Skip to main content

ในขณะที่เรากำลังพยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโป๊ศาสตร์ ก็อยากให้ blog นี้เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้ในศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะ อาชญาวิทยา (criminology) ด้วย จึงขอนำบทความเรื่อง "อาชญากรรมในที่ทำงาน" ของ กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ มาเผยแพร่ด้วย และต่อจากนี้ blog นี้จะมีทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับโป๊ศาสตร์ และอาชญาวิทยาที่เกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องทางเพศครับ

นักโป๊ศาสตร์ท่านหนึ่ง

-------------------

กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์

อาชญากรรมที่เกิดขึ้นในที่ทำงานนั้น เป็นอาชญากรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีความสำคัญและสามารถเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ อันเนื่องมาจากสถานที่ทำงานซึ่งเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งเอื้อต่อการก่อให้เกิดอาชญากรรมขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ผลกระทบอันเกิดจากอาชญากรรมลักษณะดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางร่างกาย และทางจิตใจของผู้เสียหายจากอาชญากรรมดังกล่าว รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สินของสถานที่ทำงานนั้นๆ โดยอาชญากรรมในที่ทำงานนั้น อาจจัดกลุ่ม (Categories) ออกได้เป็น 3 กลุ่ม (David O. Friedrichs, n.d.: 243) ดังต่อไปนี้

            1. อาชญากรรมวิชาชีพ (Occupational crime)

            2. พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางวิชาชีพ (Occupational deviance)

            3. อาชญากรรมในสถานที่ทำงาน (Workplace crime)

 

อาชญากรรมวิชาชีพ (Occupational crime)

อาชญากรรมวิชาชีพ ถือได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของอาชญากรรมคอปกขาว (White collar crime) ซึ่งมีนักวิชาการบางท่านเห็นว่าเป็นถ้อยคำที่สามารถใช้แทนกันได้ (Gary Green, 2001 cited in David O. Friedrichs, n.d.: 245) โดยได้รับอิทธิพลทางแนวความคิดจากนักคิดสองท่านคือ Clinard และ Quinney’s จากหนังสือเรื่อง Criminal Behavior Systems: A Typology โดยได้แบ่งลักษณะของอาชญากรรมวิชาชีพออกเป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

            1. อาชญากรรมวิชาชีพในรูปแบบองค์กร (Organizational Occupational Crime)

อาชญากรรมวิชาชีพในรูปแบบองค์กร  เป็นอาชญากรรมที่มีลักษณะเดียวกัน (equivalent) กับ อาชญากรรมทางองค์กรธุรกิจ (corporate crime) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่ โครงสร้างขององค์กร (corporate structure) ทรัพยากร (resources) สิ่งแวดล้อม (environment) ภารกิจ (mission) ตลอดจนการสร้างมลภาวะ (environmental pollution) อันเกิดจากการดำเนินธุรกิจ การผลิตสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (unsafe products) การทำงานภายใต้สภาวะที่อาจเกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน (unsafe working conditions) หรือการทำสัญญาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการฉ้อโกง (contractual fraud) ผู้เข้าทำสัญญา เป็นต้น

            2. อาชญากรรมในวิชาชีพทางการเมือง (State Authority Occupational Crime)

อาชญากรรมในวิชาชีพทางการเมือง เป็นอาชญากรรมที่มีความแนบเนียน และยากต่อการสังเกตเห็น เนื่องจากลักษณะของอาชญากรรมดังกล่าวมักจะอยู่ในรูปแบบของการกำหนดเป็นนโยบายของรัฐ อย่างไรก็ตามผลเสียจากอาชญากรรมประเภทดังกล่าวมักจะมีผลกระทบที่ร้ายแรง และเหยื่อจากอาชญากรรมดังกล่าวก็คือประชาชนในรัฐนั้นๆเอง โดยรูปแบบของอาชญากรรมในลักษณะดังกล่าว ได้แก่ อาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล (governmental crime) อาชญากรรมที่เกิดจากรัฐนโยบาย (state crime and political) ซึ่งรูปแบบของอาชญากรรมในลักษณะดังกล่าวมักจะอยู่ในรูปแบบของอาชญากรรมคอปกขาว (white collar crime) นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของอาชญากรรมโดยรัฐกระทำในลักษณะที่ลดสถานะและบทบาทของตนเองลงมาเทียบเท่ากับเอกชน (State crime is the public sector equivalent of corporate crime) อันได้แก่ลักษณะของนิติกรรมในทางปกครอง  เป็นต้น

            3. อาชญากรรมโดยผู้มีวิชาชีพ (Professional Occupational Crime)

ลักษณะของอาชญากรรมโดยผู้มีวิชาชีพ เป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นได้เฉพาะในหมู่อาชญากรซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ (professionals) ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาชีพแพทย์ ซึ่งลักษณะของอาชญากรรมประเภทดังกล่าวนี้ก็ได้แก่ การให้การรักษาที่ไม่จำเป็นหรือเกิดขึ้นโดยการถูกหลอกลวงโดยแพทย์ (unnecessary treatment and fraud by physicians) การศัลยกรรมที่ไม่จำเป็น (unnecessary surgery)   การให้ยาที่ไม่เหมาะสมกับโรค (misappropriation of drugs) การใช้กำลังหรือความรุนแรงในทางเพศ (sexual assault) ซึ่งกรณีต่างๆเหล่านี้ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์จะมีโอกาส (special opportunities)ในการใช้กำลังในการคุกคามทางเพศ (to commit sexual assaults) แก่เหยื่อที่เป็นสตรีได้ง่าย และสามารถอ้างเรื่องการให้การรักษา ตลอดจนวิธีการรักษา เพื่อเป็นเกราะป้องกัน (shield) ให้กับการกระทำของตนเองจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี (prosecution)

            4. อาชญากรรมวิชาชีพที่ผู้กระทำเป็นบุคคล (Individual Occupational Crime)

อาชญากรรมวิชาชีพที่ผู้กระทำเป็นบุคคลธรรมดา โดยปกติแล้วจะยอมรับ (conceded) ว่าเป็นการรวมเอารูปแบบ (catch-all term) ของอาชญากรรมประเภทอื่นๆที่ไม่อาจถูกจัดอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ดีลักษณะที่สำคัญของอาชญากรรมประเภทนี้ก็ได้แก่ การหนีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (personal income tax evasion) เป็นต้น

 

พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางวิชาชีพ (Occupational deviance)

สำหรับพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางวิชาชีพนั้น หมายถึงการกระทำดังกล่าวนั้นยังไม่ถึงขั้นผิดกฎหมายอันจะส่งผลให้การกระทำนั้นกลายมาเป็นอาชญากรรม แต่อย่างไรก็ตามลักษณะของการกระทำหรือพฤติกรรมดังกล่าว เบี่ยงเบน (deviation) ไปจากบรรทัดฐานในการประกอบวิชาชีพ (occupational norms) ปกติซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาที่ได้รับการจ้างงานนั้น (Nathan W. Pino, 2001: 260 cited in David O. Friedrichs, 2002: 248) ซึ่งพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางวิชาชีพ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะที่สำคัญ คือ การผิดลูกผิดเมียกับเพื่อนร่วมงาน (extramarital relations with co-worker) การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ทำงาน (consuming alcohol in the workplace) และการคุกคามทางเพศ (sexual harassment)

 

อาชญากรรมในสถานที่ทำงาน (Workplace crime)

อาชญากรรมในสถานที่ทำงานนั้น คือการกระทำใดๆก็ตามที่เป็นอันตราย (harmful act) ซึ่งถูกกระทำโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ในระหว่างระยะเวลาที่มีการจ้างงาน (Ismaili, 2001: 530 cited in David O. Friedrichs, 2002: 251) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ กล่าวคือ อาชญากรรมวิชาชีพ (occupational crime) องค์กรอาชญากรรม (corporate (or Organizational) crime) และความรุนแรงในที่ทำงาน (workplace violence) โดยลักษณะสำคัญของอาชญากรรมประเภทนี้ ก็ได้แก่อาชญากรรมในรูปแบบดั้งเดิม (conventional forms of crime) ทั้งหมดที่สามารถเกิดขึ้นได้ในที่ทำงาน (committed in the workplace) อันได้แก่ การฉ้อโกง (fraud) การทุจริต (corruption) การข่มขืน (rape) การทำร้ายร่างกาย (assault) เป็นต้น      

อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็น อาชญากรรมวิชาชีพ (Occupational crime) พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางวิชาชีพ (Occupational deviance) หรือจะเป็นอาชญากรรมในสถานที่ทำงาน (Workplace crime) ทั้งสามคำนี้ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้แทนกัน (interchangeably) ได้

นอกจากนี้เนื่องจากในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันมีการทำเอาเทคโนโลยีมาใช้ช่วยในการทำงานมากขึ้น ดังนั้นจึงอาจนำไปสู่อาชญากรรมในที่ทำงานที่อยู่ในรูปแบบของอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cyber crime) ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการคุกคามออนไลน์ (On-Line Harassment) ซึ่งมีได้ทั้งการคุกคามโดยตรง (direct form of internet harassment) อันได้แก่การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือโปรแกรมการพูดคุยไม่พึงประสงค์ (unwanted E-Mails or Chat app) การหลอกลวง (abusive) ข่มขู่ (threatening) การส่งภาพลามก (obscene) การก่อวินาศกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic sabotage) การส่งสแปม (spamming) หรือไวรัสคอมพิวเตอร์ในการโจมตีระบบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของการคุกคามทางอ้อม (indirect forms of harassment) อันได้แก่ การสะกดรอยทางไซเบอร์ (cyber stalker) การปลอมตัวเป็นคนอื่น (impersonating) ตลอดจนถึงการเสนอขายบริการทางเพศ (offering as a prostitute) (Louise Ellison and Yaman Akdeniz, 1998: 29-48) อีกด้วย

สำหรับแนวทางในการใช้กำหนดนโยบายที่เหมาะสมในการป้องกันการเกิดอาชญากรรมในที่ทำงานที่สำคัญที่สุดก็คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมเพื่อไม่ให้เพิกเฉยต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคมต่อลักษณะของการกระทำในลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมในทางเพศ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบที่ผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา ความรุนแรงทางเพศในรูปแบบต่างๆ หรือจะอยู่ในรูปแบบที่เป็นเพียงพฤติกรรมเบี่ยงเบนในการทำงาน เช่น การคุกคามในทางเพศ ก็ตาม นอกจากนี้ตัวผู้เสียหาย หรือเหยื่อเองก็ต้องไม่ทำตัวเองให้อยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม (suitable target) ตลอดจนหาแนวทางในการช่วยป้องกัน (guardianship) ตัวเองจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมอีกทางหนึ่ง ตามแนวทางของทฤษฎีปกตินิสัย (Routine Activity Theory) ด้วยเช่นเดียวกัน

 

เอกสารอ้างอิง

David O. Friedrichs. Occupational crime, occupational deviance, and workplace crime: Sorting out the          difference. Criminal Justice. SAGE: London, n.d..  

Louise Ellison and Yaman Akdeniz. Cyber-stalking: the Regulation of Harassment on the Internet.    Criminal Law Review, December Special Edition: Crime, Criminal Justice and the Internet.           1998.

โป๊ศาสตร์ พิศวาสความรู้คู่กามารมณ์

บล็อกของ กลุ่มนักโป๊ศาสตร์

กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะยูอิ อุเอฮาระ โชคชะตาของเอวีหน้าเหมือนดาราดัง
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะFaleno + โทรุ มุรานิชิ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะหากจะนับว่าหนังเรื่องไหนได้รับการยกให้เป็นหนังอีโรติก หรือพิงค์ฟิล์มเรื่องแรกของญี่ปุ่น คำตอบคือผลงานของ ซาโตรุ โคบายาชิ ในปี 1962 ที่ชื่อว่า 肉体の市場(Nikutai no Ichiba) หรือ Flesh Market ที่อาจตั้งชื่อไทยได้ว่า "ตลาดโลกีย์"
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
 ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ..
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ(ขึ้นต้นชื่อเรื่องอาจทำให้เข้าใจผิด ปัจจุบันเธอหายแล้วนะครับ).