เรียบเรียงจาก Sarah Leonard. 2006. “pornography and obscenity.” In Palgrave Advances in the Modern History of Sexuality, edited by Matt Houlbrook and Harry Cocks, 180-205. London: Palgrave Macmillan.
แปลและเรียบเรียงโดย orgasmography
กระบวนการเปลี่ยนรูปโฉมของการศึกษาทางประวัติศาสตร์ในคริสต์ทศวรรษ 1950-80 (the transformation in historical studies: 1950-80)
บางทีมันอาจไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่คำถามและแหล่งข้อมูลต่างๆ เหล่านั้น (หมายถึงวรรณกรรมเชิงสังวาส) กลายมาเป็นสิ่งที่ดูจะสำคัญขึ้นมาสำหรับนักวิชาการในช่วงทศวรรษ 1960 และ ’70 อาจกล่าวได้ว่า งานของ Marcus และ Foxon เขียนขึ้นในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง สำหรับกระแสเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกต่อประเด็นเรื่องการเปิดกว้างขึ้นในทางเพศนั้นก็ตามติดมาจากความพยายามอย่างเป็นระบบของกลุ่มเฟมินิสต์ที่ยืนกรานว่า เรื่องเกี่ยวกับเพศ เพศวิถี เพศภาวะ และประเด็นเรื่องการเจริญพันธุ์นั้นเป็นประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ ในทำนองเดียวกันกับนักวิชาการเพศศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 1920 และ ’30 งานเขียนของนักประวัติศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 1960 และ ’70 จึงเป็นการริเริ่มการศึกษาว่าด้วยเพศและประวัติศาสตร์ของเรื่องเพศในห้วงขณะที่ความหลากหลายในทางประวัติศาสตร์ของเพศวิถีเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น
อย่างไรก็ตาม เราควรจะระมัดระวังในการทำความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างแวดวงวิชาการกับบริบททางสังคม ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจชวนให้คิดไปถึงคำถามและวิธีการทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ แต่มันก็ไม่ได้กำหนดประเด็นทางวิชาการในลักษณะที่จะชัดเจนขนาดนั้น ในระหว่างทศวรรษ 1960 และ ’70 ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระดับญาณวิทยา (epistemology) และวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่นับได้ว่าส่งผลต่อการขยายตัวของความสนใจในประเด็นว่าด้วยความลามกอนาจารและตัววรรณกรรมเชิงสังวาส
ในส่วนต่อๆ ไป เราจะได้ทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญในการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมถึงวิธีการทำความเข้าใจของทั้งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในการตั้งคำถามต่อ “ความรู้” (knowledge) และความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับอำนาจ (power) การเปลี่ยนแปลงของ “ความรู้” ในที่นี้นั้นเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจถึงสาเหตุและกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การทำงานของนักประวัติศาสตร์อาชีพภายในช่วงทศวรรษ 1980 และ ’90 จึงมีการใช้งานเขียนที่ “หยาบคาย” (scurrilous) “ลามกอนาจาร” (obscene) หรือสื่อเชิงสังวาสในฐานะที่เป็นเอกสารหลักฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆ
แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เราควรจะพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ 3 ประการ ในทศวรรษที่ 1960 และ ’70 ที่จะช่วยปูทางไปสู่การทำให้สื่อเชิงสังวาสและสื่อลามกอนาจารกลายมาเป็นประเด็นหรือข้อมูลอันล้ำค่าในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ประการแรก การปรากฏขึ้นของแนวการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม (social history) และต่อมาคือประวัติศาสตร์วัฒนธรรม (cultural history) ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากความเคลื่อนไหวในแวดวงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่สำคัญอย่างการศึกษาในสกุลอันนาลส์ (Annales School) ประการที่สอง การขยายตัวของอิทธิพลของกระแสความคิดที่เรียกรวมๆ ว่า “หลังโครงสร้างนิยม” (poststructuralist) ในทางสังคมศาสตร์ และประการที่สาม ความสำเร็จของนักวิชาการที่สนใจศึกษาในประเด็นใหม่ๆ ของประวัติศาสตร์สตรี, ประวัติศาสตร์เพศภาวะ, และประวัติศาสตร์เพศวิถี
อิทธิพลประการที่หนึ่งนั้นก่อตัวขึ้นภายในใจกลางของวิชาชีพประวัติศาสตร์เอง ซึ่งกล่าวได้ว่าวิชาประวัติศาสตร์นั้นก็เดินทางมาถึงตรง “ทางแยก” ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดังที่นักประวัติศาสตร์อย่าง Fernand Braudel กล่าวไว้ว่า “โลกใบใหม่... ต้องการประวัติศาสตร์แบบใหม่” นักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยเริ่มรับไม้ต่อจากนักวิชาการที่ทรงอิทธิพลในสกุลอันนาลส์ อาทิ Lucien Febvre, Marc Bloc, Fernand Braudel, และ Emmanuel Le Roy Ladurie ด้วยบรรยากาศของการผ่านสงครามโลกสองครั้งรวมไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกี่ยวพันกันนั้น นักวิชาการจำนวนไม่น้อยเห็นว่าโลกใบใหม่หลังโฮโลคอสต์, หลังระเบิดปรมาณู, รวมถึงการขยายตัวของภาวะหลังอาณานิคม ต้องการประวัติศาสตร์ใหม่ ด้วยความคิดที่ว่า เรื่องราวของความสำเร็จของความก้าวหน้า, วิทยาศาสตร์, และอารยธรรม อันเป็นแนวคิดที่วางกรอบการทำความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ในโลกตะวันตกดูเหมือนจะถึงจุด “ล้มละลาย” ไปแล้ว
ตามความคิดของนักประวัติศาสตร์สกุลอันนาลส์ แนวทางสำคัญอันหนึ่งของประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่ว่านี้ต้อง “เปลี่ยน” จุดสนใจออกไปจากประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สำคัญๆ (history of events) กล่าวคือ หันเหออกจากเรื่องของบุคคลสำคัญ กษัตริย์ และการสงคราม โดยให้หันไปพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวและโครงสร้างเชิงลึกที่ก่อรูปก่อร่างภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์แทน ความโดดเด่นในงานของ Braudel อยู่ที่การริเริ่มศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง” (unchanging history) อาทิ ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศ แต่ทว่าในช่วงทศวรรษ 1960 นักประวัติศาสตร์สกุลอันนาลส์รุ่นใหม่ๆ เริ่มที่จะไปสนใจสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ของความรู้สึกนึกคิด” (history of mentalities) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบโครงสร้างของความคิดที่ก่อรูปก่อร่าง “กรอบ” การมองและทำความเข้าใจโลกของผู้คน โดยเฉพาะที่หมายถึงผู้คนธรรมดาๆ ทั่วไปในสังคม (‘ordinary’ people) หรือคนที่ไม่ใช่ชนชั้นนำ (non-elites) ในการจะทำเช่นนั้น นักประวัติศาสตร์สกุลอันนาลส์จึงหันไปหาแหล่งข้อมูลใหม่ๆ และเริ่มที่จะหยิบยืมวิธีการของนักสังคมวิทยาในการศึกษาโครงสร้างที่ก่อรูปการดำรงอยู่ทางสังคมของผู้คน และวิธีการของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษากลุ่มคนที่ไม่ใช่ชนชั้นนำในสังคม รวมถึงการศึกษาผ่าน “ปากคำ” ของผู้คน (oral sources)
นักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้ (หมายถึงสกุลอันนาลส์) เริ่มที่จะเลือกประเด็นศึกษาที่เห็นว่า “น่าศึกษา” ในแบบที่นักประวัติศาสตร์รุ่นก่อนหน้าอาจเห็นว่าเป็นเรื่องที่ “คิดไม่ถึง” หรือกระทั่ง “พ้นไปจากจินตนาการ” (inconceivable) ใน Montaillou งานชิ้นสำคัญของ Emmanuel Le Roy Ladurie ได้เข้าไปพิจารณาประเด็นอย่าง ภาษากาย (body language) เรื่องเกี่ยวกับวิถีทางเพศ ความรัก และการแต่งงานใน langue d’oc ยุคกลาง ประเด็นเหล่านี้ถือได้ว่าไม่เคยอยู่ในขอบข่ายการศึกษาประวัติศาสตร์ “กระแสหลัก” มาก่อน ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ก่อนหน้านั้น คำถามทำนองนี้ดูจะไม่ค่อยสำคัญนักต่อการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ในแง่นี้ ประวัติศาสตร์สังคม (social history) ซึ่งนับว่าเติบโตมาจากสกุลอันนาลส์ ประกอบกับกรอบการทำความเข้าใจและคำถามแบบมาร์กซิสต์ แสดงให้เห็นว่า นักประวัติศาสตร์เริ่มที่จะสนใจการเมืองแบบประชานิยม (popular politics) และประเด็นว่าด้วยความชอบธรรม (legitimacy) กระบวนการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์การเมือง (โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปสู่การมองระบบระเบียบ (political order) และความไร้ระเบียบ (disorder) ทางการเมือง ผ่านการเมืองแบบประชานิยม) นับได้ว่าเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่นักประวัติศาสตร์เริ่มหันไปหาประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมลามกอนาจารและหยาบคาย ซึ่งจะเป็นประเด็นที่กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น จะพิจารณาถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ อีกสองกระแสที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างนักประวัติศาสตร์กับประเด็นว่าด้วยความลามกอนาจารและสื่อเชิงสังวาสเสียก่อน
อิทธิพลประการที่สองในวิชาชีพประวัติศาสตร์ที่ส่งผลให้สื่อเชิงสังวาสกลายมาเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการศึกษานั้นก็ได้แก่อิทธิพลจากหนังสือของ Michel Foucault (โดยเฉพาะ Discipline and Punish และ Madness and Civilization) ในปี ค.ศ. 1976 Foucault ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของชุด The History of Sexuality ความสำคัญของงานของ Foucault นั้นก็ยากที่จะประเมินค่าสูงเกินความเป็นจริง (overestimate) งานของ Foucault มีอิทธิพลต่อความสนใจในเรื่อง “ลามกอนาจาร” ที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่นักประวัติศาสตร์ด้วยหลายเหตุผลด้วยกัน อิทธิพลดังกล่าวอาจทำความเข้าใจได้ดีผ่านการพิจารณาข้อวิพากษ์ความคิดแบบเสรีนิยม (Liberalism) และความคิดว่าด้วยแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) ของ Foucault ซึ่งนับได้ว่าเป็นข้อวิพากษ์ที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ของสื่อเชิงสังวาสและความลามกอนาจาร อย่างไรก็ตาม คำถามยังคงอยู่ที่ว่า แล้วอะไรคือองค์ประกอบของข้อวิพากษ์ใหม่นี้ที่มีต่อความเชื่อพื้นฐานของแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก และข้อวิพากษ์นี้เสนอแนะแนวทางการศึกษาใหม่ๆ สำหรับการศึกษาสื่อเชิงสังวาสและลามกอนาจารได้อย่างไร
ต่างไปจากความคิดความเชื่อโดยทั่วๆ ไปของผู้คน Foucault นั้นเห็นว่า การทำความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับเพศในโลกตะวันตกนั้นไม่ได้เป็นไปด้วย “ความเงียบ” (silence) และการ “กดบังคับ” (repression) ทว่าลักษณะสำคัญของสังคมตะวันตกนั้นอยู่ตรงที่การมีพื้นที่อันโดดเด่นและเฉพาะเจาะจงที่จะพูดในเรื่องที่เกี่ยวกับเพศอยู่หลายพื้นที่ด้วยกัน ทั้งในการสารภาพบาป ในห้องวินิจฉัยทางการแพทย์ และแพทย์จิตเวชศาสตร์ เมื่อมองข้ามเวลา การเปิดเผยเปิดเปลือยเรื่องราวความเป็นจริงว่าด้วยเรื่องเพศไปอย่างช้าๆ ทีละเล็กละน้อยนั้นก็จัดว่าเป็นสิ่งเดียวกับการเปิดเปลือยความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวตนของผู้คน มากไปกว่านั้น สังคมตะวันตกยังมีการ “พูด” เกี่ยวกับเรื่องเพศภายใต้การจัดการของพื้นที่ทางกายภาพ ตัวอย่างเช่น ในบ้านของชนชั้นกลางวิคตอเรียน การพูดเรื่องเพศนั้นก็เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่นำเด็กออกไปอยู่ไกลจากห้องนอนของพ่อแม่ผู้ปกครอง และสร้างนัยความหมายที่ว่า “อะไรที่เกิดขึ้นนั้น” เป็นความลับอันน่าละอาย
Foucault เสนอว่า ประวัติศาสตร์ของเพศวิถีตั้งแต่ช่วงต้นของยุคสมัยใหม่นั้นคือการนำเอาเรื่องเกี่ยวกับเพศไปอยู่ในรูปแบบของการพูด/ภาษา (speech) ไม่ว่าจะเป็นในทางกฎหมาย ทางการแพทย์ ทางการอบรมบ่มเพาะ เรื่อยไปจนถึงศาสนา พื้นที่ต่างๆ ซึ่งไม่เพียงทำให้เรื่องเพศ/เพศวิถีได้รับการบันทึกไว้ แต่ยังเรียกได้ว่าเป็นการก่อสร้างมันขึ้น (constituted) Foucault ถกแถลงว่าสิ่งที่ “เพศวิถี” อธิบายนั้นไม่ใช่เรื่องของแรงกระตุ้นเร้าที่เป็นธรรมชาติ (natural) หรือเป็นสากล (universal) อันอยู่นอกเหนือวัฒนธรรม แต่ทว่า เป็นการเปลี่ยนให้ไปอยู่ใน “ภาษาของเพศ” (language of sex) หรือที่เรียกว่าเป็นวาทกรรม (discourse) ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเห็นว่า การเปลี่ยนให้เรื่องเพศไปเป็นวาทกรรมนั้นเป็นหนทางสำคัญที่อำนาจกระทำ (operated) ต่อตัวตนของผู้คนในสังคมตะวันตก เขาเสนอด้วยว่า อำนาจนั้นไม่ได้เพียงแต่กระทำผ่านการกดบังคับ แต่มันยังทำงานผ่านการกระตุ้นเร้าให้พูดถึง (incitement to speak) และเพื่อที่จะได้รับความสุขสม (to take pleasure) จากการพูด (ถึงเรื่องเพศ) อีกด้วย ทั้งนี้ Foucault ยังเสนอด้วยว่า “ความรู้” เกี่ยวกับเรื่องเพศ (หรืออีกนัยหนึ่ง การสร้าง “เพศวิถี” ด้วยการถ่ายทอดเรื่องเพศให้ไปอยู่ในภาษา) แท้ที่จริงแล้วนั้นผูกโยงอยู่กับรูปแบบของอำนาจที่ทำให้ผู้คนแฝงฝังเอา (internalized) และผลิตซ้ำ (replicated) อำนาจเข้ากับตัวตนของตนเองด้วยตนเอง
ข้อเสนอเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญต่อความสนใจที่ขยายตัวขึ้นของนักประวัติศาสตร์ต่อสื่อเชิงสังวาสและสื่อลามกอนาจารในฐานะที่เป็นประเด็น/หัวเรื่อง (topics) ของการศึกษาที่จริงจัง กล่าวคือ ในการกลับไปทบทวนข้อสมมติพื้นฐานว่าด้วยปฏิบัติการของอำนาจ Foucault ได้กร่อนทำลายข้อสมมติที่เชื่อว่าอำนาจทำงานแต่ในโลกสาธารณะอย่างรัฐ, รัฐบาล, และสถาบันทางสังคมต่างๆ ในทางกลับกัน เขาเสนอว่าอำนาจนั้นทำงานในระดับย่อยๆ (micro-level) ของความเป็นบุคคล โดยเฉพาะในระดับที่เป็นส่วนตัวมากๆ (intimate) ดังนั้น สมมติฐานแบบเสรีนิยมว่าด้วยอำนาจและแนวคิดที่ว่ามันมีโลก “สาธารณะ” ที่ถูกซึมซ่านโดยอำนาจและโลก “ส่วนตัว” (‘private’ or ‘intimate’) จึงถูกท้าทาย ในแง่นี้ กล่าวได้ว่า Foucault มองเห็นโลกในแบบที่เรื่องที่เป็นส่วนตัวมากๆ กำลังถูกแทรกซึมโดย “จุลกายภาพ” ของอำนาจ (‘microphysics’ of power) มากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวได้ว่า ข้อท้าทายดังกล่าวนี้สำคัญอย่างมากในการทำให้เรื่องเกี่ยวกับเพศวิถีและ “ชีวิตส่วนตัว” กลายมาเป็นประเด็นที่มีคุณค่าทางวิชาการขึ้นมา มากกว่านั้น ข้อท้าทายนี้ยังช่วยเปิดหนทางใหม่ๆ สำหรับนักประวัติศาสตร์ในการเริ่มจะจินตนาการว่า อำนาจในทางสาธารณะ (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อำนาจทางการเมือง) สามารถทำความเข้าใจได้ผ่านความเข้าใจในบางแบบว่าด้วยเพศวิถีและชีวิตส่วนตัว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การจำแนกแบบเสรีนิยมระหว่าง “สาธารณะ” และ “ส่วนตัว” นั้นกำลัง “ผุกร่อน” ลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีงานเขียนจำนวนมากขึ้นๆ ที่เสนอความเชื่อมโยงระหว่างปฏิบัติการของอำนาจต่อการก่อร่างความเป็นตัวตนของผู้คน (constitution of the self)
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในใจกลางสำคัญของ “วาทกรรม” ว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับเพศในวัฒนธรรมตะวันตก สื่อเชิงสังวาสและลามกอนาจารจึงเป็นสิ่งที่ผูกพันอยู่กับอำนาจ มากว่าที่จะกล่าวว่าอยู่นอกเหนืออาณาบริเวณของอำนาจ ถ้าหากว่า “เรื่องเกี่ยวกับเพศ” หรือการทำให้เรื่องเพศไปปรากฏในภาษา/คำพูด เป็นสิ่งที่เผยออกมาจากอำนาจ จึงกล่าวได้อีกว่า คงไม่อาจมองว่างานเขียนเชิงสังวาสนั้นเป็นกระบวนการของการ “ก้าวข้ามพรมแดนต้องห้าม” (transgressive) ได้อย่างตรงไปตรงมาได้อีกต่อไป มากไปกว่านั้น ยังเป็นการสร้างความหมายโดยนัยให้สื่อเชิงสังวาสในแง่ของการถกเถียงถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวในปฏิบัติการของอำนาจ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและรูปแบบของอำนาจอื่นๆ ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวได้ว่า ข้อถกเถียงอันท้าทายของ Foucault ต่อการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดระหว่าง “สาธารณะ” (อันทรงพลังและเป็นประวัติศาสตร์) กับ “ส่วนตัว” (อันปลอดปราศจากอำนาจและไม่มีประวัติศาสตร์) จึงเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสนใจในประเด็นใหม่ๆ ของวิชาชีพประวัติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่า หลังจากงานของ Foucault แล้ว สื่อ “เชิงสังวาส” และ “ลามกอนาจาร” ก็ไม่อาจถูกมองว่า “ไม่เป็นสาระ” ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในการท้าทายกรอบคิดว่าด้วยอำนาจอย่างถึงรากฐาน (อำนาจคืออะไร? อำนาจทำงานอย่างไร? อำนาจตั้งอยู่ที่ไหน? อำนาจแทรกซึมไปสู่อาณาบริเวณใดบ้าง? เป็นต้น) Foucault ได้เสนอแนวทางและหนทางใหม่ๆ ที่จะศึกษาเรื่องอำนาจ และดังนั้น สื่อเชิงสังวาสและลามกอนาจารก็เป็นพื้นที่ที่สำคัญที่จะไปศึกษา (เรื่องอำนาจ)
อิทธิพลประการที่สามที่ส่งผลต่อการศึกษาสื่อเชิงสังวาสและลามกอนาจารนั้นก็มาจากการที่ทฤษฎีเฟมินิสต์เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่ต้องกล่าวว่าทศวรรษ 1970 เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ กรอบทฤษฎีว่าด้วย “ประวัติศาสตร์สตรี” (women’s history) นั้นเริ่มขึ้นแต่แรกภายใต้ร่มเงาของสาขาประวัติศาสตร์แรงงาน (labour history) กล่าวคือ นักประวัติศาสตร์สตรีต่างก็เห็นประเด็นที่ว่าสตรีเพศนั้นก็เป็น “แรงงาน” มาตลอดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากนั้น ควรกล่าวด้วยว่า อิทธิพลของกระแสความคิดแบบมาร์กซิสต์ (Marxism) ต่อประวัติศาสตร์แรงงานก็คือการเป็นฐานทางทฤษฎีที่สำคัญในการศึกษาวิเคราะห์อำนาจ นักประวัติศาสตร์สตรี และนักประวัติศาสตร์เพศภาวะ (gender) ในเวลาต่อมา ไม่เพียงแต่พยายามจะอธิบาย แต่ยังต้องการทำความเข้าใจความไม่เท่าเทียมในเชิงโครงสร้างของผู้หญิงด้วย สำหรับนักวิชาการเฟมินิสต์บางคนแล้ว สื่อเชิงสังวาสนั้นเป็นตัวแทน (agent) ของความไม่เท่าเทียมทางเพศของผู้หญิง โดยเฉพาะในแง่มุมที่เห็นว่าสื่อเชิงสังวาสนั้นนำเสนอจินตภาพของผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศที่ขึ้นต่อการกระทำและความปรารถนาของผู้กระทำการ (ซึ่งมักจะมีแง่มุมที่เกี่ยวพันอยู่กับความรุนแรง) เพศชายในฐานะผู้ดู/ผู้ชม/ผู้รับสื่อ
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของสื่อสังวาสไม่ได้สิ้นสุดลงตรงนั้น นักวิชาการเฟมินิสต์ก็ให้ความสนใจไปกับความคิดต่างๆ ที่เสนอโดย Foucault โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักประวัติศาสตร์สตรีและเพศภาวะพยายามทำความเข้าใจข้อเสนอที่ว่า อัตลักษณ์ทางสังคมและความเป็นตัวตนของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นภายในวัฒนธรรม กล่าวคือ กฎหมาย การแพทย์ การอบรมบ่มเพาะ และจิตวิทยา ไม่ใช่แค่สร้างคำอธิบายว่าด้วยอัตลักษณ์ทางสังคม ทว่าต่างก็ “สร้าง” อัตลักษณ์ทางสังคมขึ้นมา ภายใต้เงื้อมมือของนักประวัติศาสตร์สตรี ข้อเสนอดังกล่าวจึงกลายมาเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่สำคัญในการทำความเข้าใจเพศภาวะและบทบาททางเพศอย่างเป็นประวัติศาสตร์ (historicizing) กรอบคิดว่าด้วย “ผู้หญิง” จึงไม่ได้ถูกเข้าใจในฐานะที่เป็นกรอบคิดทางชีวภาพ (biological category) ซึ่งไม่มีประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากหลายๆ หนทาง ในหลายๆ ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ และดังนั้นจึงแตกต่างและหลากหลาย ในแง่นี้ กระแสความคิดที่เรียกว่า “หลังโครงสร้างนิยม” จึงช่วยเปิดประเด็นการศึกษาเรื่องเพศภาวะไปสู่การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ และจึงหมายความว่าสื่อโป๊เปลือยเชิงสังวาสและลามกอนาจาร ทั้งที่อยู่ในรูปแบบของ “ข้อเขียน” และในแบบ “ภาพ” ได้กลายมาเป็น “หลักฐาน” ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อการศึกษาประเด็นว่าด้วยเพศภาวะของผู้คนไปในแง่นี้ด้วย[i]
โป๊ศาสตร์ พิศวาสความรู้คู่กามรมณ์
[i] ผู้เขียนบทความ (หมายถึง Sarah Leonard) ชี้ว่าตัวอย่างงานชิ้นสำคัญก็เช่น Thomas Laqueur, Making Sex: Body and Gender from the Greeks to Freud (Cambridge: Cambridge University Press, 1990); และ Londa Schiebinger, Nature’s Body: Gender and the Making of Modern Science (Boston: Beacon Press, 1993). เป็นต้น