หลังจากอุตสาหรรมเหมืองแร่หดตัวลงและค่อย ๆ สลายไปในช่วงปี พ.ศ.2518 จังหวัดภูเก็ต ก็หันมาให้ความสนใจและเปิดตัวอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขึ้นในปี พ.ศ.2522 เพื่อเป็นตลาดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประเทศไทยและขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นปรากฎการณ์จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวของโลก กระนั้นก็ตามในห้วงเวลาไม่นานนักของการขยายตัว ผู้คนทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ทั้งในประเทศและทั้งข้ามพรมแดนรัฐชาติก็หลั่งไหลข้ามฝั่งมาเสริมความนิยมให้กับเมืองการท่องเที่ยวแห่งนี้อย่างไม่หยุดหย่อนให้ท้องถิ่นได้หยุดพัก จนส่งผลให้จังหวัดภูเก็ตเจริญเติบโตจากเมืองท้องถิ่นเป็นเมืองของโลกได้ในระยะเวลาไม่นานนัก
อย่างที่รับรู้ว่า โลกาภิวัตน์ข้ามพรมแดนนั้นได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเมืองหลักทั่วโลกที่ต่างก็รองรับการย้ายถิ่นฐานข้ามชาติของผู้คนที่ข้ามชาติมาในหลายรูปแบบทั้งในรูปของนักท่องเที่ยวหรือแรงงานข้ามชาติที่เลื่อนไหลไปมา ซึ่งกล่าวได้ว่าทุกวันนี้ "โลกาภิวัตน์" เริ่มเป็นคำที่คุ้นหูผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทางสังคมศาสตร์ โลกาภิวัตน์ถูกนำมาใช้ในการสร้างกรอบทางความคิดที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ทั่วโลกโดยไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้เพราะโลกาภิวัตน์ได้ทลายพรมแดนของทุกอย่างลงแล้วเสียสิ้นไปพร้อม ๆ กัน ทั้งพรมแดนทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรมแดนทางวัฒนธรรมและการเปิดเสรีเพื่อการส่งออกวัฒนธรรมจำหน่ายในต่างแดนผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ของโลกโลกาภิวัฒน์ข้ามพรมแดนรวมถึงส่งออกวัฒนธรรมผ่านผู้คนที่เดินทางย้ายถิ่นข้ามชาติด้วย ฉะนั้นจึงไม่แปลกนักที่จังหวัดภูเก็ตนั้นหลากหลายไปด้วยผู้คนที่ผสมกลมกลืนทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีหมู่บ้านข้ามท้องถิ่นดังเห็นได้แพร่หลายในจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน
เรื่องของโลกาภิวัตน์ข้ามพรมแดนั้น Appadurai ชี้ให้เห็นว่าในโลกของยุคโลกาภิวัตน์นั้นผู้คนไม่ได้ถูกจำกัดขอบเขตอยู่แต่ภายใต้เส้นแบ่งพรมแดนของรัฐชาติสมัยใหม่เท่านั้น หากแต่มีการอพยพโยกย้ายและเดินทางไปมาหาสู่กันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การไหลลื่นของวัฒนธรรมของผู้คนจึงถูก ปฏิบัติการผ่านกลไกหลักห้าอย่างด้วยกัน คือ 1.เครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ (ethnoscapes) ซึ่งจะเกิดการเคลื่อนไหวของผู้คน เช่น นักท่อง เที่ยว คนอพยพ คนถูกเนรเทศ คนย้ายถิ่นอาศัย และคนทำงาน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของมวลชนจำนวนมาก 2.ระบบการสื่อสาร (mediascapes) กล่าวคือ ภาพลักษณ์ของความจริงถูกสร้างขึ้นและถูกเผยแพร่ออกไปมากมายโดยหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ พรมแดนสื่อทำให้เรื่องราวของผู้คนจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลกเป็นที่ รับรู้ในวงกว้าง และทำให้คนท้องถิ่นมีโอกาสเผยแพร่เรื่องราวของตัวเองได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 3.ระบบเทคโนโลยี (technoscapes) ของการผลิต 4.เครือข่ายเงินทุนหรือธุรกิจ (financescapes) ที่มีการหลั่งไหลของเงินตราจำนวนมากในตลาดการค้าการลงทุน การเคลื่อนไหวของเงินตรากลายเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดขอบเขต เพราะนายทุนต้องการผลกำไรมากโดยต้องติดต่อกับต่างประเทศ มิใช่ลงทุนในประเทศอย่างเดียว และ 5.เครือข่ายอุดมการณ์ (ideoscapes)
บทความชิ้นนี้ผู้เขียนจึงอยากจะชวนให้ผู้อ่านได้มองเห็นกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งที่ข้ามพรมแดนของรัฐชาติเข้ามาสร้างชุมชนใหม่ขึ้นมาในรูปแบบของหมู่บ้านเรือสำราญ หรือนิคมเรือยอร์ชที่สร้างมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่สิ่งที่สนใจให้คิดต่อนั้นไม่เพียงแต่ปรากฎการณ์ชุมชนข้ามพรมแดนของกลุ่มทุนที่ข้ามพรมแดนมาเท่านั้น หากแต่เพราะทุนข้ามพรมแดนเหล่านี้ล้วนข้ามมาเชื่อมต่อและสัมพันธ์ทุนท้องถิ่นพร้อมกับสงครามการแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นกับชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย
มากไปกว่านั้นสงครามการแย่งทรัพยากรครั้งนี้ยังต่างไปจากเดิมมาก ก็คือที่ผ่านมามันเป็นเรื่องระหว่างชุมชนกับทุนท้องถิ่น ใหญ่สุดก็คือทุนชาติ และตัวประเด็นปัญหามันซึ่งน่าเห็นได้เลยในพื้นที่เดียวกัน แต่ว่าปัญหาที่เจอกรณีเรือยอร์ชมันเป็นเรื่องของชุมชนกับกลุ่มเศรษฐีโลก หากแต่เป็นเสมือนกับสงครามการแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นของคนจนของโลกกับกลุ่มคนรวยสุดของโลกมาสู้กันบนพื้นที่ทรัพยากรในหมู่บ้านเล็ก ๆ
อ่าวพังงา พื้นที่ขยายตัวของการท่องเที่ยวเรือรำราญ
กล่าวได้ว่าหลังภัยภิบัติคลื่นสึนามิโถมถล่มฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ตเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 การท่องเที่ยวทางฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต ตั้งแต่เขตหาดกะตะ หาดกะรน หาดป่าตอง และยาวมาถึง เขาหลักเริ่มซบเซา พื้นที่การท่องเที่ยวเสียหายจำนวนมากประกอบกับหลังการฟื้นฟูแล้ว อัตราการขยายพื้นที่ก็เต็มเอียดจนไม่สามารถขายออกไปได้มากนักเป็นเหตุให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยย้ายฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาอยู่ในอ่าวพังงา ทั้งนี้ก็เพราะว่าโดยสภาพพื้นที่ของอ่าวพังงาที่ต่อเนื่อง 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ นั้นปลอดภัยจากการโถมซัดของคลื่นยักษ์สึนามิและเหมาะแก่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ
ความจริงแล้วท่าเรือสำราญนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีการเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงทศวรรษที่ 2520 ท่าเรือแห่งแรกอยู่ตรงข้ามบ้านแหลมหินซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับจังหวัดพังงา เวลาข้ามสะพานสารสินก็จะเห็นท่าเรือยอร์ชแห่งแรก ท่าเรือนี้มีการซื้อขายเปลี่ยนเจ้าของแล้วหลายชั้น ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นของคุณประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ แล้วก็ขายหลายทอดจนไม่รู้เป็นของใครในปัจจุบัน และมันก็มีการขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังปี 2535 ก็ยังมีการขยาย แต่ว่ามันไม่ได้ขยายโดดๆ มันขยายโดยเชื่อมต่อกับตัวนโยบายระหว่างประเทศด้วย ขยายโดยเชื่อมโยงกับเรื่องข้อตกลงทางการค้าหรือ FTA ด้วย ในปี 2538 ตัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องเรือยอร์ชหรือว่าการท่องเที่ยวประเภทนี้ก็คือ WTO ซึ่งมีบทบาทมาก ทีนี้มันจะไม่เกิดผลกระทบมากนักถ้ามันไม่ทะลักเข้ามาในอ่าวพังงา
หลังจากนั้นก็ขยับขยายเพิ่มจำนวนขึ้นจนในปัจจุบันมีท่าเรือสำราญประเภทนี้แล้วจำนวน 3 แห่งใหญ่ ๆ แล้วในอ่าวพังงา ได้แก่
1. ภูเก็ต โบ๊ท ลากูน ซึ่งเป็นที่จอดเรือยอร์ช ที่จอดได้ 170 ลำ แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่ง เป็นที่จอดเรือแบบนอกประกอบด้วย ที่จอดเรือสาธารณะรวมกับที่พักจะเลือกแบบเป็นบ้านส่วนตัวหรือเป็นพักแบบกลุ่ม ส่วนแบบที่สอง เป็นที่จอดเรือภายใน เฉพาะผู้ที่ต้องการที่พักอาศัยแบบส่วนตัว พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน รวมถึงอู่เรือที่ทันสมัยด้วย
2. รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ซึ่งเป็นท่าจอดเรือที่มีพร้อมไปด้วยการบริการสำหรับเรืออย่างครบครัน รองรับเรือได้ถึง 150 ลำ ตั้งแต่เรือใบลำเล็กๆ ไปถึงเรือยอร์ชขนาดใหญ่ และยังเป็นที่หลบภัยจากมรสุมได้เป็นอย่างดี
3. ยอร์ช เฮเว่น ซึ่งเป็นที่จอดเรือที่แรกบนเกาะภูเก็ต และมีการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบสำหรับเรือยอร์ชขนาดใหญ่ มีการจัดการแบบสากลและได้มาตรฐาน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำจืดสะอาด ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งการรักษาความปลอดภัย มีระบบที่คอยดูแลจัดการและคอยให้ความสะดวกสบายแก่ผู้มาใช้บริการ
ซึ่งดังที่กล่าวถึงเรื่องการกำลังขยับขยายฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรือสำราญมายังอ่าวพังงาแล้วข้างต้นก็พอจะสังเขปได้ถึงภาพกว้างของการขยับขยายเพื่อรองรับการเติบโตของโลกาภิวัตน์ได้ในอนาคต หากแต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงของทุนโลกาภิวัตน์ข้ามพรมแดนนั้นไม่ได้มาพร้อมภาพความหรูหราของเรือสำราญหรือโรงแรมระดับ 5 ดาวเพียงอย่างเดียว แต่ทุนประเภทนี้ยังมาพร้อมกับสงครามการแย่งชิงทรัพยากรกับชาวบ้านท้องถิ่นในฐานะที่เป็นทรัพยากรของโลกอีกด้วย
เมื่อโครงการหมู่บ้านเรือสำราญ ปะทะ ท้องถิ่นแหลมหินอ่าวพังงาบนฐานทรัพยากร
การเข้ามาสร้างหมู่บ้านข้ามท้องถิ่นของเหล่าบรรดามหาเศรษฐีที่ข้ามพรมแดนเพื่อมาแสวงหาความสุขและความสวยงามจากทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวพังงาเพียงอย่างเดียวของทุกวันนี้คงไม่สร้างปัญหาความไม่สบายใจอะไรมากนักให้กับคนท้องถิ่น หากการข้ามพรมแดนมานั้นไม่ได้มาพร้อมผลกระทบกับแหล่งทรัพยากรประมงพื้นบ้านของท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งที่ต้องพึ่งพิงอยู่กับทรัพยากรทางทะเลเป็นสำคัญ
ฉะนั้นจึงเห็นได้ชัดว่ามีการให้ความหมายของทะเลของทั้งสองฝ่ายที่ต่างกัน กล่าวคือเหล่านักท่องเที่ยวบรรดามหาเศรษฐีที่ข้ามพรมแดนมาแสวงความสุขนั้นให้ความหมายของทรัพยากรว่าความสวยงาม เป็นรสนิยมที่หรูหรากับเรือสำราญ แต่สำหรับชาวบ้านแหลมหินทรัพยากรนั้นหมายถึงที่ทำกิน หมายถึงวิถีวีชิต และเหตุดังกล่าวนั้นจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับทุนโลกาภิวัตน์ที่เปิดเสรีให้ผู้คนไหลผ่านช่องทางต่าง ๆ มาแย่งชิงทรัพยากรกันบนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
แม้ว่ากระแสและกรณีการไหลข้ามมาสร้างท่าเรือสำราญของทุนโลกาภิวัตน์ข้ามพรมแดน ณ บ้านแหลมหินในช่วงที่ผ่านมานั้น ทุนได้เลือกสรรพื้นที่เอกชนเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศม่ได้มีการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ หากแต่ชาวบ้านก็รู้ว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเหล่านั้นเดินทางมาทางทะเลกับเรือสำราญ แน่นอนเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อเรือสำราญที่บางลำราคาแพงพอ ๆ กับนิคมอุตสาหกรรมนับ 10,000 ล้าน เรือก็ลำใหญ่เกินจนเข้าฝั่งไม่ได้จึงจำเป็นต้องสร้างสะพานยื่นออกมีในทะเลซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวมเพื่อรองรับการจอดเรือสำราญที่ไม่สามารถเข้าฝั่งได้ ในขณะที่การสร้างสะพานนั้นก็จะกีดขวางการทำประมงชายฝั่งของชาวบ้าน จึงเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องของสิทธิการเข้าถึงและสิทธิการใช้ประโยชน์ขึ้นมา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอันจะส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้
ฉะนั้นชาวบ้านจึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างสะพานท่าจอดเรือเพื่อปกป้องทรัพยากรส่วนรวมของชุมชนเรื่อยมา