Skip to main content

การบังคับให้เด็กนักเรียนใส่ชุดทหารในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นการสร้างวินัยนั้น ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ จากสังคม โดยมีทั้งคนที่ชื่นชมการบังคับดังกล่าวและคนที่กล่าวคำวิจารณ์ด้วย ปฏิกิริยาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ในสังคมไทยมีความเข้าใจที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “วินัย”

สำหรับบรรดาครูโรงเรียนที่บังคับให้เด็กอนุบาลใส่ชุดทหารนั้นและคนที่ชื่นชมการบังคับดังกล่าน่าจะมองว่า วินัยคือ “การที่สามารถบังคับให้คนจำนวนมากกระทำสิ่งเดียวกันในเวลาเดียวกันอย่างมีเอกภาพ” ถ้าเราใช้คำจำกัดความนี้เป็นหลัก ประเทศที่มีวินัยมากที่สุดก็คือประเทศเกาหลีเหนือ ดังเช่นประเทศดังกล่าวสาธิต “วินัย” ประเทศของตนในพิธีการสวนสนามในวันสำคัญของประเทศ (ชมคลิปได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=22ufY3GpTak)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบังคับเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า วินัย แต่คำจำกัดความนี้ไม่ได้เป็นความหมายหลัก หรือ ความหมายทั้งหมดของคำนี้ เนื่องจากว่า “วินัย” แบบเกาหลีเหนือจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะวินัยที่สาธิตในพิธีการสวนสนามไม่ได้เกิดจากจิตสำนึกของผู้ที่เข้าร่วม ตรงกันข้าม บรรดาผู้เข้าร่วมถูกบังคับโดยรัฐเพื่อให้เข้าร่วมพิธีการ พร้อมกับการฝึกซ้อมเป็นหลาย ๆ เดือนเพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาดใด ๆ ในวันงาน เพราะหากมีข้อผิดพลาดในงานจะได้รับบทลงโทษอย่างหนักซึ่งส่งผลกระทบของชีวิตในสังคมภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จ

อีกนัยหนึ่ง วินัยของคนเกาหลีคือ วินัยที่เกิดจากการบังคับโดยอาศัยอำนาจและความรู้สึกกลัวอย่างแรงที่อยู่ในจิตใจของประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเกาหลีเหนือมีจิตสำนึกพอที่จะปฏิบัติตัวอย่างมีวินัย เมื่อไม่มีโครงสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จดังกล่าวอีกแล้ว

ผมมาถึงข้อสรุปนี้หลังจากสังเกตพฤติกรรมของประชาชนประเทศจีน ซึ่งปฏิบัติตัวอย่างมีวินัยเมื่อยังมีโครงสร้างอำนาจที่เข้มแข็งในสมัยที่ยังมีระบอบคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ (รวมถึงระบบเศรษฐกิจด้วย) แต่พฤติกรรมของชาวจีนก็เปลี่ยนไปหลังจากประเทศดังกล่าวนำระบบเศรษฐกิจตลาดแบบเสรีนิยม (แม้ว่าในด้านการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์ยังผูกขาดอำนาจก็ตาม) และกลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แสดงพฤติกรรมไม่น่าชื่นชมที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลกปัจจุบัน เพราะคนจีนเคยมีวินัยที่เกิดจากการบังคับและความหวาดกลัวเท่านั้น แต่ (ยัง) ไม่สามารถพิจารณาว่า ตัวเองควรทำตัวอย่างไร หรือพฤติกรรมของตนมีความเหมาะสมหรือไม่ในสถานที่ต่าง ๆ เมื่อพวกเขาหลุดพ้นจากโครงสร้างอำนาจดังกล่าว อย่างเช่นเมื่อพวกเขาอยู่ต่างประเทศ

วินัยที่อาศัยโครงสร้างอำนาจลักษณะนี้จำเป็นในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศอยู่ในสภาวะสงคราม เนื่องจากว่า ในสภาวะสงคราม การแสดงความคิดเห็นหลากหลายมักจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินสงคราม นี่คือสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลเกาหลีเหนือภายใต้การนำของตระกูลคิมต้องโฆษณาชวนเชื่อตลอดว่า ประเทศตะวันตก (โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา) และภาคีของประเทศนี้ (เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ) พยายามจะบุกโจมตีประเทศเกาหลีเหนือ พูดง่าย ๆ ก็คือ รัฐบาลเกาหลีเหนือจำเป็นต้องให้ประชาชนเชื่อตลอดว่า ประเทศของตนล้อมรอบด้วยศัตรูอันเลวร้ายหลาย ๆ ประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะปกติ วินัยอันแท้จริงต้องมาจากจิตสำนึก ซึ่งไม่สามารถปลูกฝังได้จากการบังคับโดยอาศัยโครงสร้างอำนาจเพียงอย่างเดียว ผู้ที่ชื่นชมการบังคับของโรงเรียนอนุบาลที่ให้เด็กนักเรียนใส่ชุดทหารก็มาจากผู้สนับสนุนโครงสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่คำถามก็คือ เด็กที่ถูกบังคับใส่ชุดทหารจะมี “วินัย” อันแท้จริง ที่สามารถตัดสินใจเองว่า ตัวเองควรปฏิบัติตัวอย่างไร หรือพวกเขาสามารถพิจารณาความเหมาะสมในพฤติกรรมของตนได้หรือไม่ ผมเชื่อว่า การถูกบังคับสามารถสร้างวินัยแบบผิวพื้นเท่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขภายนอก (เช่น โครงสร้างอำนาจ สายตาของผู้บัญชาการหรือครู การลงโทษอย่างแรง ฯลฯ) แต่เมื่อไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว “วินัย” ที่ถูกบังคับก็จะสลายตัว

สังคมที่ถูกมองว่าเป็นสังคมที่มีวินัย เช่น สังคมในยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ ไม่ได้อาศัยโครงสร้างอำนาจอย่างเดียวในการสร้างวินัย (ส่วนประเทศบางประเทศที่ถูกมองว่ามีวินัยในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ยังมีส่วนที่อาศัยโครงสร้างอำนาจในการสร้างวินัยไม่มากก็น้อย) ตรงกันข้าม วินัยของสังคมเหล่านี้เกิดจากการหัดพิจารณาญาณตังแต่สมัยเด็ก โดยให้เด็กพิจารณาเองว่า พฤติกรรมของตนถูกต้องหรือไม่ และถ้าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เพราะสาเหตุใด อีกนัยหนึ่ง สังคมเหล่านี้สร้างวินัยโดยสร้างจิตสำนึกซึ่งมีพิจารณาญาณเป็นพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าคนที่มาจากสังคมเหล่านี้ ถ้าอยู่ในสภาพที่หลุดพ้นจากเงื่อนไขต่าง ๆ ก็ยังสามารถปฏิบัติตัวอย่างมีวินัยได้ เพราะวินัยของคนเหล่านี้อยู่ในจิตสำนึก ไม่ได้เกิดจากการบังคับใด ๆ

สุดท้ายนี้ ขอฝากถึงบรรดานักการศึกษา ครูบาอาจารย์ และผู้ที่มีบทบาทในการศึกษา ให้ควรพิจารณาว่า พวกเราอยากจะสร้างวินัยลักษณะไหน

 

 

บล็อกของ Shintaro Hara

Shintaro Hara
1. เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในเมื่อประเทศสยามยังอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณสิทธิราช ความเหมาะสมของกฎหมายฉบับนี้ในยุคนี้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นประเด็นที่ควรมีการถกเถียงกัน
Shintaro Hara
ณ ประเทศญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  มีคำศัพท์คำที่ใช้กันทั่วไปเพื่อด่าคนอื่น ซึ่งก็คือ “ฮีโคคูมิน” ซึ่งหมายถึง “คนที่ไม่ใช่ประชาชนของประเทศ” เมื่อคนใดคนหนึ่งวิจารณ์รัฐบาลที่กำลังนำประเทศไปสู่สงคราม คนนั้นจะถูกเรียกว่าเป็น ฮีโคคูมิน ทั้งๆ ที่คนนั้นอาจจะมองเห็นวินาศกรรมที่จะเกิดขึ้นจากภ
Shintaro Hara
ไม่มีภูมิภาคใดในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ (แต่ไม่เคยชิน) เกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก
Shintaro Hara
ประเทศญี่ปุ่นมีผลการเรียนของเด็กนักเรียน/นักศึกษาที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี แต่มันไม่ได้หมายความว่า ผลการเรียนนั้นเกิดขึ้นจากระบบการศึกษาที่ดี เพราะ “ผลการเรียน” กับ “ระบบการศึกษา” เป็นคนละประเด็นกัน ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาที่ดีจะสามารถสร้างผลการเรียนที่ดีก็ตาม จริงๆ
Shintaro Hara
มีหลายคนเคยถามผู้เขียนว่า ถ้าพวกกำนัน/