ฉันได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า อาหารบ้านฉัน เป็นสูตรอาหารพื้นถิ่น ของกินจากป่าหลังบ้าน และที่สำคัญกว่านั้น เขียนว่าอร่อยไปถึงหัวใจ
“ฉันเติบโตมาจากอาหารที่หลังบ้าน เธออยากรู้ไหมว่า อาหารบ้านฉันอร่อยแค่ไหน เธอไม่ต้องกลัวหรอก บ้านฉันมีอาหารมากมาย กินกันอย่างไม่หมด”
หนังสือเล่มนี้ มีผู้ร่วมดูแลหรือผู้ร่วมทำงานด้วย เขาคือ ธนภูมิ อโศกตระกูล เป็นคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านอาหาร โดยเฉพาะอาหารสุขภาพ การกินอยู่แบบง่าย ๆ เช่น จานอร่อยปลอดเนื้อ มหัศจรรย์แห่งเต้าหู้ เจไม่จำเจ เป็นต้น
ธนภูมิ อโศกตระกูล
เขาเล่าว่า
“ได้เข้ามาเที่ยวในแม่เหียะใน เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว หลังจากนั้นผมก็ได้ไปเที่ยวที่นั่นบ่อย ๆ และได้รู้จักกับปวีณา พรหมเมตจิต และได้ทำกับข้าวกินกัน มีความประทับใจในบรรยากาศของสถานที่และชีวิตผู้คน ผมเข้าไปบ่อยมาก ๆ
โดยส่วนตัวผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องอาหารอยู่แล้ว และรู้ว่าปวีณา เรียนคหกรรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ แล้วน้องเขาเป็นคนที่ชอบทำอาหารก็เลยชวนให้น้องรวบรวมสูตรอาหารของหมู่บ้านที่เกิดที่กินมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยและเขียนขึ้นมา
เราทดลองทำอาหารที่รวบรวมรายชื่อขึ้นมาได้ที่ละอย่างสองอย่าง แม่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนในหมู่บ้านพวกป้า ๆ น้า ๆ มาชวนทำช่วยชิมและเล่าเรื่องอาหารต่าง ๆ เช่น กินไปคุยไป ป้าดวนบอกว่า ตำน้ำพริกแล้วไม่ละเอียดก็จะหาผัวไม่ได้ และยังมีเรื่องเล่าในอาหารอีกมากมาย ดังนั้น นอกจากมีสูตรอาหารแล้วเราพบว่าในอาหารมีเรื่องราวมากมาย ผมได้ช่วยดูแลต้นฉบับน้อง และได้ติดต่อสำนักพิมพ์ แรกคิดว่าจะพิมพ์เป็นหนังสือตำราอาหารธรรมดา แต่เมื่อมาดูต้นฉบับแล้วพบว่า มันออกมาเป็นเชิงสารคดีมากกว่าตำราอาหารธรรมดา
อีกคนหนึ่งที่ชวนน้องทำงานคือ คำ ผกา นักเขียนหญิงคนเชียงใหม่คนหนึ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมอาหารเดียวกับเธอ ได้ช่วยเขียนคำนิยมให้น้อง เธอเขียนถึงวัฒนธรรมการกินอาหาร ตั้งแต่ปู่ย่าตายายที่กินอยู่ตามธรรมชาติ ทำอาหารจากมือแม่บ้าน จนถึงยุคที่ปัจจุบันที่ผู้คนต้องรู้จักอาหารเสริมกับวิตามิน กระเทียมอักเม็ด สารสกัดจากพืชผักต่าง ๆ รวมทั้งซุปสำเร็จรูป หรือน้ำมันปลาโอเมก้า 3 เป็นต้น และเธอยังเขียนถึงเพื่อนร่วมวัฒนธรรมของเธอที่ทำเป็นไม่รู้จักรังเกียจอาหารบ้าน ๆ เช่น ถั่วเน่า น้ำปู๋ และนำไปสู่ขบวนการที่ทำให้คนท้องถิ่นอ่อนแอ
ปวีณา ไม่เพียงแต่ยืนยันในศักดิ์ศรีและปัญญา เธอยังพยายามจะบอกว่าอาหารไม่ได้มาจากตลาดหรือซุปมาร์เกตและไม่ได้มาจากการเพาะปลูกเท่านั้นแต่เป็นของขวัญของธรรมชาติ และบอกว่าแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์นี้อาจจะถูกทำลาย เพราะจะถูกแปรเป็นแหล่งท่องเที่ยว การสูญเสียผืนดิน สูญเสียน้ำ เป็นเสียงเล็ก ๆ ของเด็กที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
**************
คำ ผกา
สำหรับฉัน เคยเข้าหมู่บ้านแม่เหียะสองสามครั้ง ครั้งแรกถูกชวนไปปลูกป่ากับชาวบ้านแม่เหียะใน เป็นการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในปี 2549 ช่วงนั้นดูเหมือนจะมีปัญหาเรื่องเมกะโปรเจ็กที่พ่วงมากับไนท์ซาฟารีคือมีการจะสร้างอุทยานช้างในพื้นที่
บ้านแม่เหียะในเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เคยซุกตัวอยู่อย่างสงบและเดียวดาย แต่มีผืนป่าที่ดี เป็นผืนป่าใกล้เมืองจริง ๆ นี่แหละหัวใจของเมืองเชียงใหม่
นั่นคือวันแรกที่ฉันรู้จักบ้านแม่เหียะใน และบ้านหลังหนึ่งที่กำลังปรุงอาหารเพื่อเลี้ยงคนในหมู่บ้านและแขกที่มาช่วยกันปลูกป่า
ฉันได้พบปวีณา พรหมเมตจิต ผู้นำเสนอสูตรอาหารพื้นบ้าน ของกินจากป่าหลังบ้าน เธอเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ นิ่ง ๆ และพูดน้อย ยิ้มแทนคำพูด
ปวีณา พรหมเมตจิต
ปวีณาอยู่ที่บ้านแม่เหียะในมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด บ้านเธออุดมสมบูรณ์ เธอเดินขึ้นเขาลงห้วยเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้มาตั้งแต่เล็ก การเขียนหนังสือเล่มนี้นอกจากเป็นคำบอกเล่าเรื่องอาหารของบ้านเธอแล้ว เธอยังร้องขออยู่กลาย ๆ ว่า ขอแหล่งอาหารไว้ให้บ้านฉันเถอะ
เพราะเมื่อสองปีที่ผ่านมา โครงการต่าง ๆ เข้ามาในหมู่บ้านแม่เหียะในซึ่งกระทบต่อแหล่งอาหารของหมู่บ้าน
เรื่องราวในสูตรอาหารของเธอ ควบคู่ไปกับเรื่องเล่าในสังคมหมู่บ้านที่เธออยู่ได้อย่างกลมกลืน เช่น ชีวิตผู้คนผูกพันอยู่กับป่าหลังบ้าน การทำมาหากินของคนในชุมชน ความรักในท้องถิ่นของตัวเอง ความสุข ความทุกข์และความหวัง
ท้ายที่สุด เธอชวนเชิญไปกินข้าวที่บ้านและบอกว่า บ้านเธอนั้นกินอยู่อย่างไรก็ไม่หมด
มาเถอะมากินอาหารที่อร่อยไปถึงหัวใจ และช่วยฉันด้วยว่า ทำอย่างไรดีถ้าแหล่งอาหารบ้านฉันถูกทำลายไป
ปล. มาเที่ยวบ้านฉัน "งานเปิดตัวหนังสือ อาหารบ้านฉัน และคุยกันเรื่อง "กินอยู่อย่างไรไม่ให้หมด" โดย เทพศิริ สุข โสภา คำผกา และปวีณา พรหมเมตจิต ที่ศาลารวมใจ บ้านแม่เหียะใน อ.เมือง เชียงใหม่ สี่โมงเย็น