Chit Phumisak
Where are you and where were you
Ever, anon, a son, a word man?
A bespectacled, innocuous, incredulous
politically receptacled, man of the masses
Singer of tropical troubadour tropes
Marxist man of the paddy fields
Son of smoke-filled valleys and trees,
Of farmers who lived off the land
And faceless Europhile servants
Who kissed their husbands off to work-
And wore the Ascot-costume creed
With decision, precision and incisive need.
Mixing with linguists from the delegation
That must have made your parents proud,
The scholarship that lit a fire and
Sent paradoxical smoke into Bangkok’s night
The city would never smell the same
A phoenix rising from agrarian ashes,
The angel’s tarnished with red smoke
Who would frame that frightful symmetry?
The military-forged manacles
Of the Occidental mind-the ideational
Rape of the Oriental heart,
The plight of a mutineered martyr,
To sojourn in the jungle’s night,
To which, with clear and opened ear,
The future heeds with distant fear.
©Wayne George Deakin
November 2013
จิตร ภูมิศักดิ์
สหายอยู่แห่งหนใด
ในกาลนั้นและในครานี้?
. . .
ลูกผู้ชายสายเลือดมาร์กซิสต์จากท้องนา
จากหุบห้วยที่คลุ้งควันเถ้าถ่านงานเกษตรกรรม
สู่เมืองฟ้าอมรและตักศิลาที่เต็มไปด้วยนักปรัชญา นักนิรุกติศาสตร์
กลุ่มหนุ่มสาวผู้ชาญฉลาด
ผู้ได้กลายเป็น “แพะ” และจำต้องตรากตรำ จรไพร
ในห้วงเวลาที่โซ่ตรวนทางการเมืองและแรงเสียดทานระดับชุมชน ชาติ และต่างชาติ
รัดรั้งรึงร่างเอาไว้
บาดเนื้อ ร้าวเข้าไปถึงกระดูก
. . .
แล้วสหายอยู่ ณ ที่ใด?
ตอบแบบคนยุคมิลเลนเนียล ที่ไม่ค่อยได้ยี่หระต่อความเคลื่อนไหวอื่นนอกจาก News Feed และ Notifications บนหน้าจอ คงต้องตอบว่า
“แหม..หาง่ายออก ก็กูเกิ้ลซี..”
ผู้เขียนบอกเพื่อนคนยุคเดียวกันเช่นนั้น และว่าให้ไปค้นหาคำสำคัญๆ ที่พอจะโยงไปถึงลูกผู้ชายและสุภาพบุรุษสยามที่ชื่อสมจิตร ภูมิศักดิ์ หรือ “จิตร ภูมิศักดิ์” ได้ตามสะดวก …
“สหายปรีชา” “ทีปกร” “สมสมัย ศรีศูทรพรรณ” “กวี ศรีสยาม”---ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับตัวตนของนักสู้ท่านนี้ ทั้งด้านความรุ่งโรจน์ทางปัญญาที่เป็นส่วนตัว และด้านการสังคม การเมืองการปกครองที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของจิตรเอง แน่นอนว่ามีให้อ่านและศึกษาค่อนข้างแพร่หลาย
“แหม...มีหลายตัวตนนะ บุคคลท่านนี้...” เพื่อนของผู้เขียนพูดแทรกขึ้น
กระนั้น ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ และแนวคิดของเขาคงจะไม่เกิดประโยชน์อันใด หากว่าเยาวชนรุ่นหลังๆ โดยเฉพาะคนวัย 15–30 ปี ที่แม้ไม่เคยรู้จักหรือร่วมสมัยหรือแม้แต่ได้อ่านงานของเขามาก่อน ไม่ได้ตั้งคำถามกันและกันบ่อยๆ ว่า “จะรักหรือจะรบ?”
เพราะในขณะนี้ ในยามที่บ้านเมือง “ระส่ำระสาย” ผู้เขียนจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะขอ “ปลุกผี” ทั้งชื่อเสียงเรียงนามและเรื่องราวของสุภาพบุรุษผู้นี้มานำเสนอใหม่
บทกวีข้างต้นได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษ และจากความยินดีของอาจารย์ที่เคารพของผู้เขียน ผู้สอนวรรณคดีอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (และอาศัยอยู่กับครอบครัวน่ารัก) ให้ได้นำมาเผยแพร่ นัยว่าเป็นมุมมองเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของนักวิชาการต่างชาติ (ที่ไม่ได้เป็น “celeb” เป็นเพียง “expat”) ที่พยายามรักเมืองไทยให้ได้เท่าๆ กับที่รักภรรยาของท่าน
แต่เรื่องของ “ความรัก” จะวัดได้อย่างไรกัน?
กระนั้น ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ยังคงเป็นตัวอย่างของ “ความรัก” ที่ปัจเจกเช่นเขาในฐานะเยาวชนหรือแม้แต่ในฐานะพลเมือง มีต่อชาติ การศึกษา และที่สำคัญ มีเพื่อการต่อสู้แบบรักสันติ
และการใช้ “ปากกาเป็นอาวุธ” ของจิตรเองอาจเชื่อมโยงได้กับนามปากกา “ทีปกร” หรือ “ผู้ถือดวงประทีป” ที่มีแรงบันดาลใจมาจากบทกวีชื่อ “ความสว่างและความมืด” (Les Rayons et les Ombres, I, 1893) โดยนักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศส Victor Hugo
บทกวีของอาจารย์ชาวอังกฤษข้างต้นเอ่ยถึง “จิตร ภูมิศักดิ์” ด้วยจินตภาพที่น่าสนใจ ทั้งยังผสมผสานบริบทสังคมที่ครอบคลุมบรรยากาศจากในชนบท, วิถีชีวิตในต่างจังหวัด, เมืองกรุง, มุมมองเสียดสีและชื่นชมบุคคลและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือที่จะพรรณนาตัวจิตรได้ผ่านแนวคิดแบบข้ามวัฒนธรรม
ผลงานอื่นๆ ของจิตรที่ตามหาอ่านได้ในสื่อต่างๆ ที่จะแนะนำไว้ที่นี้ อาทิ บทเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา”, “เปิบข้าว” (กาพย์ยานี 11), โฉมหน้าศักดินาไทย (2500, 2517), บทกวีนามปากกา “ศรีนาคร” ถอดความจากผลงานของ Avetik Isahakyan (1875–1957) กวีชาวอาร์เมเนียน, บทกวีที่ใช้นามปากกา “ศิลป์ พิทักษ์ชน” ถอดความจากข้อเขียนของ “หลู่ซิ่น” (Lu Xun) นักประพันธ์จีนยุคปฏิวัติวัฒนธรรมเจ้าของผลงานเรื่อง The True Story of Ah Q (1921–22) นอกจากนี้ จิตรยังแต่งโคลงและร่ายเกี่ยวกับกรุงเทพมหานครไว้จำนวนหนึ่ง ทว่า ผลงานชิ้นสำคัญที่เขาค้นคว้าและเขียนขึ้นขณะถูกจองจำในที่คุมขังช่วง พ.ศ.2501–2507 ได้แก่ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ (2519)
ผลงานเกี่ยวกับจิตรอีกชิ้นที่น่าอ่าน ซึ่งรจนาโดยกวีชั้นครู เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คือ “ใบไม้ป่า” อันรวมอยู่ในกวีนิพนธ์ เพียงความเคลื่อนไหว ฉบับรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2523
ท้ายบล็อกนี้ ผู้เขียนใคร่ขอย้ำบทกวีอังกฤษข้างต้น “… A phoenix rising from agrarian ashes …” อันน่าจะประยุกต์กับโลกปัจจุบันที่เรื่องอดีต “ไม่เคยตาย” สามารถนำกลับมา “รีไซเคิล” ได้ใหม่เสมอ เสมือนสิ่งที่หวนกลับมา “หลอกหลอน” เราๆ ท่านๆ อยู่เนืองๆ
ที่สำคัญ ในยุคทุนนิยมเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด คงมิใช่การมุ่งประหัตประหารกันด้วยโทสะหรืออาวุธที่จับต้องได้ ผู้เขียนไม่เชื่อว่าการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ใดก็ตาม (แม้ในนามของความรัก) จะต้องใช้ชีวิตมนุษย์แลกมาอย่างเลี่ยงไม่ได้
เราเลี่ยงไม่ได้จริงหรือ?
เราเลี่ยงได้ไหม?
ในประวัติศาสตร์สงครามน้อยใหญ่ คนรุ่นใหม่คงเคยได้ยินคำพูดเชิงบวกที่ว่า “ให้อภัยแต่ต้องไม่ลืม” เช่นเดียวกัน, ในโลกยุคใหม่ “วันเสียงปืนแตก” ก็ไม่ควรจะต้องอุบัติขึ้นอีก หากประชาชนเคารพกฎกติกาให้มาก
และด้วย “หูตาที่เปิดกว้าง พร้อมรับฟัง” เราอาจไม่ต้องได้ยินเสียงของ “ความน่าสะพรึงกลัว” ในพงรกชัฏที่แว่วมาไกลๆ อีกต่อไปก็เป็นได้.
Wayne George Deakin ยังเป็นเจ้าของบทความ “Thailand, Occidentalism and Cultural Commodity Fetishism” (2013) ซึ่งท่านหาอ่านได้จากเว็บไซต์วิชาการของ Academia
อื่นๆ ที่น่าสนใจ
<http://www.oknation.net/blog/print.php?id=60410>
<http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1288791075&grpid=01&catid=08>
<http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=lovesiamoldbook&date=10-11-2010&group=1&gblog=9>
รับฟังบทเพลง “จิตร ภูมิศักดิ์” โดย สุรชัย จันทิมาธร
<https://www.youtube.com/watch?v=YbsmOgRhE3M&list=PLFBC6DCD3D32FFCCB>