ต้องขอโทษท่านผู้อ่าน ที่ติดตามคอลัมน์กรองกระแส ICT ที่บทความสำหรับอาทิตย์นี้ต้องล่าช้าสักหน่อย เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ใคร่สบายเล็กน้อย ในช่วงวันเวลาที่จัดไว้สำหรับเขียนบทความ
ในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าพยายามชี้ให้ทุกท่านเห็น ปรากฏการณ์ที่ว่า ICT เป็นตัวแปรต้นที่สำคัญ ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย ให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งในบริบทของผลกระทบจากภายนอกองค์กร ในรูปแบบของ การทำให้สภาพแวดล้อมในการแข่งขันเปลี่ยนแปลง และในบริบทของผลกระทบที่เกิดภายในองค์กร ในลักษณะของการทำให้ รูปแบบการทำงานและแนวการบริหารทรัพยากรองค์กร ต้องเปลี่ยนไป
บทความในวันนี้ เป็นหัวข้อซึ่งสืบเนื่องจากสัปดาห์ก่อน หากแต่ข้าพเจ้ามุ่งเน้นไปที่ แนวโน้มความนิยมแนวคิด การว่าจ้างแรงงานภายนอก หรือการ Outsourcing ที่เพิ่มขึ้นขององค์กรต่างๆ เพื่อรับมือความกับความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลาย หากแต่ก่อให้เกิดผลกระทบ ทั้งในระดับองค์กรและในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสนใจ
สาเหตุหลักของความนิยมแนวคิด Outsourcing ขององค์กรต่างๆ มาจาก ความพยายามที่จะสร้างองค์กรของตน ให้สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างยืดหยุ่น รวมถึงให้มีความสามารถที่จำเป็นอย่างเพียงพอ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างเท่าทัน โดยมีความอยู่รอด เป็นเป้าหมายสูงสุด
วิถีการ Outsourcing สะท้อนภาพความพยายามลดขนาดองค์กรลง เพื่อลดต้นทุนด้านการจ้างแรงงานถาวรเพิ่มเติม และสะท้อนภาพความพยายามแก้ปัญหา การไม่สามารถพัฒนาบุคลากรภายในองค์ ให้สามารถปฏิบัติงานซึ่งต้องการองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ทันตามความต้องการ
หนึ่งในตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ความนิยมการ Outsourcing เพิ่มขึ้น คือสภาพความจำเป็นที่องค์กรต้องนำ ICT มาประยุกต์ใช้ ในการดำเนินการด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น
พร้อมกันนี้ การที่เทคโนโลยี ICT มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งเป็นผลผลักดันให้องค์กรต่างๆ มีแนวโน้มเลือกใช้การ Outsourcing เพิ่มขึ้น
เนื่องจาก การประยุกต์ใช้ ICT แต่ละประเภท ทำให้องค์กรมีความต้องการทรัพยากรบุคคล ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้อง กับเทคโนโลยีที่นำมาใช้
นั่นหมายความว่า ในทุกครั้งที่ประสงค์นำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ องค์กรจำเป็นต้องดำเนินการ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อจัดหาบุคคลที่มีความสามารถสอดคล้องกับเทคโนโลยี มาทำงานให้กับองค์กร
และเมื่อวิเคราะห์จากมุมมองความคุ้มค่าในการลงทุน องค์กรต่างๆมักมองว่า การว่าจ้างแรงงานระยะสั้นจากภายนอก ที่มีความสามารถตามต้องการ หรือการ Outsourcing มีความคุ้มค่ากว่า การพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายใน ให้มีความรู้และความสามารถ ในระดับที่องค์กรต้องการ เนื่องจากทางเลือกที่สอง มักถูกมองว่า เป็นทางเลือกที่ต้องใช้เวลาและใช้เงินลงทุน แต่ไม่อาจรับประกันความสำเร็จได้ว่า องค์กรจะได้บุคลากรที่มีความสามารถ ในระดับและได้ทันในเวลา ที่ต้องการ
การ Outsourcing อาจเป็นแนวทาง ที่ช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับความต้องการใช้งาน ICT ที่เพิ่มมากขึ้น และสามารถรับมือกับทางเทคโนโลยี ICT ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แต่การ Outsourcing จะเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆต่อไป หากแนวทางดังกล่าว มุ่งรับมือแค่เพียงอุปสรรคข้างต้น โดยไม่สนใจผลกระทบ ทั้งในระดับองค์กรและในระดับปัจเจกบุคคล อันเกิดจากการ Outsourcing
ผลกระทบในระดับองค์กรที่อาจเกิดขึ้น หากองค์กรใดขาดการวางแผนการ Outsourcing อย่างรอบคอบ ก็คือ ความเสี่ยงต่อการสูญเสีย ความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร
ความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร หมายถึง ความรู้ ความสามารถ วิถีปฏิบัติ แนวความคิด รวมทั้งวัฒนธรรมและจิตวิญญาณองค์กร ที่ทำให้องค์กรยังคงสามารถแข่งขันได้ในตลาด หรือทำให้องค์กรมีความได้เปรียบในการแข่งขัน
หากองค์กรทำการ Outsourcing การดำเนินงาน ที่ถือว่ามีความสำคัญ หรือมีคุณค่าต่อองค์กรออกไป องค์กรนั้นมีความเสี่ยงที่จะสูญเสีย ความรู้ ความสามารถ และวิถีปฏิบัติ ที่สำคัญและจำเป็นต่อการแข่งขันในตลาด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร
หากองค์กรใช้การ Outsourcing มากจนเกินไป อาจส่งผลให้ความเข้มแข็ง ของความสัมพันธ์ภายในองค์กรลดลง อันเนื่องจากสังคมการทำงานภายในองค์กร ถูกแทรกแทรงด้วยสังคมการทำงาน ของบุคลากรภายนอก ซึ่งอาจส่งผลให้องค์กร มีความเสี่ยงที่จะสูญเสีย วัฒนธรรมและจิตวิญญาณองค์กร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร
นอกจากนี้ หากมองในด้านความสัมพันธ์ ระหว่างองค์กรและบุคลากรภายใน การ Outsourcing มักทำให้ความสัมพันธ์นี้อ่อนแอลง อีกทั้งยังส่งผลให้พนักงานมีความรักองค์กรลดลงอีกด้วย ซึ่งความรักองค์กรนั้น ถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ทำให้องค์กรสามารถแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง
แนวโน้มการนำการ Outsourcing มาใช้ สะท้อนภาพที่ว่า องค์กรต่างๆให้ความสำคัญ กับการได้มาซึ่งแรงงาน ที่มีความสามารถตามที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการ ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญ กับผลประโยชน์ระยะสั้น มากกว่าการให้ความสำคัญกับบุคลากรภายใน โดยการพัฒนาบุคลากรภายใน ให้มีความรู้ความสามารถ ที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ในระยะยาว
อีกทั้งการ Outsourcing ยังก่อให้เกิดความเสี่ยง ในการสูญเสียบุคลากรผู้มีความสามารถสูง หรือที่เรียกว่า “ภาวะสมองไหล” อันเนื่องมาจากองค์กร มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับบุคลากรภายในลดลง
ในขณะที่การ Outsourcing ส่งผลกระทบในระดับองค์กร มันก็ส่งผลกระทบในระดับปัจเจกบุคคล ด้วยเช่นกัน
โดยผลกระทบในระดับปัจเจกบุคคล เกิดขึ้นในลักษณะของ ความไม่พร้อมของแต่ละปัจเจกบุคคล รวมทั้งความไม่พร้อมของกลไกทางสังคมต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปของความสัมพันธ์ ระหว่างพนักงานผู้ถูกจ้างและองค์กรผู้ว่าจ้าง และการเปลี่ยนแปลงไปของตลาดแรงงาน
ภาพที่เกิดขึ้น คือ บุคลากรภายในองค์กร มีแนวโน้มได้รับการพัฒนา ศักยภาพในการทำงานน้อยลง และเริ่มมีการปลดพนักงานมากขึ้น เนื่องจากองค์กรต่างๆมุ่งลดขนาดองค์กรลง อีกทั้งรูปแบบองค์กรต่างๆเริ่มเปลี่ยนเป็นลักษณะของ องค์กรมืออาชีพที่มีความสามารถเฉพาะมากขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่าง พนักงานผู้ถูกจ้างและองค์กรผู้ว่าจ้าง จะเปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นไปในลักษณะของความสัมพันธ์ระยะสั้นมากขึ้น นั้นคือ ผู้ว่าจ้างและผู้ถูกจ้าง จะทำงานร่วมกันเป็นรายโครงการ ตกลงร่วมงานกันโดยดูที่ ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับระดับความสามารถ ในการทำให้โครงการเกิดผลสัมฤทธิ์
ในปัจจุบัน ภาพเหล่านี้ถูกสะท้อนด้วย การเกิดขึ้นอย่างมากมายและการได้รับความนิยม ของบริษัทที่ปรึกษาหรือบริษัทรับเหมาทำงานเฉพาะด้าน (Professional Services Organisation) ในด้านต่างๆ
นั่นหมายความว่า แต่ละปัจเจกบุคคลผู้กำลังเล่นบท ผู้ถูกว่าจ้าง มีแนวโน้มที่จักต้องรับผิดชอบพัฒนา ศักยภาพในการทำงานด้วยตนเอง และต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ของรูปแบบและเงื่อนไขความสัมพันธ์ ระหว่างตนเองกับผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นความสัมพันธ์ระยะสั้นมากขึ้น
นอกจากนี้ หากมองจากมุมของตลาดแรงงาน จักต้องมีการนำกลไกใหม่ๆ เข้ามาใช้สนับสนุนการทำงานของตลาดแรงงาน เพื่อให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงข้างต้นได้
ตัวอย่างของกลไกดังกล่าว ได้แก่ กลไกการให้ความรู้ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว กับผู้กำลังเล่นบทผู้ถูกว่าจ้าง กลไกสนับสนุนผู้กำลังเล่นบทผู้ถูกว่าจ้าง ให้สามารถพัฒนาตนเอง อย่างเหมาะสมในสายอาชีพตน และกลไกอื่นๆ ที่สามารถช่วยรับมือกับ สถานการณ์ซึ่งผู้กำลังเล่นบทผู้ถูกว่าจ้าง ได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนไปของตลาดแรงงาน เป็นต้น
นอกจาก ICT จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ซึ่งมีผลโดยตรงกับปรากฏการณ์ทั้งหมดข้าง ความสามารถของมันยังเป็นตัวแปรสนับสนุน ซึ่งมีผลทางอ้อมกับปรากฏการณ์ดังกล่าวอีกด้วย
โดยความสามารถของ ICT ที่ทำให้โลกทั้งใบสื่อสารถึงกันได้อย่างง่ายดาย ภายในระยะเวลาอันน้อยนิด และด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอย่างมาก ทำให้องค์กรที่กำลังมองหาผู้เข้ามาดำเนินการ Outsourcing สามารถเข้าถึงตัวเลือกอย่างมากมาย อีกทั้งยังทำให้การประสานงาน ระหว่างผู้ต้องการและผู้รับการ Outsourcing ทำได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดนี้ ช่วยสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ มีแนวโน้มเลือกใช้การ Outsourcing มากขึ้น
ภาพทั้งหมด ที่ข้าพเจ้าได้สะท้อนผ่านบทความนี้ มีจุดประสงค์เพื่อผลักดันทุกท่าน ให้เริ่มสนใจกับสถานการณ์และผลกระทบ อันเกิดจากความนิยมในการ Outsourcing เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับ ICT เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ดังกล่าว ผ่านพื้นที่ของบทความนี้
อันที่จริง ยังมีตัวแปรอีกหลากหลาย นอกเหนือจากตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับ ICT ที่ทำให้ปรากฏการณ์การ Outsourcing ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หากบทความนี้จะมีประโยชน์ ข้าพเจ้าของให้มันเป็นแรงผลักดัน ให้ทุกท่านเริ่มตระหนัก และเริ่มศึกษา ผลกระทบของการปรากฏการณ์ Outsourcing ที่มีต่อตัวท่านมากขึ้น ไม่ว่าทั้งจากบริบทของตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับ ICT และจากบริบทอื่นๆ เพื่อให้ทุกท่านสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ได้อย่างเท่าทัน