Skip to main content

ณ ปัจจุบันนี้ สังคมไทยกับสังคมญี่ปุ่นก็ตกอยู่ในภาวะเดียวกัน ซึ่งก็คือ กระแสชาตินิยมที่เกิดจากปมด้อย โดยมีสิ่งที่เคยเป็นความเชื่อกันในสังคมมาเป็นเวลาอันยาวนานเริ่มถูกคุกคาม สำหรับประเทศญี่ปุ่น ความเชื่อที่ว่าประเทศของตนเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ส่วนประเทศไทยก็มองเคยมองว่าประเทศของตนเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาที่สุดในภูมิภาคแอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับระดับการศึกษาและผลการเรียนรู้อันตกต่ำ ทักษะภาษาอังกฤษที่ไม่น่าภูมิใจและการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่เคยเป็นเมืองขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไทยรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตัวยิ่งมากขึ้น สังคมที่อยู่ภาวะเช่นนี้นิยมบริโภคสื่อที่เอื้อต่อการรักษาศักดิ์ศรีในตัวเอง แต่รับสิ่งตรงกันข้ามไม่ได้ แม้แต่คนที่ให้คำวิจารณ์เพื่อแก้ไขปัญหาในสังคมก็ถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่รักชาติ 

ขอยกตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นก่อน 

ในฟุตบอลโลก 2014 ณ ประเทศบราซิล ทีมชาติญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จเพราะตกรอบแรกเก็บได้แค่หนึ่งแต้มจากสามนัด แต่กองเชียร์ญี่ปุ่นที่เก็บขยะในสนามหลังจากทีมชาติพ่ายแพ้ได้รับคำชมจากทั่วโลก การเก็บขยะในสนามหลังจากการแข่งขันฟุตบอลทุกนัดก็เป็นวัฒนธรรมของกองเชียร์ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นในระดับ J League หรือทีมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดี 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าวิตกกังวลคือ ท่าที่ของสื่อมวลชนญี่ปุ่นที่ยกประเด็นนี้ เพื่อสร้างภาพหลวงตาว่า นี่คือคนญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ยังมีพฤติกรรมไร้ความรับผิดชอบที่จะทิ้งขยะโดยไม่เลือกสถานที่ในสังคมญี่ปุ่นบางส่วนก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อมีวิกฤต การกระทำของคนญี่ปุ่นจะดีขึ้น ดังเช่นกรณีของแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011 แต่การยอมเสียสละเพื่อส่วนร่วมก็จะค่อยๆ ลดลงหลังจากสังคมหลุดพ้นจากวิกฤต ทำให้คนในสังคมก็ยังใช้ชีวิตแบบเห็นแก่ตัวเหมือนเดิม (ทั้งๆ ที่ยังมีประชาชนหลายๆ คนที่ประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติครั้งนั้นก็ตาม) 

วิธีรายงานลักษณะนี้ ซึ่งยกย่องชาติของตัวเองเริ่มจะมีมากขึ้น ในเมื่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเกาหลีใต้และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ โดยประเทศเกาหลีใต้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สามารถแข่งขันกับบริษัทญี่ปุ่น และประเทศจีนทดแทนญี่ปุ่นในตำแหน่งเศรษฐกิจอันดับที่สองของโลก ซึ่งเป็นพัฒนาการอันกระทบความมั่นใจของคนญี่ปุ่นที่ว่า “เราเป็นชาติที่พัฒนาที่สุดในแอเชีย” ในสมัยก่อน (ประมาณ 20 ปีที่แล้ว) ไม่มีใครตั้งคำถามเกี่ยวกับความโดดเด่นของญี่ปุ่นทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในระดับแอเชีย ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นที่มาของความมั่นใจในตัวเองสำหรับชาวญี่ปุ่น แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป คนญี่ปุ่นก็ไม่สามารถอาศัยสิ่งเหล่านี้สำหรับความมั่นใจในตัวอีกต่อไป ดูเหมือนว่า คนญี่ปุ่นเริ่มจะแสวงหาสิ่งที่ตัวเองยังเชื่อว่าเหลือกว่าชาติอื่น (โดยเฉพาะเกาหลีใต้และจีน) นั่นคือพฤติกรรมที่มีลักษณะ “ศิวิไลซ์” 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกระทำของคนญี่ปุ่นบางกลุ่มในบางกรณีมีความเป็นศิวิไลซ์จริงๆ (ที่เป็นข่าวดัง) แต่ยังมีการกระทำหลายๆ อย่างที่ขาดความเป็นศิวิไลซ์เช่นเดียวกัน ล่าสุด ชาวจีนบางคนที่มาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือน ก.ค. นี้ก็ตกใจกับพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นที่ไม่ตรงกับสิ่งที่มีรายงานข่าว นั่นคือ การกระทำของผู้ชมเทศกาลดอกไม้ไฟริมแม่น้ำซูมีดะ (隅田川花火大会) ซึ่งมีจำนวนเกือบหนึ่งล้านคน ผู้ชมเทศกาลดังกล่าวจำนวนไม่น้อยทิ้งขยะในสถานที่จัด ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ตรงกับ “การทำดี” ของกองเชียร์ญี่ปุ่นในประเทศบราซิล 

ความเป็นจริงที่ง่ายๆ คือ แม้ว่าคนญี่ปุ่นบางคนในบางกรณีจะมีพฤติกรรมอันศิวิไลซ์ก็ตาม ยังอาจจะเร็วเกินไปที่มองว่า สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีความเป็นศิวิไลซ์เต็มที แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ซึ่งกำลังสูญเสียความมั่นใจในตัวก็เอาแต่เสพข่าวที่รายงานการกระทำที่เป็นศิวิไลซ์ด้านเดียว และพยายามจะเชื่อว่า คนญี่ปุ่นเป็นชาติที่ยังศิวิไลซ์กว่าชาติอื่นๆ 

เมื่อมีมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการกระทำที่ดีที่น่ายกย่องจริงๆ และเรารู้สึกดีใจหรือภูมิใจกับการกรทะทำดังกล่าวก็ไม่ผิด แต่รายงานข่าวลักษณะนี้ไม่ควรจะใช้เพื่อสร้างความเชื่อที่ว่า “ชาติของกูเหนือกว่าชาติอื่น” โดยมองข้ามข่าวที่รายงานพฤติกรรมที่มีลักษณะตรงกันข้าม ในเมื่อสังคมตกอยู่ในภาวะเช่นนั้น ยิ่งทำให้การยอมรับความเห็นที่ต่างกันยากขึ้น 

การใช้โซเซียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊ก หรือ ตวิตเตอร์ ก็ไม่ค่อยเอื้อต่อการสร้างความเข้าใจกัน เนื่องจากการเลือกคนที่เป็นเพื่อนทางเฟสบุ๊ก หรือคนที่เราจะติดตามในตวิตเตอร์ มักจะเป็นคนที่มีแนวคิดเดียวกันหรือคล้ายกัน 

แนวโน้มเช่นนี้ก็ไม่อาจจะช่วยในการแก้ไขปัญหา เพราะ ถ้าเราอยู่ในภาวะวิกฤต สิ่งที่ทำให้เรายิ่งตกอยู่ในภาวะวิกฤตที่รุนแรงกว่าคือ ปิดตาของตัวเองและไม่มองปัญหา จุดอ่อนและข้อบกพร่องของตัวเอง ข่าวที่มีลักษณะแบบไพเราะเสนาะหูสำหรับคนที่ยึดถือชาตินิยมที่เกิดจากปมด้อยนั้นอาจจะทำให้เราสบายใจชั่วคราวเท่านั้น 

ความเป็นจริงมักจะไม่สวยงามเท่ากับสิ่งที่เราต้องการ แต่ตราบใดที่เราไม่เผชิญหน้ากับความจริง ไม่มีการพัฒนาใดๆ ไม่ว่าสำหรับตัวเราเองหรือสังคมของเราก็ตาม

บล็อกของ Shintaro Hara

Shintaro Hara
1. เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในเมื่อประเทศสยามยังอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณสิทธิราช ความเหมาะสมของกฎหมายฉบับนี้ในยุคนี้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นประเด็นที่ควรมีการถกเถียงกัน
Shintaro Hara
ณ ประเทศญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  มีคำศัพท์คำที่ใช้กันทั่วไปเพื่อด่าคนอื่น ซึ่งก็คือ “ฮีโคคูมิน” ซึ่งหมายถึง “คนที่ไม่ใช่ประชาชนของประเทศ” เมื่อคนใดคนหนึ่งวิจารณ์รัฐบาลที่กำลังนำประเทศไปสู่สงคราม คนนั้นจะถูกเรียกว่าเป็น ฮีโคคูมิน ทั้งๆ ที่คนนั้นอาจจะมองเห็นวินาศกรรมที่จะเกิดขึ้นจากภ
Shintaro Hara
ไม่มีภูมิภาคใดในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ (แต่ไม่เคยชิน) เกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก
Shintaro Hara
ประเทศญี่ปุ่นมีผลการเรียนของเด็กนักเรียน/นักศึกษาที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี แต่มันไม่ได้หมายความว่า ผลการเรียนนั้นเกิดขึ้นจากระบบการศึกษาที่ดี เพราะ “ผลการเรียน” กับ “ระบบการศึกษา” เป็นคนละประเด็นกัน ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาที่ดีจะสามารถสร้างผลการเรียนที่ดีก็ตาม จริงๆ
Shintaro Hara
มีหลายคนเคยถามผู้เขียนว่า ถ้าพวกกำนัน/