บทความโดย นักโป๊ศาสตร์ท่านหนึ่ง
ถ้าพูดถึง “สื่อโป๊” สำหรับเราๆท่านๆ อาจจะนึกถึงคำอีกคำ คือ “สื่อลามก” และอาจเกิดความสงสัยว่า “สื่อโป๊” และ “สื่อลามก” มันคือสิ่งๆเดียวกันหรือไม่ ในทางภาษาศาสตร์ คำว่า “โป๊” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำจำกัดความว่า “โป๊” เป็นภาษาปาก หมายถึง “... เปลือย หรือค่อนข้างเปลือย เช่น รูปโป๊, มีเจตนาเปิดเผยอวัยวะบางส่วนที่ควรปกปิด เช่น แต่งตัวโป๊”[1] ส่วนคำว่า “ลามก” หมายถึง “หยาบช้าต่ำทราม, หยาบโลน, อันเป็นที่น่ารังเกียจ ของคนดีมีศีลธรรม, เช่น หนังสือลามก พูดลามก ทำลามก”[2] ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากคำจำกัดความจะเห็นได้ว่า คำว่า “โป๊” เป็นเรื่องของสภาวะหรือสภาพความเปลือยเปล่าของร่างกายมนุษย์โดยแท้ไม่มีแนวคิดเรื่องมาตรศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องจึงไม่มีแนวคิดว่ามันเป็นสิ่งดีหรือไม่ดีแต่อย่างใด (ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงสังคมอาจจะมองว่าโป๊เป็นสิ่งไม่เหมาะสมก็ตาม) ในขณะที่คำว่า “ลามก” นั้นมีลักษณะที่มาตรวัดทางศีลธรรมที่ตัดสินชี้ว่าเป็นสิ่งดีหรือไม่ดีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างชัดเจน เป็นเรื่องของสีขาวและสีดำ โดย สิ่งลามกถูกตราให้อยู่ในอาณาเขตของสิ่งเลวทราม ชั่วช้า ไม่เป็นที่ยอมรับและแม้กระทั่งขัดกับศีลธรรมอันดี
เส้นแบ่งระหว่างสื่อโป๊และสื่อลามกก็ไม่ได้มีอยู่แค่ในภาษาไทย ที่เห็นได้ชัดอย่างน้อยก็ในภาษาอังกฤษ สำหรับภาษาอังกฤษนั้น คำว่า “สื่อโป๊” อาจเทียบได้กับคำว่า pornography ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกสองคำ คือ πόρνη (อ่านว่า พอร์นิ) ซึ่งแปลว่า “โสเภณี” และคำว่า γράφειν (อ่านว่ากราฟฟิน) ซึ่งแปลว่า “การจดบันทึก” ดังนั้นสองคำนี้ที่รวมกันเป็นคำว่า pornography จึงหมายถึงการบันทึกเรื่องราวของโสเภณี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการบันทึกเรื่องกิจกรรมทางเพศ (ในขณะที่คำว่า “โป๊” ในภาษาไทยเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศในมิติของความเปลือยเปล่าของร่างกายเท่านั้นแต่ไม่ได้มีความหมายล่วงไปถึงกิจกรรมทางเพศด้วย) คำว่า pornography นั้นเพิ่งเข้ามาในภาษาอังกฤษเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เท่านั้นเอง[3] สำหรับความหมายร่วมสมัยของคำว่า pornography Oxford Dictionary ให้คำจำกัดความไว้ว่าหมายถึง “สิ่งพิมพ์หรือทัศนวัสดุที่มีคำบรรยายหรือการแสดงภาพให้เห็นถึงอวัยวะเพศและกิจกรรมทางเพศที่มุ่งก่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศ (Printed or visual material containing the explicit description or display of sexual organs or activity, intended to stimulate sexual excitement.)”[4] ในขณะที่คำว่า “ลามก” นั้นอาจจะเทียบกับคำว่า obscenity (n.) หรือ obscene (adj.) ในภาษาอังกฤษ ซึ่งคำๆนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส obscène ซึ่งมีการใช้มาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า obscaenus ในภาษาลาตินอีกทอดหนึ่ง โดยคำนี้มีความหมายว่า ลางชั่วร้าย (ill-omened) หรือ น่ารังเกียจ (abominable) โดยความหมายของคำว่า obscenity ในปัจจุบันหมายถึง เป็นที่น่ารังเกียจ หรือขยะแขยงตามบรรทัดฐานของศีลธรรมและความเหมาะสม (offensive or disgusting by accepted standards of morality and decency)[5] ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของคำสองคำนี้ก็จะพบว่ามีลักษณะคล้ายๆกับกรณีในภาษาไทย กล่าวคือ pornography จะหมายถึงอะไรก็ตามที่มีลักษณะเป็นเรื่องทางเพศโดยไม่มีมาตรวัดคุณค่าทางศีลธรรมตัดสินว่าดีหรือไม่ดี ในขณะที่คำว่า obscenity จะมีศีลธรรมหรือความเหมาะสมมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคุณค่า โดย obscenity ถูกตราว่าเป็นสิ่งเลวทราม น่ารังเกียจ เช่นเดียวกับคำว่า “ลามก” ในภาษาไทย
ในทางนิติศาสตร์นั้น เมื่อเปิดกฎหมายของไทยดูจะพบแต่คำว่า “สื่อ หรือ สิ่งลามก” เท่านั้น[6] แต่จะไม่พบคำว่า “สื่อโป๊” และในกฎหมายต่างประเทศส่วนใหญ่ เช่น Obscene Publications Act 1959/1964 ของอังกฤษ (และเวลส์) หรือ Section 163 ของประมวลกฎหมายอาญาประเทศแคนาดา (Criminal Code of Canada) และ common law ในคดี Miller v. California[7] ของ Supreme Court สหรัฐอเมริกา ก็จะพบแต่คำว่า “obscene”[8] (อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือในปี 2008 รัฐสภาสหราชอาณาจักรมีการผ่าน Criminal Justice and Immigration Act 2008 ซึ่งใน Section 63 มีการบัญญัติคำว่า extreme pornography ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรก (และอาจเป็นฉบับแรกของโลก) ที่ใช้คำว่า pornography) ซึ่งกฎหมายสื่อลามกในแต่ละประเทศได้วางหลักเกณฑ์หรือบรรทัดฐานในการตัดสินว่าสื่อนั้นเป็นสื่อลามกหรือไม่ ซึ่งหลักเกณฑ์หรือบรรทัดฐานดังกล่าวมีระดับความเข้มงวดเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวหรือเพศแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ
ดังนั้นจึงอาจกล่าว ณ จุดนี้ได้ว่า “สื่อโป๊” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวทางเพศอย่างเปิดเผยนั้นจะถือว่าเป็น “สื่อลามก” ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ก็ต้องพิจารณาดูที่บรรทัดฐานหรือหลักเกณฑ์ความลามก (obscenity standards) ของกฎหมายในประเทศนั้นๆ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า “สื่อโป๊” และ “สื่อลามก” อาจจะเป็นหรือไม่เป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานที่กฎหมายในแต่ละประเทศวางไว้ อย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกาบรรทัดฐานในการตัดสินว่าอะไรเป็นสื่อลามกนั้นอาจมีลักษณะเปิดกว้างและเข้มงวดกว่าบรรทัดฐานสื่อลามกตามกฎหมายของไทย ดังนั้น สื่อโป๊หนึ่งซึ่งไม่เข้าตามบรรทัดฐานของสื่อลามกในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่ถือว่าเป็นสื่อลามกตามกฎหมายอเมริกา ในขณะที่สื่อโป๊เดียวกันนี้เมื่อพิจารณาตามบรรทัดฐานสื่อลามกที่ศาลฎีกาไทยได้วางไว้ซึ่งมีระดับความเข้มงวดมากกว่าในการยอมให้มีการนำเสนอเรื่องราวทางเพศแบบเปิดเผย ก็ถือเป็นสื่อลามกตามกฎหมายไทย อย่างไรก็ตามบรรทัดฐานหรือหลักเกณฑ์ความลามกอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคสมัย เช่น สื่อที่นำเสนอกิจกรรมทางเพศอย่างหนึ่ง (เช่น fisting – การยัดกำปั้นเข้าไปในช่องคลอดหรือรูทวาร หรือ urolagnia – กิจกรรมทางเพศที่เกี่ยวกับน้ำปัสสาวะ) ในยุคหนึ่งอาจมองว่าเป็นสื่อลามก แต่ในยุคต่อมาก็อาจถือว่าไม่เป็นสื่อที่นำเสนอภาพหรือเรื่องราวลามกอีกต่อไป ซึ่งกรณีของคดี R. v. Peacock (2012) ของ English Crown Court เป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี ซึ่งลูกขุนในคดีนี้เห็นว่า DVD หนังโป๊ที่มีกิจกรรม fisting และ urolagnia ไม่ถือเป็นสื่อลามกอีกต่อไป ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่หนังโป๊ประเภทนี้มักตกเป็นเป้าหมายแรกๆของการถูกการนำขึ้นสู่ศาลโดยอัยการและพิพากษาว่าเป็นสื่อลามก
ในเรื่องของบรรทัดฐานหรือหลักเกณฑ์ความลามกของแต่ละประเทศก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องชี้วัดความอ่อนไหวต่อเรื่องทางเพศ (prudishness) ของแต่ละสังคม แต่ละวัฒนธรรมและแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้ามีโอกาสจะได้นำเสนอต่อไป
โป๊ศาสตร์ พิศวาสความรู้คู่กามรมณ์
[1] http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp, visited 30 August 2014.
[2] http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp, visited 30 August 2014.
[3] http://www.etymonline.com/index.php?search=pornography&searchmode=none, visited 30 August 2014.
[4] http://www.oxforddictionaries.com/definition/english/pornography, visited 30 August 2014.
[5] https://translate.google.com/#en/th/decency, visited 30 August 2014.
[6] เช่น มาตรา 287 ประมวลกฎหมายอาญา หรือ มาตรา 14(1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
[7] [1973] 413 U.S. 15