Skip to main content

มิตรสหายทั้งหลาย

เราไม่ต้องบอกว่ารักกันมากมายแค่ไหนก็ได้ใช่ไหม 
เราไม่ต้องซาบซึ้งสามัคคีกันมากมายแทบตายแทนกันก็ได้ใช่ไหม
เพราะในชะตากรรมวายป่วงของพวกเรานั้นแวดล้อมด้วยชะตากรรมเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของผู้คนตัวเล็กตัวน้อย (เราก็ใช่จะตัวใหญ่ซะที่ไหน) ในสังคมนี้เต็มไปหมด 

และทุกวินาทีที่ผ่านไปนั้นล้วนแล้วแต่ขับเน้นให้เห็นความรันทดหดหู่ให้ดูหมดหวังหมดพลังยิ่งนัก

ก่อนที่อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร, ขวัญระวี วังอุดมและศราวุฒิ ประทุมราช จะนำพาเอาความจริงเพื่อความยุติธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2010 ไปเผยแพร่ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้น เราเองได้ลองติดตามความเป็นไปในรอบหนึ่งปีกับหนึ่งสัปดาห์นับแต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2011 กรณีคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีว่าได้ส่งผลอย่างไรกับผู้ที่ต้องคำพิพากษาทั้งหลาย

พ่อคำพลอย นะมี ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า ไม่สามารถมองเห็น จากคำยืนยันอย่างหนักแน่นของนายแพทย์ที่ดูแล 

อุบล แสนทวีสุข พกพาความเครียดที่สั่งสมในเรือนจำกว่าปีติดตัวออกมาจนไม่สามารถทำงานไกลจากเมืองอุบลฯได้ และเขาต้องไปรับยาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ตามที่หมอนัด - ปัจจุบัน เป็นสัปดาห์ที่สองของเขาสำหรับการเริ่มต้นทำงานรับจ้างที่เมืองอุบลฯ 

พ่อสุพจน์ ดวงงาม ในวัย 64 เป็นแรงงานรายวัน ปัจจุบันทำงานก่อสร้างที่ม่วงสามสิบ อุบลราชธานี 

อรอนงค์ บรรพชาติ เมื่อได้รับอิสรภาพสามีชาวต่างชาติของเธอฟ้องหย่า ขณะที่เธอเองยังไม่สามารถเริ่มต้นกิจการเดิมที่ถูกทิ้งร้างไปเป็นปีได้

ธนูศิลป์ ธนูทอง คนที่ถูกจับผิดตัวและขังฟรีปีกว่า ตั้งหน้าทำมาหากินกับสวนยางพาราและไร่มันสำปะหลังของเขาซึ่งห่างจากตัวเมืองออกไปหนึ่งร้อยกิโลเมตร 

พงษ์ศักดิ์ อรอินทร์ พยายามเริ่มต้นกับร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ของเขา แต่หนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างวิ่งเต้นสู้คดีในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ทำให้การตั้งหลักของเขาล่าช้ามาปีกว่า

ถาวร แสนทวีสุข หนึ่งในผู้ที่ศาลยกฟ้องกลับบ้านตระการพืชผล ทำนาเลี้ยงครอบครัว 

บุญเหรียญ ลิลา กลับไปตั้งต้นร้านซ่อมรถที่หมู่บ้าน แต่วัฒนธรรมการเซ็น ผ่อนจ่ายทำให้การดูแลครอบครัวที่ต้องส่งลูกสองคนเรียนหนังสือกระพร่องกระแพร่ง

ไชยา ดีแสง กับภรรยาเย็บผ้าเลี้ยงชีพที่ข้างกำแพงบ้านพักผู้พิพากษาพอลืมตาอ้าปากได้ 

สีทน ทองมา ลูกของเขาและภรรยาเก่าทราบข่าวก็เข้ามากอบกู้สถานการณ์ชีวิตให้ลุกขึ้นยืนหยัดได้ 

ฝ่ายสุมาลี ศรีจินดา พบว่า ความเครียดติดตัวเธอมา และสะดุ้งกลางดึกแทบทุกคืน

พิสิทธิ์ บุตรอำคา และ ชัชวาลย์ ศรีจันดา เราไม่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเขาได้ 

ขณะที่ลิขิต สุทธิพันธ์ก็มีอาชีพขายพระเครื่อง (เขาให้เรียกว่า เช่า ใช่ไหม?) เลี้ยงตัวแบบพอเพียง

ส่วนพ่อประดิษฐ์ บุญสุข คลุกคลีอยู่กับกลุ่มพลังอุบลซึ่งส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งการเมืองระดับท้องถิ่นทั้งอาจารย์ต้อย พิเชษฐ์ ทาบุดดาและ จ.ส.อ.สมจิตร สุทธิพันธุ์

นั่นคือชะตากรรมช่วงหนึ่งปีหลังคำพิพากษาของพวกเขา 

ส่วนสี่คนที่ยังถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษหลักสี่นั้นแสนสาหัส (ศาลตัดสินจำคุก 33 ปี 12 เดือน) โดยเฉพาะกรณีสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ ที่สูญเสียแม่เมื่อเดือนกรกฎาคมและเมียของเขาก็ล้มป่วยลงเมื่อปลายเดือน(ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว) แต่ตอนนี้ น้ำท่วมเป็นปัญหาใหม่ที่ครอบครัวของเขาจะต้องเผชิญ

ขณะที่ปัทมา มูลมิลต้องเผชิญกับภาวะเครียด ทั้งเครียดที่ต้องเป็นนักโทษการเมืองหญิงเพียงคนเดียวที่เรือนจำพิเศษหลักสี่ และก็เครียดเรื่องสุขภาพของแม่เธอ แม่เธอเองก็ยืนกรานจะไม่ยอมไปรักษาจนกว่าลูกสาวจะได้รับอิสรภาพ 

สนอง เกตุสุวรรณ์ ธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ พวกเขาต่างก็ฝันว่า เขาจะได้รับความเป็นธรรมและได้รับอิสรภาพ แต่เราก็ทราบกันดีว่า ทีผ่านมา การยื่นขอประกันตัวถูกศาลปฏิเสธด้วยข้ออ้างเดิมๆว่า เป็นข้อหาร้ายแรง ปล่อยไม่ได้

มาที่รายงานของกองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลราชธานีเดือนสิงหาคมที่เพิ่งพ้นผ่าน มีดังนี้

มีเงินเข้าสองรายการคือ 500 บาท เมื่อวันที่ 3 กันยายน และ 1,000 บาท วันที่ 5 กันยายน

ขณะที่รายจ่ายเดือนนี้มี 11,000 บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันบาทถ้วน) โดยมอบให้ครอบครัวของผู้ต้องขังฯ 3 คนครอบครัวละ 2,000 บาท และครอบครัวของธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ 1,000 บาท(เพราะแม่ของเขาขอเบิกล่วงหน้าในครั้งก่อนไปสามพัน เราจึงขอหักจ่ายเดือนละ 1,000 บาท สามเดือน) รวม 7,000 บาท ส่วนที่เหลือโอนเข้าบัญชีของพ่อคำพลอย นะมี 2,000 บาท และแกนนำชาวบ้านที่สกลนคร 2,000 บาท 

เรามีเงินเหลือในบัญชีจำนวน 57,641.41 บาท (ห้าหมื่นเจ็ดพันหกร้อยสี่สิบเอ็ดบาทสี่สิบเอ็ดสตางค์) 

เรากำลังหาทางระดมเงินเข้ากองทุน อาจจะต้องขายเสื้อ อาจจะต้องขายเสียง อาจจะต้องช่วยกันคิดหาทางเพื่อให้การช่วยเหลือครอบครัวของพวกเขาดำเนินต่อไปจนกว่าพวกเขาจะได้รับอิสรภาพ

ประชาชนจงเจริญ


บันทึกโดย : ธีร์ อันมัย



อ่านรายงานเก่าได้ที่: http://tinyurl.com/8wvn6fz

หมายเหตุ: สามารถร่วมรณรงค์และช่วยเหลือพวกเขาโดยการซื้อเสิ้้อรณรงค์ได้ที่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=353632604725135&set=a.105373472884384.16270.100002351959767&type=1&theater

 

บล็อกของ Redfam Fund

Redfam Fund
10 เมษา สามปีต่อมา กับความพยายามฟื้นตัวของครอบครัวอดีตผู้ต้องขังดคีเผาศาลากลาง ท่ามกลางสภาพปัญหาและการช่วยเหลือของเพื่อนเสื้อแดง   และรายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือนักโทษการเมืองอุบลราชธานี ครั้งล่าสุด
Redfam Fund
จดหมาย ของ ต้า ธีรวัฒน์  จากเรือนจำพิเศษหลักสี่ ถึงเพื่อนหนึ่ง หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่เป็นเพื่อนกันแล้วกับเขาหลังจากการไปเยี่ยมเยือนกัน  และรายงานยอดจำหน่ายเสื้อยืดระดมทุนและเงินบริจากให้กับกลุ่มช่วยเหลือญาติผู้ต้องขังคดีนักโทษการเมือง จ.อุบลราชธานี (Fund for Red family) ในงานอภิปราย
Redfam Fund
รายงานความเคลื่อนไหวการช่วยเหลือญาติผู้ต้องขังคดีการเมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา 
Redfam Fund
จดหมายเฮฮาอารมณ์ดีจาก "ต้า - ธีรวัฒน์  สัจสุวรรณ" ถึง "เพื่อน  - หนึ่งและเพื่อนๆ"   กลุ่มนักศึกษาที่เคยไปเยี่ยมพวกเขาที่คุกเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา  
Redfam Fund
  จดหมายฉบับที่ 8 ของสมศักดิ์ ประสานทรัพย์  จากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ กรุงเทพฯ   และ  รายงานความคืบหน้าการติดตามช่วยเหลือกลุ่มญาติผู้ต้องขังคดีการเมือง จ.อุบลราชธานี     
Redfam Fund
อ.หวาน กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล และแนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง นัดเพื่อนๆ ไปให้กำลังใจเพื่อนผู้ต้องขังคดีการเมือง 3 เรือนจำ (ทัณฑสถานหญิง เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำพิเศษกรุงเทพ) เช้านี้