Skip to main content

ตลอดช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันที่ปั๊มในบ้านเราได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้ราคาน้ำมันดิบจะสูงถึง 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยที่ราคาเมื่อต้นเดือนมิถุนายนได้ขยับจาก 62 ถึง 68 ภายในเวลาเจ็ดวันเท่านั้น



ท่านผู้อ่านคงจะรู้สึกคล้าย ๆ กันกับหลายคนที่ได้ตั้งคำถามเชิงไม่ไว้วางใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันว่า
“ตอนที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงสุดเมื่อกลางปี 2551 กับตอนนี้ (มิถุนายน 2552) ซึ่งราคาน้ำมันดิบลดลงมาครึ่งหนึ่งแล้ว แต่ทำไมราคาน้ำมันหน้าปั๊มในบ้านเราจึงลดลงไม่มาก มันเกิดอะไรขึ้น กลไกราคามันเป็นอย่างไร”

เพื่อความแน่นอนในตัวเลข ผมจึงลองค้นหาข้อมูลย้อนหลังดูก็พบว่า ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม 2551 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (ราคาที่จุดขายหรือราคาเอฟโอบี ไม่รวมค่าขนส่ง) อยู่ที่ 137.11 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลชนิดหมุนเร็วหน้าปั๊มในเขตกรุงเทพฯลิตรละ 42.64 บาท แต่พอมาถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2552 ราคาน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ 68.58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันชนิดเดิมและที่เดิมอยู่ที่ 25.39 บาทต่อลิตร

ในความคาดหวังของผู้ตั้งคำถาม คงอยากจะบอกว่า ถ้าราคาน้ำมันดิบลดลงครึ่งหนึ่ง ราคาหน้าปั๊มก็ควรลดลงมาครึ่งหนึ่งด้วย คือควรจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 21 บาทต่อลิตร ไม่ใช่ 25 บาทต่อลิตรอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ซึ่งสูงกว่าที่เขาคิดถึง 19 เปอร์เซ็นต์

พร้อมกันนี้ผู้สงสัยก็คำนวณต่อไปอีกว่า ในแต่ละวันคนไทยใช้น้ำมันดีเซลชนิดหมุนเร็ว 58 ล้านลิตร ผู้บริโภคถูกคิดราคาเกินไปถึงวันละกว่า 200 ล้านบาท

ในความเป็นจริงราคาน้ำมันที่หน้าปั๊มจะประกอบด้วย 5 ส่วน คือ

  1. ราคาน้ำมันดิบซึ่งขึ้นอยู่กับพ่อค้าผูกขาดระดับโลกจะกำหนด เรื่องนี้เกินอำนาจที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ที่แก้ไขได้
  2. ค่าการกลั่นเฉลี่ย ( average gross refinery margin) ซึ่งหมายถึงราคาที่ต่างกันระหว่างน้ำมันดิบกับราคาผลิตภัณฑ์ที่กลั่นออกมาได้ สมมุติว่าราคาน้ำมันดิบ 60 $/บาร์เรล หลังจากกลั่นเสร็จแล้วราคาของผลิตภัณฑ์ต่างๆ (เช่น น้ำมันดีเซล น้ำมันกาด นาฟต้า (naphtha-สารที่ใช้ผลิตเชื้อเพลิงอื่นที่มีอ๊อกเทนสูงและอื่น ๆ) รวมกันเป็น 65 $ เราเรียกว่า “ผลต่างของการกลั่นรวม” หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า ค่าการกลั่น
  3. ค่าการตลาด (marketing margin) คือผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาซื้อ
  4. ค่าภาษีซึ่งได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเทศบาล รวมถึงกองทุนต่าง ๆ
  5. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างบาทกับดอลลาร์สหรัฐ

โดยปกติ ค่าภาษีน้ำมันในบ้านเราจะเปลี่ยนไปตามนโยบายรัฐบาล ในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงมาก เช่น วันที่ 1 กันยายน 2551 ราคาน้ำมันดีเซลชนิดหมุนเร็วหน้าปั๊มลิตรละ 33.04 บาท รัฐบาลเก็บภาษีทุกชนิดรวมกัน 2.82 บาท (หรือ 8.54% ของราคาขาย) แต่ในช่วงที่ราคาน้ำมันถูกลงค่าภาษีกลับเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552 ราคาน้ำมันชนิดเดียวกันราคาลิตรละ 23.29 บาทแต่เป็นค่าภาษีถึง 7.61 บาท(หรือ 33%)

เมื่อเป็นเช่นนี้ การคาดหวังของผู้ใช้น้ำมันข้างต้นจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ในประเด็นเรื่องภาษี แต่ละประเทศมีแนวคิดและอัตราการเก็บต่างกันมาก เช่น ประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น ในขณะที่ราคาน้ำมันในบ้านเราลิตรละ 40 บาท ในบ้านของเขาเหล่านั้นลิตร 100 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าภาษีเสียเกือบ 60% ที่เป็นเช่นนี้เพราะแนวคิดการประหยัดพลังงานและการนำภาษีน้ำมันที่เป็นพิษไปสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม แต่ในสหรัฐอเมริกา ราคาน้ำมันและอัตราภาษีไม่ต่างจากบ้านเรามากนัก คนอเมริกันที่มีจำนวนเพียง 5% ของโลกจึงใช้พลังงานถึง 30% ของโลก

ประเด็นที่น่าสนใจคือ องค์ประกอบที่ (2) คือค่าการกลั่น ในบ้านเรากำหนดโดยเจ้าของโรงกลั่นระดับประเทศซึ่งมีอยู่จำนวน 7 โรง ในจำนวนนี้มี บริษัท ปตท. เป็นหุ้นส่วนใหญ่ถึง 5 โรง ในการนี้ยังมีกลไกระดับรัฐบาลเป็นผู้กำกับดูและอีกระดับชั้นหนึ่ง

ค่าการกลั่น

เป็นที่น่าสังเกตว่า กระทรวงพลังงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลกิจการพลังงานทั้งประเทศ ได้นำเสนอข้อมูลพลังงานที่ยากต่อการสืบค้นและทำความเข้าใจเมื่อเทียบของประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศอังกฤษ เขาจะมีเอกสารที่จัดทำโดยกลุ่มโรงกลั่น 9 โรง (จากจำนวน 12 โรง) ในนามของ UKPIA (United Kingdom of Petroleum Industry Association) เช่น บอกว่า ค่าการกลั่นของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกเฉียงเหนืออยู่ระหว่าง 4.2 ถึง 5.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักจากปี ค.ศ. 2004 ถึง 2007 (ดังแผนภาพข้างล่างนี้)


แต่เว็บไซต์ของกระทรวงพลังงาน (http://www.eppo.go.th/petro/price/index.html) ให้ข้อมูลเป็นรายวัน เป็นตัวเลข แต่ละวันก็อยู่คนละหน้า ทำให้เราไม่เข้าใจภาพรวม ไม่เห็นแนวโน้ม และไม่เห็นการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ใครที่รู้อยาก สงสัยอย่างผมเองก็ต้องเสียเวลานั่งไล่กันเป็นวัน ๆ กว่าจะได้มาเพื่อทำการวิเคราะห์เอาเอง นอกจากนี้ยังพบว่า อยู่ ๆ ข้อมูลค่าการกลั่นของกระทรวงพลังงานก็หายไปจากเว็บไซต์ คือไม่รายงานอีกเลย เช่น วันที่ 1 ธันวาคม 2551 ยังมีการรายงานตามปกติที่ผ่านมา แต่พอมาถึงปลายเดือนธันวาคมเป็นต้นมาก็หายไปตลอดกาล

กลับมาที่กรณีของประเทศอังกฤษอีกครั้ง นอกจากการนำเสนอข้อมูลเรื่องค่าการกลั่นของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือแล้ว ยังมีการเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ และบางส่วนของประเทศสหรัฐอเมริกา จากกราฟ (ที่เขานำเสนอ) เราจะเห็นว่า ค่าการกลั่นของ 3 ประเทศอยู่ในช่วงที่ใกล้เคียงกันมาก คือประมาณ 2-6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ยกเว้นอยู่ช่วงเดียวคือประมาณปี 2005 ถึง 2007 ที่ค่าการกลั่นของสหรัฐอเมริกาได้พุ่งไปถึงประมาณ $13 ต่อบาร์เรล ด้วยเหตุผลว่าประเทศเขาประสบภัยพิบัติจากพายุเฮริเคน แคตรินาเมื่อปี 2005

นอกจากนี้จากข้อมูลในกราฟทำให้เราทราบว่า ค่าการกลั่นยังแปรผันขึ้นลงตามฤดูกาลอีกด้วย แต่ก็ไม่ต่างกันมากนัก

อนึ่ง ค่าการกลั่นยังขึ้นกับประเภทของน้ำมันดิบอีกด้วย แต่จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้เพราะกระทรวงพลังงานเองก็ไม่ได้จำแนกประเภทน้ำมันดิบเอาไว้

เนื่องจากข้อมูลของกระทรวงพลังงานมีปัญหาดังที่กล่าวแล้ว ผมจึงได้ใช้วิธีการดังนี้ คือ
ผมสุ่มข้อมูลค่าการกลั่นเฉลี่ยและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของปี 2550 ทุกเดือนๆ ละ 5 วันโดยกระจายตัวทั่วทั้งเดือน รวม 60 ข้อมูล ผมพบว่า

ค่าการกลั่นของประเทศสยามเมืองยิ้ม(ไม่ออก) อยู่ที่ 9.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในขณะที่ของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกเฉียงเหนืออยู่ที่ 5.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น ของประเทศสิงคโปร์ก็ประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ยกเว้นของสหรัฐอเมริกาที่เกิดภัยพิบัติ

สมมุติว่า(สมมุตินะครับสมมุติ) ถ้ารัฐบาลไทยมีการควบคุมให้ค่าการกลั่นของไทยเท่ากับของประเทศยุโรปหรือของประเทศสิงคโปร์แล้วราคาน้ำมันในบ้านเราจะลดลงทันทีถึงลิตรละ 94 สตางค์

ในปี 2550 น้ำมันดิบเข้าโรงกลั่นทั้ง 7 ของประเทศไทยประมาณ 5 หมื่น 3 พันล้านลิตร (http://www.eppo.go.th/info/stat/T02_02_02-1.xls) ดังนั้น คนไทยจะสามารถประหยัดเงินได้รวมกันถึงปีละ 5 หมื่นล้านบาท

เพื่อให้ได้ความรู้มากขึ้น ผมลองตรวจสอบในเดือนกันยายน 2551 โดยใช้ข้อมูลเพียง 20 วัน พบว่า ค่าการกลั่นเฉลี่ยของน้ำมันทุกชนิดในประเทศไทยอยู่ที่ 13.25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลและเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ผมพบดังตารางข้างล่างนี้ (เพียงเพื่อให้เห็นเป็นหลักฐาน โดยไม่อธิบายในรายละเอียดเพิ่มเติม)

อนึ่ง ข้อมูลที่ผมนำมาคิดทั้งหมดต่างมีแหล่งอ้างอิงตามที่กล่าวมาแล้ว หากผมคิดหรือเข้าใจอะไรผิดพลาดไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดชี้แจงครับ เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของท่านที่จะต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภค บนพื้นฐานของความเป็นจริง

ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะให้ร้ายหน่วยงานใด เพียงขอทำหน้าตรวจสอบนักการเมืองและกลุ่มพ่อค้าที่รวยเอารวยเอา ในขณะที่ชาวบ้านชาวช่องกลับอัตคัดขัดสนลงลงทุกวัน

ขอขอบคุณทุกท่านครับ

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลกเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์…
ประสาท มีแต้ม
๑ คำนำ: วิธีการศึกษา-วิธีการเคลื่อนไหว ภาพถ่ายข้างบนนี้มาจากภาพยนตร์สารคดีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่อง “ความจริงที่ยอมรับได้ยาก (An Inconvenient Truth)” ที่เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์ (Oscars award) ไปหลายรางวัลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐   ในภาพมีเรือหลายลำวาง(เคยจอด)อยู่บนทรายที่มีลักษณะน่าจะเคยเป็นคลองมาก่อน   นอกจากจะสร้างความฉงนใจให้กับผู้ชมว่ามันเป็นไปได้อย่างไรแล้ว    ยังมีประโยคเด็ดที่ได้รับการอ้างถึงอยู่บ่อย ๆ ของกวีชาวอเมริกัน [1] มีความหมายเป็นไทยว่า “เป็นการยากที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง…
ประสาท มีแต้ม
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์หลังจากทราบว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า “พลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นสำหรับการจัดหาพลังงานในระยะยาวของประเทศ ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน” (มติชน,19 กันยายน 50) ในตอนท้ายรัฐมนตรีท่านนี้ได้ฝากถึงนักการเมืองในอนาคตว่า“อยากฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่าหากจะมีการกำหนดนโยบายอะไรออกมาขอให้ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดูถึงผลระยะยาวด้วย เรื่องนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี แต่รัฐบาลมีอายุการทำงานเพียง 4 ปีเท่านั้น”…