"อะไรเอ่ยมันโผล่ขึ้นมาจากดิน"
คำถามเล่น ๆ ของเด็ก ๆ สมัยก่อนเราจะตอบว่า ขอม เพราะเคยเรียนเรื่องพระร่วง ตอนขอมดำดิน แต่ เดี๋ยวนี้ถ้าไปตอบว่า "ขอม" เด็กไม่เข้าใจ
คำตอบอะไรเอ่ยโผล่มาจากดินในวันนี้คือ "เห็ดหล่มค่ะ"
ใช่แล้ว...วันนี้จะชวนไปกินน้ำพริกเห็ดหล่มกันค่ะ หากินหาอยู่กันไปตามสภาพ ภาษาเหนือมีคำเพราะที่ติดใจติดปากนั่นคือ คำว่า เสาะว่าหากิ๋น
วันนี้ทำน้ำพริกเห็ดหล่มสูตรบ้านทุ่งยาวนะคะ อาจจะมีคำถามว่าทำไมต้องเป็นบ้านทุ่งยาว ที่เป็นบ้านทุ่งยาวก็เพราะว่า ฉันรู้จักเห็ดหล่มครั้งแรกที่บ้านทุ่งยาว มันโผล่ขึ้นมาจากดินให้เห็น ๆ กันเลยแหละ และฉันก็เริ่มเข้าใจคำว่า เสาะว่าหากิ๋นของป่า ในป่าชุมชน
จำได้ว่าเราเข้าป่าไปสายมากแล้ว มีคนหิ้วเห็ดหล่มออกจากป่า เราก็คิดว่า เอ...เขาคงเก็บหมดแล้ว แต่ที่ไหนได้ ป่าชุมชนคือป่าที่เข้าไปหาของกินได้อย่างชนิดที่เรียกว่า ใครจะเข้าไปก่อนหลังก็มีของติดมือมากินได้
เพราะเข้าไปเก็บเอามาแค่พอกินพอฝากกันเท่านั้นไม่ได้เอาไปขายที่ไหน หรือถ้าขายก็ขายกันในหมู่บ้าน สำหรับคนที่ไม่อยากเข้าป่าในช่วงนั้น ๆ แต่อยากกิน เช่นนี้แหละมันก็เลยเหลือให้กินกันได้ทั่วถึง
บ้านทุ่งยาวอยู่ที่ตำบลศรีบัวบาน อยู่ในเมืองลำพูน หมู่บ้านนี้ของกินในป่าของเขาเยอะจริง ๆ กินไปตามฤดูกาล และข้างบ้านของเขาก็มีผักอีกสารพัดแบบไม่เข้าป่าก็เก็บกินได้
ได้เวลาทำน้ำพริกเห็ดหล่มแล้วค่ะ แต่วันนี้เป็นเห็ดหล่มจากบ้านทุ่งเสี้ยว แม่ค้ารถถีบ (ปั่นจักรยานมาขาย) วันนี้เห็ดบานแล้ว เหมาะสมที่จะทำเป็นน้ำพริกเห็ด มันจะได้เนื้อเยอะ ส่วนที่ตูม ๆเอาไปทำแกง
แปลกใจไหมว่าทำไม ไม่ทำน้ำพริกเห็ดหล่มแบบทุ่งเสี้ยว เพราะเห็ดจากป่าบ้านทุ่งเสี้ยวไปถามมาแล้วค่ะ ขั้นตอนยุ่งยากกว่าที่บ้านทุ่งยาว ที่บ้านทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่เขาบอกว่า ต้องเอาทุกอย่าง ตั้งแต่พริกชี้ฟ้า หอม กระเทียม กะปิ ปลาร้า และเห็ด ห่อใบกล้วยเป็นอย่าง ๆ แล้วย่างไฟให้สุกหอม แล้วเอามาตำรวมกัน อันนี้ครบสูตรของบ้านทุ่งเสี้ยว
แต่ของบ้านทุ่งยาว ลำพูน ย่างแค่พริกชี้ฟ้าเท่านั้น แล้วลอกเปลือกออก ฉันก็เอาใส่ลงไปในกระทะคั่วไปมาพอไหม้ก็ลอกเปลือกออก ตำรวมกับกระเทียม กะปิ และเห็ด จากนั้นก็เอาไปผัดใส่น้ำมันนิดหน่อยให้พอสุกได้แล้วน้ำพริกเห็ดหล่มกินกับผักตามแต่จะหาได้ ที่บ้านนี้กินผักแบบรวมเพื่อน เช่น ยอดหมุย ผักชีลาว ผักไผ่ มะกอก พวกนี้ปลูกง่าย
คนที่บ้านทุ่งยาวนี้มั่นใจตัวเองขนาดพูดว่า ไม่มีเงินก็อยู่ได้ เพราะตลาดเราอยู่ในป่า
เขาว่าของเขาอย่างนั้นจริง ๆ ค่ะ แล้วเขาก็เล่ากันอย่างภาคภูมิใจว่า เขาดูแลป่าเอาไว้ด้วยชีวิต เพราะว่า ครั้งหนึ่งชาวบ้านทุ่งยาว ไม่ยอมให้ผืนป่าแห่งนี้ เป็นพื้นที่อุทยาน หรือถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน และจัดการโดยอุทยาน
เพราะทันทีที่มีอุทยานจะต้องสร้างที่ทำการ สร้างบ้านพัก และสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย เขาไม่สนใจรายได้จากการท่องเที่ยวที่ถูกนำมาหลอก
เพราะเมื่อเป็นอุทยานเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะเก็บของกินได้ไหม อาจจะถูกจับได้ แต่พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นว่า ดูแลป่าได้โดยไม่รัฐไม่ต้องเสียงบประมาณใด ๆ
การต่อสู้กับอำนาจรัฐเหนื่อยหนักและต้องใช้เวลา ที่บ้านทุ่งยาวใช้เวลาสามสิบปี เขาทำบัญชีอาหารจากป่า ผู้หญิงทุกบ้านจะต้องทำการจดบันทึกลงไปว่า...
วันนี้เอาอะไรออกมาจากป่าเพื่อกินบ้าง เทียบเท่ากับราคาเท่าไหร่...
เช่น วันนี้เก็บเห็ดหล่มมากิน 1 มื้อ 10 บาท เก็บผักหวานป่ามา 20 บาท เอาสมุนไพรออกมาทำยาแก้ปวด 10 บาท รวมอาหารในหนึ่งวันที่ออกมาจากป่าเท่าไร่ เดือนหนึ่งเท่าไหร่ ปีหนึ่งละเท่าไหร่
ทุกครัวเรือนทำแบบเดียวกัน รวมออกมาแล้วปีหนึ่งเก้าหลายแสนกว่าบาท (หรือจะพูดล้านบาท)
แม่บ้านคนหนึ่งเล่าให้ฉันฟังว่า พวกพ่อบ้านว่า "ปีหนึ่งเป็นแสน ๆ พูดมาได้ ไหนอยู่ตรงไหน"
แม่บ้านว่า "ก็ในท้องเอ็งไง ที่กินเข้าไปทุกวัน"
"จริง" พ่อบ้านยอมรับ
นี้เป็นงานของผู้หญิงเพราะผู้หญิงอยู่ในครัวต้องดูแลแหล่งอาหารเอาไว้
"ไม่มีเงินก็อยู่ได้" ชาวบ้านทุ่งยาวเขาว่าอย่างนั้น
นี่เป็นข้อยืนยันว่า ป่ามีไว้กิน ยิ่งเก็บกินยิ่งออกผล ยิ่งดูแลยิ่งได้ และได้กับทุกคนด้วย ป่าดีน้ำก็ดี อากาศดี ไม่ต้องซื้อต้องหาป่ามีไว้ให้ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนอากาศก็ดีไปทั่วถึง