เราได้เพื่อนใหม่ทันที เธอชื่อเนเน่ เธอบอกว่า เธอเดินทางมาที่นี่ปีละหลาย ๆ ครั้ง และแม้ปายจะเปลี่ยนไปอย่างไรเธอก็ยังชอบปาย เธอมาเพื่อหาที่นั่งอ่านหนังสือสบาย ๆ ช่วง เย็น ๆ ก็ออกเดินเล่นไปตามถนน เดินคุยกับคนโน้นคนนี้เพราะผู้คนส่วนมากเป็นมิตร
เนเน่ชวนเราเดินถนนคนเดิน เธอว่าถนนคนเดินที่นี่ไม่เหมือนที่เชียงใหม่ อย่างไรปายก็ยังไม่เหมือนที่อื่น เธอแนะนำว่า ไปดื่มชาอินเดีย ไปยังไม่ถึงชาอินเดียหยุดอยู่ที่หมั่นโถวสีเหลือง พ่อค้าเป็นคนอินเดีย ให้สงสัยว่าทำไมไม่ทำโรตี อยากรู้มีหรือเพื่อนฉันจะไม่ถาม และได้ความมาว่ามีเมียเป็นคนจีนยูนนานหมั่นโถวหรือหม่านโถวถือเป็นอาหารประจำถิ่นของคนจีนยูนนานเลยทีเดียว สีเหลืองเพราะฟักทองจริงๆ ไม่ใช่ใส่สี เขาทดลองทำและได้ผลลูกค้าชอบ แรกเราคิดว่าจะกินคนละครึ่งลูกเพื่อจะได้เหลือท้องไว้กินอย่างอื่นอีกเพราะน้องเนเน่บอกว่ามีของกินอร่อยอีกหลายอย่าง แต่เมื่อกินแล้วหยุดไม่ได้ ยิ่งได้ชิมไส้ไก่ที่หอมกลิ่นแกงกะหรี่ด้วย เราสองคนก็เลยหยุดอยู่ที่ซาละเปา หมั่นโถว นานกว่าที่ควร และกินไปคนละสองลูก อิ่มอร่อยเกินห้ามใจจริง ๆ
จริงของเนเน่ มีของอร่อยหลายอย่างให้ชิมไปเรื่อยๆ เราไปหยุดอีกทีหนึ่งที่ร้านขายข้าวปุ๊ยูนนาน ชาวบ้านชาวเขาจะทำข้าวปุ๊กินกันในช่วงปีใหม่ เป็นการกินข้าวใหม่ด้วย เขาจะเอาข้าวใหม่หุงร้อนๆ แล้วเอาไปตำให้เป็นเนื้อเดียวกันต่อจากนั้นก็มาทำเป็นแผ่นหนาๆ กลมๆ แล้วเอาไปย่างไฟ กัดกินกับน้ำชาร้อนๆ ยามหนาวๆ ฉันเคยไปกินมาบ่อยๆ
ข้าวปุ๊ที่นี่ได้พัฒนาไปแล้วเหมือนกัน เมื่อย่างไฟแล้วไม่ได้กัดกินทันที แต่มีการโรยด้วยน้ำตาลทรายแดง น้ำอ้อย และราดด้วยนมข้นหวาน หรือจะเลือกราดด้วยช็อกโกแลตก็ได้ แน่นอนเพื่อนฉันไม่ผ่านไปเฉยๆ หล่อนซื้อมาชิ้นหนึ่งและกัดกินอย่างอร่อย เธอเป็นคนช่างพูด พูดเพราะและให้กำลังใจคนทั้งโลก เธอบอกแม่ค้าว่า อร่อยจริง ๆ และถามวิธีทำไปด้วย ฉันอยากจะบอกเพื่อนว่า ลองกินแบบเดิม ๆ ที่ได้กลิ่นข้าวปุ๊จริง ๆ แต่คิดขึ้นได้ว่า เราอยู่ในช่วงหาคุณค่าใหม่ ๆ ยอมรับการพัฒนา
หญิงสาวสองคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ เรา ถามแม่ค้าว่าไม่มีกล่องโฟมใส่เหรอค่ะ แม่ค้าบอกว่าไม่มีค่ะ เธอบ่นว่าใบตองมันจะไม่สะอาดและถ้าใส่กล่องแล้วตัดเป็นชิ้นเล็กๆ หยิบกินง่าย
ฉันจึงเสียมารยาทบอกเธอว่า ใส่ใบตองน่ะดีแล้วค่ะ และข้าวปุ๊ต้องกัดกินร้อนถึงจะอร่อย
แม่ค้ารีบเอาผ้าขาวสะอาดออกมาเช็ดใบตองอีกครั้ง และเปลี่ยนใบตองให้เธอพร้อมกับหั่นข้าวปุ๊เป็นชิ้นเล็กๆ ให้กินได้สะดวก
"โฟมใส่ของกิน เป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะของร้อน" ฉันว่าต่อ
หญิงสาวหันมาขอบใจและรับข้าวปุ๊ห่อใบตองไป เกินคาด คิดว่าจะถูกด่า แต่เธอขอบคุณ
เดินจนเหนื่อยมีของกินของใช้ เครื่องประดับ และอื่นๆ อีกมากมาย วางขายให้นักท่องเที่ยงจับจ่าย ใครสักคนเคยบอกฉันว่า ปายเปลี่ยนไปเพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวเปลี่ยน มีนักท่องเที่ยวแบบไทย ๆ ที่ชอบจับจ่ายชื้อของมากขึ้น ไปที่ไหนก็ซื้อและซื้อ และจะมากันแน่นในวันหยุด นักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมซึ่งเป็นคนต่างชาติ กลุ่มคนไทยที่รักสงบ และกลุ่มที่ต้องการเสรีภาพซึ่งอยู่นาน ๆ ได้ออกไปจากเมือง เจ้าของบ้านพักและคนทำธุรกิจการท่องเที่ยวชอบลูกค้ากลุ่มใหม่มากกว่า เขาบอกมาอย่างนี้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้
ร้านสุดท้ายที่ไปหยุดเป็นร้านเพื่อนชายรุ่นหลาน เขาเปิดร้านขายโปสการ์ดและภาพถ่ายขาวดำ ที่นี่มีร้านขายโปสการ์ดมากมาย และผู้คนต่างก็เลือกซื้อและนั่งเขียนกัน ทุกร้านจะมีตู้ไปรษณีย์เล็ก ๆ สวย ๆ สำหรับหย่อนลงไปด้วย ก็ดีเหมือนกันได้เห็นผู้คนนั่งเขียนโปสการ์ดถึงคนที่เขาคิดถึง มันเป็นภาพแห่งความปรารถนาดีที่พบเห็นบนถนนแห่งนี้ ฉันคิดว่าผู้คนจะเขียนถึงคนที่เขารัก คงไม่มีใครนั่งเขียนโปสการ์ดที่นี่เพื่อส่งไปทวงหนี้
จำได้ว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ฉันเคยมาที่นี้ ซื้อโปสการ์ดใบหนึ่งเพื่อส่งไปให้ใครคนหนึ่ง แต่ฉันไม่ได้ทิ้งตู้แถวนี้ ไปส่งที่หมู่บ้านซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าหมู่บ้านอะไรมีตู้ไปรษณีย์เก่า ๆ ขึ้นสนิมซุกอยู่ข้างทางที่มีฝุ่นเกาะหนา ไม่แน่ใจว่ายังใช้ได้อยู่หรือเปล่าตัวอักษรที่เขียนเวลาเปิดก็ลอกออกไปแล้ว แต่ฉันอยากลองเสี่ยงดู หลังจากนั้นประมาณครึ่งปี ผู้รับบอกฉันว่า โปสการ์ดแผ่นนั้นไปถึงเขาด้วยสภาพเยิน ๆ มีร่องรอยด่างดำ
เพื่อนหยุดอยู่ที่ร้านโปสการ์ดขาวดำนั่งและนั่งเขียนอยู่ตรงนั้น เธอชวนฉันเขียนโปสการ์ดด้วย แต่ฉันอยากดูคนเขียนมากกว่า นานๆ จะได้เห็นคนนั่งก้มเขียนกันมากๆ อย่างนี้ ข้างร้านโปสการ์ดขาวดำมีดนตรีเล่นสดๆ ให้ฟังด้วย เที่ยงคืนเนเน่ชวนเราเดินกลับที่พักซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก นับว่าเนเน่ดูแลเพื่อนใหม่ที่เพิ่งรู้จักกันดีมากๆ การกระทำของเธอยืนยันคำพูดของเธอว่า คนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นมิตร
ยามเช้าเราออกมาเดินดูเมืองปายกันต่อ เริ่มเดินจากที่พักผ่านร้านหนึ่งเขียนว่า ไก่ทอดหาดใหญ่ ข้าวแกงปักษ์ใต้ ฉันตรงเข้าไป แต่เพื่อนทำท่าว่ายังไม่อยากหยุดอยู่ที่ร้านอาหารใต้ จริงของเพื่อน เรามาถึงนี้จะกินอาหารใต้ทำไม จึงแค่หยุดทักทายแม่ค้าเป็นภาษาใต้แล้วเลยผ่าน ไปเช่ารถจักรยานกิจกรรมที่เคยทำทุกครั้งที่มาที่นี่ แต่เนเน่เธอไม่ชอบ เราจึงต้องแยกทางกัน เธอบอกว่าอยากจะนั่งนิ่งและอ่านหนังสือริมน้ำ
เช้านี้มีผู้คนมากกว่าเมื่อคืนอีก รถตู้เต็มถนน ปั่นจักรยานติดรถตู้เป็นระยะ แม้ออกจากถนนในเมืองไปแล้วก็ยังติดรถตู้ที่เข้าไปส่งนักท่องเที่ยวตามที่พัก
ไปเรื่อยๆ ไปตามเส้นทางเล็กๆ ในหมู่บ้าน พบเพิงขายอาหาร เป็นมะละกอทอด ไปที่ไหนต้องกินอาหารที่นั่น เราเลยชิมมะละกอทอดกัน กินแล้วก็ขอสูตรเขามาด้วย
แม่ค้า เป็นคนพื้นถิ่นที่นี้ เธอบอกว่ามะละกอทอดกินกันมานานแล้ว ต้องเลือกมะละกอที่แก่ใกล้จะสุกแบบเนื้อพอเหลืองนิด ๆ ซอยหยาบ ๆ แล้วไปแช่น้ำปูนใสสักพัก แล้วซุปแป้งทอด กินกับน้ำจิ้ม เผื่อใครสนใจอยากทำกิน น้ำจิ้มของเขาใช้น้ำส้มหรือมะนาวก็ได้ พริกขี้หนูเล็กน้อยหั่นหั่นหยาบๆ ถั่วลิสงตำพอแหลก เกลือ น้ำตาล แตงกวาหั่นบาง ๆ ชิมรสให้กลมกล่อม
ผ่านแม่ค้ามะละกอทอดเราพบลุงขายกล้วย แวะซื้อกล้วยหนึ่งหวี เพื่อนถามคนขายกล้วยว่า "กล้วยปลูกที่นี่หรือค่ะ"
"ปลูกหลังบ้านนี้แหละ"
"บ้านลุงกว้างขวาง ทำไมไม่ทำเป็นที่พักนักเดินทางละค่ะ" เพื่อนชวนคุยต่อ
ลุงแกส่ายหน้า
"นักท่องเที่ยวเยอะแยะอย่างนี้เดือดร้อนไม่ล่ะค่ะลุง" เพื่อนถาม
"ไม่เดือดร้อนอะไร"
"รำคาญไหมลุง ใกล้ๆ บ้านลุงก็มีที่เกสท์เฮาส์ มีบ้านพักนักเดินทางเยอะ" ฉันถาม
คราวนี้ ลุงตอบว่ารำคาญ ถ้าเสียงดังมาก ๆ
"ลูก ระวังรถ" แกบอกพลางขยับโต๊ะขายกล้วยให้เราหลบเข้ามาให้ปลอดภัยจากรถตู้ที่ขน นักท่องเที่ยวเข้าไปพักข้างใน จักรยานเราแกะกะถนนจริง ๆ คนขับรถยนต์เปิดกระจกมาส่งเสียงดัง คิดขำคำของเนเน่ที่ว่าผู้คนที่มาที่นี่ส่วนใหญ่เป็นมิตร
"เดือดร้อนเหมือนกันนะลุงนะ" ฉันพูดขึ้นหลังจากหลบรถจากถนน
"มีบ้าง" แกตอบอย่างเกรงใจ เพื่อนยกมือไหว้ลุงและบอกว่า ขอบคุณค่ะ และขอโทษนะลุงนะที่มารบกวน
โอ...ฉันมองเพื่อนอย่างทึ่งสุด ๆ นี่มุมที่งดงามของนักท่องเที่ยวอยู่ตรงนี้เอง ตรงที่ให้เกียรติรู้สำนึกต่อเจ้าของบ้าน กินอาหารของคนท้องถิ่น กินมะละกอทอดและกล้วยน้ำว้า
ฉันบอกเพื่อนว่า วันนี้เราตั้งใจจะหาคุณค่าใหม่ๆ แต่พบคุณค่าเก่าๆ เช่น ข้าวปุ๊ มะละกอทอด และกล้วยน้ำว้า เป็นคุณค่าเก่าๆ ที่ไม่ต้องค้นหา