ถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล : เรื่องบันทึกการขออภัยโทษคดีสวรรคต
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
เนื่องจาก อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยตั้งข้อสงสัยต่อบันทึกของ อนันต์ พิบูลสงคราม ว่า จอมพล ป. ถวายฎีกาขออภัยโทษไปถึง ๓ ครั้ง แต่ทรงยกทั้งสามครั้ง - แต่ยังไม่มีหลักฐานอื่นมาโต้แย้งความจำหรือข้ออ้างของจอมพล ป. พิบูลสงคราม[ดู เชิงอรรถที่ ๕] ผมจึงถือโอกาสนี้ (เดิมตั้งใจเขียนเป็นข้อสังเกตถึงบันทึกของชาลีฯ กับ อนันต์ แต่นึกถึง สมศักดิ์ ขึ้นว่าเคยตั้งประเด็นนี้เหมือนกัน แต่ยังติด ? ปรัศนีย์ เอาไว้อยู่) นำเงื่อนไขทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น) ขึ้นมาหักล้างกับข้ออ้างดังกล่าว ขอเท้าความก่อนว่า สืบเนื่องจากปรากฏในหนังสือ "ในหลวงอานันท์ กับคดีลอบปลงพระชนม์" ของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ความว่า
"พระนิติกฤษณ์ประพันธ์ อธิบดีศาลอาญา ได้ชี้แจงว่า "หมดหน้าที่ของศาลแล้ว เพราะตามกฎหมาย เมื่อคดีถึงที่สุด ก็เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติตามระเบียบที่จะต้องนำจำเลยไปประหารชีวิตภายใน ๖๐ วันเว้นแต่จะมีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ซึ่งกระทำได้เพียงครั้งเดียว ถ้าฎีกานั้นยกก็ให้ดำเนินการประหารทันที"
อีกสามวันต่อมา ได้มีคำสั่งด่วนจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ไปยังขุนนิยมบรรณสาร ผู้บัญชาการเรือนจำบางขวาง แจ้งให้ทราบว่าจะย้ายนักโทษประหารคดีลอบปลงพระชนม์ ร.๘ มาไว้ที่บางขวางในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๙๗
วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ สามนักโทษประหารจึงได้ยื่นทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. โดยผ่านขุนนิยมบรรณสาร
ในเรื่องการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกานี้ บรรดานักกฎหมายได้มีความเห็นแตกต่างกันออกไปหลายกระแส ดร.หยุด แสงอุทัยได้พิจารณาว่า สิทธิในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาย่อมหมดไปแล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงของระบอบการปกครอง ในความเห็นของ ดร.หยุด แสงอุทัย ว่าสิทธิการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของนักโทษประหารคดีลอบปลงพระชนม์หมดไปแล้ว
ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับการถวายฎีกาเป็นเรื่องลับที่สุด ไม่มีใครทราบความคืบหน้าในเรื่องนี้"[๑]
จากข้อความข้างต้น มีข้อน่าพิจารณาในประเด็นการขอพระราชทานอภัยโทษคดีสวรรคต อยู่ ๒ เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่หนึ่ง. ตามบันทึกของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ขัดกับบันทึกของ อนันต์ พิบูลสงคราม (ลูกชายคนโตของจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ซึ่ง อนันต์ฯ ได้บันทึกว่า ตนได้สอบถามจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดังนี้
"ข้าพเจ้าจึงระงับใจไม่ได้ที่ต้องเรียนถามจอมพล ป.พิบูลสงคราม วันหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ในฐานะที่เวลานั้นท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ เหตุใดท่านจึงไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้จำเลยทั้งสามคนที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิต ท่านตอบข้าพเจ้าอย่างหนักแน่นว่า "พ่อได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง ได้พยายามทำหน้าที่ของพ่อจนที่สุดแล้ว""[๒]
จากบันทึก อนันต์ พิบูลสงคราม มีข้อน่าพิจารณา ๓ ประการ
ประการที่หนึ่ง. อันที่จริง จอมพล ป. ไม่มีอำนาจขออภัยโทษได้โดยตรง เพราะในขณะนั้น พลตรี บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย[๓] เป็นผู้มีอำนาจแนะนำขอให้พระราชทานอภัยโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่บังคับใช้อยู่ในเวลานั้น (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) ส่วน เผ่า ศรียานนท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย)อย่างไรก็ตาม ในเชิงองค์กร รัฐมนตรีย่อมอยู่ในอาณัตินายกรัฐมนตรี ในประการนี้คำบอกเล่านี้ยังคงอธิบายได้ในทางกฎหมาย
ประการที่สอง. ประเด็นที่กล่าวว่า "ขออภัยโทษไปถึงสามครั้ง" ตามที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวนั้น ถ้าเป็นเรื่องจริง ก็คงอธิบายในทางกฎหมายได้ว่า การยื่นขออภัยโทษในครั้งที่ ๒ และ ๓ นั้น มีค่าเป็น "ศูนย์" (null) ในระบบกฎหมาย เนื่องจากตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเวลานั้น บัญญัติให้ในกรณีที่จำเลยถูกพิพากษาลงโทษให้ประหารชีวิตและคดีถึงที่สุด กำหนดให้ขออภัยโทษได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น (มาตรา ๒๖๒)
กล่าวคือ ตามขั้นตอนในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น) เจ้าหน้าที่ต้องนำตัวจำเลยไปประหารชีวิตเมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วันนับแต่วันฟังคำพิพากษา (มาตรา ๒๖๒, มาตรา ๒๖๗)
ถ้าระหว่างนั้น จำเลยหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ยื่นคำแนะนำแก่กษัตริย์เพื่อขออภัยโทษ ในกรณีเช่นนี้ กฎหมายกำหนดให้ "ขยายระยะเวลารอประหารชีวิต" ออกไปอีก ๖๐ วันนับแต่รัฐมนตรียื่นขออภัยโทษ
ประการที่สาม. เมื่อขออภัยโทษไปแล้ว หากในหลวง "ปฏิเสธ" ที่จะอภัยโทษ เช่นนี้ กฎหมายกำหนดให้จัดการประหารโดยทันทีก็ได้ โดยไม่ต้องรอถึง ๖๐ วัน (มาตรา ๒๖๒) นั่นหมายความว่า การที่จำเลยในคดีสวรรคต ถูกประหารชีวิตในวันที่ ๑๘ ก.พ. ๒๔๙๘ ก็ถือว่า ทางรัฐมนตรี "ยื้อเวลา" รั้งรอเวลาออกไปไว้ให้เต็มที่เหมือนกัน โดยนำเรื่องเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนั้น[๔] และ ผิน ชุณหะวัณ เป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแทน
ทั้งนี้ บันทึกของ อนันต์ พิบูลสงคราม นี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ได้หยิบยกเรื่อง "ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ" ถึง ๓ ครั้ง มาอ้างอิงแต่ก็ได้ตั้งข้อสงสัยต่อบันทึกดังกล่าวเหมือนกันว่า "อันที่จริงโดยสามัญสำนึกใครที่อ่านเรื่องเล่านี้แล้ว ควรจะต้องสงสัยว่า การขอพระราชทานอภัยโทษในคดีเดียวจะสามารถทำได้ "ถึงสามครั้ง" หรือ? แต่ตราบใดที่ไม่มีหลักฐานอื่น โดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาโต้แย้งความจำ (หรือข้ออ้าง) ของจอมพล ป.ก็คงทำได้เพียงตั้งข้อสงสัยเท่านั้น"[๕] ประเด็นที่ สมศักดิ์ฯ ตั้งข้อสงสัยต่อบันทึก ก็คงได้คลี่คลายโดยมี "ลายลักษณ์อักษร" คือ กฎหมาย เป็นเครื่องช่วยโต้แย้งความจำหรือข้ออ้างดังกล่าวตามที่ได้อธิบายไว้ในบทความนี้ (รัฐมนตรีฯ ต้องยืนบนความเสี่ยงว่า ถ้าทรงยกฎีกาทิ้ง ก็ต้องประหารโดยพลัน - เว้นแต่จะชะลอไว้ใกล้ระยะเวลายืดเวลาออกไป คือ ใกล้ ๖๐ วันพอสมควร แล้วยื่นฎีกาและกระทุ้งไปยังราชเลขาธิการ - น่าจะเป็นการช่วยนักโทษมากกว่า หรือ ทรงยกฎีกาไปเสียแล้ว แต่นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีช้าๆ ก็เป็นการช่วยที่ดีเหมือนกัน)
เรื่องที่สอง. ความน่าจะคลาดเคลื่อนในการบันทึกความเห็นของหยุด แสงอุทัย (ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลจอมพล ป.) ที่ปรากฎในหนังสือของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์
ผมเห็นว่า ชาลีฯ คงเข้าใจผิด ในการบันทึกเรื่อง ดร.หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า "สิทธิในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาย่อมหมดไปแล้ว โดยการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง" ที่ผมเห็นว่าชาลีฯ คงเข้าใจผิดก็เพราะว่า ดร.หยุด เป็นมือร่าง "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕" เอง[๖] ซึ่งในมาตรา ๖ (๔) ประกอบมาตรา ๕๕ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (๒๔๗๕) ซึ่งบัญญัติว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ" (โดยคำแนะนำของรัฐมนตรี) กล่าวคือ ดร.หยุด คงจะชี้ว่า "กษัตริย์ปราศจากอำนาจดุลพินิจ ที่จะเลือกปฏิเสธคำแนะนำของรัฐมนตรี" กล่าวคือ "สิทธิที่หมดไปแล้วนั่นคือ สิทธิในการตัดสินใจของกษัตริย์" นั่นเอง อำนาจโดยแท้เป็นของผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คำสัมภาษณ์ควรจะออกมาในรูปนี้มากกว่าในแง่จุดยืนและบริบทของ หยุดฯ เอง (ในปลายปีต่อมา อ.หยุด ก็อธิบายประเด็นนี้ "อำนาจและความรับผิดชอบ" แล้วก็โดนคดีหมิ่นกษัตริย์) อีกทั้งโดยท่าทีของ หยุด แสงอุทัย ในขณะนั้นก็มีความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาคดีสวรรคต[๗].
______________________________
เชิงอรรถ
[๑] ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, ในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์. กรุงเทพฯ : พีจี, ๒๕๑๗, หน้า ๑๑๒.
[๒] อนันต์ พิบูลสงคราม, จอมพล ป. พิบูลสงคราม เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด, ๒๕๔๐, หน้า ๑๙๐.
[๓] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕ - ๒๕๑๗). พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : รัฐกิจเสรี, ๒๕๑๗, หน้า ๗๓๐.
[๔] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ๕๐ ปีการประหารชีวิต ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘. ใน ฟ้าเดียวกัน. ปี ๓ ฉบับ ๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๘) หน้า ๗๓. (ดาวน์โหลดใน http://www.enlightened-jurists.com/page/136 )
[๕] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, เพิ่งอ้าง, หน้า ๖๘, และดู เชิงอรรถที่ ๖ ของบทความดังกล่าว.
[๖] ดู พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, ดีเบตกรณีสวรรคต ร.๘ ระหว่าง จิตติ ติงศภัทิย์ vs หยุด แสงอุทัย (ดู http://blogazine.in.th/blogs/phuttipong/post/4091 )
[๗] หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.๒๕๑๑) เรียงมาตรา และคำอธิบายรัฐธรรมนูญทั่วไปโดยย่อ. พิมพ์ครั้งที่ ๑, พระนคร : กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๑๑, หน้า (๘)-(๙).