Skip to main content

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

 

ถ้าเปรียบเทียบรัฐประหารกับเชื้อโรคร้าย  เชื้อโรคนี้ก็คล้ายไวรัสปีศาจซึ่งแปรรูปเปลี่ยนร่างเพื่อทำร้ายสังคมมานานนับทศวรรษ ผลก็คือสังคมป่วยไข้จากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่ขาดสาย มีผู้คนในสังคมที่ปนเปื้อนด้วยไวรัสรัฐประหารนี้มากบ้างน้อยบ้าง  และการปรับตัวของไวรัสก็มีให้เห็นทุกเมื่อเชื่อวัน

ในตำรารัฐศาสตร์ว่าด้วยการรัฐประหารระดับพื้นฐานที่สุด  รัฐประหารคือการยึดอำนาจรัฐบาลอย่างเฉียบพลันเพื่อควบคุมระบบการเมืองของประเทศ  สาระสำคัญของการรัฐประหารจึงหมายถึงวิธีที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลสถาปนาตัวเองเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปัตย์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วนผู้รัฐประหารนั้นเป็นไปได้ทั้งทหารและพลเรือน

ในแง่นี้แล้ว อย่าไปคิดว่ามีแต่ทหารที่ก่อรัฐประหารได้ ประวัติศาสตร์การรัฐประหารในหลายประเทศบอกว่ารัฐประหารเกิดขึ้นได้ทั้งจากทหาร (Military Coup) และพลเรือน (Civilian Coup) เครื่องมือของผู้รัฐประหารจึงเป็นได้ตั้งแต่กองทัพ, มวลชน หรือกองกำลังติดอาวุธกึ่งพลเรือน เช่นเดียวกับเนื้อหาของการรัฐประหารที่เป็นได้ทั้งการปฏิวัติแบบซ้าย (Revolution) และรัฐประหารแบบอนุรักษ์นิยม (Putsch / Pronunciamiento)

ไม่ว่าจะรัฐประหารโดยใครและจุดยืนทางการเมืองแบบไหน  การรัฐประหารคือการยึดอำนาจรัฐเพื่อใช้อำนาจรัฐบังคับให้สังคมทำตามเป้าหมายที่ผู้รัฐประหารต้องการ เนื้อแท้ของการรัฐประหารจึงประกอบด้วยความรุนแรงและการใช้กำลังบังคับฝ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร  ต่อให้ปฏิบัติการรัฐประหารจะไม่มีการปะทะด้วยอาวุธและการนองเลือด การใช้กำลังมวลชนหรืออาวุธไปข่มขู่และบังคับให้ฝ่ายอื่นทำตามก็คือความรุนแรงแบบหนึ่งอยู่ดี

พูดได้ยากว่าสังคมยอมรับการรัฐประหารหรือไม่ เพราะถึงแม้จะมีการรัฐประหารหลายครั้งที่ปราศจากการต่อต้านของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร  แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านก็คือการรัฐประหารทุกครั้งล้วนเกี่ยวพันกับการใช้กำลังบังคับทั้งจากกองกำลังมวลชน กำลังพลติดอาวุธ หรือแม้แต่กฎอัยการศึกและกฎหมายอื่นๆ และฉะนั้น การปราศจากการต่อต้านรัฐประหารจึงไม่เท่ากับการยอมรับการรัฐประหารโดยดุษฎี

ในสังคมที่เกิดรัฐประหารบ่อยครั้งอย่างในสังคมไทย การกระจายตัวของไวรัสรัฐประหารส่งผลให้มีคนจำนวนมากติดเชื้อจนเกิดเครือข่ายนิยมการรัฐประหารที่หมกมุ่นกับการคิดค้นเทคนิคเพิ่มความแข็งแกร่งของการรัฐประหาร 3 แบบ แบบแรกคือทำให้รัฐประหารเป็นเรื่องเดียวกับการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาสังคมไทย แบบที่สองคือทำให้รัฐประหารเป็นเรื่องเดียวกับการสร้างประชาธิปไตย และแบบที่สามคือทำให้รัฐประหารมีความเป็นปฏิบัติการของมวลชนมากขึ้น ควบคู่กับลดทอนภาพความเป็นปฏิบัติการทางทหารลง

สำหรับเทคนิคเพิ่มพูนความแข็งแกร่งของการรัฐประหารประการแรกคือการห่อหุ้มรัฐประหารด้วยคำว่า “คณะปฏิรูป” ตัวอย่างเช่น รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และ 20 ตุลาคม 2520 เกิดขึ้นโดย “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” , รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 เกิดขึ้นโดย “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ส่วนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เกิดขึ้นโดย “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดยไม่มีอะไรพาดพิงถึงคำว่า “ปฏิวัติ” หรือ “รัฐประหาร” แม้แต่นิดเดียว

น่าสังเกตว่า 14 ตุลาคม 2516 มีส่วนสำคัญต่อการห่อหุ้มการรัฐประหารด้วยวิธีนี้ เพราะรัฐประหารช่วงก่อน 14 ตุลาคม เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิวัติ” อย่างเปิดเผย ตัวอย่างเช่นรัฐประหาร  20 ตุลาคม 2501 ของจอมพลสฤษดิ์ หรือ รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร  ส่วนรัฐประหารของจอมพลผิน ชุณหะวัน เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 ก็ใช้ชื่อว่า “คณะทหารของชาติ” ซึ่งแสดงความเป็นปฏิบัติการของทหารอย่างตรงไปตรงมา

สำหรับภารกิจในการทำให้รัฐประหาร = การสร้างประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่ปัญญาชนฝ่ายนิยมรัฐประหารหลายรุ่นปฏิบัติการมาหลายทศวรรษในรูปการฉวยใช้ปรากฎการณ์ในทุกสังคมอย่างความไม่สงบเรียบร้อย คอรัปชั่น ของแพง นักธุรกิจมีอำนาจการเมืองจนล้นเกิน ความยากจน โอกาสทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ฯลฯ ให้เป็นปัญหาที่เกิดและเริ่มต้นเพราะระบบประชาธิปไตย จากนั้นก็สรุปต่อไปว่าถูกแล้วที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีรัฐประหาร

ในแง่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว ภารกิจนี้เริ่มต้นอย่างจริงจังในทศวรรษ 2520 เมื่อฝ่ายรัฐประหารต้องช่วงชิงความยอมรับจากประชาชนที่เคยผ่านการเรียกร้องประชาธิปไตยยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 ท่ามกลางการดำรงอยู่ของสงครามปลดแอกมวลชนของพรรคคอมมูนิสม์  และภารกิจนี้ถูกฟื้นฟูอีกครั้งอย่างมีนัยยะสำคัญช่วงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในรูปของการหยิบยืมการรัฐประหารในต่างประเทศมาให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารในไทย

อะไรคือตัวอย่างของปฏิบัติการนี้? สุรพงษ์ ชัยนาม เขียนบทความเรื่อง “กองทัพกับประชาธิปไตย" ในเว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เมื่อ 12 มีนาคม 2549 เทียบเคียงว่าการปฏิวัติโปรตุเกส ค.ศ.1974 คือตัวอย่างของการปฏิวัติที่ควรเกิดขึ้นในไทย จากนั้นก็เขียนบทความอีกชิ้นในเดือนกันยายน 2551 เชิญชวนให้กองทัพและ “เสรีชนในเครื่องแบบ” ทำรัฐประหารต่อรัฐบาลพลเรือนแบบเดียวกับรัฐประหารตุรกี ค.ศ.1923

ล่าสุด ปัญญาชนฝ่ายนิยมรัฐประหารอ้างบทความของ Ozan Varol เรื่อง The Democratic Coup d’Etat ซึ่งพูดถึงรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีมูบารัคของอียิปต์ในฐานะตัวอย่างของรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยในสังคม-ไทย แม้ผู้เขียนจะระบุว่ารัฐประหารแบบนี้ต้องมุ่งเปลี่ยนโครงสร้างมากกว่าตัวบุคคล,  ต้องเกิดในสังคมซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว และถึงที่สุดต้องมีการคืนอำนาจให้ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรัฐประหารแบบไทย

สำหรับการทำให้รัฐประหารเป็นปฏิบัติการของมวลชนมากขึ้นและเป็นเรื่องทหารน้อยลง วงวิชารัฐศาสตร์มีคำว่า Pronunciamiento พูดถึงรัฐประหารท่ามกลางจลาจลและความไม่สงบที่ทหารบางกลุ่มใช้เป็นเหตุปฏิเสธอำนาจรัฐที่มีอยู่เดิม การกระทำนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากมวลชนหรือคนกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนทั้งหมด ผลก็คือการเกิดรัฐประหารที่ไม่ใช่เรื่องของทหาร แต่เป็นรัฐประหารบนความร่วมมือระหว่างทหารกับ “ประชาชน”

กล่าวในระดับรายละเอียดแล้ว  Pronunciamiento เกี่ยวข้องกับคำประกาศไม่ยอมรับ, การยุติความสนับสนุน หรือการหยุดทำตามคำสั่งของรัฐบาลที่มีอำนาจตามกฎหมาย ทหารที่ปฏิบัติการนี้มักอ้างว่าสถานการณ์มาถึงจุดที่ไม่มีทางเลือกจนต้องบังคับให้รัฐบาลรับฟังและเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง ความสำเร็จของปฏิบัติการจึงขึ้นอยู่กับอาวุธในมือเท่ากับการมีมวลชนแสดงท่าทีเห็นพ้องกับทหารระดับที่มากพอจะข่มขู่ให้รัฐบาลยอมทำตามโดยดุษฎี

ในแง่นี้แล้ว Pronunciamiento คล้ายทฤษฎีโดมิโนในแง่ที่ก่อรัฐประหารด้วยการใช้กำลังคู่ขนานไปกับการเชิญชวนให้ทุกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจนล้มกระดานไปทั้งหมด ปฏิบัติการนี้จึงหมายถึงการต่อต้านที่ยืดเยื้อยาวนานพอจะปลุกระดมให้ปฏิบัติการต่อต้านขยายตัวได้มากที่สุด  โดยหลักการแล้ว Pronunciamiento จึงจบลงเมื่อรัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้องก็ได้ แต่จะปิดฉากด้วยการรัฐประหารก็ได้ด้วยอีกเหมือนกัน

แม้ทหารจะมีเครื่องมือสำหรับข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงจนเป็นฝ่ายที่มีบทบาทที่สุดในปฏิบัติการนี้     แต่การมีส่วนร่วมของพลเรือนก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น  ปฏิบัติการนี้ในหลายประเทศจึงมีด้านที่เป็นการสมรู้ร่วมคิดหรือความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างพลเรือนกับทหาร   จะเป็นเพราะพลเรือนใช้ทหารเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่พลเรือนต้องการ หรือเพราะทหารใช้พลเรือนสร้างความชอบธรรมและเป็นแหล่งทุนสนับสนุนฝ่ายทหารเองก็ตามที

ความจำเป็นต้องได้รับการโดยพลเรือนและกลุ่มชนผู้ถูกกดขี่หมายความว่า Pronunciamiento เป็นปฏิบัติการที่มีโอกาสจะมีข้อเสนอบางอย่างที่ให้ประโยชน์กับพลเรือนและชนชั้นล่างด้วยเสมอ กองทัพกับผู้สนับสนุนทุกกลุ่มจึงต้องเจรจาต่อรองเพื่อแลกกับความร่วมมือทางการเมืองซึ่งกันและกัน  กระบวนการนี้เป็นไปโดยปิดลับหรือเปิดเผยก็ได้   แต่ถึงที่สุดแล้วต้องมีใครสักคนรับบทเป็นเลขาธิการผู้ประสานงานทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน

เมื่อขั้นตอนทั้งหมดนี้ดำเนินไปถึงที่สุด สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือคำประกาศปฏิเสธอำนาจรัฐบาลโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แน่นอนว่าคำประกาศนี้ต้องอวดอ้างว่ากลุ่มตนคือตัวแทนของเจตจำนงทั่วไปของมวลมหาประชาชนผู้ถูกกดขี่ สมาชิกของปฏิบัติการ Pronunciamiento แต่ละคนจึงอนุมานตัวเองเป็นผู้แทนของผู้คนในเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่งที่กว้างออกไปเสมอ  และในที่สุดปฏิบัติการขัดขืนต่ออำนาจของรัฐบาลก็จะบังเกิดขึ้นมา

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยกระดับเป็นการเผชิญหน้าที่มีสัญญาณสู่ความรุนแรงโดยไม่ขาดสายในเวลานี้  Pronunciamiento คือปฏิบัติการทางทหารรูปแบบใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยอาศัยสถานการณ์ไม่สงบและเครือข่ายมวลชนเพื่อทำให้รัฐประหารเป็นปฏิบัติการที่มีความชอบธรรม ประชาชนผู้ปฏิเสธการปกครองด้วยกำลังและความรุนแรงจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้   หาไม่แล้วสังคมไทยก็จะเดินไปสู่ระบอบที่อันตรายกับทุกคน

 

 

 

บล็อกของ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยกระดับเป็นการเผชิญหน้าที่มีสัญญาณสู่ความรุนแรงโดยไม่ขาดสายในเวลานี้  Pronunciamiento คือปฏิบัติการทางทหารรูปแบบใหม่ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยอาศัยสถานการณ์ไม่สงบและเครือข่ายมวลชนเพื่อทำให้รัฐประหารเป็นปฏิบัติการที่มีความชอบธรรม ประชาชนผู้ปฏิเสธการปกครองด้วยกำลังและความรุนแรงจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้   หาไม่แล้วสังคมไทยก็จะเดินไปสู่ระบอบที่อันตรายกับทุกคน