Skip to main content
"ปายแบบเมื่อก่อนจะไม่กลับมาอีกแล้ว เรามาค้นหาคุณค่าใหม่กันเถอะ" เพื่อนคงรำคาญที่ฉันพร่ำเพ้อถึงความหลังครั้งก่อน (ฉันเขียนมาถึงตอนนี้เมื่อฉบับที่แล้ว )

 

เราได้เพื่อนใหม่ทันที เธอชื่อเนเน่ เธอบอกว่า เธอเดินทางมาที่นี่ปีละหลาย ๆ ครั้ง และแม้ปายจะเปลี่ยนไปอย่างไรเธอก็ยังชอบปาย เธอมาเพื่อหาที่นั่งอ่านหนังสือสบาย ๆ ช่วง เย็น ๆ ก็ออกเดินเล่นไปตามถนน เดินคุยกับคนโน้นคนนี้เพราะผู้คนส่วนมากเป็นมิตร


เนเน่ชวนเราเดินถนนคนเดิน เธอว่าถนนคนเดินที่นี่ไม่เหมือนที่เชียงใหม่ อย่างไรปายก็ยังไม่เหมือนที่อื่น เธอแนะนำว่า ไปดื่มชาอินเดีย ไปยังไม่ถึงชาอินเดียหยุดอยู่ที่หมั่นโถวสีเหลือง พ่อค้าเป็นคนอินเดีย ให้สงสัยว่าทำไมไม่ทำโรตี อยากรู้มีหรือเพื่อนฉันจะไม่ถาม และได้ความมาว่ามีเมียเป็นคนจีนยูนนานหมั่นโถวหรือหม่านโถวถือเป็นอาหารประจำถิ่นของคนจีนยูนนานเลยทีเดียว สีเหลืองเพราะฟักทองจริงๆ ไม่ใช่ใส่สี เขาทดลองทำและได้ผลลูกค้าชอบ แรกเราคิดว่าจะกินคนละครึ่งลูกเพื่อจะได้เหลือท้องไว้กินอย่างอื่นอีกเพราะน้องเนเน่บอกว่ามีของกินอร่อยอีกหลายอย่าง แต่เมื่อกินแล้วหยุดไม่ได้ ยิ่งได้ชิมไส้ไก่ที่หอมกลิ่นแกงกะหรี่ด้วย เราสองคนก็เลยหยุดอยู่ที่ซาละเปา หมั่นโถว นานกว่าที่ควร และกินไปคนละสองลูก อิ่มอร่อยเกินห้ามใจจริง ๆ

 

 

จริงของเนเน่ มีของอร่อยหลายอย่างให้ชิมไปเรื่อยๆ เราไปหยุดอีกทีหนึ่งที่ร้านขายข้าวปุ๊ยูนนาน ชาวบ้านชาวเขาจะทำข้าวปุ๊กินกันในช่วงปีใหม่ เป็นการกินข้าวใหม่ด้วย เขาจะเอาข้าวใหม่หุงร้อนๆ แล้วเอาไปตำให้เป็นเนื้อเดียวกันต่อจากนั้นก็มาทำเป็นแผ่นหนาๆ กลมๆ แล้วเอาไปย่างไฟ กัดกินกับน้ำชาร้อนๆ ยามหนาวๆ ฉันเคยไปกินมาบ่อยๆ

 

 

ข้าวปุ๊ที่นี่ได้พัฒนาไปแล้วเหมือนกัน เมื่อย่างไฟแล้วไม่ได้กัดกินทันที แต่มีการโรยด้วยน้ำตาลทรายแดง น้ำอ้อย และราดด้วยนมข้นหวาน หรือจะเลือกราดด้วยช็อกโกแลตก็ได้ แน่นอนเพื่อนฉันไม่ผ่านไปเฉยๆ หล่อนซื้อมาชิ้นหนึ่งและกัดกินอย่างอร่อย เธอเป็นคนช่างพูด พูดเพราะและให้กำลังใจคนทั้งโลก เธอบอกแม่ค้าว่า อร่อยจริง ๆ และถามวิธีทำไปด้วย ฉันอยากจะบอกเพื่อนว่า ลองกินแบบเดิม ๆ ที่ได้กลิ่นข้าวปุ๊จริง ๆ แต่คิดขึ้นได้ว่า เราอยู่ในช่วงหาคุณค่าใหม่ ๆ ยอมรับการพัฒนา

 

หญิงสาวสองคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ เรา ถามแม่ค้าว่าไม่มีกล่องโฟมใส่เหรอค่ะ แม่ค้าบอกว่าไม่มีค่ะ เธอบ่นว่าใบตองมันจะไม่สะอาดและถ้าใส่กล่องแล้วตัดเป็นชิ้นเล็กๆ หยิบกินง่าย

 

ฉันจึงเสียมารยาทบอกเธอว่า ใส่ใบตองน่ะดีแล้วค่ะ และข้าวปุ๊ต้องกัดกินร้อนถึงจะอร่อย

แม่ค้ารีบเอาผ้าขาวสะอาดออกมาเช็ดใบตองอีกครั้ง และเปลี่ยนใบตองให้เธอพร้อมกับหั่นข้าวปุ๊เป็นชิ้นเล็กๆ ให้กินได้สะดวก

 

"โฟมใส่ของกิน เป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะของร้อน" ฉันว่าต่อ

หญิงสาวหันมาขอบใจและรับข้าวปุ๊ห่อใบตองไป เกินคาด คิดว่าจะถูกด่า แต่เธอขอบคุณ

 

เดินจนเหนื่อยมีของกินของใช้ เครื่องประดับ และอื่นๆ อีกมากมาย วางขายให้นักท่องเที่ยงจับจ่าย ใครสักคนเคยบอกฉันว่า ปายเปลี่ยนไปเพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวเปลี่ยน มีนักท่องเที่ยวแบบไทย ๆ ที่ชอบจับจ่ายชื้อของมากขึ้น ไปที่ไหนก็ซื้อและซื้อ และจะมากันแน่นในวันหยุด นักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมซึ่งเป็นคนต่างชาติ กลุ่มคนไทยที่รักสงบ และกลุ่มที่ต้องการเสรีภาพซึ่งอยู่นาน ๆ ได้ออกไปจากเมือง เจ้าของบ้านพักและคนทำธุรกิจการท่องเที่ยวชอบลูกค้ากลุ่มใหม่มากกว่า เขาบอกมาอย่างนี้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้

 

ร้านสุดท้ายที่ไปหยุดเป็นร้านเพื่อนชายรุ่นหลาน เขาเปิดร้านขายโปสการ์ดและภาพถ่ายขาวดำ ที่นี่มีร้านขายโปสการ์ดมากมาย และผู้คนต่างก็เลือกซื้อและนั่งเขียนกัน ทุกร้านจะมีตู้ไปรษณีย์เล็ก ๆ สวย ๆ สำหรับหย่อนลงไปด้วย ก็ดีเหมือนกันได้เห็นผู้คนนั่งเขียนโปสการ์ดถึงคนที่เขาคิดถึง มันเป็นภาพแห่งความปรารถนาดีที่พบเห็นบนถนนแห่งนี้ ฉันคิดว่าผู้คนจะเขียนถึงคนที่เขารัก คงไม่มีใครนั่งเขียนโปสการ์ดที่นี่เพื่อส่งไปทวงหนี้


 

จำได้ว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ฉันเคยมาที่นี้ ซื้อโปสการ์ดใบหนึ่งเพื่อส่งไปให้ใครคนหนึ่ง แต่ฉันไม่ได้ทิ้งตู้แถวนี้ ไปส่งที่หมู่บ้านซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าหมู่บ้านอะไรมีตู้ไปรษณีย์เก่า ๆ ขึ้นสนิมซุกอยู่ข้างทางที่มีฝุ่นเกาะหนา ไม่แน่ใจว่ายังใช้ได้อยู่หรือเปล่าตัวอักษรที่เขียนเวลาเปิดก็ลอกออกไปแล้ว แต่ฉันอยากลองเสี่ยงดู หลังจากนั้นประมาณครึ่งปี ผู้รับบอกฉันว่า โปสการ์ดแผ่นนั้นไปถึงเขาด้วยสภาพเยิน ๆ มีร่องรอยด่างดำ

 

เพื่อนหยุดอยู่ที่ร้านโปสการ์ดขาวดำนั่งและนั่งเขียนอยู่ตรงนั้น เธอชวนฉันเขียนโปสการ์ดด้วย แต่ฉันอยากดูคนเขียนมากกว่า นานๆ จะได้เห็นคนนั่งก้มเขียนกันมากๆ อย่างนี้ ข้างร้านโปสการ์ดขาวดำมีดนตรีเล่นสดๆ ให้ฟังด้วย เที่ยงคืนเนเน่ชวนเราเดินกลับที่พักซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก นับว่าเนเน่ดูแลเพื่อนใหม่ที่เพิ่งรู้จักกันดีมากๆ การกระทำของเธอยืนยันคำพูดของเธอว่า คนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นมิตร

 

ยามเช้าเราออกมาเดินดูเมืองปายกันต่อ เริ่มเดินจากที่พักผ่านร้านหนึ่งเขียนว่า ไก่ทอดหาดใหญ่ ข้าวแกงปักษ์ใต้ ฉันตรงเข้าไป แต่เพื่อนทำท่าว่ายังไม่อยากหยุดอยู่ที่ร้านอาหารใต้ จริงของเพื่อน เรามาถึงนี้จะกินอาหารใต้ทำไม จึงแค่หยุดทักทายแม่ค้าเป็นภาษาใต้แล้วเลยผ่าน ไปเช่ารถจักรยานกิจกรรมที่เคยทำทุกครั้งที่มาที่นี่ แต่เนเน่เธอไม่ชอบ เราจึงต้องแยกทางกัน เธอบอกว่าอยากจะนั่งนิ่งและอ่านหนังสือริมน้ำ

 

เช้านี้มีผู้คนมากกว่าเมื่อคืนอีก รถตู้เต็มถนน ปั่นจักรยานติดรถตู้เป็นระยะ แม้ออกจากถนนในเมืองไปแล้วก็ยังติดรถตู้ที่เข้าไปส่งนักท่องเที่ยวตามที่พัก

 

ไปเรื่อยๆ ไปตามเส้นทางเล็กๆ ในหมู่บ้าน พบเพิงขายอาหาร เป็นมะละกอทอด ไปที่ไหนต้องกินอาหารที่นั่น เราเลยชิมมะละกอทอดกัน กินแล้วก็ขอสูตรเขามาด้วย

 

แม่ค้า เป็นคนพื้นถิ่นที่นี้ เธอบอกว่ามะละกอทอดกินกันมานานแล้ว ต้องเลือกมะละกอที่แก่ใกล้จะสุกแบบเนื้อพอเหลืองนิด ๆ ซอยหยาบ ๆ แล้วไปแช่น้ำปูนใสสักพัก แล้วซุปแป้งทอด กินกับน้ำจิ้ม เผื่อใครสนใจอยากทำกิน น้ำจิ้มของเขาใช้น้ำส้มหรือมะนาวก็ได้ พริกขี้หนูเล็กน้อยหั่นหั่นหยาบๆ ถั่วลิสงตำพอแหลก เกลือ น้ำตาล แตงกวาหั่นบาง ๆ ชิมรสให้กลมกล่อม


 

ผ่านแม่ค้ามะละกอทอดเราพบลุงขายกล้วย แวะซื้อกล้วยหนึ่งหวี เพื่อนถามคนขายกล้วยว่า "กล้วยปลูกที่นี่หรือค่ะ"

"ปลูกหลังบ้านนี้แหละ"

"บ้านลุงกว้างขวาง ทำไมไม่ทำเป็นที่พักนักเดินทางละค่ะ" เพื่อนชวนคุยต่อ

ลุงแกส่ายหน้า

"นักท่องเที่ยวเยอะแยะอย่างนี้เดือดร้อนไม่ล่ะค่ะลุง" เพื่อนถาม

"ไม่เดือดร้อนอะไร"

"รำคาญไหมลุง ใกล้ๆ บ้านลุงก็มีที่เกสท์เฮาส์ มีบ้านพักนักเดินทางเยอะ" ฉันถาม


คราวนี้ ลุงตอบว่ารำคาญ ถ้าเสียงดังมาก ๆ

"ลูก ระวังรถ" แกบอกพลางขยับโต๊ะขายกล้วยให้เราหลบเข้ามาให้ปลอดภัยจากรถตู้ที่ขน นักท่องเที่ยวเข้าไปพักข้างใน จักรยานเราแกะกะถนนจริง ๆ คนขับรถยนต์เปิดกระจกมาส่งเสียงดัง คิดขำคำของเนเน่ที่ว่าผู้คนที่มาที่นี่ส่วนใหญ่เป็นมิตร

"เดือดร้อนเหมือนกันนะลุงนะ" ฉันพูดขึ้นหลังจากหลบรถจากถนน

"มีบ้าง" แกตอบอย่างเกรงใจ เพื่อนยกมือไหว้ลุงและบอกว่า ขอบคุณค่ะ และขอโทษนะลุงนะที่มารบกวน

โอ...ฉันมองเพื่อนอย่างทึ่งสุด ๆ นี่มุมที่งดงามของนักท่องเที่ยวอยู่ตรงนี้เอง ตรงที่ให้เกียรติรู้สำนึกต่อเจ้าของบ้าน กินอาหารของคนท้องถิ่น กินมะละกอทอดและกล้วยน้ำว้า

 


ฉันบอกเพื่อนว่า วันนี้เราตั้งใจจะหาคุณค่าใหม่ๆ แต่พบคุณค่าเก่าๆ เช่น ข้าวปุ๊ มะละกอทอด และกล้วยน้ำว้า เป็นคุณค่าเก่าๆ ที่ไม่ต้องค้นหา

 

 

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
มีคำกล่าวว่า "อาหารอายุสั้น คนกินอายุยืน อาหารอายุยืน คนกินอายุสั้น" แรกที่ฟังก็รู้สึกรำคาญคนพูดนิด ๆ เพราะเรากำลังกินอาหารอายุยืนแต่เราไม่อยากอายุสั้น สงสัยใช่ไหมคะว่าอาหารแบบไหนที่อายุยืน อาหารที่ปรุงแต่งมาเรียบร้อยแล้ว แช่ตู้ไว้ได้นานๆ นั่นคืออาหารอายุยืน กินกันได้นานๆ แช่ไว้ในตู้เย็น อาหารพวกนี้คนกินอายุสั้น แต่อาหารอายุสั้นก็พวกเห็ด ผักบุ้ง พวกเหล่านี้เป็นอาหารอายุสั้นอยู่ได้ไม่นาน แต่คนกินอายุยืน แต่เดี๋ยวนี้มีมะเขือเทศอายุยืนด้วยนะคะ เป็นพวกตัดต่อพันธุกรรมแบบให้ผิวแข็งไม่บอบช้ำในระหว่างขนส่ง
แพร จารุ
  1   เป็นนักเขียนมีความสุขไหม   วันหนึ่งฉันต้องตอบคำถามนี้ “เป็นนักเขียนมีความสุขไหม” ผู้ที่ถามคำถามนี้เป็นเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ชั้นประถมปีที่ 5 ฉันรู้สึกดีใจที่มีเด็กถามเรื่องความสุขมากกว่าเรื่องรายได้
แพร จารุ
ฉันห่างกรุงเทพฯ มานานจริงๆ นานจนไปไหนไม่ถูก ก่อนฟ้าสางรถทัวร์จอดตรงหัวมุมถนน ฉันเดินตรงเข้าไปทางถนนข้าวสารตามพื้นถนนแฉะ หาที่นั่งรอหลานมารับแต่ก็หาไม่ได้ พื้นแฉะ ๆ ผู้คนกำลังล้างพื้นกันอยู่ จึงตัดสินใจ เดินออกจากถนนข้าวสารมุ่งตรงไปทางกองฉลากกินแบ่งรัฐบาล มีคนจรนอนห่มผ้าเก่า ๆ อยู่มากมาย ตามทางเดิน  
แพร จารุ
มีเพื่อนอย่างน้อยสองคนตกหล่นไปจากชีวิต ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเราเขียนจดหมายคุยกันอยู่เสมอ ๆ ต่อมาฉันเลิกตอบจดหมายเพื่อนทั้งสองคน 
แพร จารุ
2 กันยายน 2552 นั่งกินมะขามหวานเพลิน ๆ มะขามก็เปรี้ยวขมขึ้นมาทันที เพื่อนโทรมาบอกว่า เธอไปที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้ยินเสียงตามสายที่ รพ.ขอบริจาคเงินช่วยเหลือเด็กชาวเขาที่แม่มาคลอดตายที่โรงพยาบาล “แม่มาคลอดตายที่โรงพยาบาล แสดงว่าเธอตายระหว่างคลอด” เพื่อนตอบว่าใช่ “เด็กยังอยู่รอดปลอดภัย” “ใช่”    
แพร จารุ
"อะไรเอ่ยมันโผล่ขึ้นมาจากดิน" คำถามเล่น ๆ ของเด็ก ๆ สมัยก่อนเราจะตอบว่า ขอม เพราะเคยเรียนเรื่องพระร่วง  ตอนขอมดำดิน แต่ เดี๋ยวนี้ถ้าไปตอบว่า "ขอม" เด็กไม่เข้าใจ
แพร จารุ
1 วันก่อนไปท่ากาน (ท่ากานเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ในอำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ ) พบเด็ก หญิงสองคน เอาก้านกล้วยมาแกว่งไปมากระโดดเล่นกัน ดูน่ารักดี เป็นการเล่นแบบหาของใกล้ตัวมาเล่นกัน
แพร จารุ
10 กันยายน 2552 น้องคนหนึ่งโทรศัพท์มาบอกว่า “มีเรื่องตลกเศร้ามาเล่าให้ฟัง” ฉันหัวเราะ ไม่อยากฟังเธอเล่าอะไรเลยเพราะกำลังเจ็บหูอย่างแรง กำลังจะไปหาหมอ แต่เธอรีบบอกก่อนว่า “พี่ยังไม่รู้ใช่ไหม ลุงหมื่นแกฝายพญาคำ กับพ่อหลวงสมบูรณ์ ผู้ช่วยแกฝาย เขาเซ็นยินยอมให้กรมชลประทานสร้างประตูระบายน้ำแล้ว”
แพร จารุ
   บก.สุชาติ สวัสดิ์ศรี เทียบเชิญฉันเขียนเรื่องสั้น ช่อการะเกด ฉบับเทียบเชิญนักเขียนเก่าที่เคยเขียนช่อการะเกด
แพร จารุ
เธอนิ่งเงียบหลังจากกินอาหารเสร็จ "เศร้าทำไม" ฉันถามเธอ "กำลังดูกระถางต้นไม้อยู่" เธอตอบไม่ตรงกับคำถาม ฉันมองไปที่กระถางต้นไม้ มีอะไรตายอยู่ในนั้นที่ทำให้เธอเศร้า หรือว่าเศร้าที่ต้องมากินอาหารใต้ที่เมืองเหนือทั้งที่เธอเพิ่งเดินทางมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แพร จารุ
 ผู้ชายคนหนึ่ง เลี้ยงปลวกเพื่อเอาปลวกไปเลี้ยงปลาดุก เขาบอกว่า เขาเฝ้ามองปลวกตัวอ้วน ๆ ที่ค่อยเติบโตขึ้น และเอาปลวกไปให้ปลาดุกกิน เขาอธิบายตัวเองว่าเป็นวิถีแห่งสัตว์โลก วิธีการใช้ชีวิตให้อยู่รอดฉันแค่สะดุดใจตรงที่เลี้ยงดูเขาไว้ก่อนแล้วค่อยจัดการ ฉันคิดว่า ถ้ามันกินกันเองตามวิถีชีวิตไม่เป็นไรฉันคิดถึงถ้อยคำหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่า ใครพูด "เขารัก...เหมือนคนเลี้ยงหมูรักหมูที่เลี้ยงไว้" นั่นหมายถึงรักและดูแลอย่างดีเพื่อเอาไว้ฆ่าและขาย
แพร จารุ
1  ฉันเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความตายครั้งแรกเมื่อพ่อตายจากไป ในวันที่แม่ พี่ ๆและ ญาติ ๆ ต่างช่วยกันจัดงานให้พ่อ ผู้หญิงเตรียมอาหาร ปอกหอมกระเทียม เด็ดก้านพริกขี้หนู หั่นตะไคร้ ผู้ชายเตรียมไม้ฟืนเพื่อทำอาหาร หุงข้าว ต้มแกง ต้องหุงข้าวด้วยกระทะใบใหญ่  ต้องทำอาหารจำนวนมากในเวลาหลายวัน เรามีญาติเยอะ มีเพื่อนบ้าน และคนรู้จักมากมาย เพราะเราไม่ได้มีพ่อที่ดีต่อลูกเท่านั้นแต่มีพ่อที่ดีต่อผู้อื่นด้วย