Skip to main content

หลังจากเคยเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งกับความหมายของเพลงทรงพลังอย่าง Oblivion ของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อคอังกฤษ และบัลลาดกินใจอย่าง Afire Love ของ Ed Sheeran ที่ไม่เพียงเล่าถึงการสูญเสียความทรงจำ แต่ยังรวมถึงการสูญเสียผู้เป็นที่รัก จึงทำให้ฉุกคิดว่าการสูญเสียความทรงจำนั้นแทบไม่ต่างจากความตาย
    ในปีนี้ ภาพยนตร์เรื่อง Still Alice ที่มีแรงดึงดูดคือรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำยอดเยี่ยม พ่วงการเข้าชิงออสการ์สาขาเดียวกัน ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ถ่ายทอดความซาบซึ้งเดียวกันนั้นผ่านโทนสีอบอุ่นและการมองโลกในแง่บวก ด้วยเรื่องของตัวละครเอกที่ต้องต่อสู้กับภาวะความจำเสื่อม  รวมทั้งความเจ็บปวดร่วมกันของตัวละครรอบข้าง  โดยมีสาระสำคัญคือการสูญเสียความทรงจำของคนๆ หนึ่ง ย่อมเป็นการสูญเสียที่เจ็บปวดของของคนอื่นๆ ด้วย
    เนื่องจากความทรงจำของคนรู้จักที่เรารักใคร่ผูกพัน ทำให้ “ความทรงจำร่วมกัน” กับเราสมบูรณ์  
    แต่เมื่อใดที่ความทรงจำของอีกฝ่ายรางเลือนหรือหายไป  “ความทรงจำร่วม” ก็ไม่เท่ากัน  การสื่อความหมายผ่านคำพูดก็ไร้ประโยชน์

อลิซ ฮาวแลนด์ (Julianne Moore) ผู้เริ่มเข้าสู่ภาวะอัลไซเมอร์ทั้งๆ ที่อายุต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผู้เป็นโรคฯ และยังเป็นถึงอาจารย์สอนภาษาศาสตร์ มีผลงานวิชาการเป็นที่ยอมรับกว้างขวาง ต้องทนเจ็บปวดในการพยายาม “ต่อจิกซอว์” ภาพความสำเร็จของวิชาชีพและชีวิตส่วนตัวที่เริ่มสะเปะสะปะให้ยังคงเป็นรูปเป็นร่างไว้มากที่สุดเพื่อรักษาความหมายของตัวตนเอาไว้
    ซึ่งหากจิกซอว์ความทรงจำของผู้คนทั้งหลายประกอบกันเป็นภาพสังคมเมือง อลิซก็เป็น “จิกซอว์” ที่ภาพเริ่มจางหาย รูปทรงเริ่มไร้สันมุมที่คม จึงไม่อาจจะต่อเข้ากับภาพทั้งภาพได้อีกต่อไป ตึกของคณะที่เธอสอนหนังสือเธอเองยังจำไม่ได้ บริเวณแคมปัสที่เธอวิ่งออกกำลังกายเสมอๆ ได้กลายเป็นที่ที่เธอหลงทาง แปลกถิ่นและแปลกแยก เพียงเพราะ “ความทรงจำ” ของเธอที่ทำให้เธอเป็นส่วนหนึ่งของภาพนั้นเริ่มไม่เหมือนเดิม
    Still Alice ไม่เพียงค่อยๆ สร้างความสะเทือนใจผ่านปฏิกิริยาของคนรอบข้างที่สะท้อนทัศนคติและท่าทีของสังคมอเมริกันที่มีต่ออาการความจำเสื่อมได้อย่างแยบคาย แต่ยังแทรกอารมณ์ขันอย่างหัวเราะไม่ออกเพื่อตอกย้ำความน่าหัวร่อของชีวิตมนุษย์ที่ไม่มีวันเอาชนะความสูญเสียได้
    หนึ่งในนั้นคือเมื่ออลิซบังเอิญเปิดไฟล์คลิปวิดีโอที่มีตัวเธอเองบอกให้เธอกินยานอนหลับที่เก็บไว้ ซึ่งเธอต้องขึ้นลงบันไดหลายหนเพราะกลับจำไม่ได้ว่าจะทำอะไร จนในที่สุดเธอต้องใช้วิธียกโน้ตบุ้คติดตัวไป และฉากนี้ยังสะท้อนความย้อนแย้งในข้อดีข้อเสียของเทคโนโลยี เมื่อตัวละครหวังจะใช้ประโยชน์จากการบันทึกข้อมูลถาวรเพื่อรับมือกับความทุพพลภาพส่วนตัว แต่มันเกือบย้อนกลับมาฆ่าเธอ

    ในแง่ของพล็อต “ภาพ” ของอลิซที่กำลังบอกตัวอลิซให้ทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ โดยเจ้าตัว “ลืมไปแล้ว” ว่าวิดีโอนี้มีไว้เพื่อการใด และการอยู่ “ตามลำพัง” ของอลิซ ตามที่เธอเชื่อฟัง “ตัวของตัวเอง” จึงเป็นไคลแม็กซ์สำคัญที่บอกอาการน่าตระหนกของตัวละคร
    กระนั้น Still Alice ก็ดำเนินไปตามครรลองของพล็อตที่ให้โรคความจำเสื่อมเริ่มทำร้ายความสามารถ “ฟังก์ชั่น” ในสังคมของตัวเอก เริ่มทำร้ายจิตใจของตัวละครอื่นๆ ในครอบครัวเพื่อจะให้เหตุผลว่าภาระหน้าที่ของพวกเขาทำให้ไม่อาจช่วยเหลืออลิซได้ตลอดเวลา รวมถึงการให้ลูกๆ อึดอัดและขัดใจกันเรื่อง “เกรงใจแม่” หรือ “จริงใจกับแม่” ก็เป็นการตอกย้ำความโดดเดี่ยวของอลิซ และสำรวจความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะลงเอยเช่นไรบ้าง
    ความพิเศษจึงอยู่ที่รายละเอียดต่างๆ ที่ถูกบรรจงวางประกอบไว้เพื่ออธิบาย “ความเป็นไปได้” ในการเยียวยาไม่เพียงตัวละครผู้เป็นโรคฯ แต่ยังเป็นการเยียวยาตัวละครรอบข้างที่กลุ้มใจเรื่องจะต้องเสีย “อลิซ” ที่พวกตนรู้จัก และในขณะเดียวกันก็เยียวยาจิตใจของผู้ชมที่มีประสบการณ์ตรงหรือผู้ชมทั่วไปได้ในระดับหนึ่ง
    และ “ความเป็นไปได้” ที่จะใช้เยียวยาโรคสมองเสื่อมก็คือ “ใช้หัวใจ” เห็นได้จากหลายฉากไม่ว่าจะเป็นความอดทนและความอ่อนโยนของจอห์นผู้เป็นสามี (Alec Baldwin) ที่(จำต้อง)ตื่นขึ้นมารับฟังปัญหาหรือต้องปลอบโยนเธอทั้งในยามกลางคืน หรือยามกลางวันที่คอยดูแลความเป็นอยู่ปกติที่เริ่มไม่ปกติก่อนเวลาอันควรของภรรยา  และลูกชายหญิงที่เริ่มเห็นใจและเป็นกำลังใจให้เธอ นอกจากนี้ ตัวละครลูกคนเล็กคือ ลีเดีย (Kristen Stewart) ยังเป็นตัวแทนของการรับมือกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในแง่ของความเข้าใจ การให้อภัย และการปล่อยวาง

    หนังได้ให้ลีเดียเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญที่เริ่มต้นเรื่องเป็นฝ่ายเหินห่างกับอลิซมากที่สุด กระทั่งสุดท้ายกลายเป็นคนที่ยอมรับสภาพความเป็นจริงทั้งของแม่และของตนเอง แล้วเลือกกลับมาอยู่ใกล้ชิดอลิซมากที่สุด สวนทางกับผู้เป็นพ่อที่ตลอดต้นเรื่องคอยเป็นห่วงเป็นใยอลิซ แม้สุดท้ายจำต้องห่างจากภรรยาด้วยความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางอาชีพ
    ฉากที่ลีเดียอ่านส่วนหนึ่งจากบทละคร Angels in America โดย Tony Kushner ให้ผู้เป็นแม่ฟัง แม้อีกฝ่ายจะไม่รับรู้ความหมายจากสิ่งที่ได้ยิน แถมยังตอบลูกไปแบบส่งเดช  อีกนัยหนึ่งอาจเป็นเจตนาของหนังที่จะบอกคนที่ยังมีความจำดีอย่างลีเดียและผู้ชมว่าเมื่อไม่มีทางเลี่ยง ก็ต้องอยู่กับปัจจุบันอย่างปล่อยวาง ทำใจ ส่วนความสัมพันธ์ที่สร้างได้ลำบากกว่าเดิมคงจะทำให้เราทะนุถนอมมันมากขึ้น

    จึงกล่าวได้ว่า Still Alice สำรวจปฏิกิริยาการรับมือกับอัลไซเมอร์ได้ค่อนข้างรอบด้าน  ซึ่งความละเมียดอาจเทียบได้กับ Away From Her (2006) ที่ผู้กำกับ Sarah Polley เน้นสำรวจความสัมพันธ์ของสามี-ภรรยาได้อย่างน่าสนใจ แม้ว่าเรื่องแรกจะโดดเด่นด้วยการใช้กลวิธี “ระดม” ช่องทางสื่อสารที่หลากหลายไว้ในบทภาพยนตร์  ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านบทละคร (ที่ลิเดียพูดบนเวทีและอ่านให้ฟังต่อหน้า) จากคลิปวีดิโอที่อลิซบันทึกไว้ให้ตัวเองฟังในเวลาที่เหมาะสม รวมทั้ง “บทพูด” ที่อลิซอดทนเขียนด้วยตัวเองเพื่อสื่อสารกับ “ผู้ฟัง” ทั้งนอกและในภาพยนตร์ก่อนที่ความจำของเธอจะไม่ให้ความร่วมมือ
   
แต่ไม่ว่าจะใช้มุมมองหรือวิธีการใดพิจารณาเรื่องความสูญเสียความทรงจำที่สร้างความทรมานมากกว่าการสูญเสียสิ่งที่จับต้องได้ การตระหนักในคุณค่าของสิ่งที่บังเกิดตรงหน้าจึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะบรรเทาความกลัวกังวลจากการไม่สามารถครอบครอง ฉวยคว้าความหมายใดๆ ได้อีกต่อไป หรือแม้แต่การไม่สามารถสานต่อสายใยระหว่างกันและกันได้ดังเดิม

    แม้ว่าชีวิตที่ไร้ “ความจำ” อาจดูไร้ค่ากว่าชีวิตที่ยังดำเนินต่อไปได้ด้วยความรู้สึกนึกคิด สิ่งเดียวที่มีเหมือนกันจึงเป็น “ลมหายใจ” ที่บอกว่าคนๆ หนึ่งไม่ได้ตายจากไปจริงๆ
    หรือเราอาจทำได้ด้วยการหมั่นเตือนใจด้วยสุนทรพจน์ของอลิซที่ยกบทกวี “One Art” ของ Elizabeth Bishop ว่า “ศิลปะของการสูญเสียทำให้ชำนาญได้ไม่ยาก เพราะหลายสิ่งหลายอย่างดูจะมีแต่มุ่งมั่นสูญหายไป จนการสูญเสียเหล่านั้นหาใช่หายนะ”.

บล็อกของ Bralee

Bralee
ในยุคที่ความรักและความเกลียดชังของมนุษย์ดำเนินมาพร้อมกับวิทยาการต่างๆ รูปแบบทั้งสองชนิดนี้แม้ไม่จำเป็นต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามหรือเป็นสาเหตุของกันและกัน ก็ได้ปรากฏและแปลงโฉมมาอย่างซับซ้อน หลากหลาย จะมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นจะใช้อะไร วิธีการไหน เป็นเ
Bralee
หลังจากเคยเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งกับความหมายของเพลงทรงพลังอย่าง Oblivion ของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อคอังกฤษ และบัลลาดกินใจอย่าง Af
Bralee
สัปดาห์ที่ได้ชม Life Itself ผ่านไปนานแล้วแต่คำๆ หนึ่งที่ยังคงอยู่ในความคิดตั้งแต่นั้นมาคือคำว่า “spirit” หรือ “สปิริต” ที่หมายถึง “จิตวิญญาณ” หรือ “น้ำจิตน้ำใจ”
Bralee
INT. San Francisco City Hall – DAYKris and Sandy stand in front of Attorney General Kamala Harris,exchanging wedding vows
Bralee
 บ้างเห็นดวงตะวันบ้างเห็นควันโขมงบ้างยินปืนลั่นโป้ง
Bralee
           หลายปีผ่านไปกับการศึกษาแพงลิ่ว           ท้า
Bralee
ตัวฉัน/สีสันแห่งชีวิตตัวฉัน...
Bralee
ขึ้นชื่อว่า “โจทย์” ย่อมหมายถึงการต้องหาคำตอบบางอย่าง
Bralee
What seemed to be a heavenly day for me, after I’d randomly donated my Thai bahts, turned out quite the opposite as I caug
Bralee
วัยหนุ่มสาวนั้นแสนพิสุทธิ์สดชื่น เสมือน "sweet bird of youth" แต่ก็แสนสั้น เปราะบาง เมื่อถึงเวลาก็โผบินลับหายไป หรืออาจถูกพรากไปอย่างง่ายดายด้วยกระสุนปืนไม่กี่นัด หรือภายในไม่กี่ชั่วขณะแห่งความสิ้นหวัง ผู้เขียนเป็นเยาวชนคนหนึ่งจึงขอนำเหตุการณ์สะเทือนใจช่วงต้นปี 2012