Skip to main content

1. คำนำ


เมื่อราคาน้ำมันลดลงมาจากลิตรละราว 40 บาทจากเมื่อ 4-5 เดือนก่อนมาอยู่ที่ราว ๆ 20 บาท ทำให้คนไทยเราก็รู้สึกสบายใจ บางคนถึงกับกล่าวว่า “ตอนนี้จะไปไหนมาไหนก็ไม่ค่อยได้คิดมากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว”


ในยุคที่การเมืองที่เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง ผู้บริโภคจะพอใจอยู่กับตัวเลขที่อิงอยู่กับความรู้สึกเช่นนี้เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เราจะต้องลุกขึ้นมาช่วยกันตรวจสอบ ถามหาความความเป็นธรรม ความพอดีอยู่ตลอดเวลา


เมื่อพูดถึงความรู้สึกที่สบายใจขึ้นของคนไทยในขณะนี้ ทำให้ผมนึกเรื่อง “นัสรูดิน” ชายชาวอาหรับโบราณที่คนรุ่นหลังยังตัดสินไม่ได้ว่า เขาเป็นคนเฉลียวฉลาดหรือคนโง่กันแน่

วันหนึ่งเมื่อเพื่อนบ้านมาขอคำปรึกษาว่า “จะทำอย่างไรดีกับบ้านของตนเองที่คับแคบและมีกลิ่นอับ”


นัสรูดินแนะนำว่า “ให้เอาแพะไปล่ามไว้ในบ้าน” เพื่อนบ้านก็ทำตาม แต่แล้ววันรุ่งขึ้นก็กลับมาร้องอีกว่า “ยังไม่ดีขึ้น” นัสรูดินก็แนะนำเพิ่มเติมว่า “ให้เอาลาเข้าไปเลี้ยงอีกตัว” วันถัดมาก็บอกว่า “ให้เพิ่มม้าเข้าไปอีกตัว”


เพื่อนบ้านผู้เชื่อฟังก็มาร้องขอคำปรึกษาอีกว่า “ไม่ดีขึ้นเลย กลับรุนแรงกว่าเดิม” นัสรูดินก็แนะว่า “งั้นให้เอาม้าออกไป” ความรู้สึกของเพื่อนบ้านก็ค่อย ๆ ดีขึ้น ๆ ทีละวัน ๆ จนวันสุดท้ายที่เอาแพะออกไป เพื่อนบ้านก็รู้สึกว่า “บ้านของตนเองกว้างขึ้น กลิ่นอับก็ลดลง” จึงรู้สึกสบายใจขึ้นมาก


ขณะนี้ ในกรณีราคาน้ำมัน คนไทยเราเป็นเหมือนเรื่องราวที่เล่ามานี้เปี๊ยบเลย


2. ถูกโกงอย่างไร?


ก่อนอื่น เรามาดูส่วนประกอบของราคาน้ำมันที่จำหน่ายตามสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ เราจะสนใจเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล H-DIESEL (0.035%S) ซึ่งเป็นน้ำมันที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด (ประมาณ 42- 43 ล้านลิตรต่อวัน) โดยแบ่งราคาออกเป็น 3 ส่วน คือ

(1) ราคาต้นทุนน้ำมันดิบ ในที่นี้คิดจากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ลบด้วยค่าการกลั่นเฉลี่ย (Average Gross Refinery Margin)

(2) ค่าการตลาดของน้ำมันชนิดนี้รวมกับค่าการกลั่นเฉลี่ย เราจะกล่าวว่า ค่านี้คือรายได้ของบริษัทโรงกลั่นและบริษัทค้าน้ำมัน

(3) ค่าภาษีและค่ากองทุน ในที่นี้ได้รวมภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวม 6 รายการ สำหรับกองทุนได้แก่กองทุนน้ำมันและกองทุนอนุรักษ์พลังงาน


ผมสุ่มเอาข้อมูลในวันที่ 9 ตุลาคม 2551 พบว่าราคาน้ำมันชนิดนี้ที่ปั๊มน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ เท่ากับ 28.14 บาท เมื่อแตกออกเป็น 3 รายการจะได้ ต้นทุนน้ำมันดิบ 18.07 บาท ค่ารายได้ของบริษัท 6.67 บาท ค่าภาษีและกองทุน 3.30 บาท


เมื่อนำมาคิดเป็นร้อยละจะได้ดังแสดงในธนบัตร ดังรูป คือ ต้นทุนน้ำมันดิบ 64% กำไร 24% และ ภาษีและกองทุน 12%



ปัญหาที่เราต้องตั้งคำถามต่อก็คือ สัดส่วนของค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นธรรมหรือไม่ ทั้งต่อผู้ประกอบการซึ่งหมายถึงบริษัทโรงกลั่นและบริษัทผู้ค้า และต่อผู้บริโภค และถ้าให้ดีกว่านี้ก็ต้องคำนึงถึงภาษีที่เป็นผลประโยชน์ต่อคนไทยทั้งประเทศด้วย


คำตอบคือเราไม่ทราบ เพราะเราไม่ได้อยู่วงการนี้ และไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้จะหมดไปได้ระดับหนึ่ง เมื่อเรานำไปเทียบกับกิจการเดียวกันของประเทศอื่น ในที่นี้ผมขอเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องนี้คือ America’s Oil and Natural Gas Industry, The Truth About Oil and Gasoline: An API Primer ซึ่งเพิ่งออกมาเพื่อ 5 ธันวาคม 2551 นี้เอง ผมได้นำภาพมาลงในที่นี้ด้วย



เมื่อคิดราคาเป็นร้อยละ เราพบว่าค่าการตลาดและค่าการกลั่นของไทยสูงกว่าของสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 7 ถ้าคิดเป็นตัวเงิน โดยใช้ราคาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 เราพบว่า


ราคาน้ำมันดีเซลที่หน้าปั๊มของสหรัฐอเมริกา (หลังจากปรับอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว) อยู่ที่ลิตรละ 25.78 บาท โดยมีต้นทุนน้ำมันดิบอยู่ที่ร้อยละ 41 ของราคาหน้าปั๊ม ในขณะที่น้ำมันเบนซินลิตรละ 16.95 บาท (ต้นทุนน้ำมันดิบอยู่ที่ร้อยละ 62)


สำหรับราคาน้ำมันดีเซลในกรุงเทพฯ พบว่าราคาขายปลีกลิตรละ 21.04 บาท โดยมีค่าการตลาดและค่าการกลั่น(เฉลี่ย) ลิตร 5.52 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของราคาขายปลีก ในขณะที่น้ำมันเบนซิน 95 ราคาลิตรละ 27.19 บาท โดยมีค่าการตลาดและค่าการกลั่นเฉลี่ยรวมกันเท่ากับ 9.42 บาท หรือ 34.65% ของราคาขายปลีก


มันมากกว่าที่ผมสุ่มมาก่อนนี้เสียอีก


เราอาจจะสงสัยว่า ในทางสากลแล้ว ค่าการกลั่นน้ำมันควรจะเป็นเท่าใดจึงจะเหมาะสม ผมมีเอกสารของ UKPIA (United Kingdom Petroleum Industries Association (ฉบับ 2008) ผมขอคัดลอกมาให้ดูด้วยครับ



จากกราฟพบว่า ในช่วง พ.. 2543 ถึง 2550 ค่าการกลั่นเฉลี่ย ของกลุ่มประเทศยุโรปและประเทศสิงคโปร์ ราคาใกล้เคียงกันมาก คืออยู่ระหว่าง 2 ถึง 6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีราคาไล่เลี่ยกันมาตลอด แต่ได้กระโดดไปสูงมากไปถึง 13 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้วยเหตุผลของพายุเฮริเคนแคททรินา


อ้าว แล้วค่าการกลั่นในบ้านเราละ ผมเลือกสุ่มเอาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 พบว่า ค่าการกลั่นเฉลี่ยเท่ากับ U$10.98 ต่อบาร์เรล


หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ค่าการกลันเฉลี่ยคืออะไร ตอบสั้น ๆ ว่า คือ ราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ทุกชนิดหน้าโรงกลั่นลบด้วยราคาน้ำมันดิบ


3. สรุป


ต้องขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า ข้อมูลที่ผมหยิบขึ้นมานี้ บางส่วนเป็นข้อมูลสุ่ม บางส่วนเป็นข้อมูลที่มีการศึกษาอย่างละเอียดแล้ว ผมคิดว่า บทความนี้ได้ตอบโจทย์ที่ผมสงสัยแล้ว ถึงไม่ได้ใช้ข้อมูลทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ได้ความจริงระดับหนึ่ง ว่าคนไทยเราถูกเอาเปรียบถูกค้ากำไรมากเกินไปแล้ว


ถ้าเราต้องการสังคมที่ดีกว่านี้ คุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่า การช่วยกันตรวจสอบตลอดเวลา สุดท้ายนึกประโยคเด็ดขึ้นมาได้ว่า “ตื่นเถิดชาวไทย อย่าหลับใหลลุ่มหลง” กับความรู้สึกว่าน้ำมันราคาถูกลงโดยไม่มีการวิเคราะห์ใด ๆ ครับ


บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลกเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์…
ประสาท มีแต้ม
๑ คำนำ: วิธีการศึกษา-วิธีการเคลื่อนไหว ภาพถ่ายข้างบนนี้มาจากภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก (An Inconvenient Truth)” ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscars award) ไปหลายรางวัลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐   ในภาพมีเรือหลายลำวาง(เคยจอด)อยู่บนทรายที่มีลักษณะน่าจะเคยเป็นคลองมาก่อน   นอกจากจะสร้างความฉงนใจให้กับผู้ชมว่ามันเป็นไปได้อย่างไรแล้ว    ยังมีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ของกวีชาวอเมริกัน [1] มีความหมายเป็นไทยว่า “เป็นการยากที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง…
ประสาท มีแต้ม
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์หลังจากทราบว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า “พลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นสำหรับการจัดหาพลังงานในระยะยาวของประเทศ ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน” (มติชน,19 กันยายน 50) ในตอนท้ายรัฐมนตรีท่านนี้ได้ฝากถึงนักการเมืองในอนาคตว่า“อยากฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่าหากจะมีการกำหนดนโยบายอะไรออกมาขอให้ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดูถึงผลระยะยาวด้วย เรื่องนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี แต่รัฐบาลมีอายุการทำงานเพียง 4 ปีเท่านั้น”…