เรื่องขยะ ๆ มันโดนใจใครต่อใครหลายคน หลังจากที่เขียนเรื่อง แปดสิบบาทกับผู้ชายริมทางรถไฟ และในเรื่องมีขยะ ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ปรากฎว่า มีผู้เขียนเข้ามาคุย และโทร.เข้ามาคุยเรื่องขยะ ๆ เป็นส่วนใหญ่ เรื่องของผู้ชายริมทางรถไฟหล่นหายไปพร้อมกับเรื่องวรรณกรรมที่อยากนำเสนอ
นั่นแสดงว่า เรื่องขยะ ๆ มันเป็นเรื่องโดนใจใคร ๆ และมีผู้สนใจเรื่องขยะอยู่พอสมควร สนใจนะคะไม่ใช่ชอบ หรือรัก ใคร ๆ ก็ไม่ชอบขยะ และอยากเอาขยะออกไปให้พ้น ๆ ตัว
ดังนั้นขอคุยเรื่องขยะต่ออีกครั้งนะคะ
หญิงสาวคนหนึ่งมีอาชีพเป็นพยาบาล เธอคุยกับฉันว่า เธออยากเห็นตลาดสักแห่งหนึ่งที่เป็นตลาดไร้ถุงพลาสติก ขายกันด้วยใบกล้วย ใบตอง ผู้คนหิ้วตะกร้ามาจ่ายกับข้าว เอาถุงผ้ามาซื้อข้าวสาร เธอย้ำว่าเธออยากจะไปตลาดเช่นนั้น
ฉันก็เห็นด้วยกับเธอ แต่ฉันคิดว่าเธอคงไม่ได้เห็นหรอก
ส่วนน้องสาวอีกคน เธอมาบ่นว่า เธอมีปัญหาเรื่องโฟมใส่อาหารมาก มีปัญหาทางใจ มีปัญหาครอบครัวเพราะสามีของเธอเคร่งเครียดกับเรื่องนี้มาก เขาเห็นมันเข้ามาในบ้านไม่ได้เลย ใครหิ้วเข้ามาก็ต้องโดนว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร เธอเองก็ไม่อยากได้โฟมหรอก แต่เมื่อไปซื้ออาหารพวกเขาบอกว่าไม่มีอย่างอื่น ถุงพลาสติกก็ไม่มี วันหนึ่งตัดสินใจซื้อขนมปากหม้อ สาคูไส้หมู เจ้าอร่อยมาฝาก เขาถามว่า ทำไมใส่กล่องโฟมมา บอกเขาไปว่า ไม่มีอย่างอื่น เขาเสียงเขียวว่า
“ไม่มีก็ไม่เอา ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องกิน แค่ถุงพลาสติกก็แย่แล้ว”
เธอเล่าต่อว่า เมื่อเดือนก่อนเธอกับเขาไปงานชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่เชียงใหม่ เขาหันไปเห็นกล่องโฟมใส่อาหารวางเรียงอยู่บนโต๊ะประมาณสามสิบสี่สิบกล่อง เขาตรงเข้าไปถามว่า อาหารพวกนี้กินมื้อเดียวใช่ไหมครับ น้องที่อยู่ใกล้ๆ พยักหน้า วันหนึ่งกินสามมื้อ วันละร้อยกล่อง พวกคุณจัดงานกี่วันครับ
คราวนี้น้องงง เขาก็เลยพูดต่อว่า ผมเสนอว่า ควรหาทางอื่นในการกินนะครับ อย่าคิดแต่เรื่องสะดวกสบาย ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมกันด้วยไม่ใช่หรือครับ ถ้างั้นก็ป่วยการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม
ฟังเขาพูดแล้วต้องเดินหนี อายเขาและกลัวว่า คนที่ถูกว่าจะเสียใจ เสียหน้า กลับมาถึงบ้านเขายังเล่าให้ฟังอีกว่า น้องคนนั้นบอกให้เขาไปเขียนลงที่กล่องแสดงความคิดเห็น
ฉันบอกเธอไปว่า ทำเรื่องที่ควรทำไม่น่าจะอายนะคะ แต่ก็น่าจะคิดวิธีบอกกล่าวบ้างเหมือนกัน ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ศิลปะในการพูดไม่ให้คนอื่นเสียหน้าและได้ผลด้วย การเขียนใส่กล่องความคิดเห็นก็เป็นวิธีหนึ่ง
มีอีกหลายคนที่บอกมาว่า ที่เขาและเธออยู่ต่างมีขยะมากมาย ทั้งเหนือใต้อีสาน แต่เด็ดสุดจากใต้ น้ำตกพรมโลก เธอบอกว่า ที่นั่นขยะมากมาย เคยพบว่ามีถุงดูเร็กด้วย (ถุงยางอนามัยดูเร็กนะ ไม่ใช่ กระดาษช็อกโกแล็ต)
ฉันบอกน้องสาวคนนั้นไปว่า การเดินป่า เที่ยวป่าเขาและน้ำตกนั้น เขาให้เอาไปแต่สิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิตเท่านั้น และเอาไปให้น้อยที่สุด แต่ก็นั่นแหละสิ่งจำเป็นของใคร ๆ ก็ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือเอาขึ้นไปแล้วก็เอากลับลงมาเหมือนเดิม
บางคนก็บอกเธอเป็นคนเก็บขยะ และเก็บมานานแล้วเห็นขยะที่ไหนก็เก็บ และเขาพบว่า หลังจากที่เขาเริ่มเก็บขยะเขาได้สิ่งมีค่าหลายอย่างที่คนอื่นทิ้งและเขานำมาใช้ได้ บางครั้งเขาก็เอามาขัดมาเช็ดถู เก็บไว้ข้างบ้าน มีเพื่อนมาเห็นชอบเขาก็ยกให้ไปเลย พวกกรอบรูปก็มี พวกเก้าอี้เอามาซ่อมได้ เพื่อน ๆ ไม่รู้หรอกว่าเก็บมาจากที่เขาทิ้ง ๆ
เธอว่าคนชอบทิ้ง ใช้แล้วก็ทิ้งไม่ได้คิดจะเก็บมาใช้ให้คุ้มค่า หรือเอามาซ่อมแซม เธอยังเสนอว่า บริษัทที่ผลิตขยะออกมาก็น่าจะรับผิดชอบเอากลับไปด้วย โดยเฉพาะขยะอันตรายพวกถ่านไฟ แบตเตอรี่มือถือ กระป๋องต่าง ๆ
อีกคน “น้องเด็กดอย”จากโอเคเนชั่น เขียนมาว่า ขยะบนดอยมาก ดอยไหนก็มีขยะ โดยเฉพาะที่เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
เขาเป็นเด็กดอยอินทนนท์ ข้อความสั้น ๆ แต่มีความหมาย และเข้าใจอารมณ์ของคนอยู่ดอยจริง ๆ และข้อความสั้น ๆ นี่แหละ ทำให้ฉันเขียนเรื่องขยะต่อ
ด้วยคำถามว่า ขยะดอยมาจากไหนและมันจะกลับมาได้อย่างไร
แน่นอนมันต้องลงมาถึงพื้นราบ มากับสายน้ำที่ปนเปื้อนด้วยสารต่าง ๆ มากับอากาศ ทั้งน้ำและอากาศจะได้รับกันอย่างทั่วถึง
ว่ากันว่า ขยะในตัวเมืองเชียงใหม่ จำนวนมหาศาล ถูกนำไปเก็บไว้บนป่าบนดอยสูงด้วย คิดดูเถิดว่า การจัดการกับขยะในเมืองเป็นเรื่องโหดแค่ไหน การย้ายขยะจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่งเท่านั้น
เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นเจ้าของโรงเรียน อนุบาล เธอบอกว่า เด็ก ๆ เป็นภูมิแพ้กันมาก พ่อแม่ต้องเตรียมรับมือเรื่องนี้ให้ดี เพราะพวกเขาจะได้โรคภูมิแพ้เป็นของขวัญทันทีที่เกิดมา
นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวไหม
บอกกล่าวกันไว้แค่นี้แล้วกันนะคะ เผื่อใครจะคิดต่อทำต่อ
****************
ปล.ข่าวฝากเพื่อสังคมค่ะ
งานเดิน และปั่นจักรยาน ขึ้นดอยสุเทพ ตามรอยครูบา และดูแลสิ่งแวดล้อมค่ะ
“วันที่ 4 พฤศจิกายน 2550” นี้ สำหรับผู้สนใจร่วมเดินทาง
เริ่มโมงเช้าที่ลานครูบาศรีวิชัย กลุ่มเดินเท้าเดินตามเส้นทางป่าดอย ค่อยลัดเลาะไป ดูและฟังเสียงป่า ไปกินขนมอร่อย ๆ ที่วัดผาลาด และเดินต่อไปจนถึงลานวัดพะธาตุไปพบกับทีมปั่นจักรยานที่รออยู่แล้ว ในช่วงวันดี ๆ เช่นนี้ เราจะฟังธรรมเทศน์เรื่อง การอนุรักษ์ดอยสุเทพและสิ่งแวดล้อมของเชียงใหม่ ณ บริเวณลานวัดพระธาตุ ครั้งนี้เจ้าอาวาสจะได้เปิดใจเรื่องดอยสุเทพและวัดพระธาตุว่าท่านคิดอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงของดอยสุเทพและวัดพระธาตุดอยสุเทพ หลังจากดื่มด่ำกับธรรมชาติ ก็มาดื่มกินอาหารร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นธรรมชาติ
งานนี้มีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย เพื่อการจัดงานและเป็นทุนในการดำเนินงานของภาคีคนฮักเชียงใหม่ โดยชื่อบัตรเดินทางคนละ 199 บาท พร้อมรับเสื้อยืดหนึ่งตัว และข้าวหนึ่งห่อ และขนม
ท่านที่จะเดินเท้าหรือปั่นจักรยาน ติดต่อล่วงหน้าล่วงหน้านะคะ โทร.ที่ 084 0415096 หรือ 085 0397138 หรือที่ ร้านหนังสือ สุริวงค์บุคเซ็นเตอร์ ร้านเล่า หรือ ร้านนันทขว้าง ร้านเมล็ดกาแฟ เอเดน กรีนเฮาส์ และสุดสะแนน