Skip to main content
 

นิยายวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเล่าอิงจินตนาการพร้อมกับความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ นักทฤษฎีแบ่งนิยายวิทยาศาสตร์ออกไว้เป็นสามยุคใหญ่ ๆ คือ ยุคคลาสสิก' ที่มักพูดถึงอนาคตภายใต้อวกาศกว้างใหญ่ไพศาล มองอนาคตอย่างก้าวหน้าและอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งความเจ็บปวดหลังยุคอุตสาหกรรมที่ยังมีการกดขี่กันของมนุษย์ทำให้ ยุคที่สอง' ของนิยายวิทยาศาสตร์เริ่มมีท่าทีวิพากษ์สังคมเข้ามาปะปน บางเรื่องก็มีประเด็นทางสังคม อย่างการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ บ้างก็มีจินตนาการของรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ มาจนถึง คลื่นลูกที่สาม' ก็มองโลกในแง่ร้ายอย่างสุดกู่

จินตนาการก้าวหน้า ล้ำสมัย ไม่ได้ทำให้มนุษย์เดินทางไปบนเส้นทางที่น่าพิศมัย แต่กลับสร้างโลกแบบ Dystopia ขึ้นมา โดยได้อิทธิพลจากแนวคิดหลังสมัยใหม่และภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์

เนื้อหาเชิงนิยายวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักปรากฏอยู่ในงานแนว Progressive Rock และ Industrial บางสาย และ Ayreon ซึ่งเป็นวงโปรเจกท์จากมันสมองของ Arjen Lucassen ก็เล่นแนว Progressive Rock/Metal โดยมีเนื้อหาแบบนิยายวิทยาศาสตร์อยู่แทบทุกอัลบั้ม

ในอัลบั้มล่าสุดที่ใช้ชื่อเป็นเลขดิจิตอลคือ 01011001 ก็ยังคงมีเนื้อหาวิทยาศาสตร์เชิงจินตนาการอยู่เช่นเคย และดูเหมือนจะอ้างอิงไปถึงเนื้อหาจากอัลบั้มเก่าๆ แบบไม่ต่อเนื่องกันด้วย

01011001 เป็นตัวเลขดิจิตอลที่แปลงออกมาได้เป็นตัวอักษร Y ชื่อของดาวเคราะห์ที่กลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่า Forever อาศัยอยู่

พวก Forever นี้เองเป็นสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการ (?) จนเป็นอมตะและไร้ความรู้สึก (อาจจะไม่ถึงขั้นโดยสิ้นเชิง) พวกเขาอยู่กับความอมตะของตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างไร้ความหมาย ต่อมาพวกเขาจึงคิดจะสร้างมนุษย์ขึ้นมาบนโลกโดยการส่งรหัสพันธุกรรมผ่านมากับอุกกาบาต พวก Forever หวังว่ามนุษย์จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ สำเร็จลุล่วง' แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อการเวลาผ่านไป มนุษย์เริ่มทำลายกันเองจนกระทั่งสูญสิ้น

ตัวเนื้อหาของอัลบั้มนี้ทำให้ผมนึกถึงการ์ตูนเรื่อง ฮิโนโทริ - วิหคเพลิง' ผลงานของ เท็ตสึกะ โอซามุ' อย่างเสียมิได้ โดยเฉพาะภาคโลกอนาคต ฮิโนโทริเป็นเรื่องเล่าของวิหคเพลิงอมตะ (น่าจะเอามาจากตำนานนกฟินิกซ์) ที่มีคนเชื่อว่าหากได้ดื่มเลือดนกตัวนี้แล้วจะมีชีวิตนิรันดร์ไม่แก่ไม่ตาย เรื่องของวิหคเพลิงมีอยู่หลายตอน บางตอนมีเนื้อเรื่องภายใต้ฉากแบบย้อนยุค (อาจอิงประวัติศาสตร์เล็กน้อย) ขณะที่บางตอนมีฉากเป็นโลกอนาคต (เล่าแบบนิยายวิทยาศาสตร์)

มีอยู่ตอนหนึ่งเล่าถึงเมืองย้อนยุคที่มีราชินีชื่อ ฮิมิโกะ' ตั้งตัวเป็นสมมติเทพ ไม่ว่าจะทำนายอะไรผู้คนก็จะต้องเชื่อ (หรือถูกบังคับให้เชื่อ) แต่คำทำนายหรือคำสั่งของราชินีฮิมิโกะ ก็มักจะนำมาซึ่งความสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ ผู้คนที่ไม่ทำตามคำสั่ง (แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม) จะถูกลงโทษ แต่ถึงจะมีอิทธิพลมากมาย ราชินีฮิมิโกะก็เป็นมนุษย์ที่มีเกิดแ่ก่เจ็บตาย เมื่อเธอพบว่าตัวเองแก่ตัวลงก็เริ่มหมกมุ่นอยู่กับการสั่งให้คนตามล่าวิหคเพลิง เพื่อตนจะได้ดื่มเลือดแล้วเป็นอมตะ การหมกมุ่นอยู่กับการตามหาวิหคเพลิงทำให้สุดท้ายบ้านเมืองก็ระส่ำระส่ายและค่อยๆ อ่อนแอลงเรื่อยๆ

ในภาคโลกอนาคต พูดถึงการที่มนุษย์ต้องลงไปสร้างเมืองกันอยู่ใต้ผืนโลกเพราะบรรยากาศบนโลกนั้นเป็นที่ๆ มนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป (เว้นแต่นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องคนหนึ่งที่อาศัยในโดมเฉพาะ และพยายามสร้างชีวิตใหม่ให้อยู่บนผิวโลกแบบนี้ได้) แต่ถึงแม้พัฒนาการทางเทคโนโลยีจะก้าวไกลขนาดไหน อะไรอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย

หากในตอนย้อนยุคผู้คนเชื่อคำทำนายและ (จำต้อง) ทำตามคำสั่งของราชินีจนบ้านเมืองอ่อนแอ ผู้คนในยุคอนาคตก็มีสิ่งที่เรียกว่า สมองกล' คอยคำนวนสิ่งต่างๆ และสั่งออกมาให้คนต้องทำตาม สมองกล แม้ว่าจะมีคณะผู้แทนฯ แต่พวกเขาส่วนใหญ่เชื่อการคำนวนของ สมองกล' ไร้หัวจิตหัวใจ มากกว่าจะเชื่อมนุษย์ที่มีความรู้สึกด้วยกันเอง สมองกล' สั่งให้ยืนก็ต้องยืน สั่งให้นั่งก็ต้องนั่ง จนกระทั่งมีคนใช้การคำนวนของ สมองกล' มาเป็นข้ออ้างในการประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม มนุษย์ยุคอนาคตทำสงครามกันเองจนกระทั่งสูญสิ้นไป

มันคือความงมงายที่ต่างยุคสมัย มนุษย์ยุคหนึ่งเจ็บปวดยากแค้นจากคำทำนายของสมมติเทพที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมาเอง ขณะที่อีกยุคหนึ่งต้องมาทำลายกันเพียงเพราะเชื่อในสิ่งไร้ชีวิต...ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเองเช่นกัน

กลับมาที่ Ayreon จากอัลบั้มก่อนๆ ที่มีทั้งการเดินทางผ่านห้วงอวกาศและกาลเวลาไปสำรวจประวัติศาสตร์ จนถึงอัลบั้มก่อนหน้าคือ The Human Equation หรือ สมการมนุษย์' ที่เน้นดำดิ่งลงไปสำรวจจิตใจมนุษย์ผ่านความรู้สึกหลากหลาย สำหรับอัลบั้ม 01011001 ก็เน้นกลับมาพูดถึงการเดินทางผ่านห้วงอวกาศอีกครั้ง

เนื้อหาของ 01011001 ได้ผสมผสานกับแนวคิดหลากหลายจากนิยายวิทยาศาสตร์ไว้แบบที่คอแนว Sci-fi คงคุ้นเคยกับมันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่อง ผู้สร้าง' ที่เป็นสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการสูงจากแดนไกลโพ้น เรื่อง Missing Link ของวิวัฒนาการมนุษย์ อุกกาบาตที่นอกจากนำพาความวินาศมาแล้ว ยังนำพาการกำเนิดใหม่มาด้วย ฯลฯ

นอกจากเรื่องราวที่ร้อยกันเป็น Concept album แล้ว อัลบั้มนี้ก็มีแบบฉบับของ Arjen อีกอย่างคือการที่เขาได้เชิญแขกรับเชิญจากหลายวงมาร่วมโปรเจกท์ โดยเฉพาะนักร้องที่มาร่วมขบวนกันคับคั่งโดยมีทั้งนักร้องนำชายหญิงจากวงเมทัลหลากหลายแนว แน่นอนว่า 01011001 จะต้องเป็นอัลบั้ม ร็อคโอเปร่า' อลังการอีกอัลบั้มหนึ่งของ Arjen อย่างไม่ต้องสงสัย

หากเทียบกับ The Human Equation ที่ให้นำหนักของเสียงร้องที่ตอบโต้กันแบบโอเปร่าแล้ว ทั้งการใช้เสียงร้องและดนตรีใน The Human Equation ฟังดูมีเอกลักษณ์ เต็มไปด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวา ขณะที่ 01011001 ฟังดูเยือกเย็น ทึมทืบ และไร้ชีวิต ซึ่งน่าจะเป็นความจงใจให้เข้ากับคอนเซปท์ที่แตกต่าง เพราะ สมการมนุษย์' นั้นมีการปะทะกันระหว่างความโกรธแค้น ความเจ็บปวด ความหวัง ความรัก ความรู้สึกผิด ความหยิ่งยโส ความปรารถนา การใช้เหตุผล ฯลฯ ขณะที่อัลบั้มหลังนี้พูดถึงสิ่งมีชีวิตแต่ไร้ชีวา-ปลอดความรู้สึกอย่างพวก Forever

ในช่วงแรกๆ ของอัลบั้ม เพลง Age of Shadow, Comatose, Liquid Eternity เป็นฉากบรรยายสภาพความมีชีวิตอย่างไร้ชีวาของ Forever และมี Forever จำนวนหนึ่งคิดอยากจะกลับไปมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดิม บางทีอาจถึงขั้นเฝ้าฝันจะกลับไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเกิดดับแบบเดิม ไม่ใช่พวกอมตะอย่างที่เป็นอยู่ ขณะที่ Forever อีกจำนวนหนึ่งทัดทาน...เพลงเปิดคือ Age of Shadow ทำออกมาได้หนักแน่นและเผยบรรยากาศของความเป็นจักรกลปลอดความรู้สึกได้อย่างดี

"Would you prefer the pain and suffering we had?
Would you prefer to be in peril, even dead?
Would you prefer to live the life we've loved to play?
Would you prefer to live a mortal life instead?"

"คุณอยากกลับไปมีความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานเช่นที่เคยมีน่ะหรือ?
คุณอยากกลับไปพบกับภัยอันตราย กระทั่งความตายน่ะหรือ?
คุณอยากกลับไป ใช้ชีวิตที่พวกเราละเลงเล่น?
คุณอยากกลับไป มีชีวิตเยี่ยงสัตว์โลกที่แก่ตายได้น่ะหรือ?"

- Liquid Eternity -

เพลงในอัลบั้มนี้เล่าเรื่องสลับกันไประหว่างฝ่าย Forever กับชีวิตของมนุษย์บนโลกในยุคร่วมสมัย ซึ่งโทนของดนตรีจะปรับให้ฟังง่ายและฟังดูร่วมสมัยตามเนื้อหาไปด้วย เช่นเพลง Connect the Dots เป็นเพลงที่ดนตรีเรียบง่ายและสะท้อนภาพชีวิตวัยทำงานของชนชั้นกลางไว้อย่างตรงไปตรงมา

"I hugged the wife and drove to work today
It was only a few miles
Was in a hurry but the lights were changing up ahead
So I stepped on the gas

I checked the web and left it on over night
Downloading all the latest files
Fear, revere, the torrent flows into my lap
And I disconnect"

 "ฉันกอดภรรยาก่อนขับรถออกจากบ้านไปทำงาน
ทั้งที่ระยะทางก็แค่ไม่กี่ไมล์
ฉันรีบมากแต่สัญญาณไฟก็เปลี่ยนอย่างไม่เป็นใจ
เลยเหยียบคันเร่งให้รถพุ่งไป

ฉันเปิดเว็บและปล่อยมันทิ้งไว้ทั้งคืน
เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ใหม่ล่าสุด
หวาดกลัวระคนยำเกรง ไฟล์ทอร์เรนต์ไหลมาสู่หน้าตัก
แล้วฉันก็หยุดเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์"

- Connect the Dots -

เพลงนี้จบด้วยประโยค "เราอาจจะตายในวันพรุ่ง แต่ก็มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้" (We're dying tomorrow. We're living for today.) อีกเพลงที่พูดถึงชีวิตมนุษย์ร่วมสมัยคือ Web of Lies บัลลาดนุ่มๆ ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวสองคนคือ PX กับ Simone ที่คุยกันผ่านอินเทอร์เน็ต

แม้ในเนื้อหาจะไม่สื่อไปในทางบวกหรือลบ แต่ชื่อเพลงมัน (ซึ่งจะแปลว่า โครงข่ายแห่งการหลอกลวง' หรือ เว็บแห่งการหลอกลวง' ก็ได้) ดูจะสะท้อนการมองโลกในแง่ร้ายของ Arjen อยู่พอสมควร

Arjen Lucassen

เพลง Beneath the Waves, Newborn Race และ Ride the Comet ก็เล่าเรื่องของการที่พวก Forever ต้องการสร้างชีวิตใหม่บนโลกโดยผ่านรหัสพันธุกรรมที่ส่งไปพร้อมกับอุกกาบาต สองเพลงแรกค่อยๆ บิวท์ส่งมาถึงเพลง Ride the Comet ที่หนักแน่นเต็มพลังร็อคโอเปร่าภายใต้ฉากแบบอวกาศล้ำยุค

มาจนถึง The Fifth Extinction ที่ทรงพลังไม่แพ้เพลงเปิดอัลบั้ม เล่าถึงอุกกาบาตที่ถูกส่งมาบนโลกจนทำให้เกิดการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของเจ้าโลกในยุคนั้น คือ ไดโนเสาร์ (เพลงจะเรียกอ้อมๆ ว่า Reptile-สัตว์เลื้อยคลาน) ตามด้วย Waking Dreams ที่มีคอรัสสวยๆ และโซโล่คีย์บอร์ดเพราะพริ้งพูดถึง Missing Link ที่ทำให้เกิดการวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์

The truth is in here ย้อนกลับมาเล่าเรื่องของมนุษย์ร่วมสมัย พูดถึงชายผู้หนึ่งชื่อ Mr.L คุยให้ฟังว่าได้ฝันเห็นภาพอนาคตที่เย็นยะเยือกไร้ชีวิต แต่พยาบาล (ซึ่งเสียงอย่างกับหุ่นยนต์) ก็บอกว่าเขาแค่เพ้อและควรได้รับการพักผ่อน เพลงที่ผมชอบมากอีกเพลงคือ Unnatural Selection ที่มี Forever สองฝ่ายเห็นการพัฒนาของมนุษย์แล้วมีความเห็นต่างกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามนุษย์เป็นชีวิตที่งดงาม ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าพวกนี้จะลุกขึ้นมาทำลายกันเองในที่สุด ลูกเล่นบางส่วนของเพลงนี้ฟังดู Sophisicate ไปหน่อย แต่นับว่าเป็นเพลงที่เรียบเรียงดนตรีได้ดีมากเพลงหนึ่งทีเดียว

"Can you see the fire in their eyes?
Can you hear the anguish in their cries?
Can you see the beauty in their eyes?
Can you sense the love within their hearts?
I can taste the freedom we once had
I can touch their pain when they feel sad
I can smell the fragrance of the air
I remember times we used to share"

"คุณมองเห็นไฟคุโชนในแววตาของพวกเขาไหม?
คุณได้ยินความรวดร้าวจากเสียงร้องของพวกเขาไหม?
คุณมองเห็นความงามในดวงตาพวกเขาหรือเปล่า?
คุณรู้สึกถึงความรักในหัวใจของพวกเขาไหม?
ฉันได้ลิ้มรสชาดของอิสรภาพที่พวกเราเคยมี
ฉันสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดยามพวกเขาเศร้า
ฉันได้กลิ่นหอมหวนอวลอยู่ในอากาศ
ฉันจดจำถึงวันเวลาที่พวกเราเคยใช้ร่วมกันได้"

- Unnatural Selection -

แต่ในอัลบั้มร็อคโอเปร่าที่เย็นเยือกทืมทึบก็ไม่ปล่อยโอกาสให้มองอะไรในแง่ดีกันมากนัก เพราะจุดจบของอัลบั้มนี้คือ The Sixth Extinction ที่ไม่ปราณีกับความรู้สึกอ่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น เป็นจุดจบแบบเดียวกับเรื่องวิหคเพลิงในภาคอนาคต

ผลงานชุดล่าสุดของ Ayreon นี้มีเนื้อหาที่เชื่อมโยงไปถึงอัลบั้มเก่าๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น The Final Experiment, Universal Migrator แม้กระทั่งอัลบั้มที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศอย่าง The Human Equation ก็มีเนื้อหาบางอย่างเชื่อมกับอัลบั้มนี้อยู่เหมือนกัน

ในประโยคสุดท้ายของอัลบั้ม The Human Equation คือ "Emotion...I Remember" (ความรู้สึกหรือ...ฉันนึกออกแล้ว) โดยที่ใน 01011001 เองส่วนหนึ่งก็พูดถึงการต่อสู้กันระหว่างความด้านชา กับความเป็นมนุษย์ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก

แน่นอนว่าจินตนาการเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ และในเรื่องเล่าแนววิทยาศาสตร์นี้เอง ไม่ว่ามันจะพูดถึงความวิจิตรสวยงามของเทคโนโลยี หรือโลกอนาคตที่น่าหวาดผวาก็ตาม มันก็เป็นจินตนาการของโลกในวันพรุ่ง ที่เชื่อมโยงกับโลกในวันนี้อยู่ไม่มากก็น้อย

ผมหวังแค่ว่า เราจะได้เห็นโลกในจินตนาการที่ผู้คนพ้นไปจากความงมงาย
ไม่ว่าจะจาก สมองกล' หรือ สมมติเทพ' ก็ตาม

 

 

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…