Skip to main content

โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ

ผมสนใจสารคดีเรื่องนี้ตั้งแต่ที่ทาง Documentary Club จัดฉายในไทยเนื่องจากสนใจปรากฎการณ์ไอดอลของญี่ปุ่น แต่ไม่มีโอกาสชมในโรง เห็นว่ามีใน Netflix เลยเลือกชมแล้วก็ไม่ผิดหวัง แน่นอนว่ามีประเด็นคาบเกี่ยวเรื่องเพศจากสารคดีเรื่องนี้มาบอกเล่าเช่นเคย

ต้องเกริ่นก่อนว่าผมเองไม่ใช่โอตะ หรือโอชิใครในบรรดาไอดอลทั้งหลาย แต่ก่อนตั้งแง่อคติเสียด้วยซ้ำ จนมาถึงการมาของวงไอดอลชื่อดังอย่าง AKB48 นี่แหละ ผู้เขียนก็เลยยิ่งสนใจสิ่งที่เรียกว่าไอดอลขึ้นมา...เขียนมาถึงตรงนี้ก็คงต้องมีคนคิดแล้วสิ...น่านไง ชอบน้องคนนี้ล่ะสิ แพ้ความขาวของน้องคนนั้นแน่ๆ ...ไม่ใช่โว้ย ไม่ได้จริงจริ๊ง...เอาจริงๆ พอได้รู้ว่าวงนี้ดังระดับปรากฎการณ์ที่ญี่ปุ่น จินตนาการแรกก็คือ โห น้องๆ พวกนี้ต้องสวยแจ่มแน่นอน ร้องขั้นเทพ เต้นจนฟลอร์ลุกเป็นไฟ แต่พอได้มีโอกาสดูเอ็มวี การแสดงของวงแล้วก็ผิดหวัง อ้าว ก็ไม่ได้สวยกว่าวงไอดอลอื่นนี่นา ร้องก็ธรรมดา เต้นก็ธรรมดา ทำไมถึงดังระดับนั้นได้ คำถามนี้ก็เก็บไว้ในใจจนมีโอกาสได้อ่านมังงะเรื่อง AKB49 กับดูสารคดีที่มาของวงนี้บางเรื่องก็เลยถึงบางอ้อ ว่าทำไมวงไอดอลวงนี้ถึงประสบความสำเร็จถล่มทลาย ซึ่งสารคดี Tokyo Idols ที่แม้ไม่ได้ตามติดชีวิตวงนี้ แต่ก็ตอกย้ำ และเสริมรับการอธิบายถึงปรากฎการณ์ของวงไอดอลได้เป็นอย่างดี

ผลงานกำกับสารคดี ปี 2017 ของ เคียวโกะ มิยาเกะ เรื่องนี้หลักๆ ตามติดชีวิตของไอดอลที่ชื่อว่า ริโอะ กับเหล่าโอตะที่คลั่งไคล้เธอโดยเฉพาะผู้นำของกลุ่มริโอะบราเธอร์ส โคจิ ชายที่ทำงานในอากิฮาบาระวัย 43 ปี สลับกับการพาไปรู้จัก ไอดอลคนอื่นๆ ที่มีบุคลิกต่างออกไปจากริโอะ พร้อมๆ กับโอตะของพวกเธอ ขณะที่อีกส่วนสารคดีพาเราไปสัมภาษณ์มุมมองจากนักข่าว, นักการตลาด, นักวิชาการด้านสังคมวิทยา ที่มาอธิบายปรากฎการณ์เหล่านี้

หากจะให้สรุปมุมมองจากนักวิชาการส่วนใหญ่จะพบว่าไม่ได้มองว่าปรากฎการณ์ไอดอลเป็นสัญญาณที่ดีเท่าไหร่ มันเกิดมาพร้อมกับช่วงหลังยุคเศรษฐกิจตกต่ำของญี่ปุ่นที่เรื้อรังมานาน คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เองหลังยุคนี้มีความภูมิใจในชีวิตน้อยมาก (ผู้เขียนขอเสริมไปด้วยว่าอัตราการแต่งงาน และมีลูกของคนในสังคมญี่ปุ่นก็ต่ำลงไปมาก จนทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนใคร) วัฒนธรรมไอดอลที่เกิดขึ้นมาคล้ายกับการเกิดวัฒนธรรมพังค์ในอังกฤษ คนที่คลั่งไคล้เด็กสาวเหล่านี้ ส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจในการสร้างความสัมพันธ์ จึงต้องพึ่งพากำลังใจจากบทเพลง ความมุ่งมั่นของเด็กสาวที่คอยเติมเต็มความฝันให้ตนอีกครั้ง ขณะเดียวกันเมื่อเกิดงานจับมือขึ้นมา ซึ่งแต่เดิมต้องนับว่าในวัฒนธรรมญี่ปุ่นการจับมือถือเป็นเรื่องไม่ควร(แม้ในวัฒนธรรมตะวันตกจะดูสามัญยิ่ง) ทำให้มันมีลักษณะที่ใกล้ชิดกับพวกเธอมากขึ้น หากมองในเชิงทางเพศ งานดังกล่าวก็กลายเป็นพื้นที่สีเทาๆ ที่ทำให้ผู้ชายได้มีโอกาสเข้าใกล้พวกเธอได้ง่ายมากกว่าเสียเวลาไปสร้างสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่น เพราะพวกเธอถูกฝึกให้แสดงความรู้สึกต่อแฟนๆ เหล่านี้อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าผู้ชายคนนั้นจะหน้าตาดี หรือไม่ดีก็ตาม

คำอธิบายดังกล่าวตอกย้ำจากบทสัมภาษณ์ที่โอตะส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ชายไร้คู่ เคยมีแฟนแต่เลิกราไปนานแล้ว มีงานแต่ไม่ได้ถึงขั้นประสบความสำเร็จ เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการติดตามไอดอล และจ่ายเงินให้สินค้า และงานอีเวนต์ของพวกเธอที่มีมาอย่างต่อเนื่อง...ที่น่าตกใจคือการพาไปพบว่าวงไอดอล เด็กสาวเหล่านี้อายุน้อยลงไปทุกทีๆ ไม่ว่าจะเพราะอิทธิพลของสื่อ หรือการสนับสนุนของพ่อแม่

ข้อมูลจากสารคดีที่แสดงให้เห็นว่าในสังคมญี่ปุ่นมีไอดอลเกิดขึ้นมากมายเมื่อเทียบกับจำนวนของเด็กสาววัยรุ่นก็นับเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงเอาการ แต่ไม่ได้มีทุกวงที่ประสบความสำเร็จ ดังเช่นริโอะ ซึ่งเป็นไอดอลที่รู้จักในวงแคบๆ หากไม่ประสบความสำเร็จกว่านี้ก็เป็นไปได้ว่าชีวิตการทำอาชีพนี้ของเธอจะถึงทางตัน เพราะมีเด็กวัยรุ่นคนอื่นๆ แข่งขันและเข้ามาแทนที่ไม่ขาดสาย...จากปริมาณและการแข่งขันดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมไอดอลหลายๆ คนจึงถูกแมวมองจากวงการหนังเอวี หรือหนังโป๊ญี่ปุ่นทาบทามให้เธอมาไปแสดงภายหลังอำลาอาชีพไอดอล จากชื่อเสียงที่มีอยู่ก่อนหน้า จากการเป็นจินตนาการของบุรุษเพศหลายคนและการพาพวกเธอเข้าสู่เส้นทางแยกที่ไม่ใช่สีเทาอีกต่อไป...แม้แต่อดีตสมาชิกวงไอดอลแห่งชาติอย่าง AKB 48 และวงน้องวงอื่นๆ ก็มิวายถูกทาบทามอยู่เรื่อย

หากอีกด้านการทำงานของ ริโอะ ไอดอลที่ผ่านการสนับสนุนจากผู้เป็นพ่อ ซึ่งดิ้นรนหาสารพัดวิธีให้ตนเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น ความทุ่มเทของโคจิ และปรับปรุงชีวิตตัวเองเพื่อการติดตามเธอให้ไปถึงความฝัน ตั้งแต่คอนเสิร์ตเล็กๆ ที่มีคนดูหยิบมือ ไปจนคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่สุด ก็เสมือนเป็นด้านตรงข้ามกับมุมมองของนักวิชาการ มันเป็นด้านสว่างแบบที่ผู้เขียนมักพบเพื่อนที่เป็นโอตะบอกเล่าเวลาไปงานจับมือของไอดอลเหล่านี้ หลายคนท้อแท้กับงาน กับปัญหาสุขภาพจิตที่แก้ไม่ตก ไปจนขาดกำลังใจต่างๆ การตามติดไอดอลได้สร้างกำลังใจให้พวกเขาจริงๆ แน่นอนว่ามีนัยยะทางเพศมาปะปนบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของชายหนุ่ม แต่รวมๆ ก็น้อยกว่าการรับพลังความทุ่มเทของน้องๆ ไอดอลจนได้กำลังใจกลับไป เพื่อนผู้เขียนเหล่านี้ไม่ใช่ชายหื่นที่ไหน ไม่ใช่โอตาคุที่วันๆ ไม่ทำอะไร ตรงกันข้ามก็มีหน้าที่การงานดีๆ ทำกันทั้งนั้น แต่อาจเกิดความรู้สึกหมดไฟบ้าง คลั่งไคล้เรื่องราวของไอดอลในเชิงวัฒนธรรมบ้าง จึงค่อยๆ แปรสภาพจากคนธรรมดากลายเป็นโอตะ

ไม่ต่างกับเรื่องราวของโคจิ ที่เห็นได้ชัดว่าแรกๆ เขาก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นโอตะ การกระทำต่างๆ ทำอย่างรู้มีสติ บ่อยครั้งก็ยอมรับตรงๆ ว่าอายที่จะต้องใส่เสื้อแฟนคลับเดินไปไหนมาไหน และรู้ดีว่าชีวิตตนเองไม่ได้ดีเด่อะไร แต่ประสบการณ์ในการเป็นโอตะที่สารคดีตามติดเขาก็ต้องยอมรับว่าน่าประทับใจจริงๆ

สารคดีเรื่องนี้จึงเหมือนพาเราไปพบว่าวัฒนธรรมไอดอลอาจจะไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่สมบูรณ์ไร้ที่ติแต่อย่างใด มันมีด้านสีเทา และจุดอ่อนให้โจมตีมากมาย แต่สำหรับคนที่อ้าแขนรับมันก็ไม่น่าแปลกใจ มันก็สร้างประสบการณ์ที่ดีงาม

อย่างน้อยสำหรับพวกเขา การเป็นโอตะก็ไม่ทำให้ชีวิตถึงกับเปล่าดายนัก

"โป๊ศาสตร์" พิศวาสความรู้คู่กามารมย์

บล็อกของ กลุ่มนักโป๊ศาสตร์

กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะยูอิ อุเอฮาระ โชคชะตาของเอวีหน้าเหมือนดาราดัง
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะFaleno + โทรุ มุรานิชิ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะหากจะนับว่าหนังเรื่องไหนได้รับการยกให้เป็นหนังอีโรติก หรือพิงค์ฟิล์มเรื่องแรกของญี่ปุ่น คำตอบคือผลงานของ ซาโตรุ โคบายาชิ ในปี 1962 ที่ชื่อว่า 肉体の市場(Nikutai no Ichiba) หรือ Flesh Market ที่อาจตั้งชื่อไทยได้ว่า "ตลาดโลกีย์"
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
 ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ..
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ(ขึ้นต้นชื่อเรื่องอาจทำให้เข้าใจผิด ปัจจุบันเธอหายแล้วนะครับ).