1
เป็นนักเขียนมีความสุขไหม
วันหนึ่งฉันต้องตอบคำถามนี้ “เป็นนักเขียนมีความสุขไหม”
ผู้ที่ถามคำถามนี้เป็นเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ชั้นประถมปีที่ 5
ฉันรู้สึกดีใจที่มีเด็กถามเรื่องความสุขมากกว่าเรื่องรายได้
ฉันตอบเด็กออกไปโดยทันใดอย่างไม่ได้คิดว่า มีความสุขค่ะ หลังจากหลุดคำพูดออกไปว่า มีความสุข ฉันรู้สึกมีความสุขจริงๆ ที่มีเด็กถามเรื่องความสุขมากกว่าเรื่องรายได้ เพราะบ่อยครั้งจะถูกถามเรื่องรายได้จากการเขียนหนังสือ บางครั้งก็ถูกถามเรื่องชื่อเสียงที่จะได้มา ซึ่งฉันก็จะบอกเสมอว่า ทั้งสองอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องจริง อาจจะดูเหมือนใช่เท่านั้น
หันไปมองเพื่อนนักเขียนรุ่นน้องที่ไปด้วยกัน เธอไม่ได้ตอบคำถามนี้ แต่ฉันเห็นยิ้มของเธอก็คิดว่าเธอก็คงตอบอย่างฉัน
เราอาจจะทุกข์อันเกิดจากเรื่องต่าง ๆ เหมือนอาชีพอื่นๆ แต่ไม่ทุกข์อันเกิดจากการงาน ไม่ได้ทุกข์จากการที่ต้องเขียนหนังสือ หรือไม่ได้ทุกข์ในระหว่างเขียน ไม่มีใครบังคับให้ต้องเขียน ไม่มีใครมาตะโกนใส่หน้าว่าเธอทำงานสิ
สำหรับฉันการเขียนหนังสือยังถือว่า เป็นการงานแห่งความสุข แม้ว่าจะเหนื่อยยากยิ่ง เพราะงานเขียนเป็นงานที่หนักและเหนื่อยมากทีเดียว โดยเฉพาะคนเขียนหนังสืออิสระ ทำงานหนักกว่าคนที่ไม่เป็นอิสระนัก ฉันพูดอย่างนี้ได้เต็มปากเต็มคำเพราะเคยผ่านมาแล้วทั้งสองอย่าง
ฉันบอกเด็กๆ ที่ฉันต้องไปพูดคุยด้วยเสมอว่า ถ้ารู้สึกทุกข์กับการเขียนก็อย่าเขียน ถ้าไม่อยากอย่าทำ ไม่ต้องกลัวใครแม้แต่ครู
เด็กส่งเสียงฮา หัวเราะกันสนุกสนาน ฉันไม่เชื่อว่าใครจะเขียนหนังสือด้วยความขลาดกลัวได้
ในระหว่างที่บอกเด็กเช่นนี้ ฉันพบสายตาแปลก ๆ ของครูที่มองมายังฉัน ครูคงวิตกกลัวว่าการงานจะไม่บรรลุผล จะไม่มีชิ้นงานออกมา แต่ฉันทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่สนใจสายตาของครู
2
“นักเขียนมีความสุขไหม”
เด็กคนหนึ่งถามฉันว่า “เป็นนักเขียนมีความสุขไหม” ในงานอบรมเชิงปฏิบัติการนักเขียนรุ่นเยาว์ โรงเรียนชุมชนบ้านวังดิน อยู่ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติทุ่งกิ๊ก อุทยานแห่งชาติแม่ปิง
ในช่วงแรกที่ครูติดต่อมา ฉันไม่ได้ถามว่าเด็กชั้นไหน แต่ไม่คิดว่าจะเป็นเด็กเล็กชั้นประถมปีที่ 5 โครงการนี้เป็นการเพิ่มทักษะ การอ่าน การเรียนรุ้ การสื่อสาร และการเขียน มีกลุ่มนักจัดกิจกรรม จัดกระบวนการ ของเจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์เด็ก บรรณาธิการนิตยสารเพื่อนเด็ก ไปจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้กันอย่างสนุกสนาน
เด็กๆ สนุก ร่าเริงแจ่มใส พวกเขากล้าพูด กล้าตะโกน และกล้าคิดนอกกรอบ ครูพี่เลี้ยงคนหนึ่งกังวลว่า เด็กๆ ไม่มีระเบียบ และเริ่มจัดระเบียบเด็กเป็นระยะๆ เราได้แต่บอกครูว่าดีแล้ว ไม่เป็นไร พวกเขาไม่จำเป็นต้องตอบตรงคำถามเหมือนอยู่ในโรงเรียน
เช่น พี่นักจัดกระบวนการถามว่า ทุ่งกิ๊กเป็นอยางไร ทำไมถึงเรียกทุ่งกิ๊ก เขาก็จะตอบว่าเพราะเป็นกิ๊กกัน เมื่อถามว่า ปลาทูอยู่ที่ไหน เขาก็ตอบว่า อยู่ในท้องผมเอง ผมกินเข้าไป เมื่อเล่านิทานพวกเขาก็เอาชื่อเพื่อนๆ มาเป็นพระธิดา พระราชา มีพระธิดามากขนาดยี่สิบคน คิดดูเถอะกว่าพวกเขาจะเล่าจบเมื่อไหร่
ในระหว่างที่ครูพยายามจัดเด็กให้อยู่ในระเบียบ เราก็พยายามปล่อยเด็ก และในที่สุดเด็กๆ ก็หลุดพ้นออกมาจากกรอบของระเบียบ แต่เมื่อหยุดพัก ครูก็จะเรียกเด็กเข้าแถว เดินเข้าห้องอบรมและค่อยเดินออกมาอย่างเป็นระเบียบ เรื่องราวเหล่านี้เป็นธรรมดาโรงเรียนที่ไหนก็จะเหมือนกัน บางค่ายครูมากำกับอยู่ข้าง ๆ คอยดุเด็กไปด้วย เมื่อเด็กเบื่อเด็กหันไปคุยกัน ครูจะฟาดด้วยหนังสือ แต่สำหรับค่ายทุ่งกิ๊กครั้งนี้ถือว่าดี เพราะถึงแม้ครูจะแสดงอาการห่วงใย กังวล แต่ครูก็ดูอยู่ห่างๆ อย่างเกรงใจพวกเรา
ช่วงสุดท้ายว่าด้วยการเขียนกันอย่างจริงจัง รวิวาร มีอุปกรณ์ คือมะขามคลุกเปรี้ยวๆ ดุเหมือนเธอจะเรียกว่า “เปิดตาที่สาม” มีการให้สัมผัส มีการชิม แล้วจึงเขียน
ฉันไม่มีอุปกรณ์ใดๆ นอกจากสมุดบันทึกของตัวเอง ฉันให้เด็กคนหนึ่งมาอ่านสมุดบันทึกของฉันให้พวกเขาฟัง พวกเขาสนใจเพราะฉันเขียนถึงเรื่องราวของที่นี่และพวกเขาอย่างตลกๆ
ข้างนอกอาคารมีแต่ฝน ในอาคารมีเด็กๆ สามสิบคน มีแต่สายฝนและวิวป่าเท่านั้น ฝนตกปรอยๆ ไม่มีใครออกไปไหนได้ ฉันบอกเด็กๆ ว่า ให้พวกเขาออกยืนดูวิวป่า ดูสายฝนที่ระเบียงรอบๆ อาคาร คิดอะไร เห็นอะไร แล้วนำมาเล่าให้คนอื่นฟัง เล่าแบบไม่มีเสียงนั่นคือ เล่าด้วยการเขียน เราจะเขียนเล่าแทนการพูด เขียนเล่าเท่าที่เห็นและรู้สึกนึกคิดได้ด้วยตัวเอง ลืมเรื่องที่เราเคยอ่านมาทั้งหมด ใครจะไปยืนมุมไหนของอาคารก็ได้
ปล่อยให้พวกเขายืนให้ฝนสาดอยู่อย่างนั้นจนเป็นที่พอใจแล้วกลับมาเขียน บางคนออกไปเดินตากฝน บางคนวิ่งไปห้องน้ำ
สายฝนที่โปรยลงมากับผืนป่าที่อยู่ข้างหน้า และทุ่งโล่งๆ อีกด้านหนึ่ง พวกเขามองสิ่งเดียวกัน แต่เด็กๆ เขียนออกต่างกัน บางคนเขียนถึงเรื่องราวที่เข้าป่ากับพ่อไปหาของป่า บางคนเขียนถึงต้นไม้ที่ดูแปลกๆ บางคนเขียนเรื่องต้นไม้น่ากลัว บางคนเขียนเรื่องนก บางคนเขียนเรื่องผี
แม้แต่บางคนที่ครูมาบอกก่อนหน้านี้ว่า “ยังหนังสือเป็นตัวแทบไมได้ บางคนยังอ่านไม่ออก” เราบอกครูว่าไม่เป็นไร และไม่ได้ดูตารางวัดผลการอ่านเขียนของเด็กๆ เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญ มันอยู่ที่หัวใจมากกว่า
การจัดกระบวนการเรียนรู้ของน้องๆ ทีมงานหนังสือเพื่อนเด็กเป็นประโยชน์มากทีเดียว ทำให้เด็กๆ ไม่รู้สึกว่าการมาอบรมการอ่านการเขียนเป็นภาระของพวกเขามากนัก
ลายมือหยุกหยิกสองบรรทัด และเขียนสะกดผิดๆ ถูก แต่เมื่อพยายามอ่านดูก็รู้ว่าเป็นเรื่องเป็นราว เป็นสิ่งที่เขาเขียนออกมาจากหัวใจและไมได้ทำมันขึ้นมาด้วยความทุกข์หรือความขลาดกลัว
ฉันจึงรู้สึกเป็นสุข เมื่อเด็กถามว่า “เป็นนักเขียนมีความสุขไหม”