม/วัฒนธรรมอเมริกันด้วยการ “เปิดใจ” ทางกฎหมาย
แต่แน่นอนว่า “ความรัก” เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถใช้ขจัด “ความเกลียด” ได้เสมอไป บางทีจึงจำเป็นต้องมีการอดทนอดกลั้น (tolerance) ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง ความอดทนอดกลั้นเองก็ควรต้องแปรไปเป็นความเข้าใจและยอมรับ มากกว่าจะเป็นการเก็บกดความเกลียดไว้จนปะทุออกมา
ฟุตเวิร์คของทีมกฎหมายและคู่รักทั้งสองคู่นี้จึงมิได้จำกัดอยู่เพียงการใช้สื่อรูปแบบต่างๆ เน้นให้เห็นความปกติธรรมดาของความรัก–ความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันว่ามีไม่ต่างจากคู่รักชายหญิง หรือแม้แต่คู่รักต่างชาติทั่วไปที่เคยฝ่าฟันอุปสรรคทางสังคมและกฎหมายจนประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่ยังอยู่ที่การมี “ดรีมทีม” เป็นที่ปรึกษาด้านการเมือง รวมถึงขบวนการเคลื่อนไหวสำคัญๆ ที่เคยมีมา และบทบาทที่โดดเด่นของเกย์-เลสเบี้ยน ในหลายสาขาอาชีพ มาช่วยแสดงพลังการต่อรอง จูงใจ โน้มน้าวกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและกลุ่มที่เข้าขั้นเกลียดชัง
และหมัดหนักของฝ่ายเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศก็อยู่ที่ “ทนายนักชก” ต่างอุดมการณ์สองคน ได้แก่ Theodore B. “Ted” Olson ผู้อยู่ฝั่งอนุรักษ์นิยมและเป็นรีพับลิกัน เคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการค้านแทนประธานาธิบดีบุชผู้ลูก
ในขณะที่ David Boies ทนายฝ่ายเสรีนิยมเดโมแครตและเป็นผู้ค้านแทนอัล กอร์ ในคดี Bush v. Gore ซึ่งสีสันของการหันมาจับมือกันเพื่อนำทัพต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในห้วงเวลาที่บารัค โอบามา ตัวแทนจากเดโมแครตได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ จึงเป็นความท้าทายและยอกย้อนอยู่ในที
เป็นความยอกย้อนที่ไม่เพียงหมายถึง ตัวแทนกฎหมายทั้งสองตระหนักถึงความสำคัญของความเสมอภาคในการสมรสระหว่างคนสองคนโดยไม่เกี่ยงเพศ แต่ยังเป็นความตระหนักว่า “เสรีภาพ” ตามบทบัญญัติฯ ใหม่จะทำให้ศาลสูงฯ หันมาปรับทิศทางของรัฐธรรมนูญตามความเป็นจริง
นั่นคือกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ สั่งสมมาหลายทศวรรษ และเพื่อให้อเมริกาในฐานะประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยยิ่งเปิดกว้างมากขึ้นอีก ด้วยการมีกฎหมายที่ “แคร์” และ “แฟร์” ต่อประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้ในแง่ของวิชาชีพแล้วจะยังหมายถึง โอลสันและบอยส์ก็มุ่งเป้าไปที่ชัยชนะในการพิจารณาคดีด้วยชั้นเชิงการอภิปรายคดี เพื่อสุดท้ายผลลัพธ์ยังคงสอดคล้องกับอุดมการณ์ของตนได้อย่างดีนั่นเอง
ทั้งนี้ เหตุผลประการหนึ่งที่เท็ด โอลสัน ใช้การันตีแววแห่งชัยชนะนั้นก็คือ แนวคิดอนุรักษ์นิยม ที่มองว่ากรอบการสมรส ไม่ว่าจะระหว่างคนเพศใด ย่อมหมายถึงตัวแทนของหน่วยครอบครัวที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม เข้ามายังประโยชน์ให้ชาติอยู่ดี—ไม่ดีหรอกหรือ?
TED OLSON
Marriage is a conservative value.
Two people, who love one another, who want to come together
and live in a stable relationship, to become part of a family,
and part of a neighborhood, and part of our economy.
We should want people to come together in marriage.
แม้ในตอนต้นของการเตรียมทำคดี The Case ได้เน้นความตึงเครียดจากการเผชิญกับอุปสรรคจากกลุ่ม lgbt เอง ที่ไม่อาจจะไว้ใจโอลสัน —ไม่อยากฝากอนาคตกฎหมายเรื่องชีวิต(สมรส) ไว้ในมือของทนายที่ไม่น่าจะ “เชียร์” การรักร่วมเพศ (homosexuality) ในฐานะพฤติกรรมนอกกรอบรักต่างเพศ แต่สุดท้าย ภาพยนตร์ก็ทำให้เห็นว่าสังคมที่ซับซ้อนอย่างอเมริกานั้นก็มีการรับมือของ “ความเกลียดซ้อนความเกลียด” ด้วยชั้นเชิงทางวุฒิภาวะและไหวพริบ
นั่นคือ การใช้ประโยชน์จากอุดมการณ์ของฝ่ายต่างๆ ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ตนมากที่สุด มีพลังมากที่สุดเพื่อมา “เสริมทัพ” ด้วยเหตุผลพื้นฐานว่า ในเมื่อความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันพัฒนาไปไม่ต่างจากคู่รักเพศตรงข้าม จนเข้าสู่ขั้นตอนที่มีกฎหมายมาเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นเรื่องการจดทะเบียนสมรสและการได้รับสิทธิอื่นๆ ที่ผูกติดมาย่อมมีความจำเป็นเท่ากับคู่สมรสต่างเพศ/ต่างชาติ ด้วยเช่นกัน
หากไม่มองว่า “การแต่งงาน” ของคนรักเพศเดียวกันไม่ต่างจากการจำกัดตนในกรอบค่านิยมวิถีต่างเพศ (Heteronormativity) สังคมก็ควรต้องมีวุฒิภาวะทางกฎหมายเพื่อวางกรอบทางเลือกให้ประชาชนมากที่สุดอยู่ดี
The Case Against Hate: ภาพของการเมืองและสื่ออเมริกัน
“Civil rights battles are won because you fight them.”
Martin Luther King, Jr.
แม้จะชัดเจนว่าภาพยนตร์ “เลือกข้าง” ไหน แต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับเป้าหมายที่แท้จริงของการต่อสู้กับอำนาจกฎหมายแบบเดิม คือการ “เติบโต” เพื่อ “ไปต่อ” อันเป็นหัวใจหลักของแก่นการปกครองระบอบประชาธิปไตย
เพราะหากไม่ยอมให้มนุษย์ที่แตกต่างกันทางความเชื่อ เพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ ได้มีที่ยืนร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียมหรือมีเสรีภาพทั้งทางปฏิบัติและทางกฎหมาย สังคมนั้นก็ส่อแววถึงทางตัน และยิ่งนานวันอาจกลายเป็นความรุนแรงทวีคูณกว่าที่คาดคิด
สิทธิพลเมืองกับสิทธิประโยชน์ที่ผูกติดมา จึงควรเป็นสมบัติของประชาชนทุกคน เท่าที่กลไกทางกฎหมายจะสามารถปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบของสังคม
ความโปรยของหนังที่ว่า “ขอ...ให้เราเท่ากัน” จึงน่าจะเหมาะสมที่สุด ในแง่ “ขอให้มี” กฎหมายที่กำหนดไว้แล้วเพื่อรองรับการบังเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคม
มิใช่เป็นการที่ประชาชน “ขอ” รัฐถึงจะ “มีให้” ในลักษณะของผู้มีอำนาจหยิบยื่นสิทธิให้พลเมือง ทั้งๆ ที่ควรเป็นการสร้างไว้ให้ทุกฝ่ายตั้งแต่ต้น
รวมทั้งความหมายในระดับลึกกว่านั้น คือการก้าวไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงอันเป็นหัวใจของหลักการในระบอบประชาธิปไตย
ผู้เลือกข้าง “ความรัก” ที่หมายถึงการเปิดใจต่อสิ่งใหม่ๆ ต่อสิ่งที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ย่อมหันหน้าเข้ากับกระแสประชาธิปไตยที่เชิดชูความเท่าเทียมไปพร้อมๆ กัน
ผู้เลือกข้าง “ความเกลียดชัง” ที่หมายถึงการกีดกัน “การเติบโต” ของกลุ่ม lgbt ทว่า ยังหมายถึงได้กีดกันตนเองออกห่างจาก “กระแสหลัก” กระแสนี้ไปด้วย
จุดนี้เองที่เป็นความชาญฉลาดของผู้ครอบครองสื่อ-ภาพยนตร์ เช่น ทีมสื่อของกลุ่ม lgbt ที่เลือกอยู่ข้าง “ความรัก” และโดยอัตโนมัติก็ได้ผลักกลุ่มต่อต้านไปอยู่ข้าง “ความเกลียดชัง”
ATTORNEY TED BOUTROUS
...Chuck Cooper was arguing his motion to dismiss the case,
and Judge Walker asked him, ‘What harm would occur
if gay people are allowed to marry?’
... And, there was this silence...
and Chuck finally said, ‘I don’t know.’
The Case Against 8 จะเป็น “agenda” หรือ “propaganda” หรือเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่ากันย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองของสังคมและความต้องการของผู้คนทั้งกระแสหลักและกระแสรอง แน่นอนว่าผู้ที่เข้าข้างอุดมการณ์ของ The Case ย่อมไม่ต้องการผลักประเด็นความเท่าเทียมทางเพศไปด้านลบ ผู้ที่เข้าข้างอุดมการณ์ของ The Case ย่อมอยากเห็นการขยายกรอบเพดานกฎหมาย เพื่อคุ้มครองและเกื้อกูลวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลายให้ “เสมอหน้า” มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เท่าที่กลไกกฎหมายและกลไกความคิดของสังคม วัฒนธรรม ค่านิยมฯ จะสนับสนุนผู้คนที่ “เหลื่อมล้ำ” อยู่แล้วให้ไม่ถูกกีดกัน กดขี่ หรือก้าวก่าย มากไปกว่าเดิม หรือกลายเป็นการลิดรอนสิทธิโดยทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
ผู้ที่เข้าข้างอุดมการณ์ของ The Case อาจเห็นว่านี่คือ “การเมือง” ของความใจกว้างที่มีเหตุผล มี “น้ำหนัก” มากพอที่จะ “ถ่วงดุล” อำนาจของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือแม้แต่ของคนที่เกลียดชัง คอยโจมตีด้วยวาจา (Hate speech) หรือความได้เปรียบทางกฎหมายและสถานะทางสังคม
แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นภาพยนตร์เชิงสารคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็น “หนังในสังคมประชาธิปไตย”—ซึ่งตามธรรมชาติย่อมไม่อาจเลี่ยงความเป็นไปได้ในการ “ครอบงำ” สังคมผ่านสื่อมวลชน—ก็ไม่จำเป็นต้อง “เป็นกลาง” เสมอไป ในเมื่อความคิดจิตใจ (predisposition) ของปัจเจก-ประชาชน ย่อมแยกแยะให้เห็น “พลัง” ของความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ตรงข้ามกับสภาพที่ถูกกีดกัน-เกลียดชัง
ในกรณีของ The Case ที่เป็นที่ทราบกันตามความจริงว่าสุดท้ายกลุ่มผู้ต้องการให้ยกเลิก Prop 8 ประสบความสำเร็จเมื่อศาลตัดสินอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2012 ส่งผลให้มีการผ่านกฎหมายการสมรสของเพศเดียวกันในหลายๆ รัฐต่อมาจนเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติ
ภาพยนตร์เชิงสารคดีเรื่องนี้จึงต้องอาศัยการสร้างอารมณ์ความรู้สึกเสมือนละคร (dramatization) ของเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ให้ดูน่าเชื่อถือ มีน้ำหนักมากที่สุด
กลวิธีของการละครที่เน้นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทว่าเป็นจังหวะสำคัญในบทภาพยนตร์ เช่น ความน่าตื่นเต้นและมุ่งมั่นของทีมกฎหมายที่ต้องการสู้คดีชนะ การผนึกกำลังของกลุ่มสนับสนุนที่มาร่วมแคมเปญคัดค้าน Prop 8 ปฏิกิริยาของแต่ละคนในช่วงเวลาที่รอลุ้นฟังคำตัดสินของศาล ไปจนถึงนาทีที่คู่รักทั้งสองคู่ได้จดทะเบียนสมรสอย่างเป็นทางการ
การนำเสนอภาพ “ชัยชนะ” ครั้งสำคัญใน The Case หรือแม้แต่กรณีของ Edith Windsor ที่ฟ้องกลับจนชนะรัฐบาลกลางในคดี DOMA (Defense of Marriage Act) ซึ่งปฏิเสธไม่ให้สิทธิประโยชน์แก่คู่สมรสเพศเดียวกัน สะท้อนนัยสำคัญเรื่องการปรับแก้กฎหมายตาม “มติส่วนใหญ่” แต่อาจขัดแย้งกับความทิศทางความต้องการของ “คนส่วนใหญ่” ที่มองว่ากฎหมายที่ปิดกั้นไม่ควรเป็นผลบังคับใช้ (unconstitutional) การต่อสู้ช่วงชิงความยุติธรรมของผู้ที่อยู่ตรงข้ามการกีดกันสิทธิฯ จึงมีอิทธิพลต่อสังคมวงกว้างที่ไม่ได้จำกัดเพียงในสหรัฐฯ
และไม่น่าแปลกใจหากตัวภาพยนตร์เองจะ “ชนะใจ” ผู้ชมที่ไม่เห็นด้วยเพิ่มมากขึ้น
Dustin Lance Black และสารจาก “8”
EXT. U.S. District Court for the Northern District of California – DAY
DUSTIN
We can no longer wait for one more young person
to be born into this world, to be born into this country being told that
they’re less and that their country consider them second-class citizens.
We cannot wait for one more of these young people
to hear those words and to take his or her own life,
or to have it tragically taken from them.
Dustin Lance Black หนึ่งในคณะกรรมการของ American Foundation for Equal Rights ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Milk (2008) เรื่องของ Harvey Milk นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชาวเกย์ ยังได้เขียนบทละครเวทีต่อบทปากเปล่าชื่อ “8” (2011) เล่าย้อนถึงบทสรุปคดี Perry v. Schwarzenegger (Hollingsworth v. Perry) ปี 2011 เมื่อคำพิพากษาของศาลสูงสหรัฐฯ ตัดสินว่าประชามติของแคลิฟอร์เนียในปี 2008 ที่ต้องการให้มี Prop 8 นั้นถือว่าขัดกับหลักรัฐธรรมนูญของประเทศ ทั้งนี้การถ่ายทอดการพิจารณาคดีครั้งนั้นถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกอากาศ บทละคร “8” จึงประกอบขึ้นจากคำแถลงในศาลที่สื่ออื่นๆ นำมาเผยแพร่
และ 8 the Play นี้ก็มีนัยสำคัญในฐานะ "ตัวบท" ทางวัฒนธรรมต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงว่าตราชั่งของสังคมอเมริกันต้องการ "เอียง" ไปสู่ด้านใด
The Case Against 8 บอกเราว่าการ “ปรับเปลี่ยน” หรือแม้แต่ “ยกเลิก” ข้อกฎหมายหรือแนวคิดหนึ่งๆ ที่ตอกตรึงสิทธิประโยชน์บางอย่างไว้จำกัดแก่คนบางส่วนมานานแสนนานไม่ต่างจากคัมภีร์ไบเบิล อาจต้องอาศัยพลังของสังคมครึ่งหนึ่ง ช่วย “ปลดล็อค” ความเหลื่อมล้ำในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการเริ่ม “มองเห็น” ปรากฏการณ์จริงในสังคม และอีกครึ่งที่เหลือก็พร้อมจะเลือกความเท่าเทียม มากกว่าความเหลื่อมล้ำ ในเมื่อ “การแคร์คน” นำไปสู่ “ความแฟร์ต่อคน”
มิติการเมืองอเมริกันในสารคดีนี้ จึงบอกว่าสหรัฐฯ ได้หันหัวเรือรัฐธรรมนูญเพื่อสิทธิมนุษยชนไปทางใด
ทั้งสะท้อนให้เห็นพลังของกฎหมาย พลังของการใช้ข้อกฎหมายหักล้าง โต้แย้ง โน้มน้าวขั้วอื่นๆ ให้คล้อยตาม และสะท้อนให้เห็นวุฒิภาวะของฝ่ายต่างๆ ในการเปิดใจต่อปรากฏการณ์สังคม
การต่อสู้ตัวบทกฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพขึ้นพื้นฐานนี้จึงเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกกับการต่อสู้นอกศาล คือการต่อสู้กับความเกลียดชัง (hate) ของคนในสังคมให้ได้มากที่สุด
หาก The Case เป็นการขึ้นชกระหว่าง ประชาธิปไตยมากกว่า vs. ประชาธิปไตยน้อยกว่า หรือ ความรัก/การเปิดกว้าง vs. ความเกลียดชัง/การกีดกัน ก็เดาได้ไม่ยากว่าใครจะ “โดนน็อค” ในยกสุดท้าย
DAVID
I’ve always loved the line by Solzhenitsyn, he said,
‘The line separating good and evil
does not run between you and me,
but down in the middle of every human heart’.
และถึงแม้ The Case Against 8 จะสะท้อนวุฒิภาวะของแนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศมหาอำนาจผ่านสื่อภาพยนตร์ได้อย่างทรงพลัง จนผู้เขียนยังต้องจำนนต่อเหตุผลทางกฎหมายของการยกเลิก Prop 8 อย่างดุษฎี ก็มิได้หมายความว่าประเทศที่กำลังพัฒนาปฏิบัติการทางประชาธิปไตยอย่างขลุกขลัก ทุลักทุเล จะไม่สามารถได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านสิทธิมนุษยชน-พลเมืองเช่นนั้นบ้าง
กฎหมายเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทยจำนวนมาก รวมทั้งการผลักดันร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตก็นับเป็นก้าวสำคัญทั้งในแง่การก้าวเข้าใกล้ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นับเป็นการมองเห็น “ประชาชนเป็นใหญ่” และมองเห็นทิศทางของประเทศที่ต้องการวุฒิภาวะมากขึ้นในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง
โดยไม่อาศัยอำนาจอื่นใดที่อยู่นอกกฎหมายมาแทรกแซงหรือเบียดบัง “ความแฟร์” ที่ควรบังเกิดกับความแตกต่างหลากหลายในสังคม
ในยุคหนึ่ง กระแสแนวคิดหลักอาจเป็นแนวคิดที่จำกัดเฉพาะแต่คู่รักชายหญิงและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่ม lgbt ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันกระแสนั้นอาจเริ่มเปลี่ยนทิศทาง เมื่อสังคมหนึ่งๆ เริ่มกระจายความเสมอภาคทางการเมืองให้แก่กลุ่มต่างๆ ที่มีมากกว่าหนึ่ง เปิดพื้นที่มากขึ้นสำหรับการจัดสรรผลประโยชน์ และมีวุฒิภาวะร่วมที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง วิพากษ์วิจารณ์ ต่อสู้กันตามกติกาเพื่อแก้ไขสภาพสังคมหรือกฎหมายที่ปิดกั้น
เมื่อนั้นสังคมระบอบประชาธิปไตยก็ยิ่งจะเปิดกว้างและเติบโตต่อไป.
♦