Skip to main content

สัปดาห์ที่ได้ชม Life Itself ผ่านไปนานแล้วแต่คำๆ หนึ่งที่ยังคงอยู่ในความคิดตั้งแต่นั้นมาคือคำว่า “spirit” หรือ “สปิริต” ที่หมายถึง “จิตวิญญาณ” หรือ “น้ำจิตน้ำใจ”
    “สปิริต” ที่หมายถึงพลังใจของปัจเจกในการทำสิ่งต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อ หรือการแสดงความเป็นฮีโร่ในสถานการณ์ต่างๆ

    “สปิริต” ที่อยู่ในตัวคนๆ หนึ่ง แล้วสามารถแปรเป็นแรงบันดาลใจเข้าสู่ตัวคนอื่นๆ (inspire) ต่อไป ไม่ต่างจากลมหายใจต่อชีวิต
    และ “สปิริต” ของโรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ภาพยนตร์ระดับตำนานของสหรัฐฯ ในก็พิสูจน์ว่าเขา “จุดประกาย” ให้กับใครหลายๆ คนทั้งในจอและนอกจอ

    ทำให้ Life Itself มีกลิ่นอายบางอย่างของ Pay It Forward และ The Diving Bell and the Butterfly รวมกัน

    ด้วยนอกเหนือจากผลงานวิจารณ์ที่คมคาย เข้าถึงแก่น อันแสดงถึง “สปิริต” ของภาพยนตร์จนเป็นที่ประจักษ์ ที่เห็นได้ชัดคือ “ลมหายใจ” ของอีเบิร์ตยังมีพลัง เอื้อให้เขาใช้อารมณ์ขันและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน โดยเฉพาะระยะที่ต้องอดทนกับสภาพร่างกายของตัวเอง การมุ่งมั่นทำงานทั้งในโรงพยาบาลและที่บ้านเท่าที่ร่างกายอนุญาตให้ได้
    คำว่า “spirit/inspire” จึงน่าสนใจยิ่งขึ้นไม่เพียงเมื่อหนังนำเสนอไอเดียเรื่องชีวิตอย่างเรียบง่ายและลึกซึ้งด้วยการฉายภาพวัฏจักรชีวิตของโรเจอร์ อีเบิร์ต ในฐานะบุคคลในชีวิตจริงและตัวละครที่เดินไปตาม “พล็อต” ของฮีโร่ผู้จะต้อง “เกิด” ในวงการของตน ต้องต่อสู้กับคู่แข่ง ต่อสู้กับตัวเอง และสุดท้ายก็ “ตาย” ไปจากภาระหน้าที่หรือโลกความเป็นจริงเท่านั้น

    แต่ยังอยู่ที่ความสัมพันธ์ของอีเบิร์ตกับคนทำหนังจำนวนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจสำคัญจากนักวิจารณ์คนดังคนนี้ ซึ่งในเวลาต่อมาพวกเขาและเธอก็เป็นฝ่าย “บันดาลใจ” ให้ใครต่อใครนับไม่ถ้วน

    หนึ่งในนั้นได้แก่ มาร์ติน สกอร์เซซี ที่เป็นทั้งผู้อำนวยการสร้าง Life Itself และเป็น “ตัวละคร” ผู้ได้รับ “สปิริต” ของคนทำหนังกลับคืนมาหลังจากมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ทั้งในทางวิชาชีพและชีวิตส่วนตัวเมื่ออีเบิร์ตกับซิสเกลเชื้อเชิญแกมกระตุ้นให้สกอร์เซซีมาร่วมงานรับรางวัลที่โตรอนโต แม้ว่าก่อนที่สกอร์เซซีจะเป็นผกก. “ระดับเทพ” นั้น ภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ของเขาคือ The Color of Money (1986) เคยถูก “ระดับเทพ” ผู้นี้ “สับ” มาแล้ว
    อีกคนคือ รามิน บาห์รานี (Ramin Bahrani) ผู้กำกับ Man Push Cart (2005) ได้รับไม่เพียงการชื่นชมจากอีเบิร์ตที่มีส่วนทำให้เขา “แจ้งเกิด” แต่ยังได้รับแรงบันดาลใจในรูป “ของที่ระลึก” เปี่ยมความหมายเป็นจิกซอว์ที่เก็บรักษาอย่างดีซึ่งอีเบิร์ตได้รับมาจากลอรา เดิร์น (Wild, The Fault in Our Stars) ที่ลี สตราสเบิร์ก เคยมอบให้ โดยก่อนหน้านี้เป็นจิกซอว์ที่อัลเฟร็ด ฮิชท์ค็อก ได้ให้มาริลีน มอนโร เก็บไว้สะสม
    เป็น “ความขลัง” ที่ทำให้รามินผู้รับคนล่าสุดไม่กล้าต่อจิกซอว์ให้สมบูรณ์
    และสุดท้ายเป็นอดีตแฟนรุ่นเยาว์ที่มีความทรงจำพิเศษเกี่ยวกับอีเบิร์ต เธอคือเอวา ดูเวอร์นาย (Ava DuVernay) ผู้กำกับ Selma (2014) ที่ประทับใจไม่รู้ลืมกับความสนิทชิดเชื้อเป็นพิเศษของอีเบิร์ตกับกลุ่มคนผิวสี รวมทั้งการที่เขาให้ความสำคัญกับผลงานซึ่งมีส่วนให้เธอแจ้งเกิด อีกทั้งยังนำเรื่องราวมิตรภาพของพวกเขามาเผยแพร่ต่อบนเว็บไซต์

    การนำเสนอความมีชื่อเสียงของอีเบิร์ตกับมิตรภาพและความเอื้ออาทรที่เขามีต่อคนทำหนังที่มีแววจึงยิ่งสอดคล้องกับวาทะอมตะของเจ้าตัวที่เปรียบภาพยนตร์เป็น “เครื่องจักรที่ให้กำเนิดความเห็นอกเห็นใจ” (“Movies are like a machine that generates empathy.”) สะท้อนกลับมาสู่ตัวเขาเองในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ซึ่งก็มีส่วน “ให้กำเนิด” หรืออีกนัยคือ “มอบลมหายใจ” (inspire) แก่คนเหล่านี้
    และคำโปรยของหนังที่ย้ำว่าอีเบิร์ตรักและใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า (The only thing Roger loved more than movies.) ยังสะท้อนในคารมและความทะนงในตัวเองที่ยังมีเหลืออยู่ โดยเฉพาะเมื่อผ่านสตีฟ เจมส์ ผู้กำกับที่ให้อีเบิร์ตแสดง “สปิริต” จนหยุดสุดท้าย

ในฐานะที่รู้จักชื่อของโรเจอร์ อีเบิร์ต เพียงผิวเผินจากงานของเขาและจากเรื่องราวการต่อสู้กับมะเร็งเรื่อยมาจนถึงการเสียชีวิตปีที่แล้ว  Life Itself ช่วยให้เห็นเรื่องราวค่อยๆ บรรจบเป็นวงกลมด้วยวัยเด็กของอีเบิร์ต  บิดามารดา  วัยหนุ่มในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ Chicago Sun-Times  นสพ.ที่เขาภักดีอย่างเหนียวแน่น รวมทั้งชื่อเสียงจากการได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ปี และการได้ขึ้น “สังเวียน” รายการทีวี At the Movies ที่ถ่ายทอดการ “โต้คารม” ระหว่างอีเบิร์ตกับ จีน ซิสเกล สังกัด Chicago Tribune นสพ. บนถนนฝั่งตรงข้าม ผู้เป็นทั้งไม้เบื่อไม้เมาและเพื่อนร่วมงานที่ลึกๆ แล้วนิยมชมชอบซึ่งกันและกัน  หรือแม้แต่การผจญภัยในฐานะผู้สื่อข่าวตามเทศกาลหนังต่างๆ โดยเฉพาะเทศกาลหนังเมืองคานส์
    แต่นอกจากสีสันของการเป็น “คู่แข่ง/คู่หู” ทางอาชีพกับซิสเกลแล้ว จุดสำคัญที่ได้เห็นใน Life Itself คือผลงานวิจารณ์มากมายหลายชิ้นของโรเจอร์ อีเบิร์ต กลายมาเป็นกระบอกเสียงสำคัญไม่เพียงเป็นพื้นที่ระบายออกของอีเบิร์ตในยามเจ็บป่วย แต่ยังเป็นพื้นที่การวิจารณ์ ขยายขอบเขตความสัมพันธ์ของเขากับคนอีกมากมาย
    เสมือนเป็นการต่อ “ลมหายใจ” ให้งานภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ “ถ้อยคำ” ของนักวิจารณ์ผู้นี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขายังหายใจอยู่ได้แม้ในยามที่ทำงานแทบไม่ไหว หรือแม้แต่เมื่อต้องกลายเป็น subject ของภาพยนตร์เอง
    เป็น “ถ้อยคำ” ที่มีความสำคัญกับงานวิจารณ์ทั้งหลายทั้งปวง เป็น “ลมหายใจ” ของการอ่านและการเขียน

    และ “ลมหายใจ” ของโรเจอร์ อีเบิร์ต ที่รินรดออกมาเป็นถ้อยคำจวบจนวินาทีที่เขาไม่ได้ผลิตสิ่งใดอีกต่อไป ก็แน่นอนว่าจะยังคง “ต่อชีวิต” ให้ “สปิริต” ของตัวภาพยนตร์รวมทั้งผู้ชมภาพยนตร์สืบต่อไปอีกนาน.


บล็อกของ Bralee

Bralee
ในยุคที่ความรักและความเกลียดชังของมนุษย์ดำเนินมาพร้อมกับวิทยาการต่างๆ รูปแบบทั้งสองชนิดนี้แม้ไม่จำเป็นต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามหรือเป็นสาเหตุของกันและกัน ก็ได้ปรากฏและแปลงโฉมมาอย่างซับซ้อน หลากหลาย จะมากน้อยขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นจะใช้อะไร วิธีการไหน เป็นเ
Bralee
หลังจากเคยเสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งกับความหมายของเพลงทรงพลังอย่าง Oblivion ของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อคอังกฤษ และบัลลาดกินใจอย่าง Af
Bralee
สัปดาห์ที่ได้ชม Life Itself ผ่านไปนานแล้วแต่คำๆ หนึ่งที่ยังคงอยู่ในความคิดตั้งแต่นั้นมาคือคำว่า “spirit” หรือ “สปิริต” ที่หมายถึง “จิตวิญญาณ” หรือ “น้ำจิตน้ำใจ”
Bralee
INT. San Francisco City Hall – DAYKris and Sandy stand in front of Attorney General Kamala Harris,exchanging wedding vows
Bralee
 บ้างเห็นดวงตะวันบ้างเห็นควันโขมงบ้างยินปืนลั่นโป้ง
Bralee
           หลายปีผ่านไปกับการศึกษาแพงลิ่ว           ท้า
Bralee
ตัวฉัน/สีสันแห่งชีวิตตัวฉัน...
Bralee
ขึ้นชื่อว่า “โจทย์” ย่อมหมายถึงการต้องหาคำตอบบางอย่าง
Bralee
What seemed to be a heavenly day for me, after I’d randomly donated my Thai bahts, turned out quite the opposite as I caug
Bralee
วัยหนุ่มสาวนั้นแสนพิสุทธิ์สดชื่น เสมือน "sweet bird of youth" แต่ก็แสนสั้น เปราะบาง เมื่อถึงเวลาก็โผบินลับหายไป หรืออาจถูกพรากไปอย่างง่ายดายด้วยกระสุนปืนไม่กี่นัด หรือภายในไม่กี่ชั่วขณะแห่งความสิ้นหวัง ผู้เขียนเป็นเยาวชนคนหนึ่งจึงขอนำเหตุการณ์สะเทือนใจช่วงต้นปี 2012