ประเทศญี่ปุ่นมีผลการเรียนของเด็กนักเรียน/นักศึกษาที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี แต่มันไม่ได้หมายความว่า ผลการเรียนนั้นเกิดขึ้นจากระบบการศึกษาที่ดี เพราะ “ผลการเรียน” กับ “ระบบการศึกษา” เป็นคนละประเด็นกัน ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาที่ดีจะสามารถสร้างผลการเรียนที่ดีก็ตาม จริงๆ แล้ว “ผลการเรียนที่ดี” อาจเกิดขึ้นจากระบบการศึกษาที่ไม่ดีก็ได้ ในสายตาของผม ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นไม่ใช่ระบบการศึกษาที่ดี แต่ระบบที่สามารถสร้างผลการเรียนที่ดีเท่านั้น
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นใช้ระบบการศึกษาซึ่งมีต้นแบบจากสหรัฐอเมริกา มันเป็นการศึกษาแบบ exam-oriented (ซึ่งมีระบบข้อสอบเป็นเป้าหมายหลัก) ฉะนั้นเป้าหมายของการศึกษาคือ สอนเด็กให้สอบผ่าน การเรียนการสอนก็มีัลักษณะ competitive (การแข่งขันมีความสำคัญ) หรือมีการแข่งขันสูงเพื่อได้คะแนนดีที่สุดในข้อสอบ
ประเทศญี่ปุนไม่ใช้ระบบข้อสอบระดับชาติเหมือน A-Net หรือ O-Net ข้อสอบที่สำคัญที่สุดก็คือสอบเข้ามหาวิทยาลัย (entrance examination) ซึ่งแต่ละคณะของแต่ละมหาวิทยาลัยจัดเตรียมข้อสอบเอง ฉะนั้น ถ้าจะสอบสองสามคณะจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ผู้สมัครต้องสอบตามจำนวนของคณะที่ตัวเองสมัคร ตัวอย่างเช่น เมื่อผมสอบเข้า Universiti Keio ผมส่งใบสมัครถึงสามคณะ ผมต้องเสียค่าสอบสำหรับสามครั้ง (ในสมัยนั้นคณะละ 35,000 เยน) และต้องสอบสามครั้ง (ติดแค่คณะเดียว) รวมทั้งหมด ผมสมัครสิบเอ็ดคณะจากมหาวิทยาลัยสี่แห่ง
ช่วงเวลาสำหรับสอบเข้าจะเริ่มตั้งแต่ต้นปีถึงต้นเดือนมีนา แต่ช่วงที่หนักที่สุดคือช่วงปลายเดือนกุมภา เพราะในช่วงนั้นมีคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยชื่อดังจะจัดสอบเข้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความกดดันทางจิตใจมากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตสำหรับนักเรียนทั่วประเทศ เพราะการที่เข้าคณะชื่อดังของมหาวิทยาลัยชื่อดัง เสมือนได้รับใบรับรองอาชีพที่ดีในอนาคต เช่น ในการสมัครงานบริษัท ฝ่ายบริษัทญี่ปุ่นไม่ค่อยสนใจว่า ผู้สมัครมีผลการเรียนที่ดีหรือไม่ (และญี่ปุ่นไม่มีระบบเกรดเฉลี่ย) แต่มักจะมองว่า ผู้สมัครจบมหาวิยาลัยไหน พูดง่ายๆ ก็คือ ชื่อของมหาวิทยาลัยเป็นตัวกำหนดเส้นทางชีวิตที่สำคัญตัวหนึ่งสำหรับคนญี่ปุ่น
ด้วยเหตุนี้เอง ในสมัยผมเรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษา ความคิดที่อยู่ในสมองตลอดและกดดันจิตใจก็คือ ผมจะสอบเข้าผ่านหรือเปล่า สถาพจิตใจเช่นนี้ ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถให้ความสนใจต่ออนาคตอันไกล ไม่ค่อยคิดว่า ตัวเองอยากมีอาชีพอะไรหรืออยากมีบทบาทอย่างไรในสังคม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ตัวเองจะสามารถเข้าเรียนในคณะอะไรของมหาวิทยาลัยไหน
สภาพสังคมที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อชื่อขงมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนก็บังคับให้ลูกเรียนหนังสืออย่างจริงจัง แต่เนื่้องจากว่าความฝันของพ่อแม่ก็คืออยากเห็นลูกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง การบังคับเรียนของพ่อแม่ก็เพื่อติดสอบเข้าเป็นหลัก ไม่ใช่บังคับให้ลูกเรียนรู้เพื่อมีความคิดสร้างสรรค์ (creativity) หรือความคิดแบบ critical thinking ผู้ปกครองหลายท่านเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์หหรือความคิดแบบ critical thinking ก็ไม่มีความหมาย ถ้าลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด
การแข่งขันสำหรับสอบเข้าไม่ใช่อยู่ในระดับมหาวิทยาลัยเ่ท่านั้น เนื่องจากว่าการเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมปลาย (ซึ่งไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ) ที่ดีนั้นคือ “ทางลัด” สำหรับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง ในระดับนี้ก็มีการแข่งขันด้วย ถึงแม้ว่ามีความสำคัญยังน้อยกว่าระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม
ผมได้เขียนไว้ข้างบนว่า ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นไม่ใช่ระบบที่ดี เพราะมันให้ความสำคัญกับ “ข้อสอบ” มากเกินไป โดยวัดผลสำเร็จของนักเรียนจากคะแนนข้อสอบเท่านั้น สิ่งที่ไม่ได้รับการประเมินเป็นคะแนนก็ไม่ได้รับความสำคัญในระบบการศึกษา รวมไปถึงพรสวรรค์ในศิลปะ ภาวะผู้นำ มนุษย์สัมพันธ์ ความกล้าแสดงออก ฯลฯ
ไม่ใช่แค่นั้น แต่เด็กนักเรียนในประเทศญี่ปุ่นก็จำเป็นต้องใช้เวลายาวนานกับกวดวิชา เพราะการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ค่อยดี ตั้งแต่โรงเรียนประถมถึงโรงเรียนมัธยมปลาย ผมเรียนในโรงเรียนของรัฐในกรุงโตเกียวทั้งนั้น อาจารย์ที่สอนเก่งมีไม่กี่คน โดยเฉพาะวิชาที่สำคัญในสอบเข้า เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมวิทยา เกือบไม่มีครูที่ดีเลย เพราะครูที่ดีส่วนใหญ่ทำงานในโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนกวดวิชา (ซึ่งมีเงินเดือนสูงกว่าหลายเท่า) ดังนั้น เพื่อเด็กนักเีรียนติดสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็ต้องไปเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาด้วย ผมไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาในสมัยมัธยมปลาย ฉะนั้นเมื่อจะจบมัธยมศึกษา ผมสอบเข้าแล้วก็ไม่ติดมหาวิทยาลัยที่ผมต้องการเข้าเรียน (พูดง่ายๆ ก็คือ เรียนไม่เก่ง) สำหรับนักเรียนที่เรียนไม่เก่งเหมือนผม แต่อยากเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ทางเลือกก็คือเป็น “โรนิน”
คำว่า “โรนิน” มาจากประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึง ซามูไรที่ไม่มีต้นสังกัด (ไม่มีเจ้านาย) แต่ในโลกปัจจุบัน คำนี้หมายถึง คนที่จบมัธยมศึกษา แต่ยังเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ฉะนั้นใช้เวลาสำหรับการเรียนอย่างเต็มทีเหมือนนักเรียน ส่วนใหญ่ในโรงเรียนกวดวิชา
ผมก็กลายเป็นโรนินในสมัยปัจจุบันเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจริงๆ ได้ แต่บางคนต้องใช้เวลาสองปีหรือสามปี ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มีความกดดันทางจิตใจมากกว่าอีก เพราะตัวเองรู้สึกว่า คุณค่าของตัวเองในฐานะเป็นนักเรียนถูกปฏิเสธโดยสังคม เพื่อนร่วมห้องบางคนก็ได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ โดยไม่ต้องเสียเวลา แต่ตัวเองสอบไม่ติด สังคมก็มักจะมองว่า พวกโรนินเป็นพวกนักเรียนที่ไม่ (ค่อย) มีคุณภาพเท่าไร เพราะถ้ามีคุณภาพจริงๆ ก็คงจะติดสอบเข้าอย่างแน่นอน สังคมก็มักจะมองว่า โรนินเป็นพวกที่เกาะกินอยู่ในสังคมโดยไม่ได้สร้างอะไร
ชีวิตในโรงเรียนวิชากวดก็ไม่เหมือนกับโรงเรียนในระบบ เพราะโรงเรียนวิชากวดมีแต่การเรียนอย่างเดียว ไม่มีกิจกรรมนอกหลักสูตรใดๆ แต่สิ่งที่ดีก็คือ อาจารย์หลายๆ คนในโรงเรียนกวดวิชาเป็นอาจารย์ที่มีฝีมืออาชีพในการสอน โดยส่วนตัวแล้ว ผมได้เรียนเนื้อหาของวิชาสำคัญในโรงเรียนกวดวิชาเป็นส่วนใหญ่ ตรงกันข้าม สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากโรงเรียนผ่านระบบการศึกษามีน้อยมาก ถึงแม้ว่ามีครูหรืออาจารย์ที่ดีซึ่งมีน้ำใจครูและมืออาชีพในโรงเรียน แต่เท่าที่ผมจำได้ก็ไม่กี่คน สิ่งที่ผมได้จากโรงเรียนและมีคุณค่ามาที่สุดคือมิตรสหาย ไม่ใช่ความรู้
ด้วยเหตุนี้เอง อาจกล่าวได้ว่า ผลการเรียนของผม ไม่ได้เกิดจากระบบการศึกษาของญี่ปุ่น แต่เกิดจากความกดดันที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขันและผลการสอบอย่างเดียว ผมยังจำได้ว่า ผมแทบจะไม่มีความสุขกับการเรียนในโรงเรียน เพราะสิ่งที่ต้องเรียนก็ล้วนแ่ต่ถูกกำหนดโดยกระทรวง ทั้งครูทั้งนักเรียนไม่มีโอกาสที่จะใช้ความคิดสร้างสรร ผมรู้สึกอึกอัดมากกับสถานการณ์เช่นนี้ เพราะแนวความคิดก็ถูกกำหนดด้วย
สิ่งที่ทำให้มีความสุขคือการเล่นกันเพื่อนและกิจกรรม (ผมเข้าร่วมชมรมโอเก็สตรา) สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง
ดังนั้น เมื่อผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ผมก็มีความสุขมากขึ้น เพราะอย่างน้อยผมสามารถเลือกวิชาเอกที่ต้องการเรียน อีกอย่าง ในคณะที่ผมเรียน ไม่มีวิชาบังคับนอกจากสองสามวิชา นอกเหนือจากนั้น นักศึกษาแค่ต้องเก็บจำนวนหน่วยกิจที่ถูกกำหนดเท่านั้น
ระบบการศึกษาในระดับโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นเป็นระบบที่อาศัยการแข่งขันเพื่อสร้างความกดดังสูง ในการแข่งขันย่อมมีผู้ชนะและผู้แพ้ แต่คำถามก็คือ เป้าหมายของการศึกษาคือการสร้างผู้ชนะและผู้แพ้หรือเปล่า
ระบบการศึกษาเช่นนี้มีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งไม่มีลักษณะการแข่งขัน เพราะไม่มีระบบข้อสอบภาคบังคับ แต่เน้นที่ความเข้าใจของนักเรียน นอกจากนี้ บรรดาครูก็พยายามจะให้นักเรียนแต่ละคนสามารถคิด ไม่ใช่แค่ป้อนเนื้อหาจนถึงนักเรียนคิดไม่เป็น เพื่อรักษาคุณภาพของการศึกษา คุณครูได้รับเงินเดือนระดับเท่ากับแพทย์
ประเทศไทย เช่นเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น เอาแบบอย่างการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก แต่เนื่องจากคนไทยไม่ค่อยถนัดในการแข่งขันด้านการศึกษา จึงทำให้ผลการเรียนของนักเรียนนักศึกษาก็ตกต่ำอย่างเดียว ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า เด็กนักเรียนไทยส่วนใหญ่สามารถ “ทน” ความกดดันที่เกิดจากระบบการศึกษาแบบญี่ปุ่นได้หรือไม่
ผมเห็นว่า จุดแข็งของคนไทยมักจะอยู่ที่ความคิดสร้างสรร (creativity) เพื่อส่งเสริมจุดแข็งดังกล่าว น่าจะหาแบบอย่างที่เหมาะสมสำหรับประเทศนี้นอกจากระบบการศึกษาของสหรัฐหรือญี่ปุ่น แน่นอนว่า สิ่งที่ดีจากระบบการศึกษาเหล่านี้ก็สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ แต่นักการศึกษาไม่ควรมองข้ามจุดอ่อน ข้อเสียและผลกระทบของระบบเหล่านี้ด้วย
เป้าหมายของการศึกษาอยู่ที่การพัฒนาพรสวรรค์ของเด็ก พรสวรรค์ของเด็กแต่ละคนจะไม่เหมือน และต้องได้รับการดูแลอย่างดี แต่ในระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขัน พรสวรรค์หลายๆ ด้านก็ถูกมองข้าม ในสุดท้ายก็ไม่สามารถสร้างนักเรียนนักศึกษาที่มีความสามารถในการคิด
อีกอย่าง แต่ถ้าหากว่าอยากใช้การศึกษาเพื่อปลูกฝังลัทธิชาตินิยมโดยป้อนเนื้อหาแต่ไม่ให้โอกาสที่จะคิดสำหรับนักเรียนนักศึกษา คุณภาพการศึกษาก็ต้องอยู่กับที่ตลอดไป