ดีเบตกรณีสวรรคต ร.๘ ระหว่าง จิตติ ติงศภัทิย์ vs หยุด แสงอุทัย
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๔๔/๒๔๙๗ (คดีสวรรคต ร.๘) กรณีนายเฉลียว จำเลย นั้น ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า "ได้ช่วยปกปิดไม่เอาความนั้นไปร้องเรียนขึ้นจนมีเหตุบังเกิดการประทุษร้ายแด่พระองค์"
นายจิตติ ติงศภัทิย์ เห็นว่า "การช่วยปกปิดไม่เอาความนั้นไปร้องเรียน ก็เรียกว่าช่วยปกปิดแล้ว" (ดู หมายเหตุท้ายฎีกา ใน คำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช ๒๔๙๗ ตอนที่ ๔, จัดพิมพ์โดยเนติบัณฑิตยสภา, ๒๔๙๗, หน้า ๑๔๒๐-๑๔๒๓.)
ทว่า นายหยุด แสงอุทัย ไม่เห็นพ้องกับการตีความดังกล่าวโดย นายหยุด เห็นว่า "คำว่า "ช่วยปกปิด" นั้นมีปัญหาว่าเพียงที่รู้ว่าจะมีผู้ประทุษร้ายจะถือว่าช่วยปกปิดหรือไม่ เห็นว่าไม่ควรจะถือเช่นนั้น จะต้องปรากฏว่าผู้กระทำได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการ "ช่วย" ปกปิด เช่น เจ้าพนักงานมาสอบถามถึงเรื่องที่เกี่ยวกับผู้คิดประทุษร้าย ก็แกล้งบอกข่าวไปผิดฯ เพื่อช่วยปกปิด" (หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗, พิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๔๙๗ โดย ตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งใน พ.ศ.๒๕๔๘, กรุงเทพฯ : วิญญูชน, หน้า ๒๔๑.)
จากความเห็นของนายจิตติ ติงศภัทิย์ เราจะพบว่านำหลักเรื่อง "ละเว้นกระทำ" มาใช้กับความผิดอาญาชั้นอุกฤษฎ์โทษ (โดยปกติการนำหลักนี้มาใช้ จะใช้ในคดีแพ่ง หรือถ้าในคดีอาญา ก็จะใช้กับลหุโทษเท่านั้น) หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการนำเอา "ระบอบความรับผิดโดยปราศจากความผิด" มาใช้เป็นเกณฑ์ในการเอาผิดบุคคล ระวางประหารชีวิตมนุษย์ได้ในคดีที่เกี่ยวกับกษัตริย์
ขณะที่นายหยุด แสงอุทัย นำเอาหลักเกณฑ์เรื่อง "งดเว้นกระทำ" ตามกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป มาใช้วินิจฉัยตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรโดยคำนึงถึงความสอดคล้องต้องกัน/ความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมาย.
ปล.ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ นายจิตติ ติงศภัทิย์ ได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ในรัชกาลปัจจุบัน.
____________________
หมายเหตุ
กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ มาตรา ๙๗ บัญญัติว่า
"ผู้ใดทะนงองอาจกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงต้องประหารชีวิต
ผู้ใดพยายามจะกระทำการประทุษร้ายเช่นว่านั้นมาแล้ว แม้แต่เพียงตระเตรียมการก็ดี สมคบกันเพื่อการประทุษร้ายนั้นก็ดี หรือสมรู้เป็นใจด้วยผู้ประทุษร้ายผู้พยายามจะประทุษร้ายก็ดี มันรู้ว่าผู้ใดคิดประทุษร้ายเช่นว่ามานี้ มันช่วยปกปิดไม่เอาความนั้นไปร้องเรียนขึ้นก็ดี ท่านว่าโทษมันถึงตายดุจกัน"