ในยุคที่ความรักและความเกลียดชังของมนุษย์ดำเนินมาพร้อมกับวิทยาการต่างๆ รูปแบบทั้งสองชนิดนี้แม้ไม่จำเป็นต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามหรือเป็นสาเหตุของกันและกัน ก็ได้ปรากฏและแปลงโฉมมาอย่างซับซ้อน หลากหลาย จะมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นจะใช้อะไร วิธีการไหน เป็นเครื่องมือผลักดันผู้คนให้เป็นไปตามทิศทาง
และ “รูปแบบ” ของความรักและความเกลียดชังก็มัก “แพ็คคู่” มาในภาพยนตร์ประเภทสงคราม vs ความรัก โดยมักมีฝ่ายหนึ่งอยู่ข้างความรุนแรงและอีกฝ่ายอยู่ข้างความรัก
The Imitation Game (2014) จากฝีมือเขียนบทของ Graham Moore รางวัล Best Adapted Screenplay จากเวทีออสการ์ และการกำกับของ Morten Tyldum (Headhunters, 2011) ก็เป็นหนึ่งในภาพยนตร์กลุ่มนี้โดยฉายภาพชีวิตของ Alan Turing นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษฉายา “บิดาแห่งคอมพิวเตอร์สมัยใหม่” ผู้มีบทบาทสำคัญในการคิดค้นเครื่องจักรใช้ไขรหัสเครื่อง Enigma ของเยอรมนีที่ใช้ส่งรหัสลับในกลุ่มอักษะช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ความน่าสนใจจึงไม่เพียงอยู่ที่ทีมถอดรหัสฯ พยายามถอดโค้ดลับที่เปลี่ยนไปแทบทุกวินาทีให้ได้ข้อมูลทันเวลา หรือลุ้นให้ อลัน ทูริง (Benedict Cumberbatch) เอาชนะใจคนรอบข้างให้เชื่อมั่นในตัวเขาจนถึงที่สุด แต่ยังอยู่ที่ภาพชีวิตด้านที่ถูกซ่อนเร้นเป็น “ความลับสุดยอด” ไม่แพ้กันของ “ฮีโร่อัจฉริยะ” ผู้นี้ที่หลังจากอุทิศมันสมองทำงานให้รัฐบาลอังกฤษอย่างลับๆ แต่กลับได้รับแรงกดดันจากสังคมที่ตอกย้ำให้พลเมืองรักร่วมเพศต้องใช้ชีวิตหลบซ่อน รวมทั้งการได้รับโทษประหารเรื่อง “ความผิดเพศ” นั้น
หนังจึงทำให้เห็นทั้งภาพความโหดร้ายและความอาทรที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวละครนอกสนามรบ ซึ่งต่างส่งผลไปในวิถีของตัวเอง ไม่ว่าใครจะรู้ตัว จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เป็นที่มาของประโยคสำคัญ “บางครั้งคนที่ไม่มีใครนึกได้ถึง ก็ทำสิ่งที่เกินจะจินตนาการได้”
ใน The Imitation Game ทูริงเปรียบเทียบกลไกความคิดของมนุษย์กับกลไกความคิดของเครื่องจักร เมื่อเขาถูกสอบสวนข้อหาความผิดทางเพศและถามผู้รักษากฎหมายว่าจะแยกแยะได้อย่างไรว่าคำตอบของเขาสมควรเป็นของ “มนุษย์” หรือ “เครื่องจักร” เพราะมาตรชี้วัดใช่ว่าจะใช้ตัดสินความถูกต้องได้เสมอไป ซึ่งแนวคิดนี้มาจากบทความเรื่อง “Computing Machinery & Intelligence” ของอลัน ทูริง ที่ตีพิมพ์ปีค.ศ. 1950 กล่าวถึงเกมทดสอบตัวตนของบุคคล/เครื่องจักร ผ่านการสถานการณ์ถาม-ตอบ ที่ทูริงเรียกว่า “The Imitation Game”
เกมที่เครื่องจักรคิดคำตอบได้เหมือนมนุษย์ แต่ก็ด้วยการประมวลผลที่ต่างกัน
เกมที่เครื่องจักรแคร์เพียงแต่คำตอบ ในขณะที่มนุษย์แคร์ว่าจะใช้เกมและคำตอบเป็นเครื่องมือของสิ่งใด
การสร้างตัวละครในเรื่องอย่างเครื่องถอดรหัสชื่อ “คริสโตเฟอร์” ให้มีความหมายกับทูริงทั้งในแง่เป็นอาวุธทางสติปัญญาที่ใช้ไขเกมสงครามและแง่อารมณ์ความผูกพันจากอดีตจึงยิ่งเผยให้เห็นมิติด้านอื่นๆ ของมนุษย์เมื่อจำต้อง “เล่นตามเกม” ของผู้มีอำนาจในสังคม
อย่างที่สะท้อนในฉากคู่ขนานที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของตัวละครทูริงที่ต้องเล่นบทบาทตามที่สังคมต้องการหรือกำหนดไว้ คือเด็กนักเรียนอย่างเขาก็ต้องทำตามกติกาของครูหรือกฎของโรงเรียน ต้องยอมรับการปฏิบัติที่รุนแรงจากเพื่อนๆ หรือแม้แต่ต้องยอมรับ “ข่าวร้าย” ที่ครูใหญ่เรียกเขามาบอกเป็นการส่วนตัวในห้องทำงาน
บรรยากาศของการสอบสวนกึ่งเปิดโปงพฤติกรรมส่วนตัวของทูริงที่ดูสนิทสนมกับคริสโตเฟอร์เพื่อนร่วมชั้น ยังสอดคล้องกับฉากถูกบีบคั้นของทูริงในวัยสี่สิบเมื่อเขาต้องยอมรับอำนาจกฎหมายก่อนจะแลกชีวิตให้กับความถูกต้องของรัฐ
นอกจากนี้บทบาทของ “ผู้คิดเกม” กับ “ผู้เล่นเกม” ยังเป็นตัวแปรให้กับความหมาย ทิศทาง และกติกาของเกม เช่นการที่หนังแสดงให้เห็นความพยายามของทีมถอดรหัสที่ซุ่มทำงานอยู่ในเบล็ทชลีย์ ปาร์ค ออกมาระดมพลหาแคนดิเดตหัวกะทิมาทำงานให้รัฐบาลได้อย่างย้อนแย้งและคมคาย เมื่อทีมฯ ต้องปิดขบวนการเป็นความลับโดยใช้ปริศนาอักษรไขว้ที่ดูเผินๆ เป็นของเล่นลับสมองคัดคนมาทำงานลับระดับชาติ มิใช่การเล่นเกมปริศนาธรรมดาตามหน้าหนังสือพิมพ์
“เกม” ดำเนินต่อไปได้ก็ด้วยมี “ผู้เล่น” มาให้ความสำคัญกับมันหรือเข้าใจกติกาการเล่น
เพราะหากไม่มีใครเติมคำตอบในกล่องอักษรไขว้ ไม่มีใครไขรหัส ความลับสุดยอดก็เป็นเพียงรหัสที่ไร้ค่า ไร้ความหมาย
ไม่ต่างกับที่ครูสอนคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมโยน “โน้ตลับ” ของอลันกับคริสโตเฟอร์ทิ้งไปในตะกร้าพร้อมกับพูดว่า “มีแต่ทูริงเท่านั้นที่เขียนโน้ตเป็นภาษาบ้าบอ”
และการที่ฝ่ายใดจะได้เปรียบ ฝ่ายนั้นก็ต้องคิดเกมที่เหนือชั้นให้นำหน้าไปหนึ่งก้าวเพื่อตัวเองจะได้ไม่เพลี่ยงพล้ำ
แต่หลังจากได้ “คนที่ใช่” มาเข้าทีมไขรหัสอีนิกมา ก็เกิดความท้าทายใหม่ๆ ตามมาเมื่อความหมายของเกมเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อการเมืองสเกลใหญ่ระดับชาติย่อมมีผลกระทบต่อคนเล็กคนน้อย และไม่ว่าใคร เก่งกาจแค่ไหนลงสนามมาเล่นก็ต้องโดนกระทบกระเทือนไปตามๆ กัน เช่น มุมมองนอกสนามรบที่หนังนำเสนอได้น่าประทับใจผ่านความสัมพันธ์ของ อลัน ทูริง และโจน คลาร์ก (Keira Knightley) เพื่อนร่วมงานผู้ปราดเปรื่อง มีความคิดเชิงบวก ซึ่งต่อมาแม้จะหมั้นหมายกันด้วยเหตุผลของงานเป็นหลัก แต่ทั้งคู่ก็ต้องยอมรับความจริงทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม อดทนทำงานรับใช้ชาติและทำตามความคาดหวังของสังคม
ความเข้าอกเข้าใจและความอาทรระหว่างทูริงและคลาร์กที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้น ในแง่ภาษาของภาพยนตร์ถือว่ามีความหมายต่อตัวละครอลัน ทูริง ที่ทัดเทียมกับมิตรภาพของเขาและคริสโตเฟอร์เพื่อนวัยเรียน แรงบันดาลใจที่ทูริงได้รับจากคริส เขาได้ส่งต่อให้กับคลาร์ก ตัวละครทั้งสองผู้เป็นกัลยาณมิตรที่ทูริงต้องสูญเสียไปในทางใดทางหนึ่งล้วนตอกย้ำสิ่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับอำนาจของความรุนแรง
อีกตัวอย่างที่น่าสะเทือนใจ ได้แก่การที่ทีมของทูริง “เล่น” ตามกติกาของรัฐบาลอังกฤษอย่างเคร่งครัด ทว่าก็กลายเป็นผู้ใช้กติกานั้นกดขี่ เบียดเบียนชีวิตไปในตัว เมื่อทูริงจำต้องห้ามปรามเพื่อนร่วมทีมไม่ให้รีบบอกทางการให้ดำเนินแผนรับมือหรือสกัดกั้นเยอรมนี เพราะหากอีกฝ่ายรู้ว่าอังกฤษไขรหัสอีนิกมาได้สำเร็จทั้งล่วงรู้ว่าตนวางแผนจะโจมตีกองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตรจุดไหน เวลาใด เยอรมนีก็ย่อมคิดค้นรหัสใหม่ที่จะทำให้สมองกลของ “คริสโตเฟอร์” ที่อุตส่าห์สร้างมากลายเป็นโมฆะ
เหตุผลยิ่งใหญ่ดุจวีรกรรมนี้จึงสร้างความเจ็บปวดทันตาเห็น เมื่อทูริงกับคนอื่นๆ ทราบต่อมาว่าพี่ชายของเพื่อนร่วมทีมอยู่ในกองทัพเรืออังกฤษที่จะต้องถูกเยอรมนีโจมตีอย่างแน่นอนหากไม่มีการขยับหนีได้ทันท่วงที ทว่าเมื่อต้องรักษาความลับของการถอดรหัสไว้ให้เหนียวแน่น พวกเขาต้องยอมสละชีวิตคนส่วนน้อย
อีนิกมาในที่นี้นอกจากจะทำงานไม่ต่างจากระเบิดเวลาที่ต้องมีผู้ไขรหัสให้ทันวันต่อวันเพื่อรักษาชีวิตที่อาจเสียไปในการถูกโจมตีแต่ละครั้ง ความรุนแรงกลับไม่ต่างจากปรมาณูทำลายล้างโลกทั้งใบของ “คนส่วนน้อย”
ที่แม้จะมีเครื่องจักรฉลาดล้ำสามารถไขรหัสของเครื่องจักรอีกตัวที่ซับซ้อนแสนร้ายกาจได้สำเร็จ แต่สุดท้ายมนุษย์ผู้ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ขึ้นก็ต้องพ่ายแพ้ต่อความคิดทำลายล้างของมนุษย์ด้วยกันเอง
♦