Skip to main content

ขึ้นชื่อว่า “โจทย์” ย่อมหมายถึงการต้องหาคำตอบบางอย่าง
และเพราะ “โจทย์” คือ “ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก” หรือ “คำถามที่ยังไร้คำตอบ” ดังนั้น ถ้าเป็นโจทย์เลขยาก ๆ ก็แน่นอนว่าต้องงัดสูตรคณิตศาสตร์ทุกกระบวนท่าออกมาแก้
แต่ถ้าเป็น “โจทย์ชีวิต” คงแล้วแต่ตำราใครตำรามัน กระนั้น สำหรับเจมส์ แลงสตัน ฮิวส์ (James Langston Hughes, 1902–1967) นักคิดและกวีผิวสีชาวอเมริกัน เขาก็มี “โจทย์” มาให้เราขบคิดหาคำตอบ เป็นการ “บวกลบคูณหาร” ตัวตนและศักดิ์ศรีของมนุษย์ตามบริบทสังคมในสมัยที่ฮิวส์ยังมีชีวิตอยู่


ในช่วงทศวรรษที่ยี่สิบซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของฮิวส์ อิทธิพลหนึ่งที่ส่งผลสำคัญต่อตัวตนของเขานอกเหนือจากกวีเอกอย่างวอลท์ วิทแมน เจ้าของผลงาน Leaves of Grass (1955) อันเลื่องชื่อ และคาร์ล แซนด์เบิร์ก ผู้เขียน “Chicago” และ “I am the People, the Mob” ก็คือ ฮาร์เล็ม เรอเนสซองส์ (Harlem Renaissance) ซึ่งเป็นชุมชนผิวสีสำคัญในย่านฮาร์เล็มของมหานครนิวยอร์ก นอกจากนี้ ในยุคสมัยของฮิวส์ ก็ยังเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกี่ยวกับการเหยียดสีผิวขั้นรุนแรงในระยะเวลาต่อมา นับตั้งแต่คดีของเด็กหญิงผิวสี โรซา ปาร์คส์ ที่ “ดื้อแพ่ง” ต่ออำนาจรัฐเรื่องกฎหมายที่บังคับให้คนผิวดำ (หรือที่เรียกกันอย่างหยามเหยียดในสมัยนั้นว่า นิโกร) สละที่นั่งในรถโดยสารแก่คนผิวขาว รวมถึงการเคลื่อนไหวทางสิทธิพลเมืองและมนุษยชนที่นำโดย ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

ที่น่าสนใจคือ ห้วงเวลาเหล่านี้คาบเกี่ยวระยะก่อนและหลังการปฏิวัติการปกครองพ.ศ.2475 ในเมืองไทย
อย่างไรก็ดี ขอท่านผู้อ่านลอง “ขบ” บทกวีชื่อ “Problems” ของฮิวส์ดูว่าพบคำตอบอะไรบ้าง

 

Problems 
-- Langston Hughes --

2 and 2 are 4.
4 and 4 are 8.
But what would happen
If the last 4 was late?
And how would it be
If one 2 was me?
Or if the first 4 was you
Divided by 2?

โจทย์เจ้าปัญหา
ถอดความโดยผู้เขียน

2 บวก 2 เป็น 4
4 บวก 4 เป็น 8
แต่จะเกิดอะไรขึ้น
ถ้า 4 ตัวหลังมาช้า
และจะเป็นอย่างไร
หาก 2 หนึ่งตัวเป็นฉัน
หรือถ้า 4 ตัวแรกเป็นเธอ
ถูกหารด้วย 2?

 

แลงสตัน ฮิวส์ เกิดปีค.ศ.1902 ที่มลรัฐมิสซูรี และภายหลังย้ายไปอาศัยอยู่ในรัฐอื่น ๆ ฮิวส์มีผลงานในแขนงต่าง ๆ อาทิ นิยาย บทละครและเพลง แต่บทกวีของเขาสะท้อนสังคมของคนทุกชนชั้นโดยเฉพาะปัญหาการเหยียดผิวและการต่อสู้ดิ้นรนของคนผิวสี ซึ่งนอกจากกลอนข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายชิ้นที่นำเสนออย่างเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง และแฝงอารมณ์ขันไว้ในนํ้าเสียงจริงจัง ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้แก่ “I, Too, Sing America” “Negros Speak of Rivers” และ “Cross”
ฮาร์เล็ม เรอเนสซองส์ซึ่งถือเป็นนิวาสถานของนักคิดนักเคลื่อนไหวชาวแอฟริกัน-อเมริกันหลายต่อหลายคน ทั้งยังเป็นต้นนํ้าของศิลปวัฒนธรรมผิวสี จึง “ปลุกชีวิต” กวีนิพนธ์ประเภทนี้ รวมถึงงานเขียนทรงพลังของฮิวส์ด้วย
ช่วงต้นทศวรรษที่ยี่สิบฮิวส์เรียนวิศวกรรมอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ก็หยุดกลางคันเพราะสภาพแวดล้อมบีบบังคับ ฮิวส์จึงกลับมาทุ่มความสนใจให้กวีนิพนธ์มากขึ้น สไตล์การเขียนของฮิวส์เป็นกวีแนวแจ๊ส ที่มีท่วงทำนองไหลเอื่อย มีความรู้สึกฉับพลัน สดใหม่ คล้าย ๆ กับการอิมโพรไวส์ (ด้นสด) ของเพลงแจ๊ส
ผลงานของฮิวส์อีกชิ้นหนึ่งที่กินใจผู้เขียนคือ “Theme for English B” ซึ่งเล่าเรื่องจากมุมมองของเด็กหนุ่มที่ต้องเขียนงานส่งอาจารย์โดยกลั่นออกมาจากใจ และจากเงื่อนไขนั้นก็ทำให้เขา “ระบาย” ความเป็นอเมริกันที่หลอมรวมผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเอาไว้ โดยเขามองว่าในที่สุดแล้วคนทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

สำหรับบ้านเรา เพื่อนบ้านเรา และอีกหลาย ๆ “หลังคาเรือน” ที่อยู่ถัดออกไปไกลกว่านี้ต่างมีปัญหาคล้ายคลึงกันให้ “ขบ” ไม่เว้นแต่ละวัน คิดกันหัวแทบแตกแต่หลายครั้งไม่เจอคำตอบ แม้จะมีบ้างที่ได้คำตอบ แต่วิธีทำกลับทำไม่ถูกเสียนี่

ไม่ว่าจะต่างชาติต่างภาษาหรืออะไรก็ตาม แต่อะไรที่ทำให้คนสองคนเท่ากันหรือไม่เท่ากัน?

ขอยกตัวอย่างเพื่อนบ้าน—คนต่างด้าวจำนวนมากที่ข้ามชายแดนไทยเข้ามาหางานทำ หรือไม่ก็อพยพลี้ภัยมานั้น บางคนประกอบอาชญากรรม บางคนก่อปัญหาหยุมหยิม จึงทำให้ “โจทย์” ยากขึ้นไปอีกเท่าตัว
ทว่า ส่วนใหญ่เขาเหล่านี้—เท่าที่สังเกตเห็นและรู้จัก—กลับมีสถานะ หรือถูกมองต่างจาก “ชาวต่างชาติ” ที่เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวและนักลงทุน
ผู้เขียนเคยชายตามอง “เพื่อนบ้าน” ที่เข้ามาทำงานตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองด้วยความระแวดระวัง บางทีสงสัยใคร่รู้ บางทีเฉย ๆ แต่กับชนชาติคอเคซอยด์ บ้างแบกเป้เดินเท้า บ้างผมทองถีบจักรยานหรือจิบนํ้าชากาแฟตามมุมเมือง หลายครั้งต้องยอมรับว่าความรู้สึกแทบพลิกจากหน้าเป็นหลังมือ
อยากพูดภาษาที่เขาพูด อยากอ่านสิ่งที่เขาอ่าน
เพ้อไปว่าเพื่อนที่มาด้วยกันกับตัวเอง—สองคนบวกกัน—อาจจะเท่ากับ “เขาคนนั้น” หนึ่งคน
นี่เรายอมให้เขา “หักหาร” เราไปแล้วละหรือ?
เพื่อนหันมามองหน้าพร้อมกับเลิกคิ้ว
ไม่เป็นไรมั้ง เดี๋ยว “คูณค่า” เพิ่มจากเด็กต่างด้าวอายุ 17-18 อีก 4 คน ก็มีเท่าเดิมแล้วละ
ปากตอบแต่สายตาไม่ละจากคนผมบลอนด์ที่ยกสตาร์บัคส์ขึ้นดื่มแล้วพลิกเปิดเดอะนิวยอร์กไทมส์ หน้าถัดไป

ทันใดนั้น ไฟจราจรตรงสามแยกก็กระเด้งขึ้นข้างบนสุด มีรถมอเตอร์ไซค์ชะลอตัวและหยุดรอเป็นคันแรก
ใช้สายตามองตาม—หัวจรดเท้า—นึกไม่ออกว่าเด็กชายหญิงสามคนบนเบาะรวมกันเท่ากับเท่าไหร่ (ไม่ได้พกเครื่องคิดเลขมานานแล้ว!)
หนุ่มน้อยคนขับที่ย้อมสีผม สวมแตะปอน ๆ หน้าตาคล้ายเด็กขนผักในตลาดสด = ?
น้องสาวหน้าแฉล้ม ที่นั่งตรงกลางเพื่อจะได้ใช้ร่างผอมแห้งข้างหน้าปกป้องเนื้อแป้งที่ลงไว้อย่างดีจากกระแสลมประเทศเขตร้อนที่คอยปะทะหน้าอย่างไร้ปรานี = ?
หนุ่มเอวบางข้างหลังสุด ที่ฉาบแป้งได้เนียนไม่แพ้กัน = ?


สักพัก บรรดายวดยานที่สามแยกก็พุ่งตัวไปข้างหน้าสุดชีวิต ราวกับแข่งกันเข้าเส้นชัยแรลลี่ประชาธิปไตย เราถึงได้รู้สึกตัวว่ายังไม่ได้ข้ามไปอีกฟาก! แต่เอาเถอะ เราจะได้พิศดู “ความศิวิไลซ์” อยู่ห่าง ๆ ต่ออีกนิด แหม น่าอิจฉาพวกคุณจริง ๆ ที่มีวันหยุดมาเที่ยวกัน
แวร์ อาร์ ยู ฟร็อม? ฮาว ดู ยู ไลค์ ไทยแลนด์? ดู ยู ติ๊ง ไท วีเมน บิ้วตี้ฟูล?
มาย้อนนึกดู โธ่เอ๋ย! เรา “หาร” ตัวเองนี่นา เราเพิ่มค่าให้ใครตั้งเยอะตั้งแยะ แต่กลับลืม “ตอบโจทย์” ของตัวเอง มิน่าเล่าเราถึงรู้สึกไม่ควรค่า ยังรู้สึกว่า “ไม่เติมเต็ม” เหมือนอะไรในชีวิตหายไปครึ่งหนึ่งอยู่ตลอดเวลา

1. (รูปร่างหน้าตาn + เชื้อชาติn) x (ภาษาn + การศึกษาn + เพศสภาพn) ÷ (รายได้n + อาชีพn) + (จิตสำนึกn x มารยาทn)
จงแสดงวิธีทำ (___คะแนน)
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
. . . . . . . . . . . . 
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . .. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
. . . . . . . . .. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
. . . . .
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
. . . . .
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .. . . . . . . .

โจทย์ซับซ้อนขนาดนี้จะใช้สูตรอะไรดี?

ผู้เขียนยอมรับว่าปวดหัวไม่น้อย แต่ที่แน่ๆ มีตัวแปร “ที่มองไม่เห็น” เยอะเหลือเกิน
แบบนี้ขอกลับไปกากบาทข้อสอบระดับชาติยังจะดีกว่า (ฮา)
กับบางโจทย์ เราลงมือทำได้ทันที (โดยไม่ต้องอาศัยสูตรที่ซ่อนไว้ “ใต้โต๊ะ”)
แต่กับบางโจทย์ ผู้เขียนเกรงว่าตนเองคงต้องแข็งใจส่งกระดาษเปล่าคืนไป
แต่อย่างไรๆ เราก็เป็น “มนุษย์” ไม่ใช่ “ตัวเลข”
ในสังคมระคนที่มีคะแนนสูงๆ ตํ่าๆ สลับกันไป
ตัวเราเป็นได้ทั้ง “โจทย์” และ “คำตอบ” ที่หลากหลาย
แค่ต้องหา “วิธีทำ” ที่ถูกต้องเท่านั้นเอง.

บล็อกของ Bralee

Bralee
ในยุคที่ความรักและความเกลียดชังของมนุษย์ดำเนินมาพร้อมกับวิทยาการต่างๆ รูปแบบทั้งสองชนิดนี้แม้ไม่จำเป็นต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามหรือเป็นสาเหตุของกันและกัน ก็ได้ปรากฏและแปลงโฉมมาอย่างซับซ้อน หลากหลาย จะมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นจะใช้อะไร วิธีการไหน เป็นเ
Bralee
หลังจากเคยเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งกับความหมายของเพลงทรงพลังอย่าง Oblivion ของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อคอังกฤษ และบัลลาดกินใจอย่าง Af
Bralee
สัปดาห์ที่ได้ชม Life Itself ผ่านไปนานแล้วแต่คำๆ หนึ่งที่ยังคงอยู่ในความคิดตั้งแต่นั้นมาคือคำว่า “spirit” หรือ “สปิริต” ที่หมายถึง “จิตวิญญาณ” หรือ “น้ำจิตน้ำใจ”
Bralee
INT. San Francisco City Hall – DAYKris and Sandy stand in front of Attorney General Kamala Harris,exchanging wedding vows
Bralee
 บ้างเห็นดวงตะวันบ้างเห็นควันโขมงบ้างยินปืนลั่นโป้ง
Bralee
           หลายปีผ่านไปกับการศึกษาแพงลิ่ว           ท้า
Bralee
ตัวฉัน/สีสันแห่งชีวิตตัวฉัน...
Bralee
ขึ้นชื่อว่า “โจทย์” ย่อมหมายถึงการต้องหาคำตอบบางอย่าง
Bralee
What seemed to be a heavenly day for me, after I’d randomly donated my Thai bahts, turned out quite the opposite as I caug
Bralee
วัยหนุ่มสาวนั้นแสนพิสุทธิ์สดชื่น เสมือน "sweet bird of youth" แต่ก็แสนสั้น เปราะบาง เมื่อถึงเวลาก็โผบินลับหายไป หรืออาจถูกพรากไปอย่างง่ายดายด้วยกระสุนปืนไม่กี่นัด หรือภายในไม่กี่ชั่วขณะแห่งความสิ้นหวัง ผู้เขียนเป็นเยาวชนคนหนึ่งจึงขอนำเหตุการณ์สะเทือนใจช่วงต้นปี 2012