Skip to main content

หนึ่งในเครื่องมือหลักของการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หาใช้อาวุธสงครามเพียงอย่างเดียวไม่ หากรวมถึงการใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความพร่ามัวหรือแม้กระทั่งการมองความจริงแบบที่คณะรัฐประหารหรือที่เรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ต้องการ

 

หนึ่งในเครื่องมือหลักของการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หาใช้อาวุธสงครามเพียงอย่างเดียวไม่ หากรวมถึงการใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความพร่ามัวหรือแม้กระทั่งการมองความจริงแบบที่คณะรัฐประหารหรือที่เรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ต้องการ

พันเอก วีรชน สุคนธปฏิภาค โฆษก คสช. ได้บอกบรรดาสื่อต่างชาติที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่าตนไม่อยากให้เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภา ว่าเป็นรัฐประหาร (military coup) หากสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ‘การแทรกแทรงโดยทหาร’ (“military intervention”) แถมยังเสริมด้วยว่า คสช. เข้ามา ‘เสริมสร้างประชาธิปไตย’ (“strengthening democracy”) ซึ่งตรงข้ามจากความเข้าใจที่ว่ารัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญและทำลายระบอบประชาธิปไตย

มิหนำซ้ำ หัวหน้า คสช. พลเอก ประยุทธ์ จันโอชา ก็ยังแต่งเพลงบอกชัดในชื่อเพลงว่าเขากำลัง ‘คืนความสุขให้กับประชาชน’ แถมปูพรมเปิดเพลงกรอกหูประชาชนผ่านสื่อทีวีวิทยุสารพัดช่องทุกวันไม่รู้กี่พันรอบต่อวัน ในขณะที่อีกด้านผู้ต้านรัฐประหารอย่างเปิดเผยถูกจับและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทางการเมืองถูกปล้น

ในการใช้ภาษาแบบ คสช. ประชาชนที่ถูก คสช. สั่งไปกักตัวในค่ายทหารจึงเพียงไป ‘พักอาศัยกับทหาร’ (“military accommodation”) เท่านั้นตามที่ พันเอก วีรชน บอกกับนักข่าวต่างชาติ และไปเพียงเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’ หาได้มีการบังคับขู่เข็ญหรือทรมานอย่างใดไม่

ส่วนสื่อไทยทหารก็ยืนยันว่ามิได้เซ็นเซอร์หากเพียงตั้งกรรมการมาสอดส่องมอนิเตอร์เท่านั้น

มนุษย์กำหนดความรับรู้และความจริงผ่านการใช้ภาษาเป็นหลัก และ คสช. ก็พยายามทำเช่นเดียวกันกับคนไทยและต่างชาติ

ในอเมริกา เป็นที่ทราบกันดีว่า ซีไอเอ ใช้คำว่า ‘liquidation’ หรือ ‘สลายเป็นของเหลว’ แทนคำว่า ‘อุ้มฆ่า’ เพื่อให้ดูเป็นเรื่องปกติไม่รุนแรงทั้งๆที่มันก็คือการสังหารดีๆนี่เอง ส่วนกองทัพอเมริกันก็มีการใช้คำว่า ‘friendly fire’ หรือ ‘การยิงจากมิตร’ เพื่อปิดทับความโหดร้ายของการถูกยิงโดยบังเอิญจากทหารฝ่ายเดียวกัน

เช่นเดียวกัน ในแวดวงขายเนื้อสัตว์ก็มักทำรูปการ์ตูนน่ารักเพื่อโฆษณาล้างสมองให้ผู้บริโภครู้สึกว่าบรรดาหมูไก่ปลากุ้งวัวและสัตว์อื่นๆยินดีให้มนุษย์ฆ่าและบริโภค หากทว่าสัตว์เหล่านั้นพูดได้ คุณคิดว่าพวกสัตว์จะพูดเช่นไร

มนุษย์พูดเขียนได้และผู้เขียนขอยืนยันว่าการเรียกไป ‘ปรับทัศนคติ’ มิใช่ ‘การเชิญ’ หากเป็นการบังคับและทรมานจิตใจวิธีหนึ่งถึงแม้ทหารที่ดูแลผู้เขียนในค่ายที่ราชบุรีตลอดเจ็ดวันจะปฎิบัติดูแลเป็นอย่างดีแต่ก็ชัดเจนว่าใครที่ไม่ไปตามคำสั่ง คสช. ก็จะต้องเจอหมายจับแถมก่อนออกจากค่ายทุกคนที่ ‘ได้รับเชิญ’ ก็ต้องเซ็นข้อตกลงว่าจะไม่ไปร่วม ช่วยเหลือ หรือนำม็อบต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานอย่างชัดเจน แถมทุกคนต้องขออนุญาติ คสช. หากประสงค์จะเดินทางไปต่างประเทศ การอ้างว่าเป็นเพียงการ ‘ปรับทัศนคติ’ และไม่มีการบังคับใดๆ จึงเป็นความจริงเพียงครึ่งๆกลางๆ

ผู้เขียนนึกถึงการโปะเมคอัพหนาๆว่ามันไม่สามารถหลอกตาปิดทับสิวหรือริ้วรอยบนใบหน้าอย่างถาวรได้อย่างไรโดยเฉพาะหากถูกกระเทาะออก การใช้ภาษาแบบ คสช. ก็ไม่สามารถคง ‘ความจริง’ แบบที่ คสช. พึงปราถนาได้หากเกิดการโต้แย้งอย่างกว้างขวางทั้งในพื้นที่สื่อและเวทีสาธารณะ

สื่อและพื้นที่สาธารณะจึงต้องถูกควบคุมและเซ็นเซอร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหากจัดการได้ไม่หมดสิ้นก็คงต้องอัดเพลง ‘คืนความสุขให้กับประชาชน’ และปูพรมข้อมูดดีๆด้านเดียวเกี่ยวกับ คสช. เพิ่มเข้าไปให้ถี่ขึ้นจนกระทั่งความจริงอันสลับซับซ้อนเบลอจนแยกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร

 

 

ปล. บทความนี้ถอดความจากบทความภาษาอังกฤษชื่อ Relying on language to mist over the truth ตีพิมพ์ลงใน นสพ. The Nation วันที่ 2 กรกฎาคม 2557

บล็อกของ ประวิตร โรจนพฤกษ์

ประวิตร โรจนพฤกษ์
 ลึกๆในจิตใต้สำนึกของบรรดาผู้นำเผด็จการทหาร พวกเขาคงตระหนักว่าเขาปราศจากความชอบธรรมใดๆ พวกเขาจึงออกอาการวิตกจริตและปราบปรามการขัดขืนทุกรูปแบบ ไม่ว่าในโลกเสมือนจริงของอินเทอร์เน็ตหรือในโลกแห่งความเป็นจริงประจำวัน
ประวิตร โรจนพฤกษ์
การรับร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารรังแต่จะเป็นการสนับสนุนให้มีการก่อรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนซ้ำๆจนชั่วลูกชั่วหลาน วันที่ 31 กรกฎา ผมจะเป็นหนึ่งเสียงในการพยายามยุติวัฐจักรอุบาทว์ปล้นอำนาจประชาชนผ่านรัฐประหารโดยการโหวตโน
ประวิตร โรจนพฤกษ์
การปรับทัศนคติ: คําสวยหรูที่ใช้โดยเผด็จการทหาร คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ในการจัดการกับผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดที่แสดงความเห็นไม่ยอมรับรัฐประหาร หรือตั้งคําถามถึงความชอบธรรม หรือความไร้ความชอบธรรมของการก่อรัฐประหารยึดอํานาจฉีกรัฐธรรมนูญ
ประวิตร โรจนพฤกษ์
ข่าวที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเมืองไทยในหมู่ผู้สื่อข่าวต่างชาติในไทยในปัจจุบันได้แก่การที่พวกเขาจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าการขอวีซ่าทำงานในฐานะนักข่าวในไทยนั้นยากมากขึ้นตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2557