Skip to main content

แม้ว่าการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นที่นิยมในประเทศหลาย ๆ ประเทศ และ “โดเรม่อน” ถือว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียก็ตาม การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจจากชาวอเมริกัน เนื่องจากเรื่องมีไม่มีตัวละคนที่เป็นฮีโร่ที่มีบุคลิกภาพที่น่าชื่นชม กล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาอันยิ่งใหญ่ และสามารถแก้ไขปัญหานั้นโดยอาศัยความพยายามและจิตใจนักต่อสู้ที่ไม่รู้จักการยอมแพ้ ในสุดท้าย ฮีโรเหล่านี้ก็ต่อสู้กับความชั่ว (และแน่นอนว่า เขาจะประสบความชัยชนะ) และนำการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีที่ทำให้ทุกคนมีความสุข ตัวละครหลักในหนังฮอลลีวูดส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะเช่นนี้ และในฉากสุดท้าย ทุกคนก็ได้สัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกซึ่งเป็นผลงานของฮีโร่ในเรื่องนั้น  

ตรงกันข้าม ในเรื่อง “โดเรม่อน” ผู้ที่ประสบปัญหาชื่อโนบีตะ มีนิสัยเกียจคร้าน ไม่เคยคิดจะพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญหน้า แต่การแก้ไขปัญหาก็มาจากการวิงวอนแบบไร้ศักดิ์ศรี และได้รับความช่วยเหลือจาก “เครื่องมือ” หรือ “อุปกรณ์” วิเศษซึ่งอำนวยความสามารถพิเศษชั่วคราวให้แก่ผู้ที่อ่อนแอ แม้ว่าปัญหาของผู้ที่อ่อนแอได้รับการแก้ไขเฉพาะหน้าในทำนองผักชีโรยหน้าก็ตาม แต่ในสุดท้ายความผิดพลาดในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ก็เกิดขึ้น และกลายเป็นเรื่องตลก (และปกติแต่ละตอนของเรื่องก็จบลงในตรงนี้) อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือเหล่านี้ก็ไม่เคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกที่ผู้อ่อนแออาศัยอยู่ ปัญหานั้นก็คือ โครงสร้างอำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบุคคลในโลกแห่งโดเรม่อน

ความสามารถสุดวิเศษของโดเรม่อนในการเตรียมอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการของโนบีตะนั้นแสดงให้เห็นว่า โนบีตะไม่สามารถเผชิญหน้ากับพลังของอีกฝ่ายหนึ่งที่กดขี่เขาโดยลำพัง โนบีตะก็ถือว่าเป็นผู้อ่อนแอตัวจริงในโลกแห่งเด็ก สืบเนื่องจากเขาขาดเกือบทุกอย่างที่อำนวยอำนาจให้แก่เด็ก โนบีตะเรียนไม่เก่ง (ได้คะแนน 0  ในข้อสอบตลอด) ร่างกายไม่แข็งแรงและเล่นกีฬาไม่เป็น ฐานะการเงินครอบครัวไม่ดี ไม่มีความกล้า ฯลฯ แต่อำนาจของอีกฝ่ายหนึ่งมาจากสิ่งที่ตัวโนบีตะเองไม่มีทางที่จะสู้ได้ นั่นคือ พลังวิเศษของไจแอนท์เหนือธรรมชาติรวมกับอำนาจแห่งความร่ำรวยของซูเนโอะซึ่งมาจากบิดาของเขาที่เป็นมหาเศรษฐี สิ่งเหล่านี้อยู่ในนอกการควบคุมของโนบีตะและกลายเป็นโครงสร้างที่กดขี่โนบีตะตลอดเวลา ในอีกแง่หนึ่ง โดเรม่อนจำเป็นต้องมีความวิเศษส่วนตัวดังกล่าวเพื่อให้พลังของโนบีตะ (เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากความวิเศษของเครื่องมือ) สามารถสมดุลกับอำนาจอันยิ่งใหญ่ของอีกฝ่ายหนึ่ง (ภาคีระหว่างไจแอนท์และซูเนโอะ หรือการรวมตัวระหว่างอำนาจที่เกิดจากความรุนแรงและอำนาจของเม็ดเงิน)

ตัวละครจอมพลังชื่อไจแอนท์มีร่างกายที่สมบูรณ์และแข็งแรงกว่าทุกคน เขาไม่เคยลังเลที่จะใช้ความรุ่นแรง (และการขู่ที่อาศัยความรุนแรง) เพื่อบรรลุเป้าหมายส่วนตัว โนบีตะมักจะเป็นเป้าหมายการใช้ความรุนแรงโดยไจแอนท์ตลอด ไจแอนท์ ไม่เคยรู้สึกว่า เขาได้กดขี่สหายของเขาชื่อโนบีตะ แต่ไจแอนท์น่าจะคิดว่า การใช้ความรุนแรงต่อเพื่อนของเขาเป็นเรื่องปกติ ไจแอนท์ก็จะรู้สึกมิตรภาพกับโนบีตะในเมื่อพฤติกรรมของโนบีตะสอดคล้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น แต่ในเวลาอื่น ๆ ไจแอนท์ก็มักจะมองว่า โนบีตะเป็นบุคคลหนึ่งที่เขาสามารถใช้ความรุนแรงอย่างอิสระ ถ้าโนบีตะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไจแอนท์ เขาก็เรียกโนบีตะเป็นสหายทางวิญญาณ แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ โนบีตะไม่เคยใช้คำนี้เพื่ออธิบายว่า ไจแอนท์เป็นใคร ผู้กดขี่มักจะใช้ชื่อเรียกดี ๆ สำหรับคนหรือกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของการกดขี่ แต่ผู้ที่ถูกกดขี่ไม่เคยมองผู้กดขี่ในทางที่ดี เพราะผู้ที่ถูกกดขี่ต้องยอมรับพฤติกกรมของผู้กดขี่ตลอด

ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครสองบุคคลเหล่านี้ (โนบีตะกับไจแอนท์) มีลักษณะเสมือนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ละเมิดสิทธิกับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งผู้ละเมิดสิทธิไม่เคยรู้สึกว่า เขาได้ละเมิดสิทธิของคนอื่น แต่มักจะคิดว่า นี่คือเรืองปกติ เพราะผู้ละเมิดสิทธิไม่สามารถมองโลกจากสายตาของผู้ถูกละเมิดสิทธิได้ แต่มองโลกตามความเห็นแก่ตัวโดยอาศัยโครงสร้างอำนาจที่มักจะมาจากการใช้ความรุนแรงหรือการกดขี่ (หรือทั้งสองอย่า)ง นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขละเมิดสิทธิไม่เคยมาจากผู้มีอำนาจหรือผู้กดขี่ มันเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เท่ากับการที่ว่า อยู่ดี ๆ ไจแอนท์จะกลายเป็นผู้ปกป้องโนบีตะอย่างบริสุทธิ์ใจ (แม้ว่าเขาเคยปกป้องโนบีตะเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวก็ตาม)  

ตัวละครอีกคนหนึ่งที่สำคัญในเรื่องโดเร่มอนก็คือ ซูเนโอะ ถ้าดูจากความสามารถส่วนตัว เขาอาจจะด้อยกว่าโนบีตะก็ได้ แต่เนื่องจากเขาเป็นลูกของมหาเศรษฐี เขาจึงสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดจากการใช้ความรุนแรงของไจแอนท์ได้ ซูเนโอะเองก็รู้จักวิธีการใช้ของเล่นราคาแพงต่าง ๆ เป็นประโยชน์เพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ ครอบครัวของไจแอนท์เองก็มีสถานะการเงินที่ไม่ค่อยดีเท่าไร (น่าจะพอ ๆ กับครอบครัว “โนบิ” ของโนบีตะ) ก็เลยไจแอนท์ก็ขาดอำนาจซื้อของเล่นราคาแพง แต่เขาได้รับความพอใจจากการที่สามารถเล่นของเล่นของซูเนโอะตามใจชอบได้ ถ้าซูเนโอะโดนไจแอนท์ยึดของเล่นราคาแพง ซูเนโอะก็ไม่จำเป็นต้องคัดค้านไจแอนท์ถึงที่สุด (แม้ว่าเขามักจะขอคืนอย่างดี ๆ ก็ตาม) เพราะในท้ายสุด ซูเนโอะก็ยังสามารถ “ซื้อใหม่” ได้ แต่เมื่อสิ่งเดียวกันเกิดขึ้นกับโนบีตะที่ซื้อของเล่นจากเงินเก็บส่วนตัว โนบีตะก็จะคัดค้านการกระทำของไจแอนท์ถึงที่สุดด้วยการโวยวายมาก จนถึงในสุดท้ายไจแอนท์จะเสียอารมณ์และใช้ความรุนแรงต่อโนบีตะ (ผู้เรียกร้องสิทธิ)    

เมื่อปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขของโนบีตะก็มีแค่ทางเดียว คือวิงวอนความช่วยเหลือจากโดเรม่อน แต่เราไม่ควรลืมว่า สิ่งที่ทำให้ปัญหาในโลกแห่งโดเรม่อนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังก็คือ การที่โดเรม่อนให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าต่อโนบีตะโดยปล่อยให้โนบีตะใช้เครื่องมือวิเศษนั้น เครื่องมือวิเศษต่าง ๆ ที่มาจากกระเป๋าของโดเรม่อนมีลักษณะเดียวกัน คือ สิ่งเหล่านี้แค่เป็นเครื่องมือที่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเดียวแบบผักชีโรยหน้า แต่ไม่เคยนำไปสู่การแก้ไขรากเหง้าของปัญหา อย่างไรก็ตาม การที่เครื่องมือเหล่านี้ได้ผลเฉพาะหน้านี่เองที่จะทำให้โนบีตะเชื่อว่า โดเรม่อนสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง โครงสร้างอำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเขากับเพื่อน ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ในบริบทนี้ โดเรม่อนก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโครงสร้างอำนาจ โดยทำให้ผู้อ่อนแอเชื่อว่า มีแนวทางหรือกลไกสำหรับแก้ไขปัญหาสำหรับเขาตลอด (ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอันแท้จริง) นี่คือจิตสำนึกปลอม (false awareness) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการใช้อำนาจครอบงำ (hegemony) ที่ทำให้ผู้อ่อนแอเชื่อว่า โลกเป็นแบบนี้  และยอมรับโลกที่เป็นแบบนี้แล้ว โดยไม่เคยนึกว่าจะลุกขึ้นเพื่อต่อสู้ ถ้าถามว่า ทำไมโนบีตะไม่เคยคิดว่าจะลุกขึ้นต่อสู้และเรียกร้องสิทธิของตน ก็เพราะความคิดของเขาถูกครอบงำโดยจิตสำนึกปลอมที่กล่าวมาข้างบน

บรรดาผู้ใหญ่ที่ปรากฏในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ของโนบีตะ ครูประจำชั้นของโรงเรียน ฯลฯ ก็มีแนวโน้มที่จะให้คำสั่งโดยอาศัยอำนาจของผู้ใหญ่ (หรือความเป็นผู้ใหญ่) อย่างเดียว โดยไม่เคยซักถามปัญหาหรือแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้ที่อ่อนแอหรือเหยื่อของการใช้ความรุนแรง ดังนั้นคนเหล่านี้ก็ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือสำหรับปัญหาที่เด็กชายโนบีตะกำลังเผชิญหน้าอยู่ เพราะคนเหล่านี้ก็แค่พยายามจะบังคับให้โนบีตะทำบางอย่าง (ประเภทคำสั่งที่ใช้มากที่สุดมีความเกี่ยวข้องกับการเรียน เช่น จงเรียน จงทำการบ้าน ฯลฯ) โดยเชื่อมั่นว่า เด็กที่เรียนไม่เก่งต้องเรียนเท่านั้น แต่ไม่เคยนึกว่า เด็กที่เรียนไม่เก่งอาจจะมีปัญหาอื่น ๆ ที่กลายเป็นอุปสรรคในการเรียน ในเมื่อมีเพื่อนรวมห้องที่ใช้ความรุนแรงต่อตน เด็กก็คงจะขาดสมาธิในการเรียน เพราะจิตใจของเขาถูกรบกวนกับความกลัว แต่โนบีตะไม่เคยได้รับคำปรึกษาจากบรรดาผู้ใหญ่ที่มองปัญหาด้านเดียว

หนึ่งในวิธีการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาการกดขี่เชิงโครงสร้างในสังคมคือการส่งเสริมศักยภาพของผู้ที่เป็นเหยื่อ เพราะเหยื่อของการกดขี่ที่เกิดจากการใช้อำนาจผิดเชิงโครงสร้างมักจะเชื่อว่า โลกเป็นแบบนี้อยู่แล้ว และเราต้องยอมจำนนต่อชะตากรรมแบบนี้ ด้วยเหตุนี้ จุดเริ่มต้นในการส่งเสริมศักยภาพก็คือ การที่ให้เหยื่อตระหนักว่า สถานการณ์ปัจจุบัน (ที่ตัวเองเป็นเหยื่อ) ไม่ได้เกิดจากชะตากรรม แต่เกิดจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ต่อจากนั้นก็จะเป็นการให้ความรู้และการสร้างทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น แต่เครื่องมือวิเศษจากกระเป๋าของโดเรม่อนทำให้ผู้ที่เป็นเหยื่ออยู่ในฐานะของเหยื่อตลอดไป เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากเครื่องมือเหล่านี้ทำให้เหยื่ออยู่ในมโนคติตลอดว่า ปัญหาทุกปัญหามีทางออก แต่จริง ๆ แล้ว โนบีตะไม่เคยมองไกลออกไปเลยว่า ทางออกเหล่านี้เป็นทางตันทั้งนั้น 

 

 

บล็อกของ Shintaro Hara

Shintaro Hara
1. เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในเมื่อประเทศสยามยังอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณสิทธิราช ความเหมาะสมของกฎหมายฉบับนี้ในยุคนี้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นประเด็นที่ควรมีการถกเถียงกัน
Shintaro Hara
ณ ประเทศญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  มีคำศัพท์คำที่ใช้กันทั่วไปเพื่อด่าคนอื่น ซึ่งก็คือ “ฮีโคคูมิน” ซึ่งหมายถึง “คนที่ไม่ใช่ประชาชนของประเทศ” เมื่อคนใดคนหนึ่งวิจารณ์รัฐบาลที่กำลังนำประเทศไปสู่สงคราม คนนั้นจะถูกเรียกว่าเป็น ฮีโคคูมิน ทั้งๆ ที่คนนั้นอาจจะมองเห็นวินาศกรรมที่จะเกิดขึ้นจากภ
Shintaro Hara
ไม่มีภูมิภาคใดในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ (แต่ไม่เคยชิน) เกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก
Shintaro Hara
ประเทศญี่ปุ่นมีผลการเรียนของเด็กนักเรียน/นักศึกษาที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี แต่มันไม่ได้หมายความว่า ผลการเรียนนั้นเกิดขึ้นจากระบบการศึกษาที่ดี เพราะ “ผลการเรียน” กับ “ระบบการศึกษา” เป็นคนละประเด็นกัน ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาที่ดีจะสามารถสร้างผลการเรียนที่ดีก็ตาม จริงๆ
Shintaro Hara
มีหลายคนเคยถามผู้เขียนว่า ถ้าพวกกำนัน/