Skip to main content
 

วิถีชีวิตกับไม้ไผ่คู่กัน

 

เมื่อลุงมาบอกว่า วิถีชีวิตปกาเก่อญอกับไม้ไผ่นั่นคู่กัน วันนี้คนรุ่นพะตี(ลุง) จึงต้องสอนให้ลูกหลานรู้จักจักสาน เพราะว่าเด็ก ๆ รุ่นใหม่ ไม่ค่อยรู้เรื่องจักสานแล้ว พะตีมาบอกว่า ถ้าไม่ได้สอนไว้หมดรุ่นพะตีแล้วก็จะหมดรุ่นไปเลย ทั้งที่วิถีปกาเก่อญอกับไม้ไผ่นั่นคู่กัน

 

ฟังพะตีว่า ลูกหลานปกาเก่อญอไม่รู้จักการใช้ไม่ไผ่ ฉันคิดถึงลุงที่บ้านแกว่าลูกชาวเลทำปลากินไม่เป็น ไม่ใช่หาปลามากิน แต่ทำปลากินไม่เป็นนั่นคือเขาหามาให้แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะทำกินอย่างไร ขูดเกล็ดปลาออกจากตัวปลาไม่เป็น ดึงขี้ปลาออกไม่เป็น เป็นต้น

 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร บ้างก็ว่าเพราะลูกหลานออกจากบ้านไปอยู่โรงเรียน และพ่อแม่ก็มอบทุกอย่างให้ครูสอน ลูกหลานลืมไปว่าพ่อแม่ทำอะไรอยู่ และมีพลาสติกซื้อพลาสติกมาใช้แทนที่จะทำของใช้เอง

ปลายฝนต้นหนาว ฉันเดินทางเข้าหมู่บ้านตีนผาอีกครั้ง ในเช้าวันนั้น ผู้ใหญ่สอนเด็กทำจักสาน เริ่มกันตั้งแต่เลือกตัดไม้ไผ่ ผ่าไม้ไผ่เพื่อจักตอก เป็นเส้นบาง ๆ

 

ครูผู้สอนการทำจักสานวันนี้ มีพะตีติทอ (นายติทอ วาทีปราศรัย), พะตีมา(นายมา คุณฐิตินันท์) และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านยืนยง ลำเนาพงศ์ไพรงาม (พะตี หมายถึงลุง)

 

"ต้องเลือกไม้ไผ่ที่ไม่แก่เกินไป" พะตีมาบอก

เด็กๆ เยาวชนที่กำลังจะจบม.3 ไปจนถึงเด็กหญิงวัยเจ็ดแปดขวบก็มาเรียน บางคนพาน้องเล็กมาด้วย เพราะพ่อแม่ไปเกี่ยวข้าวหมด เธอปล่อยน้องให้คลานเล่นบนลานหญ้าอย่างสบาย


เหลาไม้ไผ่เสร็จแล้วย้ายที่เรียนจากป่าไปเรียนข้างโปสถ์ เพราะมีลานกว้างนั่งสบาย

 

สถาพร ชวลิตธรรมรุ่ง หรือดอน เด็กหนุ่มคนหนึ่งมาเรียนจักสานในวันนี้ เล่าว่าเขาออกจากหมู่บ้านไปเรียนที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ วิทยาลัยอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง เดือนสองเดือนถึงจะกลับบ้านครั้งหนึ่ง

"เป็นครั้งแรกที่ฝึกจักสานครับ แต่ต่อไปผมคิดว่าจะกลับบ้านบ่อยขึ้น"

 

วีระศักดิ์ ลำเนาพงศ์ไพรงาม เยาวชนในหมู่บ้านตีผา เป็นอีกหนึ่งหนุ่มที่กำลังจะจบม.3 บอกว่า "อยากฝึกครับ เพราะไม่เคยทำเลยเหมือนกัน "

วีระศักดิ์บอกว่า เขาทำงานกับพ่อช่วยพ่อทำสวน ทำปุ๋ยหมัก และทำงานบ้าน แต่ยังไม่เคยฝึกทำจักสาน วันนี้เป็นวันแรก

 

วันนี้พะตีมาเหมือนเป็นครูใหญ่ ฝึกสอนแล้วเดินดูงานของเด็ก ๆ ด้วย

"อย่างนี้ไม่ได้ เอาเส้นนี้ไว้ข้างบน ส่วนเส้นนี้ต้องลงข้างล่าง" พะตีมาบอกพลอย เด็กสาวที่มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ได้ เธอสวมถุงมือกันไม้ไผ่บาดมาด้วย

"อย่างนี้ใช่ไหม" พลอยถาม

 

พลอยกับเมย์ เป็นเพื่อนกัน เธอทั้งสองมาด้วยกัน ต่างมุ่งมั่นมากที่จะต้องทำให้ได้

"ต้องทำไปเรื่อย ๆ แล้วจะทำได้ละเอียดขึ้นเอง ชีวิตปกาเก่อญอกับไม้ไผ่เป็นของคู่กัน" พะตีมาย่ำว่าชีวิตปกาเก่อญอกับไม้ไผ่คู่กัน

 

เด็กหญิงวัยแปดขวบสองคนเรียกให้พะตีช่วยสอนต่อ ตอนนี้เธอเริ่มตั้งก้นตะกร้าได้แล้ว เธอทั้งสองพยายามรวบไม้ไผ่ขึ้นมาเป็นรูปทรงของตะกร้าเพื่อที่จะสานต่อไปเหมือนกับที่พี่ๆ ทำ แต่มือเล็กๆ เอาไม่อยู่ ไม้ไผ่ดีดกลับ ก่อนที่จะโดนไม้ไผ่ดีดหน้า เธอรีบผละมือออกแล้วถอยหนีทัน ต่างหัวเราะเริงร่า พลอยพี่ที่โตกว่าเข้ามาช่วยรวบปลายไม้ไผ่ พร้อมกับสอนให้สานต่อ ต้องค่อยๆ สานขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างใจเย็น

 

"ผิดนิดเดียวก็ไม่ถูกแล้ว" พะตีมาว่า

"ทำอย่างไรดีผมทำตอกไผ่หัก" เด็กชายคนหนึ่งถามพะตีอย่างตกใจ

"ไม่ต้องกลัว ต่อใหม่ได้ เอาอันใหม่เสียบทับเข้าไปเลย เสียบทับเข้าไปตรงเส้นที่หักนั่นแหละแล้วสานต่อไป" พะตีว่า

 

เด็กหญิงคู่แฝดสองคนดาวกับเดือน เธอเพิ่งเรียนชั้น ป.3 มาฝึกสานตะกร้าด้วย คนหนึ่งเริ่มเบื่อลุกขึ้นเดินไปเที่ยวเล่นเก็บเสาวรส และลูกไม้ป่ามากินกับเพื่อน ๆ แต่แฝดอีกคนยังคงพยายามทำต่อไปโดยมีป้าสอนให้เธอ


แม่บ้านคนหนึ่งเตรียมไปหาหน่อไม้แต่มาหยุดดูเด็ก ๆ สานตะกร้ากันก่อน แฝดนั่งกินลูกไม้ป่าก็เปลี่ยนใจไปหาหน่อไม้ดีกว่า


ไผ่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง ๆ เหมือนที่พะตีมาว่า แม่บ้านกำลังไปหาหน่อไม้ไผ่มาทำกิน หน่ออ่อน ๆ ลวกจิ้มน้ำพริก ในเกือบทุกมื้อที่ฉันมาที่นี่ หน่อไม้อยู่ในวงอาหาร บางมื้อก็แกงหน่อไม้ใส่ไก่ ข้าวเบอะ (ข้าวต้มและ ๆ ใส่หน่อไม้ รวมกับผักกาด มีเนื้อหมูหรือเนื้อไก่ลงไปต้มด้วย

 

ฝนตกลงมาก่อนที่เด็กๆ จะทำตะกร้าเสร็จ พวกเขารีบลากงานของตัวเองหลบเข้าชายคาโบสถ์และสานต่อไป

 

เด็กหญิงสองคนเลิกสานตะกร้าแล้วกำลังนั่งเล่นน้ำฝน ตารีบอุ้มหลานวิ่งกลับบ้าน

 

สถาพร สานสุมใส่ไก่ได้แล้ว สุ่มเล็กๆ ขังไก่ได้หนึ่งตัว ที่นี่นอกจากเลี้ยงไก่แบบปล่อยแล้ว เขาจะสานสุ่มสำหรับขังไก่เอาไว้ ทำปากสุมให้ไก่โผล่หน้าออกมาจิกข้าวเปลือกกิน


สมสุข สานเปอะใส่หลัง ซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน ยามเมื่อไปไร่ ทุกคนจะมีเปอะใส่หลังไปด้วย สมสุขทำเสร็จแล้วโยนเล่นให้เพื่อน ๆ ดู

 

"ยิ่งทำยิ่งง่ายขึ้น ยิ่งทำยิ่งงามขึ้น" พะตีมาพูด ให้กำลังใจเด็กๆ แล้วเดินไปดูคนอื่นต่อไป

จริงของพะติยิ่งทำยิ่งง่าย ยิ่งทำยิ่งงาม ไม่ว่าจะทำอะไรก็เอามาใช้ได้หมด



นี่คือเป๊อะที่สานด้วยไม้ไผ่ใช้ในชีวิตประจำวัน


"อันนี้ค่อยสวยหน่อย" พะตีมาหยิบตะกร้าใบหนึ่งมาพิจารณา


พะตีมาบอกฉันว่า เมื่อก่อนสานไปขาย เดี๋ยวนี้สานแค่พอใช้กันในบ้าน บางบ้านก็ไม่ทำ ไปซื้อพลาสติกมาใช้ ไม้ไผ่สานได้หลายอย่าง ทำกระด้งก็ได้ ทำข้องใส่ปลา กระบุงใส่ข้าว ลวดลายมีเยอะ ถ้าสานได้แล้วไม่ต้องซื้อ ทำทุกอย่างใช้เองได้ เมื่อก่อนใช้ไม้ไผ่ทั้งนั้น ไม่มีกะละมัง ถุงพลาสติก

 

 

 

 

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
“รู้สึกว่า ปีนี้ ไม่ค่อยจะมีความสดชื่น รื่นเริง  ความรื่นเริงและความสุขดูเหมือนจะหายไป ลุงรู้สึกเช่นนั้นไหม”ลุงว่า ใครมันจะมารื่นเริงอยู่ได้ในสถานการณ์เมืองไทยเป็นเช่นนี้ หมายความว่า น่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ โดยเฉพาะการเมืองที่สับสนและดูไม่กระจ่างใส  เป็นความเครียดทางสังคม เครียดจากการปกครองโดยทหารที่ลึกลงไป และเข้าใจว่า แม้จะยอมรับก็ยอมรับแบบหวานอมขมกลืน และยิ่งเครียดเข้าไปอีกเมื่อมีการเลือกตั้งในช่วงใกล้ปีใหม่ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นของฝ่ายไหนก็ไม่น่าจะทำให้ใครสบายใจได้ เมื่อประชาชนถูกแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนมากขึ้น…
แพร จารุ
  ฉันรู้สึกว่ามันเป็นช่วงปีใหม่ที่ไม่รู้สึกสดชื่นนัก ดูเหงา ๆ วังเวง ในท่ามกลางงานเลี้ยงรื่นเริงที่มีอยู่และเป็นไปตามวาระของมัน ความรู้สึกอย่างนี้มันอยู่ลึกลงไปแต่ฉันสัมผัสได้อย่างเย็นเยียบจริง ๆ ฉันไม่รู้ว่าคนอื่นจะรู้สึกหรือไม่ หรือว่าฉันรู้สึกอยู่คนเดียว ว่าเป็นปีใหม่ที่ไม่มีความรื่นเริงอยู่จริง มันหดหู่อยู่ภายในหัวใจอย่างไรไม่รู้ คล้ายรู้สึกว่า ความเศร้ามารอคอยเคาะประตูอยู่หลังบ้าน... หลังจากงานรื่นเริงจบลงฉันถามตัวเองหลายครั้งว่าความรู้สึกนี้เป็นจริง หรือว่าฉันกำลังจะป่วยด้วยอาการกลัวหรือกำลังจะเป็นโรคซึมเศร้า อะไรทำให้ฉันคิดอย่างนั้น หรือเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจของตัวเอง…
แพร จารุ
ฉันได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า อาหารบ้านฉัน  เป็นสูตรอาหารพื้นถิ่น ของกินจากป่าหลังบ้าน และที่สำคัญกว่านั้น เขียนว่าอร่อยไปถึงหัวใจ “ฉันเติบโตมาจากอาหารที่หลังบ้าน เธออยากรู้ไหมว่า อาหารบ้านฉันอร่อยแค่ไหน  เธอไม่ต้องกลัวหรอก บ้านฉันมีอาหารมากมาย กินกันอย่างไม่หมด” หนังสือเล่มนี้ มีผู้ร่วมดูแลหรือผู้ร่วมทำงานด้วย เขาคือ ธนภูมิ อโศกตระกูล เป็นคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารสุขภาพ การกินอยู่แบบง่าย ๆ เช่น จานอร่อยปลอดเนื้อ มหัศจรรย์แห่งเต้าหู้ เจไม่จำเจ เป็นต้นธนภูมิ อโศกตระกูลเขาเล่าว่า “ได้เข้ามาเที่ยวในแม่เหียะใน เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว…
แพร จารุ
“หนาวไหม หนาวหรือยัง”“หนาวแล้ว เชียงไหมหนาวแล้ว”“ฉันจะไปเชียงใหม่”บทสนทนาหนึ่ง ที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ รายงานข่าว ขณะนี้ยอดดอยอากาศหนาวมาก โดยเฉพาะดอยสูงอุณหภูมิติดลบแล้ว เกิดน้ำค้างแข็ง มีคำถามว่า นักท่องเที่ยวหรือคนที่จะมาเชียงใหม่ควรได้รับรู้ข่าวคราวอะไรบ้างนอกจากว่า หนาวแล้วหรือหนาวกี่องศา ชายคนหนึ่งพูดขึ้นในยามบ่าย เขาพูดต่อว่า ถ้าอยากให้คนอื่นที่มาเที่ยวเชียงใหม่ รู้ว่าเขาควรจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเมืองและรักเมืองนี้ เราต้องให้ข่าวสารเขามากกว่านี้  เราควรต้องทำงานกับสื่อให้มากว่านี้  เขาเป็นหนึ่งในคนทำงานภาคีฯการมุ่งเน้นให้คนเชียงใหม่ดูแลเมืองเชียงใหม่…
แพร จารุ
มีเพื่อนผู้หวังดีส่งเมลมาว่า ให้เขียนเรื่องดี ๆ เพื่อเมืองเชียงใหม่บ้าง ทำไมถึงมองไม่เห็นความงามของเมืองบ้าง  ฉันจึงเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมา               1ถ้ามองลงมาจากฟ้า เราจะเห็นเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ตรงกลาง มีป่าดอยสุเทพอยู่ทางตะวันตก มีแม่น้ำปิงไหลผ่านทางตะวันออก  ช่างเป็นเมืองงดงามที่สมบูรณ์ เล่ากันว่า เดิมทีผู้คนในเมืองนี้อยู่กันอย่างสงบสันติ แต่แน่นอนเมืองที่ดีงามเช่นนี้ ย่อมมีผู้คนต้องการ เข้ามาอยู่มาครอบครอง โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติบนดอยสูง หลายร้อยปีต่อมา เมืองเชียงใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว…
แพร จารุ
ขอบอกก่อนว่า เป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีสาระอะไรเลย เล่าเรื่องนี้ เพราะวันพิเศษเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ถือว่า เป็นการผจญภัยในดินแดนที่รื่นรมย์เลยทีเดียวฉันจะเรียกเขาว่า แขกพิเศษ เพราะเป็นการมาเยือนแบบไม่คาดคิดมาก่อน และต่างมาในวันเดียวกันด้วย อีกทั้งไม่ได้นัดหมายมาล่วงหน้า ต่างมาแบบตั้งตัวไม่ติดทั้งนั้น แขกคนที่หนึ่ง เขาเดินทางมาด้วยรถมอเตอร์ไชค์ มาถึงก่อนที่เจ้าของบ้านจะทันตื่น ได้ยินเขาส่งเสียงตะคอก เจ้าสองตัวแม่ลูก ที่ทำหน้าที่เฝ้าบ้าน มันเห่าเสียงแหลมเล็กตามแบบของหมาเล็ก และยังเยาว์ ฉันว่าคนเลี้ยงหมาทุกคนไม่ชอบให้ใครตะคอกหมา และยินดีที่มีคนรักหมาของตัวเอง…
แพร จารุ
ไม่รักไม่บอก  เออ...เหมือนมีใครมาพูดอยู่ข้างหู บอกว่า ฉันรักเธอนะจึงบอก แต่ว่าเรื่องที่ฉันจะบอกนั้น เธออาจไม่ชอบ เธออาจจะโกรธฉัน  แต่ที่ฉันต้องบอกเพราะว่า ฉันรักเธอและปรารถนาดีต่อเธอจริง ๆ “ฉันไม่บอกไม่ได้แล้ว”ถึงตอนนี้คุณอาจจะรู้สึกรำคาญใจ พูดพร่ำอยู่ทำไม อยากบอกอะไรก็บอกมาเถอะ ใช่...ไม่รักไม่บอกค่ะ เป็นชื่อหนังสือเล่มเล็ก ๆ บาง ๆ มีการ์ตูนน่ารักๆ เปิดไปหน้าแรก ผู้เขียนบอกว่า ที่ทำหนังสือเล่มนี้ เพราะว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นเรื่องน่ารัก มีเรื่องดีงามที่เขาค้นพบอยู่มากมาย เขาเล่าถึงเรื่อง เด็กชายคนหนึ่ง ตามแม่ไปซื้อของที่ร้านเกษมสโตร์ เขากินไอศกรีมรอแม่…
แพร จารุ
เรื่องขยะ ๆ มันโดนใจใครต่อใครหลายคน หลังจากที่เขียนเรื่อง แปดสิบบาทกับผู้ชายริมทางรถไฟ และในเรื่องมีขยะ ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
แพร จารุ
“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ยืนล้วงกระเป๋าเสื้ออยู่ริมทางรถไฟ ในขณะที่รถไฟกำลังมา  เป็นภาพปกหนังสือ ฅ คน ที่ทำให้ฉันต้องนับเงินในกระเป๋าให้ครบแปดสิบบาท ความจริงหนังสือเขาไม่แพงหรอก เพียงแต่ว่า เงินสำหรับบ้านฉันมันหายากมาก หรือจะเรียกให้ถูกก็คือฉันไม่ค่อยหาเงิน ดังนั้นเมื่อไม่หาเงินก็ต้องใช้เงินน้อย ๆ หรือไม่ใช้ไปเลยถ้าไม่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ แม้ว่าการจะซื้อหนังสือถือเป็นความจำเป็นหนึ่ง แต่ก็ต้องเลือกอย่างพิถีพิถันในเนื้อหา ดังนั้น ถ้าร้านไหนห่อพลาสติกอย่างดีเปิดไม่ได้ ก็ผ่านเลย หนังสือเล่มนี้ก็ห่อพลาสติกอย่างดีเหมือนกัน แต่ก็รีบซื้อ  เพราะทั้งรถไฟและคุณสุชาติ  สวัสดิ์ศรี…