Skip to main content

อยู่อย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรี

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ชุมชนจะต้องเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ ลดการพึ่งพาภายนอก ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และอยู่อย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรี”


แต่นั่นแหละ คำพูดเพราะๆ เช่นนี้จะเป็นจริงไปได้อย่างไร

 

ในปัจจุบันนี้ หมู่บ้านเล็กๆ ในชุมชนหลายแห่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ การดำเนินชีวิตขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่น ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตที่ถูกกำหนดโดยตลาดทุนจากพืชเศรษฐกิจ

 


ที่บ้านตีนผา บ้านหลังดอยอินทนนท์ ชาวบ้านส่วนหนึ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด และในช่วงหน้าแล้งก็ทำอะไรไม่ได้เพราะขาดน้ำ จึงต้องออกไปทำงานรับจ้างนอกชุมชน บางคนเดินทางเข้าเมือง


เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ถูกกำหนดเงื่อนไขจากภายนอกชุมชน ไม่สามารถอยู่รอดด้วยเศรษฐกิจภายในชุมชน หรืออยู่แบบพึ่งตนเองไม่ได้เหมือนเดิม


แต่หมู่บ้านนี้ยังรักษาความเขียวของหมู่บ้านเอาไว้ได้บางส่วน คือบริเวณที่เป็นชุมชนตั้งบ้านเรือน และผู้คนส่วนหนึ่งทำการเกษตรผสมผสาน

 

ชาวบ้านตีนผามีที่ดินทำกินไม่มากนัก ครอบครัวหนึ่งประมาณ 5-6 ไร่ มีเพียงหนึ่งหรือสองครอบครัวที่มีมากที่สุดคือ 15 ไร่ ทุกครอบครัวจะปลูกข้าวเป็นหลัก ทั้งนาข้าวและข้าวไร่ ดังนั้นทุกครอบครัวจึงมีข้าวกิน


แม้จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือปลูกพืชชนิดอื่น แต่พื้นที่ส่วนหนึ่งต้องกันไว้ปลูกข้าว เพราะการมีข้าวกินคือหลักประกันของชีวิต

ซื้อแต่เกลือกับผงชูรส อย่างอื่นไม่ซื้อก็อยู่ได้ มีพริกมีผัก” พะตีคนหนึ่งว่า

 

หลายครอบครัวหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ และประสบกับปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะลงทุนสูง และสูงขึ้นเรื่อยๆ ปุ๋ยมีราคาสูง ในทุกปีการใช้ปุ๋ยจะเพิ่มขึ้นเพราะพื้นดินเสื่อมลงเรื่อยๆ ดินแข็งและแห้ง นอกจากปุ๋ยแล้วยังต้องใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงด้วย อีกทั้งผลผลิตทางการเกษตรอย่างข้าวโพดก็ราคาตกต่ำลงด้วย


ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีอัตราการแลกเปลี่ยนปุ๋ยกับข้าวเปลือก คือปุ๋ยหนึ่งกระสอบต่อข้าวเปลือก 13 กระสอบ และหากซื้อเป็นเงินก็ 1,300 บาท

 

อย่างเช่น ชุมพล และผ่องศรี นัดดาศรี สามีภรรยาที่มีลูกชายสองคน


ผ่องศรีบอกว่า “ปีนี้ทำข้าวสองไร่ครึ่ง แค่พอกิน แต่ยังต้องปลูกข้าวโพดอยู่เพราะว่ามีหนี้เยอะ เผื่อข้าวโพดราคาดีจะได้ใช้หนี้ เป็นหนี้จากซื้อรถมอเตอร์ไชค์ ไปยืมเงินของญาติพี่น้องมาซื้อก็เลยติดหนี้ญาติพี่น้องหลายราย ไม่ซื้อก็ไม่ได้เพราะลูกป่วยบ่อย ไปโรงพยาบาลบ่อย เป็นโรคหืดหอบ”

 

แต่ชุมพลสามีของเธอบอกว่า “ข้าวโพดราคาตกต่ำเหลือ 4 บาท คิดแล้วไม่คุ้ม ปีนี้ขาดทุนเพราะปุ๋ยแพง ราคาข้าวโพดถูก ใช้ปุ๋ยไป 11 กระสอบ กระสอบละ 1,300 บาท ที่คิดว่าจะใช้หนี้ก็ไม่ได้ใช้”

 

หนี้สินของผู้คนที่นี่ส่วนหนึ่งมาจากการกู้เงินกองทุนของรัฐบาล เช่น กองทุน กขคจ (กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน) แต่กลายเป็นหนี้กัน

 


ชาวบ้านตีนผาส่วนหนึ่งจึงหันกลับมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน แทนพืชเชิงเดี่ยว อย่างเช่น ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนายยืนยง ลำเนาพงศ์ไพรงาม

 

 

ผู้ช่วยเล่าว่า “เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือปลูกข้าวโพด ปลูกอยู่ปีเดียวและเลิกกลับมาทำการเกษตรผสมผสานเหมือนเก่าเพราะคิดดูแล้วไม่คุ้ม มันเป็นของคนอื่น จะเอาของคนอื่นมาเป็นของเราจะได้อย่างไร ทุกอย่างเป็นของเขาหมดเลย”


ผู้ช่วยยืนยงกลับมาทำการเกษตรผสมผสานเหมือนเดิม ทำข้าวไร่ ปลูกผักต่างๆ ไว้กินและขาย ในสวนของผู้ช่วยมีทั้งถั่ว มะเขือ และที่มีมากเป็นไร่ๆ คือ ฟักทอง และเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ


การกลับมาทำการเกษตรผสมผสานหรือการทำเกษตรยั่งยืนน่าจะเป็นทางรอดหนึ่งเพราะเป็นการพึ่งตนเองมากกว่าการพึ่งตลาดภายนอก ปลูกเพื่อกินก่อนที่จะปลูกเพื่อขาย ทำปุ๋ยหมักแทนปุ๋ยเคมี และหยุดการใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ ในการเร่งผลผลิต ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรก็ลดน้อยลง

 

 

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
“รู้สึกว่า ปีนี้ ไม่ค่อยจะมีความสดชื่น รื่นเริง  ความรื่นเริงและความสุขดูเหมือนจะหายไป ลุงรู้สึกเช่นนั้นไหม”ลุงว่า ใครมันจะมารื่นเริงอยู่ได้ในสถานการณ์เมืองไทยเป็นเช่นนี้ หมายความว่า น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ โดยเฉพาะการเมืองที่สับสนและดูไม่กระจ่างใส  เป็นความเครียดทางสังคม เครียดจากการปกครองโดยทหารที่ลึกลงไป และเข้าใจว่า แม้จะยอมรับก็ยอมรับแบบหวานอมขมกลืน และยิ่งเครียดเข้าไปอีกเมื่อมีการเลือกตั้งในช่วงใกล้ปีใหม่ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นของฝ่ายไหนก็ไม่น่าจะทำให้ใครสบายใจได้ เมื่อประชาชนถูกแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนมากขึ้น…
แพร จารุ
  ฉันรู้สึกว่ามันเป็นช่วงปีใหม่ที่ไม่รู้สึกสดชื่นนัก ดูเหงา ๆ วังเวง ในท่ามกลางงานเลี้ยงรื่นเริงที่มีอยู่และเป็นไปตามวาระของมัน ความรู้สึกอย่างนี้มันอยู่ลึกลงไปแต่ฉันสัมผัสได้อย่างเย็นเยียบจริง ๆ ฉันไม่รู้ว่าคนอื่นจะรู้สึกหรือไม่ หรือว่าฉันรู้สึกอยู่คนเดียว ว่าเป็นปีใหม่ที่ไม่มีความรื่นเริงอยู่จริง มันหดหู่อยู่ภายในหัวใจอย่างไรไม่รู้ คล้ายรู้สึกว่า ความเศร้ามารอคอยเคาะประตูอยู่หลังบ้าน... หลังจากงานรื่นเริงจบลงฉันถามตัวเองหลายครั้งว่าความรู้สึกนี้เป็นจริง หรือว่าฉันกำลังจะป่วยด้วยอาการกลัวหรือกำลังจะเป็นโรคซึมเศร้า อะไรทำให้ฉันคิดอย่างนั้น หรือเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจของตัวเอง…
แพร จารุ
ฉันได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า อาหารบ้านฉัน  เป็นสูตรอาหารพื้นถิ่น ของกินจากป่าหลังบ้าน และที่สำคัญกว่านั้น เขียนว่าอร่อยไปถึงหัวใจ “ฉันเติบโตมาจากอาหารที่หลังบ้าน เธออยากรู้ไหมว่า อาหารบ้านฉันอร่อยแค่ไหน  เธอไม่ต้องกลัวหรอก บ้านฉันมีอาหารมากมาย กินกันอย่างไม่หมด” หนังสือเล่มนี้ มีผู้ร่วมดูแลหรือผู้ร่วมทำงานด้วย เขาคือ ธนภูมิ อโศกตระกูล เป็นคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารสุขภาพ การกินอยู่แบบง่าย ๆ เช่น จานอร่อยปลอดเนื้อ มหัศจรรย์แห่งเต้าหู้ เจไม่จำเจ เป็นต้นธนภูมิ อโศกตระกูลเขาเล่าว่า “ได้เข้ามาเที่ยวในแม่เหียะใน เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว…
แพร จารุ
“หนาวไหม หนาวหรือยัง”“หนาวแล้ว เชียงไหมหนาวแล้ว”“ฉันจะไปเชียงใหม่”บทสนทนาหนึ่ง ที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ รายงานข่าว ขณะนี้ยอดดอยอากาศหนาวมาก โดยเฉพาะดอยสูงอุณหภูมิติดลบแล้ว เกิดน้ำค้างแข็ง มีคำถามว่า นักท่องเที่ยวหรือคนที่จะมาเชียงใหม่ควรได้รับรู้ข่าวคราวอะไรบ้างนอกจากว่า หนาวแล้วหรือหนาวกี่องศา ชายคนหนึ่งพูดขึ้นในยามบ่าย เขาพูดต่อว่า ถ้าอยากให้คนอื่นที่มาเที่ยวเชียงใหม่ รู้ว่าเขาควรจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเมืองและรักเมืองนี้ เราต้องให้ข่าวสารเขามากกว่านี้  เราควรต้องทำงานกับสื่อให้มากว่านี้  เขาเป็นหนึ่งในคนทำงานภาคีฯการมุ่งเน้นให้คนเชียงใหม่ดูแลเมืองเชียงใหม่…
แพร จารุ
มีเพื่อนผู้หวังดีส่งเมลมาว่า ให้เขียนเรื่องดี ๆ เพื่อเมืองเชียงใหม่บ้าง ทำไมถึงมองไม่เห็นความงามของเมืองบ้าง  ฉันจึงเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา               1ถ้ามองลงมาจากฟ้า เราจะเห็นเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ตรงกลาง มีป่าดอยสุเทพอยู่ทางตะวันตก มีแม่น้ำปิงไหลผ่านทางตะวันออก  ช่างเป็นเมืองงดงามที่สมบูรณ์ เล่ากันว่า เดิมทีผู้คนในเมืองนี้อยู่กันอย่างสงบสันติ แต่แน่นอนเมืองที่ดีงามเช่นนี้ ย่อมมีผู้คนต้องการ เข้ามาอยู่มาครอบครอง โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติบนดอยสูง หลายร้อยปีต่อมา เมืองเชียงใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว…
แพร จารุ
ขอบอกก่อนว่า เป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีสาระอะไรเลย เล่าเรื่องนี้ เพราะวันพิเศษเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ถือว่า เป็นการผจญภัยในดินแดนที่รื่นรมย์เลยทีเดียวฉันจะเรียกเขาว่า แขกพิเศษ เพราะเป็นการมาเยือนแบบไม่คาดคิดมาก่อน และต่างมาในวันเดียวกันด้วย อีกทั้งไม่ได้นัดหมายมาล่วงหน้า ต่างมาแบบตั้งตัวไม่ติดทั้งนั้น แขกคนที่หนึ่ง เขาเดินทางมาด้วยรถมอเตอร์ไชค์ มาถึงก่อนที่เจ้าของบ้านจะทันตื่น ได้ยินเขาส่งเสียงตะคอก เจ้าสองตัวแม่ลูก ที่ทำหน้าที่เฝ้าบ้าน มันเห่าเสียงแหลมเล็กตามแบบของหมาเล็ก และยังเยาว์ ฉันว่าคนเลี้ยงหมาทุกคนไม่ชอบให้ใครตะคอกหมา และยินดีที่มีคนรักหมาของตัวเอง…
แพร จารุ
ไม่รักไม่บอก  เออ...เหมือนมีใครมาพูดอยู่ข้างหู บอกว่า ฉันรักเธอนะจึงบอก แต่ว่าเรื่องที่ฉันจะบอกนั้น เธออาจไม่ชอบ เธออาจจะโกรธฉัน  แต่ที่ฉันต้องบอกเพราะว่า ฉันรักเธอและปรารถนาดีต่อเธอจริง ๆ “ฉันไม่บอกไม่ได้แล้ว”ถึงตอนนี้คุณอาจจะรู้สึกรำคาญใจ พูดพร่ำอยู่ทำไม อยากบอกอะไรก็บอกมาเถอะ ใช่...ไม่รักไม่บอกค่ะ เป็นชื่อหนังสือเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ มีการ์ตูนน่ารักๆ เปิดไปหน้าแรก ผู้เขียนบอกว่า ที่ทำหนังสือเล่มนี้ เพราะว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นเรื่องน่ารัก มีเรื่องดีงามที่เขาค้นพบอยู่มากมาย เขาเล่าถึงเรื่อง เด็กชายคนหนึ่ง ตามแม่ไปซื้อของที่ร้านเกษมสโตร์ เขากินไอศกรีมรอแม่…
แพร จารุ
เรื่องขยะ ๆ มันโดนใจใครต่อใครหลายคน หลังจากที่เขียนเรื่อง แปดสิบบาทกับผู้ชายริมทางรถไฟ และในเรื่องมีขยะ ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
แพร จารุ
“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ยืนล้วงกระเป๋าเสื้ออยู่ริมทางรถไฟ ในขณะที่รถไฟกำลังมา  เป็นภาพปกหนังสือ ฅ คน ที่ทำให้ฉันต้องนับเงินในกระเป๋าให้ครบแปดสิบบาท ความจริงหนังสือเขาไม่แพงหรอก เพียงแต่ว่า เงินสำหรับบ้านฉันมันหายากมาก หรือจะเรียกให้ถูกก็คือฉันไม่ค่อยหาเงิน ดังนั้นเมื่อไม่หาเงินก็ต้องใช้เงินน้อย ๆ หรือไม่ใช้ไปเลยถ้าไม่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ แม้ว่าการจะซื้อหนังสือถือเป็นความจำเป็นหนึ่ง แต่ก็ต้องเลือกอย่างพิถีพิถันในเนื้อหา ดังนั้น ถ้าร้านไหนห่อพลาสติกอย่างดีเปิดไม่ได้ ก็ผ่านเลย หนังสือเล่มนี้ก็ห่อพลาสติกอย่างดีเหมือนกัน แต่ก็รีบซื้อ  เพราะทั้งรถไฟและคุณสุชาติ  สวัสดิ์ศรี…