อยู่อย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรี
“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ชุมชนจะต้องเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ ลดการพึ่งพาภายนอก ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และอยู่อย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรี”
แต่นั่นแหละ คำพูดเพราะๆ เช่นนี้จะเป็นจริงไปได้อย่างไร
ในปัจจุบันนี้ หมู่บ้านเล็กๆ ในชุมชนหลายแห่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ การดำเนินชีวิตขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่น ขึ้นอยู่กับราคาผลผลิตที่ถูกกำหนดโดยตลาดทุนจากพืชเศรษฐกิจ
ที่บ้านตีนผา บ้านหลังดอยอินทนนท์ ชาวบ้านส่วนหนึ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด และในช่วงหน้าแล้งก็ทำอะไรไม่ได้เพราะขาดน้ำ จึงต้องออกไปทำงานรับจ้างนอกชุมชน บางคนเดินทางเข้าเมือง
เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ถูกกำหนดเงื่อนไขจากภายนอกชุมชน ไม่สามารถอยู่รอดด้วยเศรษฐกิจภายในชุมชน หรืออยู่แบบพึ่งตนเองไม่ได้เหมือนเดิม
แต่หมู่บ้านนี้ยังรักษาความเขียวของหมู่บ้านเอาไว้ได้บางส่วน คือบริเวณที่เป็นชุมชนตั้งบ้านเรือน และผู้คนส่วนหนึ่งทำการเกษตรผสมผสาน
ชาวบ้านตีนผามีที่ดินทำกินไม่มากนัก ครอบครัวหนึ่งประมาณ 5-6 ไร่ มีเพียงหนึ่งหรือสองครอบครัวที่มีมากที่สุดคือ 15 ไร่ ทุกครอบครัวจะปลูกข้าวเป็นหลัก ทั้งนาข้าวและข้าวไร่ ดังนั้นทุกครอบครัวจึงมีข้าวกิน
แม้จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือปลูกพืชชนิดอื่น แต่พื้นที่ส่วนหนึ่งต้องกันไว้ปลูกข้าว เพราะการมีข้าวกินคือหลักประกันของชีวิต
“ซื้อแต่เกลือกับผงชูรส อย่างอื่นไม่ซื้อก็อยู่ได้ มีพริกมีผัก” พะตีคนหนึ่งว่า
หลายครอบครัวหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ และประสบกับปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะลงทุนสูง และสูงขึ้นเรื่อยๆ ปุ๋ยมีราคาสูง ในทุกปีการใช้ปุ๋ยจะเพิ่มขึ้นเพราะพื้นดินเสื่อมลงเรื่อยๆ ดินแข็งและแห้ง นอกจากปุ๋ยแล้วยังต้องใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงด้วย อีกทั้งผลผลิตทางการเกษตรอย่างข้าวโพดก็ราคาตกต่ำลงด้วย
ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีอัตราการแลกเปลี่ยนปุ๋ยกับข้าวเปลือก คือปุ๋ยหนึ่งกระสอบต่อข้าวเปลือก 13 กระสอบ และหากซื้อเป็นเงินก็ 1,300 บาท
อย่างเช่น ชุมพล และผ่องศรี นัดดาศรี สามีภรรยาที่มีลูกชายสองคน
ผ่องศรีบอกว่า “ปีนี้ทำข้าวสองไร่ครึ่ง แค่พอกิน แต่ยังต้องปลูกข้าวโพดอยู่เพราะว่ามีหนี้เยอะ เผื่อข้าวโพดราคาดีจะได้ใช้หนี้ เป็นหนี้จากซื้อรถมอเตอร์ไชค์ ไปยืมเงินของญาติพี่น้องมาซื้อก็เลยติดหนี้ญาติพี่น้องหลายราย ไม่ซื้อก็ไม่ได้เพราะลูกป่วยบ่อย ไปโรงพยาบาลบ่อย เป็นโรคหืดหอบ”
แต่ชุมพลสามีของเธอบอกว่า “ข้าวโพดราคาตกต่ำเหลือ 4 บาท คิดแล้วไม่คุ้ม ปีนี้ขาดทุนเพราะปุ๋ยแพง ราคาข้าวโพดถูก ใช้ปุ๋ยไป 11 กระสอบ กระสอบละ 1,300 บาท ที่คิดว่าจะใช้หนี้ก็ไม่ได้ใช้”
หนี้สินของผู้คนที่นี่ส่วนหนึ่งมาจากการกู้เงินกองทุนของรัฐบาล เช่น กองทุน กขคจ (กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน) แต่กลายเป็นหนี้กัน
ชาวบ้านตีนผาส่วนหนึ่งจึงหันกลับมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน แทนพืชเชิงเดี่ยว อย่างเช่น ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนายยืนยง ลำเนาพงศ์ไพรงาม
ผู้ช่วยเล่าว่า “เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือปลูกข้าวโพด ปลูกอยู่ปีเดียวและเลิกกลับมาทำการเกษตรผสมผสานเหมือนเก่าเพราะคิดดูแล้วไม่คุ้ม มันเป็นของคนอื่น จะเอาของคนอื่นมาเป็นของเราจะได้อย่างไร ทุกอย่างเป็นของเขาหมดเลย”
ผู้ช่วยยืนยงกลับมาทำการเกษตรผสมผสานเหมือนเดิม ทำข้าวไร่ ปลูกผักต่างๆ ไว้กินและขาย ในสวนของผู้ช่วยมีทั้งถั่ว มะเขือ และที่มีมากเป็นไร่ๆ คือ ฟักทอง และเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ
การกลับมาทำการเกษตรผสมผสานหรือการทำเกษตรยั่งยืนน่าจะเป็นทางรอดหนึ่งเพราะเป็นการพึ่งตนเองมากกว่าการพึ่งตลาดภายนอก ปลูกเพื่อกินก่อนที่จะปลูกเพื่อขาย ทำปุ๋ยหมักแทนปุ๋ยเคมี และหยุดการใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ ในการเร่งผลผลิต ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรก็ลดน้อยลง